SHARE

คัดลอกแล้ว

GameFi เกมรูปแบบ Play to Earn เกมที่สามารถสร้างรายได้ ไปพร้อมๆ กับการเล่น คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาพลิกโฉมวงการเกมสู่โลกของคริปโตเคอร์เรนซีและ NFT

อุตสาหกรรมเกมจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน นักพัฒนาเกมไทยจะสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ในการสร้างรายได้และขยายตลาดได้หรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้

มูลค่าตลาดเกมไทย

แม้เกมดูเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรก หรือเรื่องเล่นๆ แต่จริงๆ แล้วมูลค่าในอุตสาหกรรมเกมของบ้านเราไม่ใช่เล่นๆ เลย

เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาตลาดเกมในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท อัตราการเติบโตของมูลค่าก็ก้าวกระโดดจาก 2–3 ปีก่อนหน้า จากที่โตปีละประมาณ 15 % กลายมาเป็นเติบโตมากถึง 35 % ในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากวิกฤตโควิดที่ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น เราจึงได้เห็นบรรดาเกมเมอร์หน้าใหม่เข้าสู่วงการเกมมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อแบ่งออกเป็นประเภทตามแพลตฟอร์มการเล่นแล้ว พบว่า ตลาดเกมในเมืองไทย มีเกมคอนโซลอยู่ประมาณ 10 % เกม PC ประมาณ 20% อีก 70 % เป็นตลาดของเกมมือถือ ที่ถือได้ว่าครองส่วนแบ่งการตลาดเยอะที่สุด

จาก Free to Play สู่ Play to Earn

ในอดีตประมาณยุค 90 หากเราจะเล่นเกมสักเกมนึง ก็ต้องนึกถึงเกมคอนโซล หรือเครื่องเล่นวิดีโอเกม เป็นเครื่องเล่นเกมที่แสดงภาพผ่านหน้าจอในเครื่องหรือโทรทัศน์ มีทั้งเครื่องเล่นเกมแบบไว้เล่นภายในบ้าน เช่น PlayStation, XBOX กับเครื่องเล่นเกมแบบพกพาที่ไม่ใช่มือถือ เช่น Nintendo Switch

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ปี 2000 วงการเกมก็พัฒนาเข้าสู่เกม PC หรือเกมคอมพิวเตอร์ พัฒนาจากเกมที่มีกราฟิกเรียบง่าย ไปจนถึงเกมที่มีกราฟิกและรูปแบบการเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น

และยังมีทั้งเกมมือถือในยุคของมือถือแบบฟีเจอร์โฟน ที่ต้องกดดาวน์โหลดผ่านผู้ให้บริการ ที่เราจะคุ้นเคยกันจากการกดหมายเลข 1900 ตามด้วยหมายเลขรหัสต่างๆ

ตามมาด้วยเกมออนไลน์ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วเมือง กลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคอเกมชาวไทยในยุคนั้น เกมออนไลน์มีความสนุกมากกว่าการเล่นเกมแบบเดิมๆ เพราะเป็นเกมที่เล่นพร้อมกันได้หลาย ๆ คน เกมฮิตในยุคนั้น ตัวอย่างเช่น เกม Ragnarok ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท กราวิตี้ คอร์ปอเรชั่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือของไทยเองก็มีเกม Asura ของ Project One

และเมื่อสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปี 2008 – 2010 วงการเกมก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องเสียเงินเพื่อเล่นเกม กลายเป็นเล่นเกมกันได้แบบฟรีๆ เข้าสู่ยุค Free to Play ตัวเกมเล่นง่ายขึ้น เข้าถึงผู้เล่นได้ทุกกลุ่ม ทุกวัย เข้าถึงเกมได้ง่ายมากขึ้นผ่านมือถือ เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่มีอุปสรรคเรื่องอุปกรณ์และสถานที่อย่างในอดีต เกมที่เรารู้จักดีในยุคนี้อย่างเช่น Angry Bird, Cookie Run และยังมีเกมยอมฮิตอื่นๆ อีกมากมายในสมาร์ทโฟน หากผู้เล่นคนใดสนใจซื้อไอเท็มหรือสิ่งพิเศษอื่นๆ ในเกม ก็สามารถจ่ายเงินซื้อเพิ่มเติมได้

เกมอีกประเภทหนึ่งในยุคนี้ก็คือ เกมอินดี้หรือ เกมทางเลือกที่พัฒนาโดยผู้พัฒนาเกมรายย่อย ตัวเกมมีความแปลกแหวกแนว หรือมีสิ่งที่หาจากเกมอื่นๆ ไม่ได้ เช่น ภาพ เสียง ระบบหรือเนื้อหาของเกม เป็นต้น

แม้ว่าเกมอินดี้ จะใช้เงินทุนต่ำและไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทจัดจำหน่ายเกมใดๆ แต่ได้รับความนิยมหรือประสบความสำเร็จมาก สามารถดาวน์โหลดผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ Store Online ได้ และบางครั้งหากเกมประสบความสำเร็จก็จะได้ลงเครื่อง Famicom (FC) หรือเครื่องเล่นเกมตลับ รวมถึงเครื่องคอนโซลด้วย

