Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นำมาสู่กระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อประเด็นการอุ้มหายและอาชญากรรมโดยรัฐ
workpointTODAY ต่อสายสนทนากับ “อังคณา นีละไพจิตร” หนึ่งในนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน

24 ชั่วโมงแรกสำคัญที่สุด ชั่วโมงแห่งความเป็นความตายของญาติ

“ใน 24 ชัวโมงแรกที่หายไปมันสำคัญมาก เหมือนเป็นความเป็นความตายในชีวิตคน พอเราได้ข่าวก็คิดว่าจะหาตัวเขาเจอไหม แล้วถ้าไม่เจอความรู้ดสึกเราเองก็ไม่ต่างกัน พอรู้ตัวปุ๊บเราก็คิดว่าจะทำยังไง จะเจอไหม ยิ่งเวลาผ่านไปทุกชั่วโมงทุกนาทีความหวังมันลดลง เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะมีอีก เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีก เพราะว่าเราก็เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยในกรณีที่จะให้มีกฎหมาย”
“กัมพูชาเขาให้สัตยาบรรณของสัญญาคนหายของสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นถ้ามีการเอาตัวไปในลักษณะแบบนี้ถึงแม้ไม่มีผู้ร้องกัมพูชาก็ต้องสอบสวน ถือเป็นภาระผูกพัน เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ ยิ่งติดตามเราก็ยิ่งรู้สึกว่าทางไทยก็เงียบ มีแต่นักกิจกรรม มีแต่คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ออกมาพูด ในฐานะของพลเมืองไทยเรายังไม่เห็นเจ้าหน้าที่ออกมาทำอะไร คือเรื่องนี้ไม่นานมันก็ดังไปทั่วโลกเพราะมันมีแถลงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายองค์กรออกมา แต่ว่ากัมพูชาเองก็เงียบ ทั้งที่มีคลิปวีดีโอ ยิ่งผ่านมาวันนี้เข้าวันที่ 3  ก็เลยรู้สึกเป็นห่วงใจครอบครัว ห่วงตัวเหยื่อด้วย”
มันเหมือนกับว่าความเป็นความตายมันอยู่ตรงนั้นน่ะค่ะ หลังจากที่เอาตัวไปแล้วตอนมีชีวิตอยู่ อย่างรถที่เอาออกไป ถ้ามีใครไปแจ้งความแล้วมีการดักมีการติดตามเอา CCTV มาดูว่ารถไปทางไหนอะไรแบบนี้ มันก็เป็นความหวังที่เราจะช่วยเขาได้
แต่พอมันไม่มีการดำเนินการอะไร ยิ่งผ่านไปเราก็ยิ่งรู้สึกว่าความหวังมันลดลงทุกทีทุกอย่างในการที่จะช่วยเหรือในการที่จะเจอเขาอีกครั้งในสภาพที่ไม่มีชีวิต

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศที่หายไปในกัมพูชา

ถ้ามีคนแจ้ง หรือเอาคลิปเผยแพร่ออกไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการแล้ว รัฐบาลไทยต้องประสานไปทางพนมเปญแล้ว ในกรณีคนไทยไม่ว่าจะทางไหนก็แล้วแต่ จริงไหม รถคันนี้ออกจากบริเวรนี้ไปแล้ว ไปไหนต่อ สิ้นสุดที่ไหน มี CCTV ที่ไหน จับภาพได้ไหม หรือมีใครที่เห็นเหตุการณ์ได้ไหม เรารู้สึกเสียใจเพราะพอหลังได้ว่าหลังเกิดเหตุปุ๊บมันต้องมีการติดตามอย่างใส่ใจ  เพราะว่ามันนานไปทุกชั่วโมงทุกนาที ความหวังที่จะเจอเขาในสภาพที่มีชีวิตมันก็ลดลง

มันเป็นเรื่องการสืบสวนสอบสวนปกติ กรณีการบังคับสูญหายตามนิยามของสหประชาชาติจะนิยามว่าจะต้องเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนของรัฐ หรือการรู้เห็นเป็นใจของรัฐ เพราะว่ามันเป็นการสนับสนุน หรือเจ้าหน้าที่ หรือคนของเจ้าหน้าที่โดยการสั่งการก็แล้วแต่ ถ้ามาจากรัฐ มันมักจะเอาตัวคนผิดมาดำเนินคดีได้ยาก จะมีความซับซ้อน จะไม่ค่อยมีการจับตัวคนผิดได้ เพราะฉะนั้นในนิยามการบังคับสูญหายของสหประชาชาติถ้าคนธรรมดาลักพาตัวกัน อันนี้เขาไม่ถือว่าเป็นบังคับสูญหาย  เพราะเขาถือว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะต้องหา กรณีลักพาตัวอะไรอย่างนี้ ถ้ารัฐไม่เกี่ยว รัฐก็จะพยายามในการที่จะหา สุดท้ายจะเจอแบบไหนยังไงก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะพบว่าถ้าเป็นกรณีที่เป็นอาชญากรรมมันก็ซับซ้อนและยากที่จะติดตามและตรวจสอบ เอาตัวคนผิดมาลงโทษ”

