SHARE

คัดลอกแล้ว

สร้างแรงบันดาลใจ หรือ โรแมนติไซส์คนผิด? นอกจากกระบอกปืนฉีดน้ำกับวันหยุด ภาพยนตร์ซึ่งฉายภาพความเป็นมนุษย์อย่าง แก๊งหิมะเดือด (Frozen Hot Boys) น่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่ช่วยให้คนไทยมีหัวใจอันกระชุ่มกระชวยในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

 

ผลงานจากเน็ตฟลิกซ์ของ นฤบดี เวชกรรม กับ ธนกฤต กิตติอภิธาน บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กผู้เคยก้าวเดินทางผิด จนชีวิตต้องลงเอยที่ศูนย์ฝึกเยาวชนอย่างบ้านเบญจธรรม อย่างไรก็ดี ด้วยการชักชวนของ ครูชม (แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) ที่เชื่อมั่นว่า เหล่าเด็กนั้นเปลี่ยนได้ และการมีเป้าหมายจะช่วยให้อนาคตของชาติกลับเข้าสู่ลู่ทางที่ควรเป็น นำมาซึ่งการฝึกฝน เพื่อเดินทางไปแข่งขันแกะสลักหิมะระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางแรงเสียดทานจากสังคม ที่มองว่า ผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโอกาสในชีวิตเป็นครั้งที่ 2

ภาพจาก: Netflix

มองเผินๆ แก๊งหิมะเดือด ไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจทั่วไป ที่ กลุ่มเด็กขี้แพ้ (Loser) กลับตัวกลับใจ รวมพลังเพื่อแก้ไขสิ่งที่เคยพลั้งพลาด พร้อมพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเขามีคุณงามความดี และคุณค่าในตัวเอง กระนั้น หนึ่งในหลักใหญ่ใจความของภาพยนตร์ ที่น่าหยิบยกมาพูดคุย คงไม่พ้นไปจาก ประเด็นการกระทำความผิดของเยาวชน

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่เคยก่อคดีจะไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ การฉายภาพว่า โอกาสครั้งใหม่คือกุญแจในการแก้ปัญหา เป็นกุศโลบายเปี่ยมความหวัง หรือเพียงมายาคติโลกสวย และในความเป็นจริง คนในสังคมจะมีส่วนช่วยเยียวยาเยาวชนเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

*** บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องบางส่วน สปอยล์แค่น้ำจิ้ม*** 

ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า ปี 2567 มีเยาวชนกระทำความผิด ทั้งหมด 14,844 คน โดยมีมากถึง 14,625 คน ที่กำลังศึกษาเล่าเรียน และมากกว่า 10,000 คน พ่อกับแม่ตัดสินใจแยกกันอยู่

ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาเหมารวมว่า ความไม่พร้อมหรือความเปลี่ยนแปลงในครอบครัว นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม แต่เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ผู้ปกครองมีอิทธิพลสำคัญต่อความคิดและความรู้สึกของเด็ก และหากสถาบันแห่งแรกมีความแข็งแรงมากพอ ไม่แน่ว่า ตัวเลขของเยาวชนที่กระทำผิดอาจลดจำนวนลงก็เป็นได้

ในแก๊งหิมะเดือด ตัวละครหลักอย่าง แจ๊บ (แบงค์-ณฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ) กลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรง เพราะโดนพ่อที่ติดเหล้าทำร้ายร่างกาย ขณะที่ การถูกเพิกเฉยจากครอบครัวก็ส่งผลให้ ตูมตาม (เอฟ-ปิยพงษ์ ดำมุณี) ตัดสินใจลักเล็กขโมยน้อย ทางฝั่งของ วิน (ปาล์ม-ปุณณานนท์ ตรีวรรณกุล) ก็ต้องทนเห็นแม่แท้ๆ ถูกพ่อเลี้ยงทุบตีเป็นประจำ จากเด็กเรียนดีก็กลายสถานะเป็นฆาตกร เพราะอยากปกป้องบุพการี

