วันที่ 18 ธ.ค. เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค เป็นแกนนำในการจัดชุมนุมบริเวณสกายวอร์ก หน้าหอศิลป์เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. เวลา 17.00-18.00 น.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การชุมนุมดังกล่าว มีการปราศรัยกล่าวโจมตีผู้นำประเทศอย่างเปิดเผย พร้อมนำตะโกนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งปรากฏเป็นภาพข่าวและคลิปวิดีโอเผยแพร่เป็นการทั่วไปในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้มวลชนกดดันรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงว่าสถานะของตนเองเป็น ส.ส.หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองบัญญัติห้ามไว้ และการจัดชุมนุมดังกล่าว ไม่ได้มีการแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจ สน.ปทุมวันให้รับทราบตาม มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 อีกทั้งสถานที่จัดชุมนุมอยู่ใกล้วังสระปทุมซึ่งอยู่ในรัศมีไม่ถึง 150 เมตร จึงถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 7 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ที่สำคัญ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขัดหรือฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 45 ที่บัญญัติห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งอาจมีความผิดตาม ม.92(3) ประกอบ มมาตรา115 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ กกต.มีอำนาจไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย หากพบว่าฝ่าฝืนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ และต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
นายศรีสุวรรณ ย้ำว่า บุคคลทั้ง 3 คนมิใช่ประชาชนทั่วไป หากแต่มีสถานะเป็นถึงหัวหน้าพรรคการเมืองและเป็นผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มีข้อห้ามไว้ การใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ ก็จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายด้วยจึงจะชอบ ไม่เช่นนั้นนักการเมือง พรรคการเมืองใด หากไม่พอใจรัฐบาล หรือแพ้เสียงในรัฐสภาก็อาจจะออกมาใช้วิธีการสร้างม็อบชักชวนมวลชนออกมาชุมนุมกันบนถนน ซึ่งเป็นวิธีการที่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อระบบการเมืองของไทย และจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศด้วย