ประเทศไทยมีจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายอย่าง ตั้งแต่สถานที่ ผู้คน ไปจนถึงอาหาร เทรนด์ที่นักการตลาดกำลังพูดถึง และมาแรงมากๆ ในปีนี้ก็คือ ‘Gastronomy Tourism’ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร
ศูนย์วิจัย ‘Baramizi Lab’ ที่ปรึกษาและช่วยสร้างแบรนด์ระบุว่า นักท่องเที่ยวมากถึง 53% เลือกที่เที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่มที่อยากลองชิม ดังนั้น อาหารไทย ผลไม้ไทยมากมายที่ตอนนี้กลายมาเป็น Soft power เป็นความได้เปรียบของประเทศที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยเทรนด์นี้
ทางด้าน Credence Research บริษัทวิจัยตลาดได้คาดการณ์ว่า ตลาดการท่องเที่ยวด้านอาหารของไทยจะเติบโตจาก 32,489.66 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 เป็น 80,730.95 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2575 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่สูงถึง 12.05%
โอกาสที่เห็นนี้ทำให้โรงแรมระดับ 5 ดาวอย่าง ‘ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท’ ทำการตลาดเพื่อกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยพระเอกอย่าง ‘ทุเรียนหมอนทอง’ ซึ่ง มร.แซมมี่ คาโรลุส ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรม กล่าวว่า “เราน่าจะเป็นโรงแรมแรกๆ ในไทยที่ทำการตลาดกับทุเรียน ผลไม้ที่มีกลิ่นแรง และหลายคนก็กังวลเรื่องกลิ่นว่าจะไปรบกวนแขกที่มาพักโรงแรมหรือไม่ แต่ทุเรียนหมอนทองที่เราใช้กลิ่นไม่รุนแรงแบบนั้น”
[ ลูกค้าห้องอาหารเพิ่ม 41% เพราะทุเรียน ]
ช่วงที่จัดโปรโมชั่น ‘Durian Decadent Afternoon Tea’ ที่โรงแรมทำร่วมกับ Toby’s Farm เป็นปีที่ 2 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จตั้งแต่ปีแรก โดยมีลูกค้าเข้ามาที่ห้องอาหารเพิ่มขึ้นถึง 41% เทียบกับช่วงเวลาปกติ
Top 3 กลุ่มลูกค้าห้องอาหารช่วงที่มีโปรโมชั่นนี้ ก็คือ จีน, ไต้หวัน และ สิงคโปร์ แต่ มร.แซมมี่ บอกว่า โดยปกติกลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรม Top 5 ที่มาพักที่โรงแรมแห่งนี้ ไม่ใช่ ‘จีน’ อันดับหนึ่ง แต่เป็น ‘สหรัฐอเมริกา’ ส่วนประเทศอื่น ดังนี้
-
สหรัฐอเมริกา
-
จีน
-
ญี่ปุ่น
-
เกาหลีใต้
-
สิงคโปร์
อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง ด้วยรายได้ธุรกิจโรงแรมที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าราว 9.0-9.6 แสนล้านบาทในปี 2567-2568
ส่วนอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด โดยครึ่งแรกของปี 2567 ไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 17.5 ล้านคน หรือ 88% เพิ่มจากปี 2562
นักการตลาดมองว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่แตกต่างและโดดเด่น โดยเฉพาะการใช้แคมเปญเชิงวัฒนธรรมและอาหาร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่กำลังกลับมาเที่ยวเมืองไทยอย่างคึกคักอีกครั้ง
[ จีน ตลาดบริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลก ]
ถามว่าปัจจุบันใครบริโภค ‘ทุเรียนมากที่สุด’ ก็ยังคงเป็น ‘จีน’ ที่เป็นตลาดหลักบริโภคทุเรียนมากถึง 91% ของดีมานด์ทั้งหมดทั่วโลก
กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกทุเรียนสดของไทยคิดเป็นมูลค่า 3,219.42 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 มีส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงถึง 93.3% โดยมีตลาดหลักคือ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน
Mordor Intelligence รายงานว่า ตลาดทุเรียนสดทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 10.78 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 เป็น 16.89 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 9.4%
ธวัชชัย จุงสุพงษ์ เจ้าของ Toby’s Farm ระบุว่า ไทยยังเป็นตลาดผู้ส่งออกทุเรียนที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ซึ่งไทยเป็นเบอร์ 1 มาโดยตลอด แต่ช่วงหลังๆ ตลาดทุเรียนจากเพื่อบ้านเริ่มสร้างความกังวล และทำให้เกิดความท้าทายในการแข่งขันขึ้น
เพราะ ‘ราคา’ ของทุเรียนเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทย แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในตลาดหลักอย่างจีน หรือตลาดอื่นๆ ที่ชอบทุเรียน แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว บวกกับมาตรฐานการส่งออกที่เข้มงวด และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวัน
มูลค่าของทุเรียนไทยผ่านจะมีปัญหาได้ในอนาคต และทุเรียนเพื่อนบ้านก็อาจจะตีตลาดเคียงคู่ทุเรียนไทยด้วยเช่นกัน
“ทุกวันนี้บ้านเรามีสายพันธุ์ทุเรียนมากถึง 227 สายพันธุ์ หมอนทองยังเป็นอันดับ 1 ที่คนนิยม แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีโอกาสพัฒนาสายพันธุ์อื่นได้เลย ปัจจัยหลายเรื่องทั้งคุณภาพ, คู่แข่งในตลาด และเหตุการณ์ที่เกินควบคุม อย่างสภาพอากาศ ผมคิดว่า Soft Power สำคัญ และการท่องเที่ยวเชิงอาหารก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวได้”
แน่นอนว่านอกจากทุเรียน ที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจของไทยอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถพัฒนาสายพันธุ์อื่นๆ ของทุเรียน หรือเพิ่มโอกาสให้กับผลไม้ท้องถิ่นอื่นๆ ให้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว Gastronomy Tourism ก็น่าจะเหมาะมากๆ กับไทย ในฐานะที่เป็นทั้งครัวของโลก และประเทศที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ของผลไม้นานาพันธุ์