ภาพจาก: Netflix

วิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ กำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการศึกษา สำหรับเด็กที่หลุดออกจากระบบ เล่าว่า การกระทำผิดของเด็กเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กต้องการความอบอุ่นจากเพื่อนฝูง จนตัดสินใจทำหลายสิ่งหลายอย่างตามเพื่อน โดยขาดการกลั่นกรอง อย่างตัวละคร โจ (นนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

อย่างไรก็ดี วิทิตย้ำว่า ต่อให้ครอบครัวจะมีปัญหา แต่ถ้าสังคมในหมู่บ้านเข้มแข็งเพียงพอ เด็กก็จะมีเกราะคุ้มกันอันเหมาะสม อยู่ในลู่ทางที่เอื้อให้เขาและเธอได้ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ต้องกลับมานึกเสียใจภายหลัง

แต่ใช่ว่าประเทศไทยจะให้หมู่บ้านที่เข้มแข็งแก่เยาวชนเสียเมื่อไหร่ ตัวเลข 14,844 คน จากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพิสูจน์แล้วว่า สังคมเรายังอ่อนแออยู่มาก จนหลายครั้งเคราะห์ร้ายไปตกอยู่กับเด็ก ที่อาจทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ รู้ตัวอีกที พวกเขาก็มาลงเอยที่สถานพินิจ ไม่ก็บ้านเมตตา อาจไม่จบเท่านั้น นอกจากจะถูกพรากอิสรภาพแล้ว พวกเขาอาจพบเจอกับการถูกทำร้าย ทั้งทางคำพูดและการกระทำ

เช่นในแก๊งหิมะเดือด ปรากฏฉากที่ ผู้คุม (ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ลงไม้ลงมือกับเด็ก โดยปราศจากความปรานี เขาประกาศกร้าวว่า “นี่มันในคุก เด็กทำผิด มันก็ต้องลงโทษ ธรรมดาป่ะวะ”

ฉากนี้สะท้อนชัดเจนว่า อำนาจนิยมยังแทรกซึมอยู่ทุกภาคส่วนของสังคม มีคนอีกมากที่เชื่ออย่างสุดขั้วหัวใจว่า การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีที่ชอบธรรมมากพอ ในการสั่งสอนหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการตบตีเป็นหนทางที่ ‘ง่าย’ และ ‘เร็วกว่า’ การเอาใจของเราเข้าไปทำความเข้าใจหัวอกของผู้กระทำผิด แต่นั่นแหละ ทางที่เร็วและง่าย อาจไม่ใช่ทางที่ ‘ถูก’ และ ‘ควร’ เสมอไป

ภาพจาก: Netflix

หนึ่งในวิธีการที่ถูกยกมาพูดถึงในช่วง 4-5 ปีหลัง คือการเพิ่มบทลงโทษแก่เยาวชนที่กระทำผิด คนบางส่วนมองว่า เด็กในปัจจุบันมีวุฒิภาวะไม่ต่างจากผู้ใหญ่ การตัดสินใจของพวกเขา หากเป็นเรื่องเลวร้ายก็สมควรถูกลงโทษเฉกเช่นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไม่ควรแบ่งแยกบทลงโทษให้แก่คนที่ท้ายที่สุดคงไม่สำนึก และกลับไปทำพฤติกรรมเช่นเดิมอยู่ดี

อย่างไรก็ดี ตามข้อเขียนของ สำนักวิชานิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเด็กฉบับใด ล้วนแล้วแต่ตราขึ้นมาบนพื้นฐานของทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งเจตนารมณ์แห่งการตรากฎหมายสำหรับเด็กนั้น มองว่าเด็กเป็นผู้หย่อนความสามารถเมื่อมีการกระทำความผิดจึงควรได้รับโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตัวเอง 

