SHARE

คัดลอกแล้ว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มีรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมคน GEN Y ว่ากลัวตกกระแส จนใช้จ่ายเพื่อ “ของมันต้องมี” เกือบปีละ 1 แสนบาทต่อคน คิดเป็น 1.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% แม้ต้องเป็นหนี้ และผ่อนชำระดอกเบี้ย – เราไปศึกษาจากประเทศเกาหลี กับแนวคิดที่สวนกับรายงานนี้ โดยย้ำว่าการที่คน GEN Y จับจ่าย “ของมันต้องมี” สาเหตุหนึ่งก็เพราะ “มันไม่มีความหวังจะไปซื้อของที่ควรต้องมีแล้ว”

เมื่อ 2 ปีก่อน เศรษฐีชาวออสเตรเลียคนหนึ่งออกมาวิจารณ์คนรุ่นใหม่ออกทีวีอย่างเผ็ดร้อนว่าจะมีปัญญาซื้อบ้านได้ยังไง ถ้ายังเอาแต่หมดเงินไปกับขนมปังหน้าอะโวคาโดกับกาแฟแพงๆ อยู่ทุกวันแบบนี้ ตอนนั้นเขาโดนวิจารณ์กลับอย่างหนักหน่วงที่ดูถูกคนรุ่นใหม่ว่าบริหารจัดการเงินไม่เป็น

แต่ในคำพูดของเขาก็มีความจริงแฝงอยู่บ้าง ที่เกาหลีใต้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังบุกเบิกแนวคิดการใช้เงินอย่างไร้สาระกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การนั่งแท็กซี่บ่อยๆ (แม้จะมีระบบขนส่งมวลชนจะดีมาก) ไปจนถึงการตั้งใจกินอาหารแพงๆ ถึงกับมีคำใหม่ที่ใช้เรียกพฤติกรรมนี้โดยเฉพาะว่า “Shibal Biyong”

Shibal biyong เกิดจากการผสมกันของคำว่า “Shibal” ซึ่งเป็นคำสบถ กับ “Biyong” ที่แปลว่าค่าใช้จ่าย เกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายว่า “fuck-it expense” หรือค่าใช้จ่ายแบบ “ช่างมัน จ่ายๆ ไปเถอะ” นั่นเอง คำนี้เริ่มใช้กันช่วงปลายปี 2559 บนทวิตเตอร์ โดยเจ้าของทวีตแรกๆ ที่ใช้คำนี้อธิบายไว้ว่ามันคือเงินที่จ่ายออกไปเพื่อคลายเครียด เช่น การสั่งอาหารเดลิเวอรี่หรือการนั่งแท็กซี่ คำนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับเลือกให้เป็นคำแห่งปีของสำนักข่าวในเกาหลีใต้หลายแห่งในปีนั้น

ในเมื่อไม่มีโอกาสจะซื้อของจำเป็นอย่างบ้านหรือรถได้ คนรุ่นใหม่ในเกาหลีไม่น้อย เลยตัดสินใจซื้อความสุขในวันนี้ไปก่อนเลย

Shibal Biyong รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่มันช่วยให้คุณอารมณ์ดีขึ้นได้ในวันแย่ๆ มันคือค่าแท็กซี่กลับบ้านราคาหลายร้อยบาทหลังจากที่คุณถูกปฏิเสธเลื่อนตำแหน่ง มันคือค่าซูชิแพงๆ ที่คุณซื้อมากินเพื่อปลอบใจตัวเองหลังถูกเจ้านายด่า มันหมายความว่าคุณต้องทำให้ตัวเองมีความสุขเดี๋ยวนี้ เพราะโอกาสที่จะมีความสุขในอนาคตมันไม่ค่อยแน่นอน ซื้อเสื้อผ้าหรูๆ ไปเถอะ เพราะยังไงก็คงเก็บเงินไม่พอซื้อบ้าน กินสเต๊กแพงๆ ไปเถอะ เพราะยังไงก็คงออมเงินไม่ทันวัยเกษียณ

