Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากมองความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลาย วิกฤตทางด้านระบบสาธารณสุขที่เคยรองรับผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวัน กลายเป็นไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเกินกว่า 1 เดือน จากมาตรการที่เคยเข้มงวดก็เริ่มผ่อนคลายลง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเริ่มกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตในแบบ New Normal หรือ “ความปกติใหม่”

แม้หลายอย่างจะยังไม่เหมือนเดิม แต่หากมองไปที่ “อนาคต” ก็เริ่มมีสัญญาณกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง แต่สำหรับบางคน คำว่า “อนาคต” ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แน่นอนว่า “อนาคต” มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ “การศึกษา” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ เด็กในวัยเรียนหลายคนกำลังจะได้กลับเข้าสู่ภาคการศึกษาใหม่ หลังจากมีช่วงปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดมาแล้ว แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งมีโอกาสที่จะไม่ได้เรียนต่อสูงมาก ด้วยความยากลำบากในชีวิตความเป็นอยู่ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมยังต้องเจอความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 การเอาชีวิตรอดในปัจจุบัน จึงเป็นทางเลือกที่ต้องมาก่อนอนาคตทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวทำให้เด็กหลายคนในชนบทไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หลายคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากเพียงพอ บางคนไม่มีแม้แต่ค่าเดินทางเพื่อไปสมัครเรียน

คำพูดที่ว่าเด็กทุกคนมีความฝัน แต่หลายคนกลับไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เพราะต้นทุนชีวิตน้อยและขาดโอกาส จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง เพราะการที่เด็กห่างจากโรงเรียนเป็นเวลานาน ทำให้การเรียนขาดความต่อเนื่อง ภารกิจที่สำคัญที่สุดคือการให้เด็กกลับไปเรียนได้อีกครั้ง จึงเป็นที่มาของโครงการระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สพฐ., ตชด., อปท. จัดสรร ทุนเสมอภาค เพื่อช่วยบรรเทาอุปสรรคทางการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมให้ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ

แม้จะเป็นภารกิจที่ยาก เพราะจำนวนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือนี้มีมากกว่า 7.5 แสนคน แต่หากเทียบผลลัพธ์จากโครงการก่อนหน้านี้ของ กสศ. อย่าง สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง ที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอม โดยได้ช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษไปแล้วมากกว่า 7 แสนคน โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขในครั้งนี้ จึงต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพื่อไม่ให้มีเด็กคนไหน ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้แต่คนเดียว

แม้ปัจจุบันจะมีงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนยากจนในประเทศไทยอยู่แล้ว อย่างเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่เป็นการจัดสรรความช่วยเหลือแบบเท่ากันทุกคน หลังผ่านการตรวจสอบจึงพบว่า นักเรียนแต่ละคนมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข โดยมีระบบการคัดกรองเพื่อจัดสรรทุน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และลดอุปสรรคการมาเรียน

โดยบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานก็คือ ครู เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนในพื้นที่มากที่สุด เช่น ในช่วงโควิด-19 ก็ได้ความช่วยเหลือจากครูที่ไปเยี่ยมบ้านและนำอาหารไปแจกให้กับเด็กนักเรียน รวมถึงในกระบวนการคัดกรองเด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็ได้การลงพื้นที่ของครูเพื่อบันทึกข้อมูลที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งพิกัดบ้าน ภาพถ่ายนักเรียน สมาชิกในครอบครัว สภาพบ้าน และข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กเหล่านั้นมีความจำเป็นและต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ก่อนจะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เผยข้อมูลจากการสำรวจระบบเฝ้าระวังเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ผ่านการบันทึกข้อมูลระบบ iSEE หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่บันทึกได้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษ 3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ทั้งหมด 161,000 คน เท่านั้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารที่ผ่านมาของ กสศ. ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เราอาศัยจังหวะที่ไปแจกข้าวสารอาหารแห้งให้กับเด็ก 7 แสนกว่าคนช่วงปิดเทอม ไหนๆ ได้เจอตัวคุณพ่อคุณแม่กับน้องๆ แล้วก็มีความกังวลว่าเด็กที่มีความยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเจอสถานการณ์โควิด-19 น้องๆ เขาจะพร้อมไหมที่จะเปิดเทอม โดยที่ไม่ใช่ความพร้อมที่น้องๆ มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์หรือเปล่า แต่เป็นความพร้อมพื้นฐานเลยว่าไปสมัครเรียนแล้วหรือยัง พร้อมไหมที่จะไปเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม ก็พบว่ามี 3 พันกว่าคน ไม่มีความพร้อมตรงนี้” ดร.ไกรยส กล่าว

