SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกวันนี้ โลกทางการเงินซับซ้อนจนแม้แต่ผู้ที่อยู่ในวงการเองบางส่วนก็อาจไม่เข้าใจ และมีหลายครั้งที่นักลงทุนรายย่อยที่หวังรวยด้วยหุ้น ตกเป็นเหยื่อของตลาดจนกลายเป็น “แมงเม่า” ในขณะที่เหล่าเฮดจ์ฟันด์ที่มีทั้งเงินทุนและเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่า มักจะหาประโยชน์และทำเงินท่ามกลางความสูญเสียของเหล่าแมงเม่าได้

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้น GameStop เมื่อเหล่านักลงทุนรายย่อยร่วมมือกับแบบหลวมๆ ผ่านการพูดคุยบนเว็บบอร์ดออนไลน์ ผลักราคาหุ้นของบริษัทที่ดูเหมือนจะไม่มีอนาคตแล้ว ให้พุ่งขึ้นไปกว่า 17 เท่าในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และทำให้นักลงทุนสถาบันมืออาชีพขาดทุนไปรวมกันกว่า 5 พันล้านดอลลาร์

เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น GameStop และเหล่านักลงทุนรายย่อยในสหรัฐฯ เอาชนะนักการเงินจากวอลล์สตรีท จนทำให้พวกเขาต้องยกธงขาวยอมแพ้ได้อย่างไร ทีมข่าว workpointTODAY สรุปให้ฟังใน 11 ข้อ

1.) GameStop มีชื่อเต็มว่า GameStop Corporation เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขายเครื่องเล่นเกมและเกมต่างๆ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า GameStop มีร้านค้าขายเกมแบบนี้ทั่วโลกอยู่ 5,509 สาขา โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และในยุโรป

2.) แม้จะมีสาขาทั่วโลกมากกว่า 5,000 สาขา แต่ก็คาดการณ์กันว่าอนาคตของบริษัทคงไม่สดใสนัก เนื่องจากพฤติกรรมของคนเล่นเกมสมัยนี้เปลี่ยนไป และหันไปซื้อทั้งตัวเครื่องเล่นเกมและเกมผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น คนที่ยังไปซื้อเกมตามร้านก็น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของ GameStop ร่วงลงเรื่อยๆ ด้วย จากประมาณ 45 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงกลางปี 2015 เหลือเพียงประมาณ 4 ดอลลลาร์/หุ้นในช่วงกลางปี 2020 เท่านั้น (ณ จุดนี้มูลค่าบริษัทเหลือเพียง 250 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,500 ล้านบาทเท่านั้น)

เรียกได้ว่ามูลค่าหุ้นและมูลค่าบริษัทหายไปกว่า 90% ในช่วงเวลา 5 ปีหลัง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองว่าธุรกิจขายเกมผ่านร้านค้าปลีกเช่นนี้ไม่มีอนาคตแล้ว และคงสู้แพลตฟอร์มอื่นที่ขายเกมทางช่องทางออนไลน์ไม่ได้

3.) อย่างไรก็ตาม หุ้นของ GameStop เริ่มมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 เป็นต้นมา เมื่อ ไรอัน โคเฮน (Ryan Cohen) ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Chewy ซึ่งทำธุรกิจขายอาหารสัตว์ทางช่องทางออนไลน์จนประสบความสำเร็จ เริ่มทยอยซื้อหุ้นของ GameStop เขาได้เปิดเผยในช่วงเดือน พ.ย. 2020 ว่าเขาได้ซื้อหุ้นของ GameStop มาอยู่ในมือกว่า 10% แล้ว เพราะเชื่อว่า GameStop ยังมีอนาคตอยู่หากปรับตัวและมุ่งหน้าสู่การขายช่องทางออนไลน์

จนในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. 2021 นี้เอง ทาง GameStop ได้แต่งตั้งไรอัน โคเฮน ให้มาเป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการ (Board of Director) ของบริษัท และเชื่อว่าความเชี่ยวชาญด้านการขายสินค้าออนไลน์ของโคเฮนจะช่วยพลิกฟื้นบริษัทได้ ในวันที่แต่งตั้งโคเฮน หุ้นของ GameStop พุ่งขึ้นกว่า 11% ในวันเดียว จนมาอยู่ที่ 19.94 ดอลลาร์/หุ้น