ดั่งคำกล่าวของ เคิทเวย์ (George F. Kirchway) ที่ว่า “…การลงโทษไม่สามารถยับยั้ง ผู้ซึ่งหย่อนความรับผิดชอบได้ เพราะว่าเขาไม่รู้ถึงผลร้ายที่จะได้รับจากการกระทำผิด ไม่สามารถที่จะยับยั้งบุคคลวิกลจริตได้ เพราะว่าเขาพยายามขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคมอยู่แล้ว ไม่สามารถยับยั้งผู้ที่กระทำผิดด้วยความฉลาดได้ เพราะว่าเขาย่อมไม่คิดว่าจะถูกจับได้ ไม่สามารถยับยั้งผู้ซึ่งกระทำความผิดโดยกะทันหันได้ เพราะว่าแรงกระตุ้นให้กระทำผิดมีเร็วกว่าที่จะคิดถึงเหตุผล ถ้าการลงโทษไม่สามารถยับยั้งบุคคลเหล่านี้ได้ แล้วใครกันที่การลงโทษจะยับยั้งได้ ก็คงจะมีแต่บุคคลซึ่งมีมาตรฐานความประพฤติที่ดีและไม่ละเมิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยการลงโทษเพื่อเป็นการยับยั้งมาขู่เลย” 

เพราะฉะนั้น เราอาจพอตีความได้ว่า ตัวบทกฎหมายมีมาตรฐานมากพอแล้ว เพียงแต่ต้นตอปัญหาที่แท้จริง นอกเหนือจากสถาบันครอบครัวกับสภาพสังคม อาจเป็นกลไกการฟื้นฟูอันไม่เอื้อให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา อยากใช้ชีวิตในสังคม ตลอดจนอยากเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากการใช้ความรุนแรงในบ้านเมตตาดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมถึงขนาดและจำนวนของสถานฟื้นฟูที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เด็กล้นบ้าน ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึงเพียงพอ

ภาพจาก: Netflix

กระนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อคือ ต่อให้มีระบบฟื้นฟูเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ การให้โอกาสแก่เด็กที่พรากชีวิตของเด็กคนอื่นเป็นสิ่งที่สมควรมากน้อยแค่ไหน การที่ผลของสิ่งที่เขาก่อไว้ คือการได้เป็นตัวแทนประเทศอย่างที่ภาพยนตร์นำเสนอนั้นเหมาะสมแล้วหรือ

หนึ่งในฉากที่เชื่อว่า ผู้ชมทุกคนจำได้ คือฉากที่แม่ของเด็กที่เสียชีวิตปรี่เข้ามาตบหน้าของโจ พร้อมด่ากราด “คนที่ฆ่าลูกกู สมควรได้รับโอกาสแก้ตัวด้วยเหรอ ลูกกูสิ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะมีชีวิตอยู่”

ทั้งที่เอาใจช่วยแก๊ง Frozen Hot Boy มาตลอดเรื่อง ไม่มากก็น้อย ประโยคดังกล่าว หยุดเราให้คิดทบทวนกับตัวเอง ทำนองว่า ‘นี่ฉันกำลังเอาใจช่วยฆาตกรอย่างหน้ามืดตามัวอยู่หรือเปล่า’ ท่าทีที่ผู้สร้างใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นการ ‘โรแมนติไซส์ (Romanticize)’ เยาวชนที่กระทำผิดหรือไม่

ทว่าภาพยนตร์ไม่ปล่อยให้ผู้ชมนิ่งคิดนาน เมื่อผู้อำนวยการบ้านเบญจธรรมเร่งออกมารับหน้ากับแม่ผู้เคราะห์ร้ายว่า

“ขอโทษนะคะคุณแม่ เด็กพวกนี้กระทำความผิดจริง แล้วก็ไม่มีอะไรจะแก้ตัวด้วยค่ะ เราสร้างสังคมให้ลูกของคุณปลอดภัยไม่ได้ แล้วเราก็ไม่สามารถทำให้เด็กๆ พวกนี้เจริญเติบโตอย่างดีได้ค่ะ ดิฉันในนามผู้ใหญ่ของสังคมนี้ ขอโทษคุณแม่จากใจจริงค่ะ”

