ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา การปรับตัวของบริษัทหลายๆ แห่งจากวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นด้วยสถานการณ์บังคับ ทำให้วิถีชีวิตการทำงานของคนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไป จากที่เคยเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ กลายมาเป็นการทำงานจากที่บ้านเป็นหลักแทน
ตอนนี้เรายังเรียกการทำงานแบบนี้ว่า Work from Home กันอยู่ แต่ในอนาคตกำลังจะมีคำว่า Flexible Jobs ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่นเข้ามาแทน คือการที่คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้าออฟฟิศเต็มเวลาเหมือนเดิม และไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้านเพียงอย่างเดียว
Flexible Jobs เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น หลังสถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน โดยผลสำรวจต่างๆ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้านการทำงาน จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงโควิดไปแล้วก็ตาม
ผลสำรวจของ Prudential Financial’s Pulse of the American Worker ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาบอกว่า ชาวอเมริกัน 26% ต้องการเปลี่ยนงานหลังจากผ่านพ้นช่วงโควิดไป และส่วนใหญ่เผยว่า พวกเขากำลังมองหางานที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม
แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนงาน ก็ยังมีความเห็นว่า ถ้าบริษัทของพวกเขาไม่นำระบบการทำงานจากนอกออฟฟิศมาใช้เป็นทางเลือก พวกเขาก็อาจจะมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ในด้านนี้เช่นกัน
ข้อมูลนี้ตรงกันกับผลสำรวจของ Ernst & Young Global ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ระบุว่า 47% ของพนักงาน พร้อมจะลาออกหากต้องกลับไปใช้รูปแบบการทำงานที่ตายตัวแบบเดิม โดย 52% ต้องการความยืดหยุ่นด้านสถานที่ทำงาน และ 40% ต้องการความยืดหยุ่นด้านเวลา
ทางผู้จัดทำรายงานมองว่า ความเห็นที่ออกมาในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นถึงโอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threat) ในเวลาเดียวกัน สำหรับบริษัทต่างๆ ในการดึงดูดพนักงานเข้ามาทำงานในอนาคต
ส่วนประเทศที่ดูจริงจังกับเรื่องนี้มากที่สุดคืออังกฤษ ที่ทางรัฐบาลถึงกับตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลเรื่องการทำงานแบบ Flexible Jobs โดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบว่าจะต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือสัญญจ้างงานอย่างไรบ้าง ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันมากขึ้น
หนึ่งในเหตุผลที่อังกฤษนำเรื่องนี้มาพูดคุย คือการที่ 71% ของบริษัทต่างๆ รายงานเข้ามาว่า การทำงานที่บ้านส่งผลให้ทำงานได้ไม่ต่างจากที่ออฟฟิศ หรือเป็นทำงานได้มากขึ้นด้วยซ้ำ
เท่ากับว่าบริษัทอย่างน้อย 7 ใน 10 แห่ง ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ นอกจากจะไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อเนื้องานแล้ว บางเคสกลับทำงานออกมาได้ดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายฝ่ายที่ออกมาแสดงความกังวลว่า ในบางอาชีพอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานให้ยืดหยุ่นตามรูปแบบใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งการทำงานออกเป็น 2 รูปแบบอย่างชัดเจน ซึ่งแม้จะเป็นรูปแบบที่ยอมรับได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อาจสร้างปัญหาอื่นขึ้นมาได้ในอนาคต
สำหรับประเทศไทยแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เรายังคงต้องเผชิญกับโควิด-19 ต่อไปเป็นเวลานานกว่าประเทศที่กล่าวมาข้างต้น
แต่เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว เราคงจะได้เห็นแนวทางและตัวอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นข้อมูลให้ทั้งบริษัทและพนักงานนำมาพิจารณาได้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อรับกับเทรนด์ Flexible Jobs ที่กำลังมา