และในสัปดาห์เดียวกันนั้น ราคาหุ้นของ GameStop ก็ยังพุ่งขึ้นไม่หยุด โดยไปอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้นในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงเพียงสัปดาห์เดียวที่มีการประกาศแต่งตั้งนายโคเฮนเป็นบอร์ดบริษัทคนใหม่ ณ จุดนี้มูลค่าบริษัทของ GameStop เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,500 ล้านดอลลาร์แล้ว (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในเวลาเพียง 6 เดือนจากช่วงกลางปี 2020

4.) ณ จุดนี้ นักลงทุนสถาบันในวอลล์สตรีทเริ่มมองเห็นแล้วว่าราคาหุ้นที่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น น่าจะเป็นราคาที่สูงไป เพราะถึงแม้ว่าโคเฮนอาจจะเข้ามาช่วยให้ GameStop ตีตลาดออนไลน์และเพิ่มยอดขายได้ แต่ก็ไม่มีทางที่บริษัทจะดีขึ้นถึง 10 เท่าด้วยการตั้งบอร์ดบริหารใหม่เพียงคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักลงทุนจากวอลล์สตรีทจำนวนมากคาดว่าไม่นานราคาหุ้นของ GameStop น่าจะร่วงลง

เมื่อเห็นดังนี้ นักลงทุนในวอลล์สตรีทจึงเห็นหนทางทำกำไรจากราคาหุ้นที่น่าจะสูงเกินจริงของ GameStop โดยพวกเขาใช้วีธีที่เรียกว่า การขายชอร์ต หรือ short selling

5.) คอนเส็ปต์ของการขายชอร์ต หรือ short selling นั้น ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ “ยืมหุ้นคนอื่นมาขายก่อนตอนนี้ แล้วค่อยซื้อหุ้นมาคืนในวันหลัง” คิดง่ายๆ แบบนี้ว่า ตอนนี้นักลงทุนในวอลล์สตรีทมองว่าหุ้น GameStop ที่ราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น นั้นแพงเกินไป และอนาคตราคาน่าจะร่วงลง ดังนั้นพวกเขาก็แค่ยืมหุ้น GameStop จากคนอื่นที่มีหุ้นอยู่มา แล้วขายในตลาดหุ้นทันทีที่ราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น ถ้าสมมติในอนาคตข้างหน้าราคาหุ้นของ GameStop ร่วงลงจริง สมมติเหลือแค่ 20 ดอลลาร์/หุ้น นักลงทุนที่ short sell หุ้นตัวนี้ ก็จะกำไรทันที 15.5 ดอลลาร์/หุ้น

คิดง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า ยืมของคนอื่นมาก่อนแล้วขายวันนี้เลยได้เงิน 35.5 ดอลลาร์ และไปซื้อมาคืนในอนาคตด้วยต้นทุนแค่ 20 ดอลลาร์ ก็เท่ากับได้กำไรส่วนต่าง 15.5 ดอลลาร์

6.) กระนั้น ความเสี่ยงของการ short selling ก็มีอยู่ เพราะถ้าหากราคาหุ้นของ GameStop ไม่ได้ร่วงลง แต่ว่าพุ่งสูงขึ้นแทน คนที่ทำการ short selling ก็จะขาดทุน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากยืมหุ้นมาขายวันนี้ที่ราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น แต่สมมติในอนาคตหุ้นราคาสูงขึ้นเป็น 40 ดอลลาร์/หุ้น คนที่ชอร์ตขายหุ้นตัวนี้ก็จะขาดทุน 4.5 ดอลลาร์/หุ้น เพราะว่าตอนยืมมาขาย ขายได้เงินแค่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น แต่ตอนซื้อหุ้นมาคืนภายหลังต้องซื้อมาคืนในราคา 40 ดอลลาร์/หุ้น