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเติบโตมาในสังคมนี้ เราชื่นชอบและชื่นชมบทสนทนานี้เหลือเกิน เราไม่ได้กำลังสื่อว่าความผิดทั้งหมดที่เยาวชนก่อขึ้นเป็นผลพวงจากความผิดพลาดของผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่อาจคัดค้านเช่นกันว่า สภาพแวดล้อมที่เด็กทุกคนเติบโตมา ล้วนเกิดจากการประกอบสร้างของผู้ที่โตแล้ว ทั้งค่านิยม กฎหมาย วัฒนธรรม ตลอดจนบรรทัดฐาน 

จริงอยู่การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกร อาจเป็นเพราะความเลือดร้อนขาดการยั้งคิดของตัวเขาเอง แต่หากสังคมมีระบบระเบียบ หรือทำความเข้าใจดีพอ บางทีเราอาจช่วยกันยับยั้งไม่ให้เด็กชายคนหนึ่งถูกฆาตกรรมโดยเด็กชายอีกคน ทำนองเดียวกัน เราอาจปกป้องไม่ให้เด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับโจ ต้องกลายเป็นผู้ที่คร่าชีวิตคนอื่นได้สำเร็จ

ทั้งหมดทั้งมวล การได้ฟังผู้ใหญ่สักคน แม้เป็นเพียงแค่ละคร กล่าวขอโทษในนามของผู้ใหญ่ในสังคมนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเหลือเกิน แม้นั่นจะเป็นเพียงบทพูดที่อยู่ในภาพยนตร์ก็ตามที

ภาพจาก: Netflix

สุดท้ายนี้ คำถามที่ว่าสิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อเป็นการปลุกความหวัง หรือกำลังโรแมนติไซส์ความผิดบาป ผู้เขียนมองว่า คำตอบอยู่ในประโยคที่ครูชมพูดกับโจ

“โจ ความผิดของเธอมันเกิดขึ้นไปแล้วเว่ย มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่แกทำได้ตอนนี้ คือไม่ลืมว่าตัวเองเคยทำอะไรไว้ ก็สำนึกผิด แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไปให้มันดีๆ”

คำพูดนี้สอดคล้องกับที่ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษกเคยกล่าวไว้ “เราเข้าใจคนที่คิดว่าจะต้องเพิ่มโทษเยาวชนที่กระทำความผิดจนทำให้คนอื่นต้องเสียชีวิต เราเห็นด้วยว่า การตายคือทุกข์แสนสาหัสของคนข้างหลัง แต่ประเทศจะขับเคลื่อนด้วยโศกนาฏกรรมไม่ได้ เราต้องไปให้ถึงโครงสร้างและระบบที่ดีด้วย”

มันคงไม่สำคัญว่า สิ่งที่แก๊งหิมะเดือดกำลังบอกกับเราเป็นเพียงอุดมการณ์โลกสวยหรือไม่ เพราะต่อให้มันเป็นเช่นนั้นจริง มันก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่หรือที่สังคมของเราจะดำเนินไปในจุดที่เต็มไปด้วยความสวยงาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มองข้ามความเป็นจริง คดีอาชญากรรมในเรื่องคือเหตุรุนแรงที่มีผู้เสียใจอยู่เบื้องหลัง แต่ประเทศยังต้องเดินหน้าต่อ และอย่างไรเสีย เยาวชนยังคงเป็นกำลังสำคัญในขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

“ไม่มีใครอยากเกิดมาทำผิดหรือว่าเป็นคนไม่ดีหรอกนะคะ สิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่โอกาสในการแก้ตัวอีกครั้ง ดิฉันเชื่อค่ะว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงได้ ยังไงก็วอนสังคมช่วยเชียร์และเป็นกำลังใจให้พวกเด็กๆ ด้วยแล้วกันนะคะ”

คำถามคือ วันนี้เราในฐานะผู้ใหญ่ช่วยเชียร์ และเป็นกำลังใจที่ดีให้กับพวกเด็กๆ ในสังคมแล้วหรือยัง…

 

อ้างอิง

admin.djop.go.th

the101.world 

youtube.com 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า