SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทน ‘นิสิต นักศึกษา’ 16 สถาบัน รวมตัวเดินทางเข้ารัฐสภาและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยื่นหนังสือพร้อมข้อเรียกร้อง 3 ประการ ให้เร่งเยียวยานิสิตนักศึกษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นี่เป็นอีกหนึ่งภาคเรียน ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียน มาสู่ระบบออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ WorkpointTODAY ชวนทุกท่านสำรวจชีวิตนิสิต นักศึกษายุคโควิด-19 ว่าพวกเขามีประสบการณ์อะไรที่ขาดหายไปบ้าง

นายพลพล หรินทรานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องไปยังภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งออกมาตรการเยียวยานิสิตนักศึกษา เล่าให้ฟังว่า ในฐานะตัวแทนนักศึกษาได้รับข้อร้องเรียนจากเพื่อนนักศึกษาหลักๆ คือ การเรียกร้องให้คืนค่าเทอมและมาตรการลดค่าเทอมจากที่นักศึกษาไม่ได้เข้าไปใช้บริการจากมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ ในสัดส่วน 30-50% รวมถึงการเยียวยาค่าหอพักนักศึกษา ทั้งหอพักของมหาวิทยาลัยและหอพักนอกมหาวิทยาลัย

“ในส่วนของมาตรการการเยียวยาลดค่าเทอม เราเองก็เข้าใจภาระของมหาวิทยาลัยที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลต่างๆ ในส่วนที่เราเป็นองค์การนักศึกษา เป็นตัวแทนนักศึกษาก็พยายามที่จะเจรจาหรือเข้าไปพูดคุย เพื่อหาแนวทางร่วมกันอยู่ในตอนนี้ อยากส่งเสียงไปยังผู้บริหารให้เปิดใจรับฟัง ลองเอานักศึกษาที่มีปัญหาเข้าไปฟัง ให้นักศึกษาพูด ร่วมกันแก้ไข”

ในขณะที่ระบบมหาวิทยาลัยปัจจุบันเรียกว่ามีแพลตฟอร์มหลายช่องทางที่พยายามให้นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เข้าไปร้องเรียน แต่ในมุมของนักศึกษาก็ยังมองว่าท่าทีของมหาวิทยาลัยมีความล่าช้าในการตอบสนองต่อปัญหาของพวกเขา

สุภาพรรณ ว่องพานิช ประธานฝ่ายสวัสดิการนิสิต องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนเสียงของเพื่อนนักศึกษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าได้รับผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของครอบครัวลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์ โดยเฉพาะแท็บเล็ต ที่กลายมาเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียน

“ผลกระทบของนิสิตในช่วงโควิด-19 มันกระทบนิสิตในทุกด้านเลย พอมีโควิดเนี่ย มหาวิทยาลัยต้องปรับมาเป็นออนไลน์ ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าอุปกรณ์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอุปกรณ์ที่จะเรียนได้ อย่างแท็บเล็ต ไม่ใช่ว่ามีมือถืออย่างเดียวจะเรียนได้ บางวิชาที่เปิดกล้อง คนที่มีแท็บเล็ตก็สะดวก พิมพ์ส่งได้ ในขณะที่บางคนใช้วิธีถ่ายรูปส่งกัน เพราะมีแต่มือถือ มันมีความไม่เท่าเทียมกันตรงนี้อยู่”

ในขณะที่สุขภาพจิตของเพื่อนนักศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบ เนื่องด้วยประสิทธิภาพการเรียนที่ลดลง และเมื่อคำนึงว่าไม่ใช่นิสิตทุกคนที่จะมีห้องส่วนตัว มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียน รวมถึงในหลายคณะเองที่ต้องเรียนภาคปฏิบัติ แต่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ คุณภาพการเรียนรู้และประสบการณ์ก็ลดลงไปด้วย

“ประสิทธิภาพการเรียน ไม่ใช่ทุกบ้านที่เหมาะสมกับการเรียน บางบ้านที่ไม่ได้มีห้องส่วนตัว ต้องเรียนท่ามกลางเสียงรบกวน บางวิชาที่ต้องมีการเรียนในห้องภาคปฏิบัติการ พอไม่ได้ใช้อุปกรณ์ทำให้เราไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร ด้านสุขภาพจิต เมื่อมันมาเป็นออนไลน์ มันก็เน้นทำรายงาน เน้นทำโปรเจค และในการเรียนเราไม่ได้วิชาเดียว พอหลายวิชาสั่งงาน ภาระงานเรามากขึ้น ความเหนื่อยล้า มันมากขึ้นกว่าในห้องปกติ ข้อสอบพอปรับมาเปิดหนังสือมันก็ยากมากขึ้น ทำให้เรากดดันการเรียนมากขึ้น”

และเมื่อคิดไปถึง ‘เฟรชชี’ นิสิตนักศึกษาใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเด็กปี 1 ปี 2 เสียโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมมหาวิทยาลัย และได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสที่เรียกคืนมาไม่ได้

ในขณะที่ข้อเรียกร้องจากตัวแทนนิสิตนักศึกษา 16 สถาบัน ประกอบไปด้วย

1.มหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน ควรคืนเงินค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาที่ได้ทำการชำระไปแล้วและในภาคการศึกษาถัดไปในอัตราร้อยละ 30-50

2.ข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนเงินเพื่อการศึกษา (กยศ. กรอ.) พิจารณายกเลิกหรือผ่อนผันหลักเกณฑ์ที่ให้นักศึกษาผู้กู้ยืมต้องทำกิจกรรมอาสาเพื่อเก็บเป็นชั่วโมงอาสา

3.ข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่นิสิตนักศึกษากำลังประสบด้วยความเข้าใจนักศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงให้เปิดใจรับฟังด้วยความเข้านักศึกษาอย่างแท้จริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยคำนึงสวัสดิภาพของนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความยืนยันว่า รัฐบาลไม่ทอดทิ้งนักศึกษาและผู้ปกครอง

โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา เรื่องมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายกรัฐมนตรีได้รับหลักการมาตรการตามที่ อว. เสนอ คือ สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 50

ขั้นที่ 2 ส่วนตั้งแต่ 50,001 – 100,000 บาท ลดร้อยละ 30

ขั้นที่ 3 ส่วนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ร้อยละ 60 และสถาบันอุดมศึกษาสมทบร้อยละ 40 ในส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมการศึกษาคนละ 5,000 บาท และให้ทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการอื่นๆ ด้วย ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะมีนิสิต นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวน 1,750,109 คน

ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา แต่การเสียโอกาสที่นิสิตนักศึกษาควรจะได้รับประสบการณ์ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ไม่อาจมีสิ่งใดมาทดแทนได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า