กระนั้น นักลงทุนมืออาชีพและผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีทก็เชื่อว่าหุ้น GameStop คงไม่สามารถยืนราคาที่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น ไปได้อีกนานนัก เนื่องจากมูลค่ากิจการที่แท้จริงไม่ได้มากขนาดนี้ และนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป และในไม่ช้าราคาหุ้นก็คงร่วงลง นี่จึงเป็นเหตุผลให้นักการเงินในวอลล์สตรีทจำนวนมากทำการ short selling หุ้นตัวนี้ โดย 2 กองทุนที่ short selling หุ้นตัวนี้มากที่สุดคือกองทุน Citadel และกองทุน Point72

7.) แต่ความหายนะที่จะมาเยือนนักลงทุนที่ short selling หุ้นตัวนี้ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อกลุ่มชาวเน็ตที่อยู่ในเว็บบอร์ด Reddit (คล้ายๆ พันทิป ในไทย) ในห้องที่ชื่อ WallStreetBets เห็นว่าพวกนักการเงินวอลล์สตรีทเริ่ม short selling หุ้นตัวนี้กันเยอะ ด้วยความรู้สึกอยากสั่งสอนนักลงทุนวอลล์สตรีทพวกนี้ บวกกับอยากทำกำไรจากหุ้น GameStop ด้วย ชาวเน็ตในห้อง WallStreetBets จึงได้ปั่นกระแสให้สมาชิกในห้องที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน ณ ขณะนั้น แห่กันเข้าไปซื้อหุ้นและออปชั่นซื้อหุ้น (stock option) ของ GameStop เพื่อปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้น

หนึ่งในชาวเน็ตที่อยู่ในเว็บบอร์ดดังกล่าว พูดปลุกใจคนในบอร์ดว่า “เคลื่อนกำลังพลของเราเข้าไป พี่น้องของเรา เพราะสงครามนี้อาจจะจบในไม่ช้า พวกคุณเป็นคนควบคุมพลัง ราคาหุ้น GameStop จะไม่แค่ขึ้นไปถึงดวงจันทร์ แต่มันจะไปยังขอบของจักรวาล” โดยเขาโพสต์ข้อความนี้ในวันที่ 19 ม.ค.

8.) ผลปรากฏว่าชาวเน็ตในเว็บบอร์ด WallStreetBets ได้แห่กันเข้าไปซื้อหุ้นและออปชั่นซื้อหุ้นของ GameStop จริงๆ และผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนไปอยู่ที่กว่า 347.51 ดอลลาร์/หุ้น เมื่อสิ้นสุดการซื้อขายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผลักดันให้มูลค่าบริษัทของ GameStop ทะยานขึ้นไปเป็นกว่า 24,238 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 727,000 ล้านบาท

เรียกได้ว่ามูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น เกือบ 10 เท่า ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์

15 ม.ค. 35.50 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 2,476 ล้านดอลลาร์
19 ม.ค. 39.36 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 2,745 ล้านดอลลาร์
20 ม.ค. 39.12 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 2,729 ล้านดอลลาร์
21 ม.ค. 43.03 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 3,001 ล้านดอลลาร์
22 ม.ค. 65.01 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 4,534 ล้านดอลลาร์
25 ม.ค. 76.79 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 5,356 ล้านดอลลาร์
26 ม.ค. 147.98 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 10,320 ล้านดอลลาร์
27 ม.ค. 347.51 ดอลลาร์/หุ้น มูลค่าบริษัท 24,238 ล้านดอลลาร์

9.) สำหรับกลไกที่ทำให้หุ้นของ GameStop พุ่งทะยานไปได้ขนาดนี้ ต้องบอกว่าเกิดจากกลไก 3 อย่างด้วยกัน

