SHARE

คัดลอกแล้ว

ความพยายามจะทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค เริ่มเป็นมากกว่า ‘การพูดไปเรื่อย’ แล้ว ล่าสุดคณะรัฐมนตรี ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ. Financial Hub ที่จะเป็นจุดตั้งต้นพาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคให้ได้

ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จากรายงาน Global Financial Centres Index 36 (GFCI) ได้ประเมินศักยภาพการเป็นเมืองที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมการเงินพบว่า ‘กรุงเทพฯ’ อยู่อันดับ 95 (ข้อมูล ก.ย. 67)  ลดลงจากอันดับที่ 93 เมื่อ มี.ค. 67

การจะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงิน หรือ Financial Hub ได้ เมืองนั้นๆ จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือมีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทและมีจำนวนมาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ สูง เพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตของธุรกรรมข้ามพรมแดน และยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มีกฎหมายและเทคโนโลยีที่เอื้อด้วย 

ในภูมิภาคนี้ไทยต้องแข่งกับ ฮ่องกง อันดับ 3 ของโลก  และ สิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 4 ของโลก โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่ถือว่าแข็งแกร่งในการเป็น Financial Hub มากขึ้นเรื่อยๆ

น่ามองไปที่สิงคโปร์ว่าเขาทำอย่างไรถึงกลายเป็น Financial Hub ระดับโลกได้? แล้วหลักการสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ Financial Hub ของ ไทยจะพาประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางการเงินโลกได้อย่างไร? 

[ นโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ทำมาดี พาประเทศสู่ Financial Hub ได้ ]

ถ้าเรายืนอยู่แลนด์มาร์คอย่างเมอไลอ้อน หันไปก็จะรายล้อมไปด้วยตึกของบริษัทการเงินข้ามชาติมากมาย เช่น Standard chartered, Bank of America, Citibank, HSBC ขณะที่สิงคโปร์ยังมีธนาคารที่แข็งแกร่งของตัวเองอย่าง DBS, OCBC, UOB อยู่ด้วย 

ต้องเล่าแบบนี้ว่าในอดีต Financial Hub ที่ถูกพูดถึงมากสุดของเอเชียคือ ‘ฮ่องกง’ จนกระทั่ง ‘สิงคโปร์’ ค่อยๆ ออกนโยบายที่เอื้อต่อบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเรื่อยๆ โดยที่สิงคโปร์เริ่มพัฒนาตัวเองให้เป็น  Financial Hub มาตั้งแต่ปี 2000 ที่เปิดตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex), สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินอย่าง Fintech รวมถึง การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลและบล็อกเชน 

นโยบายที่เห็นชัดสุดคือนโยบาย Variable Capital Company (VCC) ที่เกิดขึ้นใน 2018 ซึ่งเป็นโครงสร้างกองทุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ทำให้สิงคโปร์เป็นที่น่าสนใจสำหรับกองทุนการลงทุนทางเลือก โดยมีเป้าหมายเพื่อ เพิ่มความยืดหยุ่น และ ดึงดูดนักลงทุน ให้เข้ามาจัดตั้งกองทุนในสิงคโปร์มากขึ้น 

VCC ช่วยให้สิงคโปร์สามารถแข่งขันกับศูนย์กลางกองทุนการเงินอื่นๆ อย่าง หมู่เกาะเคย์แมน หรือ ลักเซมเบิร์ก ในเรื่องของ ‘ภาษี’ ได้ดี สิงคโปร์มีข้อตกลง DTAs กับ กว่า 80 ประเทศ ช่วยให้นักลงทุนสามารถลดภาษีที่ต้องจ่ายในต่างประเทศได้ทำให้นักลงทุนจาก ยุโรป, อเมริกาเหนือ, และ จีน ที่เลือกสิงคโปร์เป็นฐานในการบริหารจัดการกองทุนในเอเชีย

หลังจากนั้นก็มีบริษัทใหญ่ๆ กองทุนเฮดจ์ฟันด์และ Private Equity ที่ต้องการโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นและปลอดภัยเข้ามาเพิ่มอีก 

และมันก็ไม่ใช่แค่นโยบายสนับสนุนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเท่านั้น แต่นโยบายเศรษฐกิจทั่วไปของสิงคโปร์ยังช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้อีก เช่น

          • การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เน้นการค้าเสรีและการลงทุนข้ามชาติ ไม่มีการจำกัดการไหลเวียนของเงินทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ
          • ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs) สิงคโปร์มีข้อตกลงการค้ากับหลายประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ทำให้การค้าขายและการลงทุนเป็นไปได้อย่างราบรื่น
          • ระบบภาษีที่เอื้อต่อแรงงาน สิงคโปร์มี อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำ (ประมาณ 17%) และมี นโยบายยกเว้นภาษี สำหรับรายได้จากแหล่งต่างประเทศบางประเภท รวมถึง ไม่มีภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ (Capital Gains Tax) 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่สิงคโปร์ได้เปรียบกว่าคู่แข่งเก่าอย่างฮ่องกงมากๆ นั่นก็คือ เรื่องของ ‘การเมือง’ ที่มีเสถียรภาพกว่า และความที่ประเทศมีระบบกฎหมายตามแบบอังกฤษ (Common Law) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในเรื่องความโปร่งใสและความยุติธรรม

ภาพลักษณ์เหล่านี้ทำให้เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและบริษัทต่างชาติ

[ Financial Hub ตามคำแนะนำของทักษิณ? ]

กลับมาดูกันที่ประเทศไทย มีการเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้ากฤษฎีกาแบบ Fast Track เพื่อให้ผ่านกระบวนการไปถึงรัฐสภาให้เร็วที่สุด 

หลังจากที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เคยพูดไว้ว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาคือ Financial Center ที่ไทยต้องพัฒนาให้เติบโตเป็น International Financial Center ให้ได้ ผ่านการศึกษาประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ และดูไบ 

ความเชื่อที่ว่าถ้าไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเงินได้ เราจะได้เปรียบเรื่องเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ และธนาคารในไทยก็อาจจะไปตั้งฐานในประเทศอื่นได้

เป็นอีกวิธีที่ ‘ทักษิณ’ มองว่าจะช่วยกระตุ้นให้ไทยกลับมาเนื้อหอมมีเสน่ห์ในสายตาต่างชาติ และดูเหมือนรัฐบาลจะรีบตอบสนองเรื่องนี้อย่างมากในการรีบดันกฎหมาย 96 มาตราเข้าสู่สภา

[ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ]

กฎหมายฉบับใหม่นี้ พูดง่ายๆ คือ จะมีหลักเกณฑ์ที่ล่อตาล่อใจนักลงทุนต่างชาติหลักๆ อาทิ

          • สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนกับเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินหรือมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
          • สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศ สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาและพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานอนุญาต แม้จะเกินระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาจะถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
          • สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด สามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพื่อใช้ประกอบธุรกิจหรืออยู่อาศัยได้ และได้รับการยกเว้นจากข้อจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ทั้งหมดทั้งมวลรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแล โดยเงื่อนไขหลักๆ นักลงทุนที่จะเข้ามาประกอบกิจกรรมทางการเงินในไทย  เช่น การชักชวน ขายสินค้า หรือให้บริการ เฉพาะกับบุคคลที่ไม่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย (Nonresident) เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม เช่น การเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหลักทรัพย์ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ธุรกิจต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด มีสัดส่วนพนักงานไทยและต่างชาติตามข้อกำหนด และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า การจัดการหุ้น และการแต่งตั้งกรรมการอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกเพิกถอนการอนุญาตหรือสั่งระงับกิจการได้

โดย ธุรกิจเป้าหมาย ที่อยู่ใน Financial Hub แบ่งออกเป็น 8 ประเภท 

          1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
          2. ธุรกิจบริการการชำระเงิน
          3. ธุรกิจหลักทรัพย์ 
          4. ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 
          5. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 
          6. ธุรกิจประกันภัย 
          7. ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ
          8. ธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับ Financial Hub ในไทยทั้งหมดที่มีตอนนี้ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับแก้แปรญัตติกันในรายละเอียดในชั้นการพิจารณาจากกฤษฎีกา และสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะนำมาเทียบกับสิงคโปร์ ถือว่าไทยยังมีเรื่องท้าทายอีกมาก แม้จะเริ่มเดินหน้าอย่างชัดเจนในการสร้าง Financial Hub แต่ด้วยประสบการณ์และความแข็งแกร่งของสิงคโปร์ในระดับโลก ทำให้การแซงหน้ายังเป็นเรื่องยาก ไทยจำเป็นต้องพัฒนาในหลายด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกฎระเบียบที่โปร่งใสที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนมากขึ้น จึงจะสามารถเข้าไปท้าชิงแข่งกับสิงคโปร์ได้ในอนาคต

ที่มา :

          • https://fepfinanceclub.org/2024/05/02/article-how-singapore-became-a-global-financial-center/
          • https://www.acra.gov.sg/business-entities/variable-capital-companies?

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า