หลักสากล : รัฐมีหน้าที่ติดตามหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้อุ้มหายไปเอง

“การที่เราจะรู้ (ว่ารัฐเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง) ก็คือเราจะต้องมีการติดตามโดยทันทีจริงไหมคะ เจ้าหน้าที่ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจในการติดตามตรวจสอบโดยทันทีเพื่อที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับปัจเจก อาจจะคนรู้จักกันเอาตัวไป ขัดผลประโยชน์หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอันนี้รัฐต้องเข้ามาอยู่แล้วในเมื่อมันเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงไหมคะ
แล้วที่สำคัญทางสหประชาชาติเขาจะถามญาติว่าญาติเชื่อว่าใครน่าจะเป็นคนเอาไป เขามีความขัดแย้งกับใคร ไม่ใช่ว่าเขามีปัญหาการพนัน บางคนทะเลาะกับเมีย หนีเมีย หนีหนี้อะไรอย่างนี้ หลบหนี้กับเจ้าหนี้ ก็กลายเป็นคนหายหรือหนีไป รัฐก็มักจะตามตัวเจอ
แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐเข้าไปเกี่ยวกัน  อาจจะเป็นคนของรัฐบาลคนนะคะ เจ้าหน้าที่ดี ๆ ก็เยอะ แต่จะมีเจ้าหน้าที่บางคนอาจจะมีการสั่งการโดยที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน อาจจะรู้เห็นเป็นใจหรือว่ารู้แต่ไม่ห้าม อันนี้ก็จะเข้าข่ายการสูญหายตามนิยามของสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ว่าอันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐก็คือต้องคลี่คลายคดีให้ได้”

87 เคสอุ้มหายของไทย นานแค่ไหนก็ยังไม่คืบหน้า

“เคสอุ้มหายในไทยก่อนหน้านี้ มีพฤษภาทมิฬ มีพี่ทนง โพธิ์อ่าน มีสมชาย แล้วก็จะมีอีกสัก 30 กว่าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงการปราบปรามการก่อการร้ายในช่วงปี 2547-2548 แล้วก็จะมีทางเหนือทางอีสานช่วงสงครามยาเสพติด ทางตะวันตกแถว ๆ แม่สอด รวมๆกันแล้วทั้งหมดก็จะประมาณ 80 เคส แล้วช่วงหลัง ๆ ก็จะมีสยาม (ธีรวุฒิ) อีก มีพี่สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) เข้ามาด้วย

https://youtube.com/watch?v=1blzKH_OoT0

พฤษภาทมิฬก็เหมือนกับเป็นการจราจลที่เกิดขึ้นกลางเมืองกลางกรุงเทพมหานคร ตอนนั้นคุณอาจจะเกิดไม่ทันหรือว่ายังเด็ก ๆ อยู่ แต่พฤษภาทมิฬถ้าคนที่รับรู้ในเหตุการณ์ช่วงนั้นจะรู้เลยว่ามีรูปคนตาย ตายกลางถนน มีรูป แต่ศพไม่มี เราก็จะมีญาติมาร้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือว่าไปตามโรงพยาบาล ไปหาศพ เพราะว่ามันมีรูปลงในสิ่งพิมพ์ พอมันมีคนตามมีนักข่าวเข้าไปถ่าย คือมีรูปแต่ไม่มีศพ สุดท้ายก็หาศพไม่เจอ ก็เลยกลายเป็นเรื่องของการสูญหาย ถ้าถามเรื่องทางญาติ คุณอดุล เขียวบริบูรณ์แกทำเรื่องของสถิติว่า เขาประมาณว่าน่าจะมีหายเป็นร้อย แต่ว่าที่มีการส่งเรื่องไปที่สหประชาชาติ น่าจะประมาณ 34-35 คน น่าจะเป็นเรื่องที่เขาตามญาติได้แล้วญาติยืนยัน เพราะว่าการจะส่งเรื่องไปสหประชาชาติญาติต้องยินยอม ถ้าญาติไม่ยินยอมก็ส่งไม่ได้ บางทีญาติก็ส่งเองหรือว่ามีคนส่งให้แต่ว่าญาติต้องยินยอม