9.1) ข้อแรก คือกลไกการซื้อหุ้นธรรมดา เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยที่อยู่ในเว็บบอร์ด Reddit ดังกล่าวบางส่วน ไปซื้อหุ้นของ GameStop โดยตรงในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตามหลักการอุปสงค์อุปทานทั่วไป เมื่อมีคนต้องการซื้อมากขึ้น ในขณะที่หุ้นมีจำนวนเท่าเดิม ก็ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่ากลไกนี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นเป็น 10 เท่าในเวลาสั้นๆ ได้แน่นอน เพราะนักลงทุนรายย่อยพวกนี้ แม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้มีเงินรวมกันมากขนาดที่จะไล่ซื้อหุ้นจนราคาพุ่งไปแบบนี้ได้

9.2) กลไกที่สอง คือการซื้อออปชั่นซื้อหุ้น (stock option) ซึ่งกลไกนี้เป็นตัวผลักดันสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างมาก

อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้น กลุ่มนักลงทุนรายย่อยจากเว็บบอร์ด Reddit พวกนี้ ไม่ได้ซื้อแค่หุ้น แต่พวกเขาซื้อออปชั่นซื้อหุ้น (stock option) สำหรับหุ้น GameStop ด้วย

โดย stock option ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่นักลงทุนสามารถไปซื้อกับสถาบันการเงินหรือเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ได้ โดยเมื่อนักลงทุนรายย่อยซื้อ stock option มาแล้ว พวกเขาจะได้ “สิทธิ” ในการซื้อหุ้นตัวนั้นในอนาคต ณ ราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เช่น สมมติว่า ณ วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น เราอาจจะซื้อ stock option ที่บอกว่า เราขอซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคา 40 ดอลลาร์/หุ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า สมมติถ้าใน 1 เดือนข้างหน้าราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเป็น 50 ดอลลาร์/หุ้น เราก็สามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นตัวดังกล่าวที่ราคา 40 ดอลลาร์ได้ ก็จะทำให้เราได้กำไร 10 ดอลลาร์/หุ้น โดย stock option แบบที่เราซื้อสิทธิที่จะ “ซื้อหุ้น” ในอนาคต แบบนี้เรียกว่า call option

คราวนี้ตัวสถาบันการเงินหรือเฮดจ์ฟันด์ที่เราไปซื้อ call option มานี้ เขามุ่งแต่จะหากำไรจากค่าธรรมเนียมที่ได้จากการขาย stock option นี้ให้เราเท่านั้น ดังนั้นสถาบันการเงินที่ขาย stock option พวกนี้จึงจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นตัวนั้นๆ มาเก็บไว้ในมือด้วยเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้ตัวเอง ยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้นแบบนี้ สมมติวันนี้หุ้นราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น และเราซื้อ call option ที่ราคา 40 ดอลลาร์/หุ้น จำนวน 100 หุ้น สมมติว่า ณ วันสิ้นสุดสัญญาราคาหุ้นอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/หุ้น ในวันนี้เราจะต้องได้หุ้น 100 หุ้นมาอยู่ในมือ โดยเราจะจ่ายเงินที่ราคา 40 ดอลลาร์/หุ้นเท่านั้น (รวม 4,000 ดอลลาร์) ซึ่งถ้าหากสถาบันการเงินที่เราซื้อ stock option มา เขาซื้อหุ้นในวันนั้นเลยเพื่อนำหุ้น 100 หุ้นตามสัญญามาให้เรา พวกเขาจะขาดทุนรวม 1,000 ดอลลาร์ เพราะต้องซื้อหุ้นด้วยต้นทุน 5,000 ดอลลาร์ ในขณะที่เราจ่ายเงินให้เขาแค่ 4,000 ดอลลาร์เท่านั้น นั่นแปลว่าหากสถาบันการเงินที่ขาย call option พวกนี้ไม่ทำอะไรเลย พวกเขาก็มีสิทธิขาดทุนหากราคาหุ้นขึ้นไปมากๆ