การสำรวจข้อมูลพบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่มีโอกาสไม่ได้เรียนต่อสูงมาก และมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะโควิด รวมทั้งเรื่องรายได้ของครอบครัว คือกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ โดยเฉพาะเด็กในชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่ง ดร.ไกรยส ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า

“ความไม่พร้อมนั้นเกิดจากประเด็นเชิงระบบ ในชนบทส่วนใหญ่แล้วมีโรงเรียนที่จัดการศึกษาสูงสุดแค่ ป.6 เท่านั้น เป็นโรงเรียนใกล้บ้าน แต่พอถึงช่วง ป.6 น้องๆ เหล่านี้ต้องไปหาที่เรียนใหม่ในระดับ ม.1 เป็นโรงเรียนที่อยู่ไกลจากบ้านออกไป บางที 2-3 เท่าตัว บางที 10 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น อันนี้เป็นความท้าทายมากกับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ทำให้น้องๆ เหล่านี้ยังไม่ได้ไปสมัครเรียน หลายๆ คนบอกว่าไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน ติดข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ซึ่งมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

อีกกลุ่มหนึ่งคือเด็ก ม.3 ที่จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว แต่ใจก็ยังอยากเรียนอาชีวะ อยากเรียน ม.4 แต่โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนเหล่านี้มักจะเป็นโรงเรียนมัธยมฯ สถาบันอาชีวะก็ไม่ได้มีทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้น การเดินทางไปในที่ที่ไกลขึ้นก็จะเจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยหลายๆ ครั้งข้อมูลนี้ทางโรงเรียนต้นทางที่เด็กจบการศึกษาไม่ทราบว่าเด็กจะไปเรียนต่อที่ไหน รวมถึงโรงเรียนปลายทางที่เด็กต้องการเรียนต่อก็ไม่ทราบว่าเด็กเจอปัญหา พอมันเกิดสุญญากาศตรงนี้ขึ้นก็เลยเกิดช่องว่างทำให้เด็กมีโอกาสที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเด็ก 3 พันกว่าคนนี้มาจากการสำรวจเฉพาะ ป.6 และ ม.3 เท่านั้น เป็นผลจากข้อมูลเพียง 60% อาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ อาจจะถึงหมื่นคนก็ได้ ยังไม่ได้รวมถึงเด็กในระดับชั้นอื่นๆ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหาเชิงระบบและการสื่อสารกันระหว่างโรงเรียน ที่อาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้”

นอกจากความไม่พร้อมในเชิงระบบ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ในครัวเรือน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายจ่ายในแต่ละปีที่สูงที่สุดในด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นในเดือนเปิดเทอม ซึ่งครอบครัวที่ยากจนที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้ในช่วงเดือนนี้แค่ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น แต่รายจ่ายเริ่มตั้งแต่พันกว่าบาทไปจนถึง 4-5 พันกว่าบาทในช่วงเดือนนี้ นั่นทำให้เห็นช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายของผู้ปกครอง เรื่องการศึกษาอย่างเดียว ไม่รวมถึงรายจ่ายอื่นๆ ของครอบครัวอย่างค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเช่าบ้าน หนี้สิน ฯลฯ

เมื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงกว่ารายได้ ท้ายที่สุด ครอบครัวเหล่านี้จึงอาจประสบปัญหา ทำให้เด็กไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการไปเรียน

 

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หลายครอบครัวจึงไม่สามารถวางแผนอนาคตในชีวิตได้ ซึ่งจะไปกระทบถึงความต่อเนื่องด้านการเรียนของเด็ก จึงนำมาสู่ยุทธศาสตร์ในการระดมความร่วมมือเพื่อให้เด็กนักเรียนที่ยากจนได้กลับโรงเรียนอีกครั้ง