แต่ก็มีเรื่องที่ญาติจะกลัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่พวกค้ายา เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นทนายโจร ร่วมในขบวนการก่อการร้ายอะไรแบบนี้ พอเป็นคนที่หายไป เขาจะถูกทำให้เป็นคนไม่ดี ญาติก็จะกลัว เพราะฉะนั้นญาติก็จะไม่อยากมีเรื่องแล้ว อยากอยยู่เงียบ ๆ หรือว่าบางคนก็อาจจะมีการได้รับข้อเสนอว่าจะให้เงินลงทุนทำกินแล้วก็อยู่เงียบ ๆ ไปเพราะว่าไม่อยากมีเรื่องอะไรแบบนี้ ตรงนี้ก็มีไม่น้อยเลย
มันน่ากลัวเขาถึงได้บอกว่าอุ้มไปคนนึง กลัวไปทั้งชุมชน แล้วชาติพันธุ์ทางเหนือ พวกลาหู่ พวกมูเซอดำ คนกลุ่มนี้ก็จะถูกทำให้เชื่อว่าคนพวกนี้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ตั้งนานจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการวิสามัญฆาตกรรม กรณีชัยภูมิก็ด้วย หรือบางคนก็อาจจะหายไปเลย
ชุมชนชาติพันธุ์ทางเหนืออยู่ห่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้นเขาก็จะกลัว ในช่วงสงครามยาเสพติด ทางเหนือก็มีคนที่ถูกอุ้มหายเยอะ พอไปตามเขาก็บอกไม่ได้จับ บางทีบอกว่า เอาตัวไปอยู่ที่ค่ายทหาร พอไปถามเขาบอกว่าปล่อยตัวไปแล้ว ก็เลยไม่รู้ไปไหน สุดท้ายเวลาผ่านไปเปนเดือนเป็นปีก็ยังไม่กลับอะไรแบบนี้ ในที่สุดก็หมดเรี่ยวแรงตามหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในกลุ่มเปราะบาง คนในที่ห่างไกล ในชุมชนที่มีความกลัว มันเหมือนกับว่าเรื่องอุ้มหายมันฝังใจกันมานาน เพราะว่าไปแล้วก็คงไม่เจอหรอก เอาตัวไปแล้วก็คงไม่เจอ อะไรอย่างนี้ ร้องไปก็จะเป็นอันตรายเสียเปล่า ๆ เลยทำให้ชาวบ้านเองก็กังวล”

ถังแดง หนึ่งในกรณีอุ้มหายที่ยังไม่มีใครกล้าพูดถึง

ถ้าลองดูอย่างที่พัทลุงในช่วงปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ 2490 คนก็หายไปแต่ชาวบ้านไม่รู้จะทำยังไง ถ้าเราอ่านตามหนังสือ ตามเอกสารวิชาการที่นักวิชาการต่างประเทศบอกว่าถูกฆ่าและหายไปน่าจะร่วม 3000 คน แต่ถามว่ามีสักคดีไหมที่แจ้งความ คือไม่เคยมีการบันทึกด้วยซ้ำว่าใครบ้างที่ ไม่เคยมีเอกสารของคนกลุ่มนี้ ไม่มีชื่อ ไม่มีอะไรเลย
แต่ชาวบ้านก็แสดงออกด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ถังแดงเป็นที่ระลึก และในช่วงนั้นคณะกรรมการคนหายแห่งสหประชาชาติก็ยังไม่มีการก่อตั้ง ไม่มีการส่งเรื่อง คนพวกนี้ก็จะถูกบันทึกในลักษณะของเรื่องเล่า ทีนี้อย่างพัทลุงก็จะเป็นเรื่องเล่าที่มันจับต้องได้โดยมีอนุสาวรีย์ให้เห็น แต่ญาติเองก็จะกลัวและไม่กล้าออกมา เขาเป็นชาวบ้านแล้วยิ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็ไม่กล้าอยู่แล้ว
ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครที่ออกมาบอกเลย มาบอกกับสังคม ว่าพ่อแม่ ปู่ย่ายายายฉันหายไปในช่วงนั้นช่วงนี้ ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่ามีใครบ้าง เรามีแต่เรื่องเล่าของชาวบ้าน พอดีมันมีอนุสาวรีย์ให้เห็น ถ้าไม่มีมีจริงแล้วถามว่าชาวบ้านจะสร้างมาทำอะไร แล้วมันก็จะเป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยมาโดยตลอด คือเรื่องถีบลงเขาเผาลงถังแดง ซึ่งคนไทยก็รับรู้กันมานาน
พูดในส่วนของตัวเองเนอะ ขนาดเราเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองใหญ่ ยังมีคนมาบอกเลยว่าจะสู้ไปก็ไม่มีประโยชน์หรอก ป่านนี้ไม่เหลือแล้ว เผาไปหมดแล้ว ถึงออกมาพูดก้ไม่มีประโยชน์หรอก ไม่กลัวหรอ อันนี้คือขนาดตัวเรานะ แต่ถ้าเกิดเป็นชาวบ้านในชนบท แทนที่จะมีคนสนับสนุนกลับกลายเป็นว่าทำให้เขายิ่งกลัวมากขึ้น”