ดังนั้น เพื่อป้องกันการขาดทุนในกรณีที่ราคาหุ้นขึ้นแบบนี้ พวกสถาบันการเงินและเฮดจ์ฟันด์ที่ขาย stock option เหล่านี้ ก็จะทยอยซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นเริ่มขึ้น ต่อจากตัวอย่างเดิม สมมติว่าราคาหุ้นเริ่มแพงขึ้น ทางเฮดจ์ฟันด์ก็จะเริ่มทยอยซื้อหุ้น สมมติว่าพวกเขาซื้อหุ้นจำนวน 100 หุ้นที่ราคาเฉลี่ย 40 ดอลลาร์/หุ้น ณ จุดนี้ตัวเฮดจ์ฟันด์จะมีหุ้น 100 หุ้นอยู่ในมือแล้ว (ด้วยต้นทุนรวม 4,000 ดอลลาร์) และเมื่อถึงวันที่ครบกำหนดสัญญา ต่อให้หุ้นราคาพุ่งขึ้นไปที่ 50 ดอลลาร์/หุ้น (หรือมากกว่านั้นก็ได้) ทางสถาบันการเงินที่ขาย call option นี้ให้เราก็จะไม่ขาดทุนแล้ว เพราะเราจะจ่ายเงินซื้อหุ้นนี้ที่ราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าที่ 40 ดอลลาร์/หุ้น ในขณะที่คนขาย stock option ให้เราก็ซื้อหุ้นนั้นมาที่ราคาเฉลี่ย 40 ดอลลาร์/หุ้นเช่นเดียวกัน

และอย่างที่บอกว่าสถาบันการเงินที่ขาย stock option พวกนี้มุ่งหารายได้จากค่าธรรมเนียม stock option ที่ขายให้เราเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงต้องซื้อหุ้นตัวนั้นๆ เพิ่มเสมอเมื่อราคาเริ่มพุ่งขึ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการขาดทุนที่อาจจะเกิดกับตัวเอง

ด้วยกลไกลที่อธิบายมายืดยาวนี้ ส่งผลให้เมื่อราคาหุ้นเริ่มขึ้น ตัวสถาบันการเงินที่ขาย stock option จึงจำเป็นต้องซื้อหุ้นตัวนั้นๆ เข้ามาเก็บไว้มากขึ้นด้วย และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้น GameStop เมื่อนักลงทุนรายย่อยจากเว็บบอร์ด Reddit แห่กันเข้าไปซื้อ call option จากสถาบันการเงินต่างๆ เป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินพวกนั้นก็จำเป็นต้องเข้าไปซื้อหุ้นของ GameStop เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น และผลักให้ราคาหุ้นของ GameStop ยิ่งแพงขึ้นอีก เป็นลูปเช่นนี้วนไป

ดังนั้นแล้ว การแห่ไปซื้อ call option ของนักลงทุนรายย่อยจากบอร์ด WallStreetBets จึงทำให้เกิดลูปการปั่นราคาด้วยกลไกการลดความเสี่ยงของพวกเฮดจ์ฟันด์เอง และทำให้ราคาหุ้นของ GameStop ทะยานขึ้นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

9.3) กลไกสุดท้าย ก็คือกลุ่มนักลงทุนจากวอลล์สตรีทที่ short selling หุ้นตัวนี้ไว้แต่ต้น อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าการ short selling คือการ “ยืมหุ้นมาขายก่อน แล้วซื้อมาคืนทีหลัง” และจะขาดทุนเมื่อราคาหุ้นตัวนั้นๆ แพงขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงกับกองทุน Citadel และกองทุน Point72 ที่ short selling หุ้น GameStop ไว้จำนวนมาก

เมื่อราคาหุ้นของ GameStop เริ่มทะยานขึ้น กองทุนเหล่านี้จะเริ่มขาดทุน สมมติว่าในวันที่ 15 ม.ค. กองทุนพวกนี้ short selling หุ้นอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น นั่นหมายความว่าพวกเขายืมหุ้นคนอื่นมาขายที่ราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น แต่อย่างที่บอกว่าพวกเขา “ยืม” หุ้นคนอื่นมาก่อน ซึ่งแปลว่าพวกเขาต้องหาหุ้นนี้ไปคืนเจ้าของในอนาคตด้วย คราวนี้สังเกตได้ว่านับตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. เป็นต้นมา ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตลอด เช่น ณ วันที่ 22 ม.ค. ราคาหุ้น GameStop อยู่ที่ 65 ดอลลาร์/หุ้น ณ จุดนี้เสมือนว่ากองทุนที่ short selling หุ้นพวกนี้ขาดทุนเกือบ 30 ดอลลาร์/หุ้นแล้ว (ยืมมาขายได้เงิน 35.5 ดอลลาร์ แต่ต้องซื้อมาคืนที่ 65 ดอลลาร์) และยิ่งหากปล่อยไว้นานวัน แล้วราคาของหุ้น GameStop ยังคงพุ่งไปเรื่อยๆ การขาดทุนของคนที่ short selling หุ้นตัวนี้ไว้ก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก

วิธีลดความเสี่ยงของคนที่ short selling หุ้นไว้ก็คือ เมื่อราคาหุ้นเริ่มขึ้น ก็ต้องซื้อหุ้นตัวดังกล่าวมาเก็บไว้กับตัวบ้าง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงว่า หากราคาหุ้นพุ่งทะยานไปไม่หยุด อย่างน้อยก็ได้ซื้อหุ้นมาเก็บไว้เพื่อคืนเจ้าของด้วยต้นทุนที่ไม่แพงมากแล้ว เช่น สมมติว่าเรา short selling หุ้นที่ราคา 35.5 ดอลลาร์/หุ้น จำนวน 100 หุ้น วันนี้เราได้เงินทันที 3,550 ดอลลาร์ ต่อมาราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปที่ 40 ดอลลาร์/หุ้น เราตัดสินใจซื้อหุ้นจากตลาดคืนมาทันที 100 หุ้น แบบนี้เราจะมีหุ้น 100 หุ้นอยู่ในมือ และแม้ว่า ณ วันสิ้นสุดสัญญา ราคาหุ้นอาจจะพุ่งไปที่ 65 บาท/หุ้น แต่เราจะไม่ขาดทุนที่เกือบ 30 ดอลลาร์/หุ้นแล้ว แต่จะขาดทุนที่ 4.5 ดอลลาร์/หุ้นแทน (เพราะหยุดต้นทุนของหุ้นที่ต้องซื้อมาคืนไว้ที่ 40 ดอลลาร์/หุ้น)

ดังนั้นแล้ว สำหรับกลุ่มนักลงทุนที่ทำการ short selling เมื่อราคาหุ้นเริ่มพุ่งทะยาน พวกเขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นๆ มาเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของพวกเขาเองที่จะขาดทุนมหาศาลเกินรับไหว

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้น GameStop ด้วย เมื่อราคาหุ้นเริ่มพุ่งขึ้น กลุ่มนักลงทุนที่นำโดยกองทุน Citadel และกองทุน Point72 ที่ short selling หุ้นตัวนี้ไว้ ก็ต้องมาทยอยซื้อหุ้นตัวนี้เข้าไปเก็บไว้ในมือด้วย และก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นของ GameStop ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ กองทุนมืออาชีพส่วนใหญ่ที่ทำการ short selling ยังมักมีนโยบายจำกัดการขาดทุนเอาไว้ด้วย เช่นอาจกำหนดว่าให้ขาดทุนได้ไม่เกิน 100% ซึ่งถ้าหากราคาหุ้นขึ้นไปจนขาดทุนถึงจุดนั้น กองทุนพวกนี้ก็ต้องตัดใจยอมขาดทุนและซื้อหุ้นที่ชอร์ตขายไปคืนมาทั้งหมด ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในขยักแรก ผลที่ตามมาอีกก็คือกองทุนอื่นๆ ที่ชอร์ตขายหุ้นไว้ในลักษณะเดียวกันจะขาดทุนเพิ่มขึ้นด้วย (จากราคาหุ้นที่สูงขึ้น) และอาจถูกบังคับให้ต้องตัดขาดทุนในแบบเดียวกันเมื่อทนรับการขาดทุนไม่ไหว และต้องไปซื้อหุ้นคืนมาทั้งหมดอีก เป็นลูปแบบนี้วนไปและกระทบกองทุนที่ 3, 4, 5 ฯลฯ ไปอีกเรื่อยๆ