ความคิดเหล่านี้ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาเอง แต่มันยังเกี่ยวโยงไปถึงปรากฏการณ์อื่นๆ ในสังคมเกาหลีใต้ด้วย หลายปีก่อนหน้านี้ วัยรุ่นเกาหลีใต้ก็เคยนิยมใช้คำว่า “Geumsujeo” ที่แปลว่าช้อนทอง และ “Hell Joseon” ที่แปลว่าเกาหลีนรก ซึ่งต่างสะท้อนความสิ้นหวังของคนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าชีวิตในสังคมเป็นอะไรที่เกินจะทนไหว เพราะโครงสร้างถูกบิดเบี้ยวจนเอื้อประโยชน์ให้คนรวยที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดมากเกินไป แถมคนเหล่านี้ก็รวยพอจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ไม่ต้องมานั่งทนกับปัญหาสังคมแบบพวกเขาซะด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ พ.ศ. 2558 ประมาณหนึ่งในเจ็ดของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็ถูกของพวกเขา จากการจัดอันดับด้านช่องว่างทางรายได้ของสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD รวม 36 ประเทศ เกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 31 คือมีช่องว่างทางรายได้แทบจะสูงที่สุด ข้อมูลอีกชุดเมื่อปี 2561 ก็พบว่าอัตราว่างงานของคนรุ่นใหม่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกระทบหนักทั่วเอเชีย (ช่วงเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้งในไทย)

เมื่อพูดถึงต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ เราต้องมองไปที่ ‘กลุ่มแชบ็อล’ กลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่แทบจะผูกขาดเศรษฐกิจในประเทศและมีอิทธิพลทางการเมืองสูง (80% ของ GDP เกาหลีใต้ทั้งประเทศตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่แค่ไม่กี่ตระกูลเท่านั้น) คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้จึงเหลือทางเลือกไม่มากนัก นอกจากต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยคนแก่และชนชั้นในกลุ่มแชบ็อล เพราะการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก

ความเหลื่อมล้ำและความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ด้วย สาเหตุการเสียชีวิตของคนเกาหลีใต้อายุ 20-29 ปีเกือบครึ่งหนึ่งคือการฆ่าตัวตาย เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ที่การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตแค่หนึ่งในห้าเท่านั้นของคนอายุช่วงเดียวกัน และเมื่อดูสถิติรวมทุกกลุ่มอายุ เกาหลีใต้ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ มีหนังสือขายดีในเกาหลีใต้เล่มหนึ่งชื่อ “I Want to Die, but I Want to Eat Tteokbokki.” แปลเป็นไทยได้ว่า “ฉันอยากตายแต่ก็อยากกินต๊อกโบกี” ซึ่งสะท้อนแก่นสารของปรากฏการณ์ Shibal Biyong ได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่บอยแบนด์เกาหลีใต้แห่งยุคอย่าง BTS ก็มีเพลง “Go-Go” ที่พูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยเนื้อเพลงบางช่วงมีเนื้อหาว่า “ไม่มีเงินแต่ฉันอยากกินซูชิ” “ทำงานหนักเพื่อเงิน” “ปล่อยฉันเถอะ ถึงฉันจะใช้เงินฟุ่มเฟือย ถึงพรุ่งนี้ฉันจะถลุงเงินออมจนหมดตัว”

จากผลสำรวจชิ้นหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2560 พบว่าการใช้จ่ายแบบ Shibal Biyong ครั้งหนึ่งๆ คนเกาหลีใต้ใช้เงินสูงสุดราว 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,000 บาท) ขณะที่สถิติการใช้บัตรเครดิตและเดบิตก็พบว่าการใช้จ่ายของชาวมิลเลนเนียลในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมามีอัตราการขยายตัวสูงกว่าชาวเบบี้บูมเเมอร์ถึงเท่าตัว ซึ่งหากยังขยายตัวในระดับนี้ต่อไป คาดว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของชาวมิลเลนเนียลจะแซงหน้าชาวเบบี้บูมเมอร์ภายในปี 2020 ทั้งๆ ที่มีรายได้และทรัพย์สินน้อยกว่ามาก

ทั้งนี้ การที่คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย มันไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยู่กับความเป็นจริง แต่สำหรับหลายคน การอุปโภคบริโภคระยะสั้นเป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผลและเป็นการประเมินอนาคตทางเศรษฐกิจตามความเป็นจริงต่างหาก ผลสำรวจของสถาบันนโยบายเยาวชนแห่งชาติของเกาหลีใต้เมื่อปี 2561 พบว่า 46% ของวัยรุ่นเกาหลีใต้เชื่อว่าการซื้อบ้านเป็นของตนเองต้องใช้เวลา “มากกว่า 20 ปี” หรือ “เป็นไปไม่ได้เลย” ด้วยซ้ำ

ปัจจุบัน ประชากรเกาหลีใต้เกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงโซลและย่านชานเมืองรอบๆ ซึ่งราคาบ้านและคอนโดทะยานขึ้นไปสูงในระดับเดียวกับมหานครนิวยอร์กแล้วด้วยซ้ำ แต่ระดับเงินเดือนของพวกเขากลับไม่ทะยานตามไปด้วย ผลคือคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้จำนวนมากเริ่มหลีกเลี่ยงการลงทุนแบบเดิมๆ อย่างหุ้นหรือพันธบัตรกันแล้ว เพราะการเติบโตของรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ว่าจะออมแค่ไหน พวกเขาก็อาจจะไม่มีทางเก็บเงินได้เพียงพอตลอดชีวิตนี้