สิ่งที่ญาติต้องเจอเมื่อพยายามติดตามหาเหยื่อ

“มันก็มีตลอดนะคะ เมื่อก่อนก็จะเป็นจดหมาย แต่เดี๋ยวนี้ก็จะมีส่งข้อความมายังกล่องข้อความเป็นต้น บางทีก็จะเป็น IO เข้าไปเขียนด่าอะไรอย่างนี้ รังควาน จะเอามาฆ่าอะไรอย่างนี้ ไปแจ้งความก็แทบจะไม่มีผล เจ้าหน้าที่ก็แทบจะไม่ได้ใส่ใจเลย ทั้งที่เราก็บอกว่าเป็นถ้อยคำสร้างความเกลียดชังนะ เรียกร้องให้มาทำร้ายเราด้วยซ้ำ ไม่มีความคืบหน้า ตรงนี้บอกเลยว่ากว่าเราจะผ่านมาตรงนี้ได้ คือเราเข้าใจมากเลยนะคะว่าครอบครัวจะเป็นยังไง
ไม่นานมานี้มึนอ (ภรรยาบิลลี่-พอละจี รักจงเริญ) อยู่ดีๆ กลางคืนเด็ก ๆ เขาบอกได้ยินเสียงเหมือนปืนอยู่หน้าบ้าน ปาก้อนอิฐเข้ามา ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว ก็อยู่กันเฉพาะแม่-ลูกแบบนี้ คนในหมู่บ้าน คนในชุมชนหลายคนก็บอกว่าจะเรียกร้องอะไรถึงไหน มันมีตลอดเลยนะคะ
วิถีชีวิตกะเหรี่ยงเขาจะอยู่บ้านที่อุทยานจัดสรรเป็นล็อกที่อยู่ แต่มันก็จะไม่ได้อยู่ติดกัน ตอนนี้มึนอเองก็จะอยู่ในความคุ้มครองพยานของ DSI แล้วก็ มันก็มีข้อจำกัด ห้ามไปนู่นไปนี่ อะไรต่อมิอะไร เราก็บอกว่าเราจะอยู่เฉย ๆ ได้ยังไง บางทีการจำกัดว่าไม่ให้ไปไหนก็เท่ากับว่าไม่ให้พูดไม่ให้ทำอะไร แต่ถามว่ามีไหมมัน (การรังควาน) ก็มีตลอดเพียงแต่ว่า มึนอเขาก็เป็นคนที่มีใจสู้ อยู่กับเขามานาน แล้วเขาก็จะต้องมีหลายองค์กรที่จะต้องช่วยเขา แล้วก็ถ้ามีอะไรปุ๊บเขาก็รู้ว่าเขาสามารถติดต่อใครได้ทันทีเลย แต่ถามว่าโดนมันก็โดนนะ ไม่ใช่ไม่โดน

https://youtube.com/watch?v=viHMHWwVTbI

ที่ผ่านมาเรามีเรื่องเล่าเยอะมาก แต่ว่าเราไม่เคยที่จะมีเอกสาร มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนเหล่านั้นว่าได้ดำเนินการไปยังไง เวลาที่หายไปแล้วญาติทำยังไง มันไม่มีเลยนะคะ กระบวนการยุติธรรมมันไม่เคยเริ่มต้นขึ้นเลย ตอนนั้นตอนที่ทนายสมชายหายตอนนั้นก็พยายามมาดูว่าคนอื่นเขาทำยังไง ปรากฎว่ามันไม่มีเลย ต้องดูเรื่องของเมืองนอกเขาทำยังไง ของคนไทยคือมันไม่มี
สิ่งหนึ่งว่าญาติต้องอย่าถอย สังคมต้องช่วยประคับประคอง ก็ต้องช่วยให้กำลังใจ แต่เราก็รู้สึกดีใจนะคะว่าหลังจากกรณีสมชาย มันมีกรณีอื่นที่ตามมา อย่างของบิลลี่เราก็รู้สึกคนทั้งสังคมมาช่วยกัน มาถึงกรณีสุรชัย ล่าสุดก็กรณีวันเฉลิม ที่เห็นว่ามันไม่ใช่การต่อสู้ของครอบครัวคนเดียวแล้วนะ มันกลายเป็นสังคมเข้ามาด้วยซึ่งตรงนี้เราก็รู้สึกว่าเราอยากเห็นตรงนี้กับทุกความเป้นธรรมที่เกิดขึ้น ความเป็นธรรมในทุกกรณี บางทีญาติเองก็เหนื่อย ไม่ไหว ออกมาไหนจะปัญหาเยอะแยะ เรื่องกลัวนี่ที่สุดเลย”

