Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น DELTA ดีดขึ้นไปถึง 838 บาท ทำให้บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มี Market Cap. แตะ 1 ล้านล้านบาท เกือบใหญ่เท่า PTT หรือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่าเป็นเพราะ “DELTA มี Free Float ที่แท้จริงค่อนข้างต่ำ” จึงประสานให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับปรุงเกณฑ์ Free Float และวิธีการคำนวณดัชนีใหม่

แล้วเกณฑ์ Free Float คืออะไร ทำไมหุ้นที่มี Free Float ต่ำถึงราคาผันผวน การปรับเกณฑ์ใหม่จะส่งผลอย่างไร workpointTODAY สรุปมาให้อ่านในบทความนี้

📈 ทำความรู้จัก Free Float

Free Float หรือจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ละแห่ง จะมี (1) หุ้นที่ถือโดยเจ้าของหรือผู้บริหาร กับ (2) หุ้นที่ถือโดยนักลงทุนทั่วๆ ไป

หุ้นส่วนแรก มักถูกถือเอาไว้เฉยๆ เพื่ออำนาจในการบริหารธุรกิจ ขณะที่หุ้นส่วนหลังจะมีการซื้อมาขายไป แลกเปลี่ยนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ซึ่งจำนวนหุ้นส่วนหลังนี้เองที่เรียกว่า Free Float

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น ถือโดยเจ้าของหรือผู้บริหาร 60 ล้านหุ้น ส่วนอีก 40 ล้านหุ้น ถือโดยนักลงทุนทั่วๆ ไป แบบนี้หมายความว่าหุ้นของบริษัท A มี Free Float 40%

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนจะต้องมี Free Float ไม่น้อยกว่า 15% เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นได้คล่องตัว และซื้อขายได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะถ้าหุ้นตัวไหนมี Free Float ต่ำมากๆ คนที่ถือหุ้นอยู่ เมื่อถึงเวลาอยากขาย กลับไม่มีคนซื้อก็ขายไม่ได้ หรือในทางตรงข้ามถ้านักลงทุนอยากซื้อ แต่หุ้นมีคนขายน้อยก็อาจถูกโก่งราคา

นอกจากนั้น หุ้นที่มี Free Float ต่ำยังถูกทำให้ราคาผันผวนง่าย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดเอาไว้ด้วยว่าบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าไปอยู่ใน SET50 ได้จะต้องมี Free Float ไม่น้อยกว่า 20%

📈 ทำไมหุ้น Free Float ต่ำ ถึงราคาผันผวนง่าย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแถวหน้าของเมืองไทย อธิบายเอาไว้ว่าหุ้น Free Float ต่ำ เอื้อต่อการปั่นราคาด้วยวิธีการที่เรียกว่า Corner นั่นคือการกว้านซื้อหุ้นที่มี Free Float ต่ำให้ราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ จนนักลงทุนคนอื่นๆ เริ่มเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นกำลังขึ้น จึงเข้าไปซื้อบ้าง

แต่ด้วยความที่หุ้น Free Float ต่ำ มีจำนวนหุ้นที่ซื้อขายกันจริงๆ ในตลาดน้อย เมื่อคนเข้าไปซื้อเยอะขึ้นๆ ของที่มีขายมีน้อยกว่าคนที่อยากซื้อ ราคาจึงแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งราคาหุ้นแพงขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งดึงดูดคนหน้าใหม่ๆ ให้เข้าไปซื้อเพิ่ม ช่วยดันราคาหุ้นให้แพงขึ้นอีก กระทั่งสุดท้ายคนที่กว้านซื้อหุ้นเอาไว้เทขายทำกำไร ราคาก็จะดิ่งลง

ทีนี้ ลองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าทำไมการ Corner หุ้น Free Float ต่ำ จึงทำได้ง่ายกว่าหุ้น Free Float สูง ยกตัวอย่างเช่น

• บริษัท A มีหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น มี Free Float 10% หรือเท่ากับ 10 ล้านหุ้น

• บริษัท B มีหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น มี Free Float 40% หรือเท่ากับ 40 ล้านหุ้น

โดยหุ้นทั้ง 2 บริษัท มีราคาหุ้นละ 10 บาทเท่าๆ กัน ถ้าคนที่ต้องการ Corner ใช้เงิน 100 ล้านบาท กว้านซื้อหุ้นในราคาแพงขึ้น 1 เท่า จากราคา 10 บาทต่อหุ้น เป็น 20 บาทต่อหุ้น

กรณีหุ้น A จะซื้อได้ 5 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็น ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของหุ้น A ทั้งหมด (10 ล้านหุ้น) ที่มีอยู่ในตลาด

