หลังจากประธานาธิบโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันไป
มีทั้งประเทศที่ยอมหมอบแต่โดยดี ประเทศที่พยายามหาทางเจรจาเพื่อผ่อนปรนภาษีกับสหรัฐฯ และประเทศที่ประกาศพร้อมชน สู้กับสหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองแบบไหน สิ่งที่ทรัมป์กำลังโฟกัสอยู่ตอนนี้ก็คือผลลัพธ์สุดท้ายที่สหรัฐฯ จะได้มาจากมาตรการภาษีใหม่ของเขา ส่วนการตอบสนองต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เชื่อว่าทรัมป์เองก็น่าพอรู้อยู่ว่าต้องมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และเขาก็น่าจะเตรียมรับมือเอาไว้บ้างแล้ว
Game of Chicken: ทรัมป์กำลังเล่นเกมคนขี้ขลาดกับทั่วโลก
Game of Chicken Theory หรือ ‘ทฤษฎีคนขี้ขลาด’ (มาจากคำแสลงของ Chicken ที่สามารถแปลว่า ‘คนขี้ขลาด’ ได้ด้วย) เป็นหนึ่งในทฤษฎีเกมที่นักวิเคราะห์หลายคน นำมาอธิบายสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับทั่วโลกในเวลานี้
อธิบายง่ายๆ หลักการของทฤษฎี Game of Chicken คือ สถานการณ์ที่มีรถสองคันกำลังวิ่งเข้าหากันด้วยความเร็ว พอถึงนาทีสุดท้ายก่อนที่ทั้งสองคันจะชนกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องตัดสินใจว่า จะหักหลบ หรือจะพุ่งไปข้างหน้า วัดใจฝ่ายตรงข้ามว่าทำอย่างไร
โดยโอกาสที่เป็นไปได้ มีทั้งฝ่ายหนึ่งตัดสินใจพุ่งไปข้างหน้า และอีกฝ่ายตัดสินใจหักหลบ หรืออาจจะหักหลบกันทั้งสองฝ่าย ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งสองคนก็จะปลอดภัย ไม่มีการชนกันเกิดขึ้น
แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างตัดสินใจพุ่งไปข้างหน้าเหมือนกัน รถทั้งสองคันจะพุ่งชนกัน ทำให้ได้รับความเสียหายทั้งคู่
ทฤษฎี Game of Chicken จึงเป็นเหมือนการทำสงครามจิตวิทยากับฝ่ายตรงข้าม โดยฝ่ายที่เป็นฝ่ายเปิดเกม จะพยายามทำให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อว่า ตัวเองจะไม่มีทางหักหลบอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลาจวนตัวจริงๆ ฝ่ายที่คิดว่าตัวเองด้อยกว่าจึงต้องยอมหลบเอง เพื่อเลี่ยงการปะทะ ไม่ให้เกิดความเสียหาย
Game of Chicken กับสงครามภาษีทรัมป์
หลักการของ Game of Chicken สามารถนำมาเปรียบได้กับสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับทั่วโลกในเวลานี้
เริ่มจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายเปิดเกม เรียกเก็บภาษีจากประเทศที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า ประเทศเหล่านั้นมีพฤติกรรมเอาเปรียบสหรัฐฯ มาเนิ่นนาน ดังนั้น สหรัฐฯ จะไม่ยอมถูกเอาเปรียบอีกต่อไป ต่อไปนี้ ทุกประเทศก็จะต้องกลับมาจ่ายภาษีให้สหรัฐฯ เหมือนกับที่เก็บจากสหรัฐฯ ไป
แม้ทรัมป์จะบอกว่า นี่เป็นการคิดภาษีแบบใจดีแล้ว เพราะเรียกเก็บแค่ครึ่งเดียวจากที่ประเทศต่างๆ เก็บจากสหรัฐฯ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือ การยืนยัน ยืนกรานว่า ยังไงทุกประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในตารางที่เขานำออกมาประกาศใน ‘วันปลดแอก’ จะต้องจ่ายภาษีอัตราใหม่ให้กับสหรัฐฯ โดยไม่มีข้อยกเว้น
ทำให้ประเทศต่างๆ ที่กลัวจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากอัตราภาษีใหม่ของสหรัฐฯ พากันไปขอเจรจา ยื่นเงื่อนไข หรือข้อแลกเปลี่ยน เพื่อให้ตัวเองรอด หรือพูดตามภาษาเกม ก็คือการหมอบ ยอมหักหลบเพื่อเลี่ยงความเสียหาย