คนถูกอุ้มหาย เป็นปัญหาของคนทั้งสังคม

“เหยื่อเป็นใครก็ได้ จริง ๆ ปัญหาการบังคับสูญหายเป็นปัญหาสังคม เราไม่ควรมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่ใช่ว่าอ้าว ทนายความไปมีเรื่องกับตำรวจหนิ มันเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มันเป็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด
การที่เรามีกฎหมายมีข้อบัญญัติเรื่องของการกักขังหน่วยเหนี่ยว คือมีคนเห็นคนผลักสมชายขึ้นรถ อันนี้ก็กักขังหน่วงเหนี่ยวแล้ว แล้วเราก็มีความผิดฐานฆาตกรรม แต่ถ้าหากว่ามีคนเห็นคนผลักสมชายขึ้นรถแต่เราไม่เจอศพ อันนี้เราดำเนินคดีฐานฆาตรกรรมไม่ได้เลย แล้วถามว่าเราดำเนินคดีฐานบังคับสูญหายได้ไหม ก็ไม่ได้เลยเพราะไม่มีกฎหมายบังคับสูญหาย
ถ้ามีคนเห็นว่าคนนี้เอาตัวไป แต่สุดท้ายไม่มีใครเห็นเขาอีก แล้วเราไม่มีกฎหมาย เหมือนกับหลายคนที่ถูกจับไปแล้วก็ พอญาติไปตาม ตามค่ายทหารก็บอกปล่อยตัวไปแล้ว มีคนหรือมีพยานมาบอก เห็นเดินออกไปแล้ว แต่เขาไม่กลับบ้าน แล้วแบบนี้ใครจะรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันเชิงโครงสร้างและต้องมีกฎหมายที่จะคุ้มครอง

ภาพคู่ มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ และสามีของเธอ บิลลี – พอละจี รักจงเจริญ นักเรียกร้องสิทธิชุมชนที่ถูกพบเป็นโครงกระดูกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหลังหายสาบสูญหลายปี

หรืออย่างกรณีบิลลี่ ตอนที่ยังไม่มีกฎหมาย DSI ก็พยายามทำคดีบิลลี่เป็นคดีฆาตกรรม เพราะที่จริงแล้วคดีบังคับสูญหายมันคือคดีฆาตกรรมที่ไม่มีศพ  พี่ก็เคยคุยกับ DSI ว่า DSI ไม่ต้องไปหาศพหรอก ทุกคนก็รู้อยู่ว่ามันต้องทำลายศพ หายังไงก็หาไม่เจอ แล้วคนที่เกี่ยวก็ไม่มีใครพูด เพราะฉะนั้นหายังไงก็ไม่เจอ แต่คดีบิลี่นี่ DSI ก็โชคดีไปเจอกระดูก แต่พอไปเจอกระดูกที่ DNA บอกว่ามีความเชื่อมโยงกับแม่และยายของบิลลี่ คราวนี้แม่ก็มีลูกหลายคน ยายก็มีลูกหลายคน พอเวลาส่งฟ้องอัยการก็บอกว่า ถ้าจะส่งฟ้องก็ต้องมีสำนวนส่งว่าที่ไหนตายยังไง พอไม่มีใครรู้ว่าตายที่ไหน ตายยังไง รู้แต่กระดูกมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงไม่รู้ อัยการก็ไม่ฟ้องอีก แล้วสุดท้ายมันก็จะตัน เมียบิลลี่เขาก็เสียใจ แต่สุดท้ายก็ดีใจที่ยังได้รู้ชะตากรรม จัดงานศพ ได้ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญามีค่าทำศพ แต่ถามว่าแล้วจะดำเนินคดีได้ไหม ที่มึนอส่งหนังสือไปที่ DSI ขอให้ DSI  ทำความเห็นแย้งอัยการ DSI ก็บอกว่าทำอยู่ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่และผลออกมาจะเป็นอย่างไร”