ส่วนหุ้น B จะซื้อได้ 5 ล้านหุ้นเช่นกัน แต่คิดเป็น 1 ใน 8 ของหุ้น B ทั้งหมด (40 ล้านหุ้น) ที่มีอยู่ในตลาด

ดังนั้น จะเห็นว่าการซื้อหุ้น A ที่มี Free Float แค่ 10% จะทำให้ได้หุ้นกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ จึงมีโอกาสปั่นราคาหุ้นได้ง่าย ส่วนการซื้อหุ้น B ที่มี Free Float ถึง 40% จะได้หุ้นแค่ 1 ใน 8 จากทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมการซื้อขายของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถือหุ้นที่เหลือได้

📈 DELTA มี Free Float เท่าไหร่

ข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า DELTA มี Free Float อยู่ที่ 22.35% ผ่านทั้งเกณฑ์ขั้นต่ำและเกณฑ์ที่จะได้เข้าไปอยู่ใน SET50

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกเอาไว้ด้วยว่าหลักเกณฑ์ปัจจุบันของตลาดหลักทรัพย์ฯ นับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นน้อยกว่า 5% ลงมา และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจเป็น ‘ผู้ถือหุ้นรายย่อย’ ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วหุ้นในส่วนนี้ก็อาจจะไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดเช่นกัน

กรณี DELTA เมื่อดูข้อมูลผู้ถือหุ้นจะเห็นว่ามีบริษัทและสถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นตั้งแต่ 0.85 – 4.83% (น้อยกว่า 5%) รวมๆ กันเกือบ 16% ดังนั้น จริงๆ แล้ว Free Float อาจมีไม่ถึง 10%

จึงไม่แปลกที่ DELTA จะถูกชักนำราคาง่ายและผันผวนสูง อย่างเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2563 หุ้นตัวนี้เปิดตลาดที่ราคา 730 บาทต่อหุ้น ก่อนทะยานขึ้นทำราคาสูงสุดที่ 838 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มี Market Cap. แตะ 1 ล้านล้านบาท แซงหน้า CPALL ADVANC และ AOT ขึ้นไปครองอันดับ 2 ของตลาดหุ้นไทย แต่ยังไม่ทันจบวัน DELTA ก็ถูกถล่มขายตอนช่วงท้ายตลาด จนราคาร่วงลงจากจุดสูงสุด 33% และปิดตลาดที่ 560 บาทต่อหุ้น

📈 เมื่อราคาหุ้นสูงเกินจริง Market Cap. ก็สูงเกินจริงไปด้วย

มูลค่าบริษัท หรือ Market Cap. คำนวณจากราคาหุ้น x จำนวนหุ้นทั้งหมด ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นแพง (จากการปั่นหุ้นที่มีขายจำนวนน้อย) มูลค่าบริษัทจึงสูงเกินจริงไปด้วย

ปัจจุบัน DELTA มี Market Cap. อยู่ที่ประมาณ 6 – 7 แสนล้านบาท ใหญ่กว่า ADVANC และ CPALL ทั้งๆ ที่ 2 บริษัทนี้ มีกำไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 20,000 – 30,000 ล้านบาท มากกว่า DELTA ประมาณ 5 – 6 เท่า

แต่ด้วย Market Cap. ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงของ DELTA จึงลากดัชนี SET ให้บวกหรือลบตามไปด้วยในแต่ละวัน รวมถึงกองทุน Passive Fund ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น จากปรากฏการณ์ที่ดูจะ ‘ไม่ปกติ’ นี้ ก.ล.ต. จึงขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งปรับปรุงเกณฑ์ Free Float

📈 เตรียมปรับเกณฑ์ Free Float และวิธีการคำนวณดัชนี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศว่ากำลังพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ Free Float และวิธีการคำนวณดัชนีใหม่ โดยจะเปลี่ยนจากการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณ (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float แล้วในการคำนวณ (Free Float Adjusted Market Capitalization) แทน

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ แบบเดิมใช้แค่ราคาหุ้นกับจำนวนหุ้นทั้งหมดคิดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด แล้วนำไปคำนวณดัชนี แต่แบบใหม่จะนำ Free Float เข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาวะจริงของตลาดได้ดีขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอติดตาม

แต่การปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้คงจะส่งผลกระทบต่ออันดับหุ้นในดัชนี SET50 SET100 และอาจทำให้หุ้นที่มี Free Float ต่ำบางตัว หลุดออกจากหุ้น 50 และ 100 อันดับแรก

 

อ้างอิง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า