GameFi โอกาสใหม่ วงการเกม

จนเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามา วงการเกมก็เหมือนกำลังก้าวไปสู่อีกยุค นั่นก็คือ GameFi เกมที่เล่นแล้วได้เงิน หรือที่เรียกกันว่า Play to Earn

GameFi เป็นศัพท์ใหม่ในวงการเกม ที่มาจากคำว่า Game + Defi โดย Defi นั้นย่อมาจาก Decentralized Finance หรือระบบการเงินไร้ตัวกลาง ที่เราสามารถทำธุรกรรมได้เหมือนธนาคาร เพียงแต่ไม่มีธนาคารมาเป็นตัวกลางในระบบนี้ เพราะกระจายความเป็นตัวกลางไว้ที่บล็อกเชน

เมื่อเอาเกมมาผนวกกับ Defi แล้ว ก็อาจจะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน คริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัลนั่นเอง ซึ่ง GameFi มีลักษณะคาบเกี่ยวกับ NFT หรือ (Non-Fungible Token) ที่กำลังบูมมากในแวดวงศิลปะและดิจิทัลอาร์ต

พูดง่ายๆ คือ สิ่งของ ตัวละคร หรือไอเท็มในเกมต่างๆ มีสถานะเป็น NFT ที่ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันได้ โดยผ่านสกุลเงินดิจิทัล ผู้เล่นที่เล่นได้ตัวละครที่เจ๋งๆ หรือมีไอเท็มที่สุดยอด จึงสามารถสร้างโอกาสการทำรายได้จากการเล่นเกม

จากเดิมที่เป้าหมายของการเล่นเกมเป็นการ Play to Win คือ เล่นเพื่อชัยชนะ เพื่อความฟินส่วนตัว แต่ตอนนี้เมื่อเกมผสานกับระบบบล็อกเชน การเล่นเกมจึงเป็นการเล่นเพื่อสร้างรายได้ด้วย โอกาสจากเกมรูปแบบใหม่ๆ นี้ จึงดึงดูดทั้งผู้เล่นเกมแบบ Play to Win ในระบบการเล่นเกมแบบเดิมให้เข้าสู่ตลาดนี้ด้วย และยังดึงเอาผู้เล่นหน้าใหม่ที่สนใจการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ให้เข้ามาเล่นเพิ่มเช่นกัน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี้เองที่  GameFi ฮิตมากๆ  ยกตัวอย่างในฟิลิปปินส์ ที่เกม Axie Infinity เป็นที่นิยมไปทั่วโลก คนสามารถทำเงินจากการเล่นเกมนี้ เฉลี่ยมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นเท่าตัว

หรืออย่างเกมของคนไทย เช่น Morning Moon Village เกมปลูกผักทำฟาร์มและสำรวจทรัพยากร ที่สร้างผลตอบแทนเป็นโทเคนดิจิทัล ซึ่งสามารถนำโทเคนที่ได้ไปเทรดต่อหรือซื้อขายกับคนเล่นเกมด้วยกันได้

GameFi กับข้อกล่าวหาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

เนื่องจาก GameFi เป็นของใหม่ จึงมีประเด็นที่ให้ถกเถียงกันอยู่อีกหลายอย่าง เช่น GameFi ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนุก หรือ โมเดลการสร้างรายได้ของ GameFi นั้น เข้าข่ายจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ซึ่งคุณเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ได้พูดถึงประเด็นนี้น่าสนใจเลยทีเดียว

อย่างเรื่องความสนุกนั้น ต้องยอมรับว่า GameFi ยังเป็นของใหม่มากและอยู่ในช่วงเริ่มต้น หากต่อไปมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติแล้ว เกมที่สนุกและน่าสนใจเท่านั้นที่จะอยู่รอด ส่วนเกมแบบ Click to Earn จะอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นผู้พัฒนามีแนวโน้มจะทำเกมของตัวเองให้สนุกและน่าเล่นมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่อง GameFi เข้าข่ายของแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น  คุณเนนินยังได้ให้เหตุผลว่า ’ไม่เห็นด้วย’ เพราะโมเดลของแชร์ลูกโซ่นั้นแตกต่างจาก GameFi แม้จะมีบางเกมที่เข้าข่ายเป็นเกมซิ่งก็ตาม ซึ่งเกมในลักษณะนั้นจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ไม่ควรเหมารวมว่า GameFi ทุกเกมเป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะโมเดลการหารายได้ของ GameFi นั้นน่าสนใจ มีที่มาที่ไปชัดเจน และปลอดภัยกว่า

แต่ก็ใช่ว่า GameFi จะปลอดภัย 100% อย่างปัญหาที่เจอล่าสุดคือการแฮกคริปโต ขโมย NFT ในเกมฮิต Axie Infinity โดยแฮกเกอร์ขโมยเงินคริปโตฯ ไปได้ 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 2.1 หมื่นล้านบาท