กฎหมายอุ้มหายเองก็ “โดนอุ้ม” ญัตติพิจารณาหายไปกลางสภาสนช.ไร้วี่แวว

“(กม.บังคับสูญหาย) หายไป ไม่รู้ ไม่มีใครรู้เลย จะบอกให้เลยว่าตามมาตลอดนะคะ แล้วก็จะคลิกเข้าไปดูที่วาระเพื่อพิจารณาของสนช.มาตลอด จนวันสุดท้ายที่สนช. สภาวันสุดท้ายของสนช. มีวาระนี้อยู่ เป็นวาระที่ 3 ที่จะต้องรับหลักการและผ่านร่าง ปรากฎว่าวาระมันยังอยู่ แต่พอสุดท้ายมันไม่มีในเอกสารประชุมวันนั้น แล้วพอสุดท้ายก็ไม่รู้ว่ามันถูกถอดไปตอนไหนและใครเป้นคนถอด เงียบมากเลย ถามไปทีไรสนช.ก็ไม่พูด ไม่บอก ไม่มีใครรู้เรื่อง แล้วตลกมาเลย สนช.ปั๊มกฎหมายออกมาตั้งไม่รู้กี่ร้อยฉบับ แต่กฎหมายที่มันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองประชาชนกลับไม่ยอมออก และส่วนตัวก็เชื่อว่าเขาไม่ออกหรอก
ตอนนี้ก็มีคนพยายามจะผลักดัน พอกฎหมายมันตกไปในชั้นสนช. มันก็กลับไปต้นเรื่อง ไปที่กระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมก็ต้องมาเริ่มรับฟังความเห็นใหม่อีก รับฟังเสร็จก็ไม่รู้รับฟังกี่รอบแล้วเนอะ รับฟังใหม่อีกแล้วก็ต้องส่งให้ครม. แล้วครม.ก็ส่งให้กฤษฎีกา กฤษฎีกาก็ส่งให้สนช. ส่งให้ส.ส. อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าก็วนไปวนมา ก็วนอยู่ตรงนี้แหละ
แล้วที่สำคัญก็คือกฎหมายต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาของสหประชาชาติ ไม่ใช่คุณมาแก้หมดเลย นิยามผู้บังคับบัญชาก็แก้ไปหมด คุณเอาเฉพาะคนที่จับตัวไปเท่านั้นเอง แต่คนสั่งการจะเหนือชั้นแค่ไหนคุณไม่เอา ตัดทิ้งหมดได้ไง
โดยมากแล้วการอุ้มเป็นการสั่งการ ซึ่งตามหลักการไม่ว่าใครจะเป็นคนสั่งการคนนั้นต้องรับผิดชอบด้วย หรือแม้แต่ในคดีสมชาย พยานคนนึงให้การกับศาล พยานเป็นตำรวจ บอกว่าเดินเข้าไปในกองปราบแล้วเห็นตำรวจกลุ่มนึงยืนจับกลุ่มกันอยู่หน้ากองปราบ ก็เลยถามว่ามาทำอะไรกัน ตำรวจกลุ่มนั้นก็บอกว่าจะมาอุ้มทนายโจร เขาก็เลยไปบอกผู้บังคับการปราบปรามสมัยนั้นว่ากลุ่มนี้จะไปอุ้มทนายโจร ถ้าตามอนุสัญญา ถ้าผู้บังคับบัญชารู้แล้วไม่ห้าม ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดด้วย จะสั่งการหรือไม่ก็แล้วแต่ นี่สนช.ก็แก้หมดเลย แก้จนแบบว่า เอาเฉพาะที่เป็นคนทำ บางทีคนทำอาจจะทำโดยการสั่งการของใครก็ได้ อาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ก็ได้ อาจจะเจ้าหน้าที่เป็นคนสั่งการให้คนอื่นทำ เพราะฉะนั้นในด้านกฎหมายมันต้องล้อกับอนุสัญญาแล้วจะต้องคุ้มครองได้จริง
คือส่วนตัวบอกตรง ๆ บางทีเรามองเราก็ โห คนเขียนกฎหมาย แก้กฎหมายพยายามมองในมิติที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าจะปกป้องประชาชนด้วยซ้ำไป ก็รอดูว่าจะส่งสภาไหม แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไงก็ไม่ผ่าน เพราะว่าพรรครัฐบาลก็เป็นเสียงข้างมาก ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาล นายกจะว่าไง แล้วกฎหมายที่มันเกี่ยวข้องกับงบประมาณ กับเรื่องของชีวิตประชาชนมันต้องเป็นกฎหมายที่จะต้องพิจารณาทั้งสองสภาอีก คือว่าส.ว.ก็คงไม่ให้ผ่านหรอกเพราะส.ว.ครึ่งค่อนสภาก็เป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ อดีตข้าราชการ ส่วนตัวก็ไม่เชื่อ หรือว่าเขาอาจจะผ่าน แต่ก็ผ่านออกมาเป็นกฎหมายแบบที่เอาผิดไม่ได้เลย หรือว่ายากในการที่จะเอาผิด แล้วจะยังไง
แล้วอันนึงที่สู้กันเยอะก็คือการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ อายุความจะเริ่มต่อเมื่อเรารู้ที่อยู่และชะตากรรม เช่นกรณีบิลลี่เราเจอกระดูก อายุความนับหนึ่งแล้วไป 20  ปี แต่จะมีคนที่เรายังไม่รู้เลยว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ ถือว่าไม่มีอายุความ อีกร้อยปีก็ยังต้องหาอยู่ จนกว่าจะหาเจอ ทีนี้ในร่างกฎหมายเหมือนพยายามที่ไอ้ที่ผ่านๆมานี่จะนับว่าไม่เอา แต่จะนับหนึ่งหลังจากที่กฎหมายผ่านสภา ซึ่งมันขัดหลักการเพราะว่ากฎหมายที่เป็นคุณกับประชาชนจะต้องย้อนหลัง แต่ถ้าไม่ย้อนหลังมันก็ขัดกับหลักการที่ว่ามันเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ตลกมาที่จะคุณเขียนกฎหมายแล้วบอกว่าเรื่องที่ผ่านมาในอดีตเจ๊าไปแล้วไม่ต้องรื้อฟื้น ที่ผ่านมาแล้วไปแต่ต่อไปนี้จะไม่ทำแล้ว มันไม่ได้น่ะ”