“ค่าใช้จ่ายที่สูงอาจจะนำไปสู่การเกิดหนี้สิ้นเพิ่มเติมเช่นกัน สิ่งที่เราทำได้คือตอนเปิดเทอม เราจะมีการเยี่ยมบ้าน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการไปเยี่ยมบ้าน แล้วเอาข้อมูลรายครัวเรือนเหล่านี้สำหรับเด็กยากจนทั้ง 2 ล้านคน เพื่อให้ทราบได้ว่ายังมีอุปสรรคอยู่ไหม ขาดมากแค่ไหน เพื่อเอาข้อมูลไปทำงานต่อในเฟสต่อไปหลังจากเปิดเทอมได้สักระยะหนึ่งแล้ว” ดร.ไกรยส กล่าวเสริม

นอกจากการแก้ปัญหาเชิงวิกฤตระยะสั้นในช่วงปิดเทอม ตอนนี้เมื่อกลับมาสู่การเรียนในโรงเรียนแล้ว ทาง กสศ. จึงต้องการสื่อสารออกไปในวงกว้างว่า การสู้วิกฤตนี้ เด็กๆ ครอบครัว และโรงเรียน สู้โดยลำพังไม่ได้ ต้องการการสนับสนุนจากภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิเช่นนั้นแล้ว โอกาสที่ความเหลื่อมล้ำที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะขยายตัวจากวิกฤตนี้ นำไปสู่ Learning Loss นั่นคือ เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“เราปิดเทอม 3 เดือน เรายังลืมเลยว่าเทอมที่แล้วครูสอนอะไร แล้วน้องๆ ที่เขาเป็นเด็กด้อยโอกาสอยู่ในพื้นที่ชนบทอาจจะมีผลกระทบมากกว่าที่เราเคยเจอ ตรงนี้มันเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะสูญเสียไป โดยที่เราสามารถที่จะป้องกันได้ โครงการนี้จึงมีเป้าหมายที่จะบอกสังคมให้ทราบว่า ช่วงเปิดเทอมนี้ ถ้าใครสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยเหลือโรงเรียน ช่วยเหลือน้องๆ เหล่านี้ได้ ก็ขอให้มาร่วมกันสนับสนุน เพราะว่าครอบครัว โรงเรียน ต้องการการสนับสนุนจากสังคม เพื่อให้น้องๆ ทุกคนกลับไปโรงเรียนได้ ไม่มีทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผมเชื่อว่าไม่มีคนไทยคนไหน ไม่อยากเห็นเด็กได้กลับไปโรงเรียนในสถานการณ์โควิด แต่การที่เด็กได้กลับไปเรียนในโรงเรียน มันเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถบอกกับประชาคมโลกได้ว่า เราแก้วิกฤตโควิดนี้ได้ เด็กสามารถที่จะกลับไปโรงเรียนได้ แม้มีภาวะความเหลื่อมล้ำต่างๆ อยู่เดิม ฉะนั้น ถ้าสังคมไทยได้ยินสัญญาณในวันนี้ว่า ตอนเปิดเทอมนี้เราต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการช่วยสนับสนุนให้เด็กทุกคนที่เป็นเด็กด้อยโอกาสและมีรายได้น้อย สามารถสู้วิกฤตและกลับไปโรงเรียนได้กันทุกคน นี่เป็นสิ่งที่ กสศ. อยากให้สังคมมาร่วมด้วยช่วยกัน”

ดร.ไกรยส กล่าว และทิ้งท้ายถึงความคาดหวังของโครงการฯ ว่า หากทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน เปิดเทอมปีนี้ เด็กทุกคนที่กลับเข้าโรงเรียนก็น่าจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2563 ได้ครบทุกคน และสังคมไทยก็จะได้ชัยชนะที่ตั้งใจกันเอาไว้ว่า

“ถ้าเราชนะในเชิงสาธารณสุขได้แล้ว ในด้านการศึกษาก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องบรรลุร่วมกัน

อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญในการสำรวจข้อมูล มาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อผลักดันให้เด็กนักเรียนยากจนพิเศษได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน

ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. ได้เผยข้อมูลในความร่วมมือครั้งนี้ว่า ก่อนเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์ สพฐ.พร้อมทีมสหวิชาชีพได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและสภาพจิตใจของเด็กยากจน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน พบปัญหาส่วนใหญ่หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง จึงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ด้วยการผ่อนปรนค่าเล่าเรียน ลด และขยายเวลาชำระค่าเทอมหรือค่ากิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“เราให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 กับเด็กนักเรียนที่อยู่ในภาวะวิกฤต ในสภาวะยากลำบาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานที่จะต้องสร้างความตระหนักให้กับโรงเรียน สร้างความตระหนักให้กับเขตพื้นที่การศึกษา การที่เราสร้างความร่วมมือกับ กสศ. จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระความทุกข์ยากของเด็กนักเรียน

มีเรื่องการสำรวจข้อมูล การคัดกรองเด็ก ซึ่งเราได้ให้เขตพื้นที่ ให้โรงเรียนมีการสำรวจ จะเห็นว่าจากข้อมูลที่ปรากฏ 7 แสนกว่าคนนั่นคือเด็กของเราเกือบ 100% หลังจากนั้นโรงเรียนก็จะมีข้อมูลเฉพาะโรงเรียนของตัวเอง เขตพื้นที่ก็จะมีข้อมูลเด็กนักเรียนทั้งระบบของเขตพื้นที่ ซึ่ง สพฐ. เองก็จะเป็น Big Data ให้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า เรามีเด็กที่มีปัญหา ความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ประมาณกี่คน” ดร.ชนะ กล่าว

ส่วนการดูแลเด็กนักเรียน ดร.ชนะ กล่าวว่า ประเด็นแรกคือเรื่องการจัดสรรเงินงบประมาณ ซึ่ง สพฐ. มีเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานเด็กนักเรียนยากจน เงินก้อนนี้จะแตกเป็นรายย่อย เช่น ค่าหนังสือเรียน นั่นหมายความว่าเด็กไม่ต้องซื้อหนังสือเรียน ไม่ต้องซื้อสมุด ค่าแต่งกายนักเรียน เด็กก็นำเงินไปซื้อชุดนักเรียนได้ มีอาหารกลางวัน ซึ่ง สพฐ. มีกองทุนอาหารกลางวันอยู่แล้วที่จะดูแลจัดสรรเด็กนักเรียนต่อไป

ประเด็นที่สองคือ การดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเรื่องสุขภาวะทางจิต หรือความรุนแรงต่างๆ ซึ่ง ดร.ชนะ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนในฐานะที่ได้รับมอบหมายในการดูแล มีนักจิตวิทยาที่จะคอยช่วยดูแล ซึ่งนักจิตวิทยามีตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่เป็นต้นไป ส่วนโรงเรียนจะมีครูประจำชั้นที่ผ่านการอบรมหลักสูตร ซึ่งตอนนี้ สพฐ. ได้ทำหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว และมีแผนการพัฒนาในช่วงก่อนสิ้นปีงบประมาณจำนวน 10 รุ่น เมื่อถึงปีงบประมาณ 2564 จะมีการพัฒนาเพิ่มอีก เพื่อที่อย่างน้อยจะทำให้ครูมีทักษะ วิธีการในการช่วยเหลือเยียวยาเด็กนักเรียน โดยจะทำเป็นเครือข่ายในภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

ครูลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเด็ก

“เรื่องความพร้อมในการเปิดเทอม สพฐ. มีความมั่นใจ 100% ว่า จากการที่เราได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมถึงก่อนหน้านี้ด้วย เรามีการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในทุกมิติเลย นั่นหมายความว่า สพฐ. จะไม่ยอมให้เด็กถูกทิ้ง โดยไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ” ดร.ชนะ กล่าว และฝากทิ้งท้ายถึงภาคเอกชน เพื่อขอแรงสนับสนุนช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ห่างไกล

“ขอฝากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนเป็นภาคแห่งความหวังของเด็กๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แล้วทุกภาคเอกชนมีลักษณะของ CSR อยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าท่านมีโอกาสไปดูแลเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ก็ขอให้ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อให้โอกาสเด็กได้เรียนต่ออย่างมีความสุข ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ดูแลเด็กนักเรียนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ถ้าได้รับการเติมเต็มจากทุกภาคส่วน ก็จะทำให้เด็กมีขวัญและกำลังใจในการเรียนมากขึ้น”

 

คุณเองก็ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียน กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ โดยบริจาคเงินผ่านบัญชี: กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 172-0-30021-6 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.eef.or.th/donate/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า