ในอีก 4 ปี จะมีหุ่นยนต์มากกว่าคนในสายการผลิต ค้าปลีก และลอจิสติกส์ เหตุเพราะขาดแคลนแรงงาน
Generative AI คือเทรนด์หลักที่จะกำหนดทิศทางธุรกิจ และเปลี่ยนวิถีการทำงานของคน หลายสำนักวิจัยรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Generative AI จะยิ่งทวีความสำคัญโดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับองค์กรใหญ่ ธุรกิจ การเงิน และการทำโปรแกรมมิ่งสร้างแอปพลิเคชั่นที่ทำได้ไวกว่าเดิมมาก
ผลกระทบจาก Generative AI จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สำนักวิเคราะห์ Gartner เผยสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระยะ 4-10 ปี
Daryl C. Plummer รองประธานฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าวว่า “GenAI ให้โอกาสเราในการบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อน และปีนี้เป็นปีเต็ม ๆ ปีแรกที่ GenAI จะเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญของทุกการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์”
[ สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อ Generative AI กลายเป็นกระแสหลัก ]
1) ในปี 2571 จะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่ามนุษย์ปฏิบัติงานในสายการผลิต ค้าปลีก และลอจิสติกส์ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงาน
บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีกและลอจิสติกส์ส่วนใหญ่ ไม่สามารถรักษาคนไว้ได้มากพอที่จะทำงานในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมซัพพลายเชนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหุ่นยนต์จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้
จากการสำรวจของ Gartner ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า 96% ของผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีซัพพลายเชน ได้ปรับใช้หรือวางแผนที่จะปรับใช้ระบบอัตโนมัติทางกายภาพไซเบอร์ หรือ Cyber-Physical Automation และ 35% ได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานแล้ว โดย 61% ยังอยู่ในขั้นทดลองหรืออยู่ระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก
2) ในปี 2571 อัตราการทำงานของพนักงานที่มีทักษะจะเพิ่มขึ้น 1,000% โดยได้แรงกระตุ้นจากการนำ GenAI มาปรับใช้ในการทำงาน
ด้วยความสามารถของ Gen AI ทำให้พนักงานทักษะสูงต้องเรียนรู้การใช้งาน Gen AI แต่ถ้ากลุ่มพนักงานทักษะสูงเหล่านี้ต้องเจอกับผู้บริหารที่มักบอกว่า AI เป็นเหตุให้ต้องปรับลดตำแหน่งงาน ก็อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
Gartner ได้ให้คำแนะนำว่าผู้บริหารต้องสื่อสารชัดเจนกับพนักงานถึงความตั้งใจในการนำ AI มาปรับใช้ภายในองค์กรเพื่อหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสร้างความวิตกกังวลของ AI ในหมู่พนักงาน โดยองค์กรที่ใช้ GenAI และไม่วางแผนจัดการกับความกังวลด้าน AI อย่างชัดเจนกับพนักงานที่มีทักษะ จะต้องเผชิญกับอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้น 20%
3) ในปี 2570 มูลค่าและประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ผลงานจาก AI จะได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
รัฐบาลหลายประเทศ มุ่งมั่นและกำลังจัดลำดับความสำคัญของ AI โดยยอมรับว่า AI กลายเป็นเทคโนโลยีหลักของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการรวม AI เข้าไว้ในการวางแผนระยะยาวระดับชาติกำลังได้รับแรงหนุนจากการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมแนวคิดริเริ่มด้าน AI อย่างประเทศไทยเองก็มียุทธศาสตร์ Cloud First และพยายามผลักดันการใช้ Gen AI ในภาครัฐ
4) ในปี 2570 เครื่องมือ GenAI จะถูกนำไปใช้ในแอปพลิเคชันทางธุรกิจ และทำงานทดแทนลดต้นทุนลงถึง 70%
ประสิทธิภาพและความสามารถของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้บรรดาผู้บริหาร มีโอกาสค้นหากลไกที่น่าเชื่อถือและการปรับปรุงแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมให้ทันสมัย จะมีการทดสอบผลลัพธ์ที่สร้างโดย GenAI LLMs อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การใช้งานใน use case จริง และในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการลงทุนความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย คาดว่าภายในปี 2571 องค์กรธุรกิจจะใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการรับมือภัยที่จะตรวจจับได้ยากยิ่งขึ้น โดยเป็นการแบ่งงบประมาณการตลาดและความปลอดภัยทางไซเบอร์ 10%
5) ภายในปี 2569 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 ประมาณ 50% จะเจอปัญหาการจัดสรรไฟฟ้า
โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิม ไม่สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้ายังที่ยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งพลังงานถือเป็นความสามารถในการแข่งขัน ถ้าองค์กรสามารถเข้าถึงไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบ ด้วยเหตุนี้ Gartner จึงแนะนำให้ผู้บริหารสร้างแนวทางที่คำนึงเรื่องพลังงานเข้าไปด้วย หรืออาจเข้าไปลงทุนโดยตรงในการผลิตพลังงานเลยก็ได้