การติดตามหาคนอุ้มหายของไทย มุ่งเกลี้ยกล่อมให้ญาติเลิกตาม มากกว่าจะคลี่คลายคดี

“เท่าที่ทราบ อ่านรายงานล่าสุดของสหประชาชาติ รัฐบาลไทยก็ส่งเข้าไปเคลียร์อีก 4 เคส มีทั้งเสียชีวิตและมีชีวิตอยู่ ส่วนมากคือกระทรวงคุ้มครองสิทธิของกระทรวงการต่างประเทศก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตามหาว่าใครบ้างอยู่ที่ไหน แล้วก็มีหลายคนที่เล่าให้ฟังว่าเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องไปร้องเรียนสหประชาชาติแล้วก็ให้เขาเซ็นว่าไม่ร้องเรียนสหประชาชาติ แต่ว่ากรณีนี้ทางคณะทำงานคนหายของสหประชาชาติเขาไม่ได้พิจารณาเฉพาะว่ามีคนเซ็นว่าไม่ร้องเรียนแล้วจะถอนเรื่อง เขาก็ยังเก็บไว้ก่อนแล้วก็ถามทางคนที่เป็นคนส่งเรื่องด้วย อีกอันคือกรณีญาติพฤษภาฯ ส่วนมากก็จะอายุมาก ๆ แล้ว บางทีคุณเอาชื่อไปคีย์ในทะเบียนบ้าน บางทีชื่อเดียวกันมันซ้ำกันตั้งเยอะก็มี นามสกุลเดียวกัน แลวถามว่ารู้ได้ไง เคยอ่านในรีพอร์ตของรัฐ มีชื่อนี้พอไปตามแล้วเห็นมีแผลเป็นแบบนี้ตรงกับที่เคยบันทึก เพราะฉะนั้นก็คิดไปก่อนว่าใช่ ว่ายังมีชีวิตอยู่ เราก็ว่ามันแปลก ๆ ดี
ที่มีคนมาเล่าให้ฟังอย่างเช่น เขาบอกว่า คือพ่อแม่เป็นคนร้องเพราะว่าลูกหาย ปรากฎพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วเพราะมันนาน 30 ปี พี่น้องหรือหลาน ๆ ลูก ๆ ที่อยู่ข้างหลังไม่อยากมีเรื่องแล้ว เพราะฉะนั้นก็ ฉันร้องไปฉันก็ไม่ได้อะไร เพราะฉะนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาบ่อย ๆ ก็ตัดปัญหาไป แต่ว่าอยากจะฝากถึงรัฐว่าการคลี่คลายกรณีคนหายหรือการชี้แจงตัวเลขกับสหประชาชาติ สาระสำคัญคือรัฐต้องหาแต่ไม่ใช่ไปกดดันญาติว่าขอเรื่องเถอะ ไม่ต้องไปร้อง UN หรอก ต้องการความช่วยเหลืออะไรก็บอกหน่วยงานในพื้นที่ มันไม่ใช่น่ะ เพราะมันเป็นสิทธิของใครก็ได้ที่จะร้องเรียนไปถึงสหประชาชาติเพราะประเทศไทยก็ไปลงนามอนุสัญญาอยู่แล้ว คือเราต้องการที่จะลดจำนวนตัวเลขลง แต่ถามว่าคนยังหายอยู่ไหมคนก็ยังหายอยู่แหละ แล้วจะยังไง
แล้วแถมยังจะกลายเป็นการกดดัน เป็นการครอบงำซึ่งมันไม่ควรทำ มันน่าละอายมาก ญาติโทรมาร้องเรียนแล้วก็โทรคุยกับทางกรมคุ้มครองสิทธิขอร้องว่าอย่ามาบอกเขาให้เขาถอนเรื่อง เพราะมันเป็นสิทธิของเขา มันเป็นสิทธิของผู้เสียหาย พ่อแม่เขาร้องไว้ คุณไปบอกญาติพี่น้องว่าขอเถอะ อยากให้ช่วยอะไรจะช่วยแบบประมาณแบบนี้มันไม่ใช่ แต่แทนที่คุณจะหาว่าที่หายมันหายยังไงมากกว่า หรือผลักดนให้มันมีกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมครอบครัวเขาได้
เขามีเป็นเอกสารให้ญาติเซ็นว่าไม่เอาเรื่องแล้ว ไม่ติดใจ ถามว่าไม่ติดใจแล้วมันยังเป็นภาระหน้าที่ของญาติที่จะติดตามดูหรือเปล่า หรือว่าคิดว่าไม่ใช่แล้ว ถ้าญาติไม่ติดใจก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แบบนี้เหรอ ยิ่งคนในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มชาติพันธุ์หรือว่าทางจังหวัดชายแดนภาคใต้โดนกันเยอะเลย กลุ่มชาติพันธุ์ก็โทรมาบอกว่าเจ้าหน้าที่มาบอกว่าถอนเรื่องเถอะ เอาเอกสารให้เซ็นด้วยว่าไม่ติดใจแล้ว”