ศาสตราจารย์อเล็กซ์ แท็ก-กวาง ลี จากมหาวิทยาลัยคยองฮี อธิบายว่า “การใช้จ่ายแบบและการซื้อความสุขด้วยเงินเป็นเหมือนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ต่อปัญหาสังคมผ่านการอุปโภคบริโภคในระดับปัจเจก เมื่อเงินออมไม่สามารถการันตีอนาคตของพวกเขาได้ แนวคิดการลงทุนกับปัจจุบันมากกว่าอนาคตจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างไปจากค่านิยมของคนในยุคก่อน”

เกาหลีใต้มีสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ตโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ชาวมิลเลนเนียลแดนกิมจิส่วนใหญ่ใช้อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และคาเคาทอล์ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การใช้เงินแบบ “ช่างมัน จ่ายๆ ไปเถอะ” ได้รับการยอมรับและสรรเสริญ ทุกครั้งอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งคลายเครียดด้วยการโพสต์รูปอลังการจากทริปต่างประเทศพร้อมแฮชแท็ก #shibalbiyong วัฒนธรรมการหาความสุขชั่วคราวใส่ตัวก็ยิ่งดูเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ Shibal Biyong ไม่ได้มีแต่เฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น ปรากฎการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่นในสหรัฐฯ คนรุ่นใหม่ก็เริ่มใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขระยะสั้นกันมากขึ้น แม้ว่าหลายคนจะเรียนจบมหาวิทยาลัยหลังวิกฤตทางการเงินในปี 2008 พอดี และแม้ว่าอัตราการเติบโตของเงินเดือนจะเติบโตไม่ทันอัตราเงินเฟ้อในประเทศ กลับเกิดวลีใหม่ “treat yo’ self” เกิดขึ้น แปลเป็นไทยคือ “ให้รางวัลตัวเองซะบ้าง” การใช้จ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบาย โดยปัจจุบัน ประมาณครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันอายุต่ำกว่า 30 ปีใช้บริการเรียกรถหรือสั่งอาหารผ่านแอปเป็นประจำ 

แทนที่จะดูถูกและเหมารวมชาวมิลเลนเลียนว่าเป็นพวกเอาแต่ใจตัวเอง ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายควรหันมารับฟังความกังวลต่างๆ อย่างตั้งใจมากขึ้น เมื่อปี 2018 ธนาคารแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานว่าคนรุ่นใหม่วัย 20-29 ปีมี “ทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงิน” ต่ำที่สุดตามมาตรฐานและนิยามด้านการออมของธนาคาร แม้ว่าจะมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินสูงกว่าทุกกลุ่มอายุก็ตาม โดยวิธีแก้ปัญหาของธนาคารคือเสนอให้รัฐบาลช่วย “อบรมค่านิยมที่เหมาะสม” เพราะ “วัยรุ่นปัจจุบันให้ความสำคัญกับการอุปโภคบริโภคมากเกินไป”

ข้อเสนอแนะดังกล่าวถือเป็นความพยายามแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เพราะ Shibal Biyong มีรากฐานมาจากความเชื่อของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบคงแก้ไม่ได้ด้วยนโยบายแค่ไม่กี่อย่าง ซึ่งเป็นการแสดงออกที่จริงใจและอาจจะเป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำด้วยซ้ำ

พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ไม่เหมือนกับค่านิยมของพ่อแม่ และอาจดูไร้เหตุผลในสายตาคนรุ่นก่อนๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาก็กำลังจัดสรรงบประมาณให้ตัวเองอย่างมีเหตุมีผลด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความสุขในชีวิตกับอนาคตทางการเงินต่างหาก

การที่วัยรุ่นใช้เงินเป็นว่าเล่นไม่ใช่เพราะพวกเขาโง่เขลา แต่เพราะพวกเขาเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง ความจริงที่ว่าความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในตอนนี้อาจจะดีกว่าการลืมตาอ้าปากในอนาคตที่อาจไม่มาถึง

ต่อให้คนรุ่นใหม่หยุดใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตั้งแต่วันนี้ ทรัพย์สินของพวกเขาก็อาจจะยังไม่พอซื้ออนาคตที่ดีได้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่รับประกันได้ว่าความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงสำหรับทุกคนเท่านั้นที่จะโน้มน้าวให้พวกเขาหันกลับมาสนใจการออมเงินได้อีกครั้ง

บทความแปลและเรียบเรียงจากเรื่อง Why Young Koreans Love to Splurge โดย Foreign Policy

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า