นี่จึงกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟคที่เมื่อกองทุนหนึ่งยอมตัดขาดทุน จะส่งผลเป็นโดมิโนให้กองทุนอื่นที่ชอร์ตขายหุ้นตัวเดียวกันไว้ต้องยอมตัดขาดทุนตาม ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือแทบทุกกองทุนที่ชอร์ตขายหุ้นไว้ ต้องแห่กันเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นมาจากตลาดหุ้น และเนื่องจากหุ้น GameStop มีกองทุนและสถาบันการเงินที่ทำการ short selling หุ้นไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเจอโดมิโนเอฟเฟคแบบนี้จึงทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปแบบแทบหยุดไม่อยู่

ด้วยกลไกทางการเงินทั้ง 3 ตัวนี้ จึงได้ช่วยกันปั่นให้ราคาหุ้นของ GameStop เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วงระยะเวลาการซื้อขายไม่ถึง 10 วัน

10.) ด้วยราคาหุ้น GameStop ที่พุ่งขึ้นไปจากประมาณ 35.5 ดอลลาร์/หุ้น จนไปอยู่ที่ 347.51 ดอลลาร์/หุ้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนจากวอลล์สตรีท โดยเฉพาะกองทุน Citadel และกองทุน Point72 ที่ short selling หุ้นตัวนี้ไว้จำนวนมาก ต้องยกธงขาวยอมแพ้ เพราะไม่สามารถทนรับการขาดทุนจากราคาหุ้นที่พุ่งทะยานเป็นจรวดเช่นนี้ได้ โดยกองทุน Citadel และกองทุน Point72 ต้องระดมเงินทุนเพิ่มอีกกว่า 2,750 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาโปะการขาดทุนที่เกิดจากการ short selling หุ้น GameStop ในครั้งนี้

ในขณะที่กองทุนขนาดเล็กกว่าอย่าง Citron Capital ที่ร่วม short selling หุ้นตัวนี้ด้วย ก็เพิ่งออกมาประกาศเช่นกันว่ากองทุนได้ถอนการ short selling หุ้นตัวนี้ทั้งหมดแล้ว และขาดทุนร่วมหนึ่งเท่าตัวจากเงินที่ลงเพื่อ short selling หุ้นตัวนี้

และโดยรวมแล้ว กลุ่มนักลงทุนมืออาชีพและกองทุนในวอลล์สตรีทขาดทุนจากการ short selling หุ้นตัวนี้ไปรวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท

11.) สำหรับกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ที่รวมตัวกันแบบหลวมๆ ผ่านเว็บบอร์ดอย่าง Reddit ก็ทยอยกันทำกำไรจากราคาหุ้น GameStop ที่ดูเหมือนจะพุ่งทะยานขึ้นแบบ non-stop โดยหนึ่งในนักลงทุนจากเว็บบอร์ดนี้ได้โพสต์ภาพว่าจากมหากาพย์หุ้น GameStop ในครั้งนี้ เขาทำกำไรได้มหาศาล จากเงินลงทุนตั้งต้น 50,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) ให้กลายเป็นเงินกว่า 22 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 660 ล้านบาท) ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ณ เวลาที่เขียนต้นฉบับนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่เปิดการซื้อขายในวันพฤหัสฯ ที่ 28 ม.ค. ซึ่งยังต้องคอยดูกันต่อไป ว่าเมื่อเปิดการซื้อขายแล้ว ราคาหุ้นของ GameStop จะยังพุ่งขึ้นไปอีกหรือไม่ หรือจะร่วงลงมาสู่มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทที่คงไม่มากถึงขนาดมูลค่าหุ้นที่ถูกปั่นขึ้นไปแน่

ท่ามกลางการจับตามอง ของทั้งนักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ วอลล์สตรีท และ ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ ที่เริ่มหันมาจับตามองปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้แล้ว กระทั่งอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกคนล่าสุด ยังถึงขนาดต้องทวิตถึงปรากฏการณ์นี้ โดยโพสต์ลิงก์ถึงห้อง WallStreetBets พร้อมข้อความ “Gamestonk!!”

บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า