ถ้าให้พูดกันจริงๆ ดูเหมือนว่าเกมกระดานนี้จะเป็นไปตามที่ทรัมป์คาดหวัง คือเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะใช้ต่อรอง สร้างเงื่อนไข หรือยื่นข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่ในช่วงเวลานี้
แต่สถานการณ์กลับไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะยังมีอีกประเทศหนึ่ง ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมชน และสู้กลับ แบบวัดดวงกันไปเลยว่าใครจะพังก่อนใคร คงไม่ต้องเดาว่า ใครจะกล้างัดกับทรัมป์ได้ถึงขนาดนี้ แน่นอนว่าหนีไม่พ้น ‘จีน’
ยักษ์ชนยักษ์ สะเทือนโลก
จีน ซึ่งเป็นคู่ปรับคู่แค้นกับสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน ถูกเรียกเก็บเพิ่มนับตั้งแต่ทรัมป์มารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมแล้ว 54% โดยจีนถูกเก็บภาษีเพิ่มรอบแรก 20% ตั้งแต่ทรัมป์เพิ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีหมาดๆ และล่าสุด เมื่อ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็ขึ้นอีก 34%
ทำให้กระทรวงการคลังจีนไม่อยู่เฉย ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 34% เท่ากัน ด้านทรัมป์ พอจีนประกาศแบบนี้ เขาก็ออกมาตอบโต้ด้วยการบอกว่าจะขึ้นภาษีจีนอีก 50% ถ้าจีนไม่ยอมยกเลิกภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มจากสหรัฐฯ 34% กลายเป็นสงครามน้ำลาย สาดใส่กันไปมาระหว่างทั้งสองฝ่าย ล่าสุด จีนออกมาประกาศว่า “จะสู้จนถึงที่สุด” ถ้าทรัมป์ขึ้นภาษีจีนอีก
ผลที่ตามมาจากการปะทะคารมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวลขึ้นมาว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงขยายเป็นวงกว้าง เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีน ล้วนเป็นชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อโลก ในวันที่ยักษ์ชนยักษ์ แน่นอนว่า เบี้ยเล็กๆ อย่างประเทศอื่นๆ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเจอแรงสั่นสะเทือนที่ตามมา
เกมนี้จะไปจบตรงไหน
จุดจบของเกมภาษีครั้งนี้จะไปหยุดที่ตรงไหน ตอนนี้คงเร็วไปที่จะตอบได้ แต่มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจทั้งจากนักวิเคราะห์ หรือนักการเมืองหลายคน ทั้งมุมมองที่ว่า สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ อาจเป็นแค่กลยุทธ์บีบให้อีกฝ่ายมาเจรจา หรือทรัมป์ อาจกำลังพยายามเล่นเกมเพื่อจัดระเบียบโลก และวางสถานะของอเมริกาในจุดใหม่
แต่มุมมองที่น่าสนใจคือ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เกมที่ทรัมป์กำลังเล่นอยู่มีความซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะหลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีออกมาไม่นาน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นคนแรกๆ ก็คือ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของทรัมป์ ที่ออกมาประกาศเลยว่า อิสราเอลสัญญาว่าจะลดอุปสรรคทางการค้าที่เคยมีกับสหรัฐฯ ทั้งหมด และก็จะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อีก
“ผมคิดว่าการทำแบบนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง และอิสราเอลก็น่าจะเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ทำแบบเดียวกับเรา” เนทันยาฮูระบุ
สุดท้ายแล้วนี่จะเป็นกลยุทธ์ซ้อนกลยุทธ์ หรือเป็นเกมซ้อมเกมของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ เรื่องนี้น่าจะต้องรอดูกันต่อไปอีกยาวๆ แต่ที่ปรากฏให้เห็นแล้ว คือเกมกระดานนี้เป็นเกมแห่งการชิงไหวชิงพริบ คนอ่อนแอก็ต้องแพ้ไป