SHARE

คัดลอกแล้ว

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ คือหนึ่งใน Soft Power ที่เป็นจุดแข็งของเกาหลีใต้ ที่สามารถก้าวข้ามเรื่องวัฒนธรรมจนสามารถคว้ารางวัลภาพยนต์ระดับโลกอย่างออสการ์มาแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite จนดูเหมือนว่าช่วงเวลานี้จะเป็นยุคทองของหนังเกาหลีที่เตรียมต่อแถวเข้าทำเงินตลอดปี 2020  แต่ทว่าวิกฤติโควิด-19 กลับทำให้ความคาดหวังที่ตั้งเอาพังทลายลง ทำให้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ต้องปรับตัวเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้

หากเปรียบอุตสาหกรรมหนังเกาหลีในปี 2020 เป็นหนังสักเรื่อง ก็คงเป็นหนังที่รวมทุกรสชาติเข้าด้วยกัน ทั้งความน่าตื่นเต้น ความเศร้า และความหวัง

ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของหนังเรื่อง Parasite โดยผู้กำกับบองจุนโฮที่คว้ารางวัลออสการ์มาหลายรางวัลซึ่งรวมถึงหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม ทำให้หลายคนตั้งความหวังสวยหรูไว้ว่า ปี 2020 จะต้องเป็นปีทองของวงการหนังเกาหลีอย่างแน่นอน บริษัทหนังหลายแห่งที่วางหนังตัวเต็งเข้าฉายในปีนี้ ต่างคาดการณ์ผลกำไรล่วงหน้าตั้งแต่หนังยังไม่เข้าฉาย  ขณะที่ผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่าปีนี้ยอดขายตั๋วตลอดทั้งปีน่าจะทำสถิติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่แล้วฝันร้ายก็เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม หนึ่งเดือนหลังจาก Parasite ได้รับรางวัลออสการ์ เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ลามเข้ามาสู่ประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก กิจกรรมทางธุรกิจหลายประเภทต้องถูกระงับ ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากอย่างภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ยอดผู้ชมที่ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ลดลงจากจำนวน 12.4 ล้านคนในเดือนเดียวกันเมื่อปีทีแล้ว เหลือเพียง 1.83 ล้านคน ถือเป็นยอดที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา บริษัทจัดจำหน่ายหลายแห่งต่างเลื่อนโปรแกรมฉายกันพัลวัน ถึงตอนนี้ไม่มีใครกล้าคิดแล้วว่าอุตสาหกรรมหนังเกาหลีจะสร้างสถิติอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง  ขอเพียงแค่เอาตัวรอดจากวิกฤติที่มองไม่เห็นแสงสว่างให้ได้ก็พอแล้ว

อย่างไรก็ดี คล้อยหลังไม่ถึง 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ระบาดใหญ่ระลอกแรก สัญญาชีพของอุตสาหกรรมหนังเกาหลีก็เริ่มกลับมาดีอีกครั้ง เมื่อมีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ 3 เรื่องเข้าฉายในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม ทำรายได้อย่างงดงามบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ  เริ่มตั้งแต่ Alive หนังซอมบี้บุกเมือง ซึ่งเข้าฉายในปลายเดือนมิถุนายน เปิดตัววันแรกด้วยยอดจำนวนผู้ซื้อตั๋วเข้าชมกว่าสองแสนคน ก่อนจะปิดโปแกรมด้วยจำนวนผู้ชม 1.9 ล้านคน ตามมาด้วย Peninsula ซึ่งเป็นภาคต่อของหนังดังในปี 2015 เรื่อง Train to Busan เข้าฉายในช่วงกลางเดือน กรกฎาคม  เปิดตัวสัปดาห์แรกด้วยตัวเลขยอดขายตั๋วสูงถึง 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำรายได้ทั้งโปรแกรมทั้งหมด 27.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหนังแอ็คชั่นแนวไล่ล่าที่มีเมืองไทยเป็นฉากหลังเรื่อง Deliver Us From Evil เปิดตัวในต้นเดือนสิงหาคมด้วยรายได้กว่า 10 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะทำรายได้ตลอดทั้งโปรแกรมกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตัวเลขเหล่านี้ หากอยู่ในสภาวะปกติ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับวงการหนังเกาหลี  เพราะหนังฮิต ๆ บางเรื่องอาจทำรายได้สูงเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ แต่ในช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์ทุกแห่งถูกจำกัดจำนวนที่นั่งไม่เกิน 50% แล้ว ตัวเลขดังกล่าวจึงถือว่ามีความหมายมากสำหรับอุตสาหกรรมหนังเกาหลี

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คำถามที่มีต่ออุตสาหกรรมหนังเกาหลี ได้เปลี่ยนจากคำถามที่ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไรจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไปเป็นอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีฟื้นตัวได้เร็วขนาดนี้แทน ซึ่งหากลองวิเคราะห์หาเหตุผล อาจเกิดจากปัจจัยสำคัญต่อไปนี้

1.การเข้ามามีบทบาทของภาครัฐ

ทันทีที่โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังในเดือนมีนาคม จนส่งผลให้ยอดรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศตกลง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว รัฐบาลได้ออกมาตรการเร่งด่วน 2 มาตรการเพื่อช่วยเหลือ 2 ภาคส่วนสำคัญของอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคส่วนของโรงภาพยนตร์ และภาคการผลิตภาพยนตร์ โดยในส่วนของโรงภาพยนตร์ รัฐได้ประกาศงดเก็บภาษีจากค่าตั๋วภาพยนตร์จำนวน 3% เพื่อจัดส่งเข้ากองทุนพัฒนาภาพยนตร์จากโรงภาพยนตร์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์สามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายหมุนเวียนในยามวิกฤตได้

นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน  สภาการภาพยนตร์แห่งเกาหลีซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ  ได้จัดสรรคูปองส่วนลดค่าตั๋วหนังจำนวน 6 พันวอน หรือเทียบเท่ากับ 4.89 เหรียญสหรัฐฯ (ราคาตั๋วหนังในเกาหลีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 หมื่นวอน หรือ 8.15 เหรียญสหรัฐฯ) ให้แก่ประชาชนทั่ว เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกลับไปดูหนังในโรงอีกครั้ง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเมื่อมีผู้ชมจำนวนมากแห่แหนไปชมภาพยนตร์เรื่อง Alive ที่เข้าฉายในช่วงปลายเดือนจนแน่นขนัด

ส่วนในส่วนของผู้ผลิตภาพยนตร์  รัฐได้คัดเลือกโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ที่ต้องเลื่อนฉาย หรือต้องหยุดการถ่ายทำ จำนวน 20 โปรเจ็กต์เพื่อพิจาราณาให้ทุนสนับสนุนทางด้านการตลาดสำหรับภาพยนตร์ที่เสร็จแล้วแต่ต้องเลื่อนฉาย และทุนสนับหรับการกลับมาถ่ายทำใหม่สำหรับภาพยนตร์ที่ต้องหยุดถ่ายกลางคัน นอกจากนี้รัฐยังจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือบุคลากรในด้านการผลิตที่ต้องตกงานด้วย

  1. การไม่หยุดกิจกรรมฉายหนังของผู้ประกอบการโรงหนัง

ประเทศเกาหลีใต้น่าจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ปิดโรงหนังขณะที่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยระหว่างที่เกิดวิกฤตโรงหนังเครือใหญ่อย่าง เครือ CGV เครือ LOTTE และ เครือ MEDIA PLEX ต่างยังให้ยังคงเปิดให้บริการเป็นปกติ เพียงแต่เลือกปิดบางสาขาในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยเท่านั้น และแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่มีหนังใหม่ของทั้งเกาหลีหรือต่างชาติเข้าฉาย โรงหนังส่วนใหญ่ก็นำหนังที่เคยฉายมาแล้วกลับมาฉายใหม่อีกครั้ง เช่น หนังเรื่อง LA LA LAND และ Avengers ภาคต่างๆ เป็นต้น

และจากการที่กิจกรรมฉายหนังยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องทำให้กิจกรรมการดูหนังของประชาชนไม่เกิดภาวะสะดุด ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ของโรคเริ่มคลี่คลาย ประชาชนเกาหลีจึงพร้อมใจกลับเข้าไปดูหนังในโรงอีกครั้ง

  1. พฤติกรรมการดูหนังในโรงภาพยนตร์ของผู้ชมเกาหลี

ประเทศเกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรดูหนังในโรงมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยในปี 2013 รายงานของ Screen Digest  ซึ่งเป็นบริษัทเก็บข้อมูลเชิงสถิติออนไลน์ของอังกฤษระบุว่า คนเกาหลีหนึ่งคนดูหนังในโรงภาพยนตร์ 4.12 เรื่องต่อปี มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่คนอเมริกันตามมาเป็นลำดับสองด้วยตัวเลข 3.88 เรื่องต่อปี นอกจากนี้ในปี 2019 คนเกาหลีใต้ซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์ตลอดทั้งปี จำนวน 226.7 ล้านใบ คิดเป็นรายได้ทั้งหมด 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 49,600 ล้านบาท

จากสถิติตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า โรงหนังยังคงเป็นแหล่งบันเทิงที่คนเกาหลีใต้เข้าไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทันทีที่หนังฟอร์มใหญ่เข้าฉาย คนเกาหลีก็กลับเข้าโรงหนังอย่างพร้อมเพรียง

จากปัจจัย 3 ข้อข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การที่อุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้กลับฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง เกิดจากการการร่วมแรงร่วมใจกันของทั้งภาครัฐ ที่ให้ความช่วยเหลือวงการหนังทันทีที่เกิดวิกฤต ภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงหนังที่ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง จนคนดูไม่รู้สึกว่ากิจกรรมการดูหนังต้องสะดุดหยุดนิ่งลง และภาคประชาชนที่ยังคงให้ความสำคัญกับการดูหนังในโรงอยู่ ดังนั้นแม้ว่าวิกฤตโรคระบาดจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นคำรบสองเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมหนังเกาหลีจะผ่านพ้นไปได้แล้วตั้งตารอวันที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ อย่างต่อเนื่องและยาวนานไม่ว่าจะเป็นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่รัฐบาลมอบเงินสนับสนุนและยกเว้นภาษีแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ หรือในช่วงปี 2019 มอบเงินสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ในประเทศจำนวนกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ และรวมถึงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นล่าสุดที่รัฐบบาลได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการงดเก็บภาษีจากค่าตั๋วภาพยนตร์ หรือสนันสนุนเงินให้ประชาชนเข้าดูหนังในโรงภาพยนตร์ ประกอบกับพื้นฐานความนิยมดูหนังของชาวเกาหลีด้วยแล้ว ก็ทำให้วงการภาพยนตร์เกาหลีสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าชาติอื่นๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า