Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

นอกจากสถานการณ์โควิด -19 จะส่งผลกระทบต่อสภาพวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ในทุกภาคส่วน จนทุกคนต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตในแบบ New Normal หรือ “ความปกติใหม่” ที่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติที่สำคัญที่สุดในรอบทศวรรษแล้ว ผลกระทบของโควิด – 19 ยังมีความซับซ้อนและขยายเป็นวงกว้างไปสู่เด็กและเยาวชนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะเด็กยากจนและด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากการเรียนออนไลน์ที่พบว่ามีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีมีราคาแพง เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเลต โทรทัศน์ มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เช่น ในพื้นที่ชนบทบางแห่งยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีจานดาวเทียม หรือถ้ามีก็ไม่สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ เพราะสัญญาณมีปัญหา เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะสะท้อนความไม่พร้อมด้านการศึกษาของไทยในยุค 5 G ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่จริงๆ แล้วยังมีปัญหาที่น่าตกใจกว่าที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือขณะนี้ยังคงมีเด็กนักเรียนยากจนที่ต้องเผชิญหน้ากับการอดมื้อกินมื้อ และอาจเลวร้ายถึงขั้นไม่มีข้าวกิน โดยเฉพาะนักเรียนพิเศษยากจนทั่วประเทศที่มีมากกว่า 7 แสนคน

แม้ว่าที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมมาก จะได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

โดยมีพันธมิตรที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และการสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึง และได้มีโอกาสช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ

คุณครูลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเด็กนักเรียนที่ จ.นราธิวาส

แต่การดำเนินงานยังต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ทางด้านอาหารของน้องๆ ที่ขาดแคลนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ในโอกาสครบ 2 ปี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้จัดแถลงข่าวครบรอบ 2 ปี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมเปิดโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากการเลื่อนเปิดเทอม เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยมีบุคคลและหน่วยงานพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รวมทั้งตัวแทนผู้อำนวยการและครู จากโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารจาก 4 ภาค เป็นต้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด -19 ได้ส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วนรวมถึงระบบการศึกษา เช่น สถานการณ์ล่าสุด เด็กๆ กำลังขาดแคลนอาหารจากการปิดเทอมที่ยาวนานเท่าที่เคยมีมา โดยเลื่อนไปถึง 46 วัน  แต่น่ายินดีที่ ครม. มีมติเห็นชอบคืนงบประมาณให้ กสศ. 200 ล้านบาท เพื่อนำไปรวมกับงบฉุกเฉินเดิมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท) ที่ กสศ.ดูแลทั้งหมด  ตั้งแต่ชั้นประถม 1 – ม. 3 ทั่วประเทศ และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน  โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน

“ขณะนี้ กสศ.ได้ทยอยโอนเงินมากกว่า 300 ล้านบาท สำหรับนักเรียน ป.1-ป.5 ไปถึงบัญชีโรงเรียนทั้งสิ้น 25,408 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะโอนส่วนที่เหลือได้ครบ 500 ล้านบาทในเร็วๆ นี้  นอกจากนี้เรายังได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง  โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดก่อน เช่น เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยการประมวลผลจากระบบ iSEE เครื่องมือของกสศ. ที่สามารถชี้เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ”

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบัน กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 3 มีภารกิจสำคัญเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยเป็นเจ้าภาพในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ และไม่ใช่เฉพาะนักเรียนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุม 7 กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กเยาวชน และประชาชนที่อยู่ในวัยแรงงาน รวมประชากรกลุ่มเป้าหมายประมาณ 4 ล้านคน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ในการทำงานคือการร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นหลัก โดยทำหน้าที่เป็นทัพหนุนมากกว่าจะเป็นเจ้าภาพ เช่น นำงบประมาณไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียนกลุ่มยากจน หรือด้อยโอกาส เพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นมีสถานะเป็นนักเรียนต่อไปได้ ไม่ให้มีปัญหาอุปสรรคจนต้องหลุดไปจากระบบการศึกษา ส่วนกลุ่มที่หลุดไปแล้วก็ต้องพยายามดึงกลับเข้ามา ถ้ากลับเข้ามาไม่ได้ก็พยายามที่จะฝึกเรื่องอาชีพ และดูแลตัวเองต่อไป

คุณครูลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเด็กนักเรียนที่แก่งกระจาน

“ที่ผ่านมาเราสามารถดูแลบรรเทาปัญหาอุปสรรคเบื้องต้นได้ โดยช่วยนักเรียนกลุ่มยากจนที่ลำบากมากประมาณ 7 – 8 แสนคน และในปีนี้เราก็จะขยายออกไปอีกแต่ก็ทำได้เพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนยากจนเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือการทำงานด้านวิชาการ เพื่อชี้ประเด็นว่าถ้าจะช่วยเหลือนักเรียนยากจนหรือกลุ่มที่ด้อยโอกาสควรจะต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาในประเด็นไหน อย่างไร โดยเรามีงานวิจัยที่ได้ทดลองกับโรงเรียนในชนบทห่างไกลบางพื้นที่ที่มีนักเรียนยากจน ด้อยโอกาสจำนวนหนึ่ง เพื่อช่วยกันคิดวิธีการจัดการเรียนการสอน ในการทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นด้วย 2 ปีที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับโรงเรียนประมาณ 500 แห่ง และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 800 – 900 แห่ง นอกจากนี้ เรายังได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในภูมิลำเนาเพื่อให้กลับมาเป็นครูสอนน้องๆ ต่อไป”