ความหวังในการเจอวันเฉลิม

“ที่จริงรัฐบาลกัมพูชาให้สัตยาบรรณอนุสัญญากฎหมายสหประชาชาติ แล้วรัฐบาลกัมพูชาต้องทำอยู่แล้ว แล้วกัมพูชาเราจะเห็นว่าเขาก้าวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชนนะ หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ แล้วสหประชาชาติก็จะเข้าเซ็ทระบบเรื่องของสิทธิมนุษยชนให้ มีสำนักงานสหประชาชาติอยู่ที่กัมพูชาด้วย เราก็จะมี เขาจะลงนามอนุสัญญาเยอะเลยนะ ศาลอาญาระหว่างประเทศเขาก็ลง เพราะฉะนั้นเรื่องที่คิดว่าเขามีกลไกที่ก้าวหน้ามากแล้วมันเป้นหน้าที่ของเขาที่เขาจะต้องสืบ
แต่ในฐานะที่วันเฉลิมเป็นพลเมืองไทย รัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศควรประสานความร่วมมือแล้วกับกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาก็เพื่อที่จะดูว่าไอ้รถคันนั้นจริงไหม หรือว่าจริง ๆ แล้วคือสอบ ไปถามใครก็ได้เพราะเราจะเห็นคนที่อยู่ในคลิปที่ออกมา ถามคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้แล้วเราจะไม่เอาวีดีโอ CCTV ที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ มาดูว่ารถคันนี้ไปไหน จริง ๆ นี่คือสิ่งที่เขาควรจะทำตั้งแต่วันแรก ๆ แล้วแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำหรือยัง แล้วเราก็หวังว่ามันก็จะเป็นหน้าที่ของประเทศกัมพูชาที่จะต้องสอบสวนเพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่กัมพูชา แล้วมันเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยด้วย
เราอยากจะบอกว่าคนเหล่านี้มีตัวตน คนเหล่านี้แม้จะถูกทำให้หายไปแต่เขามีตัวตน มีครอบครัว มีคนที่เขารัก มีคนที่รักเขา แล้วทุกคนไม่ควรจะถูกทำให้หายไปเฉย ๆ โดยที่ไม่มีการค้นหาหรือว่าไปถามเขาบอกว่าไม่รู้อะไรแบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจากที่สังคมช่วยกันผลักดันเพราะว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว วันนึงมันอาจจะเกิดกับเรา อย่างวันนี้มันอาจจะเกิดกับเพื่อนเรา คนที่เราเคยรู้จัก เราเคยติดต่อ นักกิจกรรมอะไรแบบนี้ คนที่เราเคยติดต่อ เราเคยได้ยินชื่อเสียง เราเคยได้ยินกันในเฟซบุ๊ก ใคร ๆ ก็ถูกทำให้หายไปได้ถ้าเราไม่ร่วมมือกันในการหากลไกที่จะปกป้อง”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า