จากกรณี วันที่ 21 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากการกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
27 ม.ค. พรรคอนาคตใหม่ส่งทีมทนายความ เดินทางไปยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค
กรณีที่ กกต.ขอให้ยุบพรรค ไม่ใช่กรณีวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องของอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามที่ระบุ และในรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติอื่นใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง และไม่ได้ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.และ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง
2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ถูกกฎหมาย
– อนุกรรมการยืนยันกู้เงินไม่ผิด แต่ กกต.ไม่หยุด มีการตรวจสอบเรื่องการกู้เงินแล้วให้ยกคำร้อง ซึ่ง พ.ร.ป. กกต. มาตรา 41 กำหนดว่า “ถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง”
– นำข้อมูลสอบ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.66 (เงินบริจาค) ใช้ตั้งข้อหาตาม ม.72 (ห้ามรับเงินสกปรก)
กกต.ไม่ได้ยุติเรื่องแต่อาศัยข้อเท็จจริงจากสำนวนการสืบสวนว่าเงินกู้ชอบด้วย ม.66 เรื่องบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ใช้ตั้งฐานความผิด ตาม ม.72 ซึ่งเป็นเรื่องรับเงินที่มีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
– ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา และให้แก้ข้อกล่าวหาสู้คดี
เมื่อมีการตั้งฐานความผิดตาม ม.72 ไม่ได้มีการสืบสวนและไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา กลับส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลย โดยไม่ให้โอกาสพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แสดงพยานหลักฐานหรือต่อสู้คดีก่อน
3.ไม่มีกฎหมายห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน
พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน มีสิทธิเสรีภาพก่อนิติสัมพันธ์ใดๆ ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายกำหนดห้าม และ “เงินกู้” มีสถานะเป็น “หนี้สิน”ไม่ใช่รายได้
นอกจากพรรคอนาคตใหม่ มีอีก 16 พรรคการเมืองที่มีการกู้เงินตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 โดยอยู่ในรูปแบบเงินยืม/เงินทดรองจ่าย/เงินบืมทดรองจ่าย
กรณีต่างประเทศ ทั้ง สหราชอาณาจักร,นิวซีแลนด์, เยอรมนี,ฝรั่งเศส ไม่มีกฎหมายห้ามกู้เงิน
4. กกต.นำเรื่องห้ามรับเงินสกปรก (ม.72) มาฟ้องเรื่องกู้เงิน ไม่ตรงเจตนารมณ์กฎหมาย
พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.72 “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
มีเจตนารมณ์ห้ามรับเงินสกปรก เช่น เงินจากการค้ามนุษย์ ยาเสพติด หรือฟอกเงิน ส่วนการที่นายธนาธร ให้พรรคกู้เงินไม่ได้มีที่มาจากแหล่งดังกล่าว
5.การให้กู้เงินทำเปิดเผยไม่ใช่การอำพรางเงินบริจาค
การทำสัญญาเงินกู้ มีเนื้อหากำหนดชัดเจน ถึงการต้องชำระเงินคืนและกำหนดอัตราดอกเบี้ย และที่ผ่านมาพรรคก็ได้ทยอยคืนเงินและดอกเบี้ย จึงไม่ใช่การให้เงินโดยไม่มีค่าตอบแทน
6. กกต.เคยเตือนเรื่องห้ามรับเงินบริจาค เรื่องกู้เงินถ้าผิดจริงทำไมไม่เตือน
เมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่รับบริจาคเงินในช่วงวันที่ 3 – 31 ต.ค.61 โดยมีผู้บริจาค 44 ราย กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือแจ้งเตือนว่าไม่สามารถรับบริจาคจากผู้ที่ไม่ใช่กรรมการพรรคการเมืองได้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ คสช. 57/2557 และมติ กกต. 89/2557 กับ 63/2561 โดย กกต.แจ้งให้คืนเงินกับผู้บริจาค
แต่กรณีกู้เงิน ไม่เคยมีทั้งการแจ้งเตือนหรือแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