นายสุภกร กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์โควิด – 19 ซึ่งทำให้นักเรียนกลุ่มยากจนหรือด้อยโอกาสหยุดยาว เมื่อไม่ได้มาโรงเรียนทำให้เด็กๆ เหล่านั้นขาดอาหารไปด้วย กสศ.จึงได้แก้ปัญหาระยะสั้นโดยนำงบประมาณที่ดึงจากส่วนอื่นๆ มาใช้ในระยะเร่งด่วนก่อน เพื่อช่วยประทังความหิว ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่านักเรียนยากจนมีความเดือดร้อนในประเด็นสำคัญคือนักเรียนขาดสารอาหาร ซึ่งในสายตาคนกรุงอาจคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่สำหรับในครอบครัวของนักเรียนยากจนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการมาโรงเรียนเพื่อมารับอาหารเป็นสาเหตุสำคัญที่นักเรียนจะไม่ขาดเรียน กสศ. จึงได้มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ซึ่งทางโรงเรียนสามารถจัดเป็นถุงแล้วมอบให้พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนนำไปปรุงอาหารให้นักเรียนที่บ้าน เพื่อประทังความหิวต่อไป

“เราคิดว่ายังมีความจำเป็นที่สังคมจะได้เข้ามาช่วยเติมเต็มช่วยเหลือในจุดนี้ หากท่านมีจิตศรัทธาก็สามารถเข้ามาร่วมบริจาคได้ โดยทาง กสศ.จะได้เร่งช่วยเหลือในกลุ่มที่ยากลำบากที่สุดก่อน และหากมีผู้ศรัทธาบริจาคมากขึ้นเราก็จะขยายขอบข่ายไปยังส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนมากที่สุดในขณะนี้” นายสุภกรกล่าว

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง”

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา สมอง  ดังนั้น เราต้องให้อาหารเด็กได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ หากขาดตัวใดตัวหนึ่งหรือกินไม่พอ ก็อาจมีอาการสมองฝ่อ ร่างกายเตี้ย ผอมแคระแกร็น มีผลการเรียนและการพัฒนาสติปัญญาร่างกายด้อยกว่าเด็กปกติ  เหตุผลนี้ ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กยากจนพิเศษ ด้วยการโอนเงินไปให้โรงเรียนซื้อข้าวสาร อาหารแห้งที่เป็นประโยชน์เป็นถุงยังชีพแจกเด็ก และภายในถุงยังชีพมูลค่า 600 บาท จะประกอบไปด้วย ข้าวสาร 20 กก. ไข่ไก่ 36 ฟอง ปลากระป๋อง 10 กระป๋อง นม  น้ำมันพืชที่ มั่นใจว่าจะลดความหิวโหย ลดการขาดสารอาหารในช่วงนี้พร้อมไปจนถึงเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.

“ช่วงที่โควิดระบาดแล้วเด็กอยู่บ้าน 4 เดือนเต็มๆ มีผลต่อภาวะโภชนาการเด็กแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง ยากจน และขาดแคลน และจะมีผลกระทบมากที่สุดก็คือโภชนาการ เพราะเด็กอยู่บ้านกินอาหารไม่อิ่มหรือกินอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ถูกหลักโภชนาการ อาหารที่กินเข้าไปแล้วมันไม่ครบสารอาหาร 5 หมู่ ทำให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตบกพร่อง ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือเด็กตัวจะผอม เตี้ย ซึ่งจะสะท้อนถึงสติปัญญา การเจริญเติบโตของสมองก็จะด้อยลงด้วยบ่งบอกถึงไอคิวที่ต่ำ เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดเทอมมาเด็กขาดสารอาหารจะมีผลต่อการเรียน ไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ สอบตกซ้ำชั้นและเรียนไม่ทันเพื่อน ที่สำคัญที่สุดภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ เจ็บป่วยบ่อย ทำให้เรียนไม่เต็มที่ ถ้าหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ผลกระทบจะมากขึ้น กสศ.จึงพยายามยื่นมือเข้าไปช่วย เราจะทำอย่างไรเพราะมีเด็กมากถึง 2 ล้านคน และที่ยากจนจริงๆ มีอยู่ 7 แสนกว่าคน โดยเฉพาะกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนคือกลุ่มเด็ก เพราะเด็กอยู่ระหว่างการเจริญเติบโตจำเป็นที่จะต้องได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและครบ 5 หมู่ที่เข้าไปหล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและสติปัญญา”

อาจารย์สง่า กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่มีจะกินหรือที่ไม่ขาดแคลนจะไม่รู้รสชาติของความหิว ซึ่งมันทำให้คนทรมาน แต่ความหิวของคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ใช่ทรมานอย่างเดียว แต่จะไม่มีชีวิตอยู่รอด ถึงอยู่รอดก็ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก อาหารทุกคำ ทุกจาน ทุกมื้อ ถ้ากินไม่ครบทางโภชนาการมีผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ เด็กที่ยากจน เปราะบาง ขาดแคลนมีอีกมากในประเทศไทย จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่พอมีกำลังทรัพย์ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติด้วยการทำบุญหยิบยื่นข้าว หยิบยื่นอาหารเพื่อเป็นการต่อชีวิตเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ร่วมกับ กสศ.ในครั้งนี้

ยิ่งปิดเทอมนาน…ยิ่งวิกฤต ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือในโครงการ สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม…คนละมือช่วยมื้อน้อง เพื่อเติมเต็มมื้ออาหารของเด็กๆ ให้ครบ 5 หมู่ และช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง โดยสามารถร่วมบริจาค ผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 172-0-30021-6 ชื่อบัญชี “กสศ.-มาตรา 6(6) – เงินบริจาค” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2079-5475

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า