สภาฯ รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เปิดทางปลดล็อกผลิตสุราเสรี
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. เขต 22 พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตและจำหน่ายสุราได้เอง โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิต แล้วยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถผลิตเพื่อบริโภคในภาคครัวเรือนเองได้ด้วย
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ของรับ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไปพิจารณา ก่อนรับหลักการ 60 วัน และมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงได้ส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา
โดย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สุรา มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมมากกว่าสินค้าชนิดอื่นทั่วไป และหากให้มีการผลิตเองได้ อาจจะมีการใช้วัตถุดิบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากจะมีการอนุญาตให้สามารถผลิตเอง ก็ไม่จำเป็นต้องตราเป็นพ.ร.บ. แต่สามารถจะแก้ไขกฎกระทรวงได้
ด้าน นายเท่าพิภพ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย ตั้งข้อสังเหตต่อความเห็นของครม. เหตุใดประชาชนจึงไม่สามารถสุราเพื่อจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือนเองได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนขนาดใหญ่หรือไม่ ส่วนกังวลเรื่องคุณภาพของสุรา กรมสรรพสามิตมีอำนาจให้การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของโรงกลั่นสุราได้ทุกแห่งอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ส.ส. หลายคนได้อภิปรายในประเด็นที่ครม. ไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ ครม. อาทิ
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุตอนหนึ่งว่า “เราไปปะปนกับความปลอดภัยของผู้บริโภคของประชาชนแล้ว ต้องถามตัวเอง รัฐเอาอำนาจอะไรเอาสิทธิอะไรตามรัฐธรรมนูญข้อไหนไปบอกว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ …เหตุผลแม้ระหว่างประเทศ ที่ท่านจะกีดดันใครก็แล้วแต่หรือไม่กีดกัน หรือให้เขาทำได้หรือไม่ได้ เหตุผลเดียวคือคุ้มครองผู้บริโภค แล้วการคุ้มครองผู้บริโภคถ้าในกรณีนี้ ที่จะต้องมีผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องผ่าน อย. ก็แค่นั้น ต้องไปพิสูจน์ว่าบริโภคปลอดภัย ที่เหลือไม่เกี่ยว ทีนี้ของท่านไปกำหนดว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้าน ต้องมีกำลังแรงม้าเท่าโน้นเท่านี้เท่านั้น โอ้โหเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะ ของเรายังโบราณอยู่เลย ตรงนี้ผมคิดว่าท่านต้องกลับไปทบทวนนิดนึง แล้วการที่ท่านไม่ให้เขาทำ ถูกสังคมมองได้ทันทีว่าเอื้อคนที่อยู่ อยู่แล้วหรือเปล่า ถ้าท่านคว่ำร่างนี้ที่เปิดให้รายเล็กรายน้อยทำ ท่านเป็นจำเลยทันที ”
จากนั้นที่ประชุมได้ มีมติดังนี้
– เห็นด้วย 178 เสียง
– ไม่เห็นด้วย 137+1 เสียง (138 เสียง)
– งดออกเสียง 15 เสียง
– จำนวนผู้ลงมติ 330+1 เสียง (331 เสียง)