นี่ยังเป็นปัญหาที่ยังไร้ทางออก สิ่งที่ผู้เล่นพอจะทำได้ คือ ศึกษาข้อมูลให้ดีและรู้เท่าทันกลโกง เตรียมรับมือให้ดีที่สุดเวลาเกิดเหตุไม่คาดคิด

อุปสรรควงการเกมไทย

แม้ว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมเกมไทยจะสูงถึง 3.4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่ผลงานของผู้ผลิตชาวไทยกลับมีมูลค่าอยู่เพียง 1–3 % จากมูลค่าทั้งหมดนี้เท่านั้น น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร เราจึงเติบโตในฐานะผู้บริโภค มากกว่าที่จะเติบโตในฐานะผู้ผลิต

ข้อแรกเลย คือ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของเกมมือถือ จากที่เคยต้องเสียเงินซื้อเกม กลายเป็นเกมที่มีลักษณะ Free to Play ผู้ผลิตเกมหรือ Studio แต่ละเจ้าต้องหา User หรือผู้เล่นเข้ามาเล่นในช่วงเริ่มต้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อผู้เล่นติดใจ ก็ต้องการไอเท็มเกมมาตกแต่งตัวละครของตัวเอง หรือเป็นตัวช่วยในการผ่านด่านต่างๆ ผู้เล่นก็จะซื้อไอเท็มเหล่านั้นเพื่อเติม

ดังนั้นเพื่อให้ได้ผู้เล่นมากที่สุดในช่วงเริ่มต้น บริษัทเกมจึงลงทุนการตลาดจำนวนมาก เพื่อโปรโมตให้ผู้ใช้เห็นได้ง่าย เห็นได้บ่อย และดึงดูดให้มาลองเล่น ซึ่งผู้ผลิตเกมชาวไทย ไม่ได้มีเงินทุนส่วนนี้มากเหมือนผู้ผลิตจากต่างประเทศ ทำให้เกมของผู้ผลิตชาวไทย อาจจะไม่ได้ผ่านสายตาของผู้เล่นหน้าใหม่เท่าที่ควร

ข้อที่สอง แหล่งเงินทุนยังมีข้อจำกัด เนื่องจากนักลงทุนชาวไทยหลายส่วน ยังมองว่าอุตสาหกรรมเกมให้ผลตอบแทนที่ช้ากว่าการลงทุนชนิดอื่น เพราะกว่าที่แต่ละเกมจะประสมความสำเร็จได้ ต้องใช้เวลา ทดลองและทดสอบหลายต่อหลายครั้ง ทำให้แหล่งเงินทุนของวงการเกมไทยไม่ค่อยหลากหลาย

ข้อที่สาม ภาครัฐยังไม่มองว่า Digital Content เป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศ การสนับสนุนส่วนมากจึงเน้นไปที่การจัดอีเวนท์ ทำให้การใช้งบประมาณเพื่ออุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยเพียงเล็กน้อยและชั่วครั้งชั่วคราว รวมถึงไม่มีกองทุนขนาดใหญ่มากพอที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของ Ecosystem ในอุตสาหกรรมเกมเอง บ้านเรามีผู้ผลิตหรือ Game Publisher ไม่เยอะมากนัก หลายบริษัทก็รับทำงานอื่นๆ เช่น แอนิเมชั่นไปด้วย เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ รวมถึง First Party ที่เป็นข้อต่อสำคัญในการกระจายเกมสู่ผู้เล่น อย่าง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเกม หรือ Game Store ก็ยังน้อยอยู่

พัฒนาเกมให้สนุก ครองใจผู้เล่น โอกาสของผู้พัฒนาไทย

คุณเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ยังได้คาดการณ์ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมในอนาคตว่า เกมในรูปแบบเกมคอนโซล หรือ เกม PC ยังคงเติบโตต่อไปได้เป็นเรื่องปกติ

ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือตลาดของ GameFi สำหรับ GameFi ตอนนี้ทุกคนต่างเริ่มต้นพร้อมๆ กันทั่วโลก เป็นโอกาสใหม่ที่มีมูลค่าสูง ยิ่งมีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลสู่ Metaverse ผสานโลกจริงกับโลกเสมือนในกิจกรรมต่างๆ  อุตสาหกรรมเกมยิ่งมีโอกาสเปลี่ยนผ่านสู่เทรนด์นี้ได้มาก อยู่ที่ว่าใครจะมีศักยภาพในการพัฒนาได้มากกว่ากัน

แม้ว่าโมเดลการสร้างรายได้ของ GameFi จะเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อดึงดูดใจผู้เล่นและทำให้ผู้พัฒนามีทุนในการพัฒนาเกมได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของเกมคือ ความสนุก หากถามว่าผู้พัฒนาเกมบ้านเราจะมีโอกาสเติบโตในตลาด GameFi หรือไม่ ก็ต้องหาคำตอบก่อนว่า เราจะพัฒนาเกมของเราให้ประสบความสำเร็จครองใจผู้เล่นได้อย่างไร

ขอบคุณข้อมูลจาก :

คุณเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า