Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“ในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วมีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน 14 คน ตัวผมเองก็เกือบจะเป็นคนที่ 15” ฮาฟีซ หละบิลลา หนึ่งในเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ สมาชิกทีม HBD 2U นำเสนอไอเดียการแก้ปัญหา ‘เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน’ ในโครงการ Generation Unlimited เยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม ปี 2

โครงการ Generation Unlimited จัดโดยองค์การยูนิเซฟร่วมกับ UNDP เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนกว่า 40 ประเทศทั่วโลก นำเสนอปัญหาใกล้ตัวของพวกเขาพร้อมวิธีการแก้ไขที่แปลกใหม่และขยายผลได้จริง ชิงทุนไปต่อยอดโครงการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ซึ่งความพิเศษของโครงการปีนี้ คือ มุ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้แสดงศักยภาพ

คัดเลือกจากร้อยกว่าทีม เหลือ 2 ทีม เป็นตัวแทนประเทศไทย

HBD 2U คือ 1 ใน 2 ทีมสุดท้าย ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ ฮาฟีซ หละบิลลา, หุซัยนีย์ บือราเฮง, มหุรา ยูโซ๊ะ, มูฮำหมัดอามาน สากอ และฟุรกอน กาซอ พวกเขาเสนอไอเดียแก้ปัญหา ‘นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน’ โดยจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางรับฟัง ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล รวมถึงให้แรงบันดาลใจ แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา

“ในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วมีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน 14 คน ตัวผมเองก็เกือบจะเป็นคนที่ 15” ฮาฟีซ หละบิลลา ตัวแทนทีม HBD 2U เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า “ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมตัวผมเองจะชอบถูกคนอื่นบอกว่า ไม่มีอนาคต น่าจะไปไหนไม่รอด เป็นเด็กมีปัญหา เพราะผมไม่ค่อยเข้าเรียน คนอื่นเขามองว่าผมต้องโดดเรียนไปทำสิ่งที่ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วผมเป็นแค่เด็กบ้ากิจกรรมเท่านั้นเอง”

โชคดี ฮาฟีซ ในช่วงเวลาที่ทุกข์ใจ เขาได้รับคำแนะนำและเจอทางออกของตนเอง เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อจนปัจจุบันศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 “ผมมองว่าเด็กคือคนที่จะขับเคลื่อนสังคมในอนาคต ถ้าเขาขาดโอกาส หลุดออกจากระบบการศึกษาไป ผลกระทบที่ตามมาก็จะเกิดขึ้นกับสังคม พวกเรา HBD 2U เลยอยากมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ครับ”

แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทีม HBD 2U นำเสนอมีชื่อว่า ‘Go 2 Goals’ ทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนและหลักจิตวิทยาเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง สอง ให้คำปรึกษา โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายครูแนะแนวและเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ปัตตานี สาม ให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับการประกอบอาชีพต่างๆ เนื่องจากทีม HBD 2U มองว่าเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เห็นภาพอาชีพได้ไม่หลากหลายมากพอ ดังนั้น หากเชิญบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ มาพูดคุยกับเยาวชนในพื้นที่ จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ แล้วยังส่งเสริมให้เยาวชนมีเป้าหมายในการเรียนและการประกอบอาชีพมากขึ้น

ส่วนทีมที่ 2 คือ Muallim (มูอัลลิม) ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ นูรไลลา ดอคา, นิสมา ฆอแด๊ะ และนาดีเราะห์ เวาะแห พวกเธอเสนอไอเดียแก้ปัญหา ‘การบูลลี่ในโรงเรียน’ โดยใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียนชั้นประถม

“หนูมีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส แต่ในช่วงเทศกาลเขาเล่นประทัดแล้วเกิดระเบิด ทำให้สูญเสียแขนข้างหนึ่ง พอมาโรงเรียน แทนที่เพื่อนๆ ในห้องจะเรียกชื่อจริงของเขากลับเรียกว่า ไอ้ด้วน” นิสมา ฆอแด๊ะ เล่าถึงปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนที่เคยเจอ เธอบอกว่าการบูลลี่เป็นปัญหาใหญ่และหนักเกินกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะแบกรับเองได้ พวกเธอจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงให้สังคมตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหานี้

อีกด้านหนึ่ง Muallim ได้ทดลองสร้างเครื่องมือ เป็นบอร์ดเกมซึ่งดัดแปลงมาจากเกมบันไดงูแล้วนำไปใช้สอนนักเรียนชั้นประถมผ่านการเล่นเกม เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่า ‘การบูลลี่’ คืออะไร ทำไมถึงไม่ควรทำ แล้วหากถูกบูลลี่ควรรับมืออย่างไร “เราเลือกโฟกัสที่เด็กประถมเพราะเด็กวัยนี้เป็นเหมือน ‘ราก’ ถ้าไม่แก้ไขปัญหาตรงนี้ เท่ากับว่าเรายอมปล่อยให้การบูลลี่เติบโตต่อไป” นิสมา บอก

โดยเยาวชนทั้ง 2 ทีมนี้ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยส่งไอเดียที่พัฒนาแล้วไปแข่งขันกับเยาวชนจากทั่วโลกอีกกว่า 40 ประเทศ

ไม่มีใครเข้าใจปัญหาของวัยรุ่นได้ดีไปกว่าวัยรุ่นเอง

วิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องก์การยูนิเซฟ กล่าวว่าโครงการ Generation Unlimited หรือ เยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม เป็นโครงการที่ทางยูนิเซฟร่วมกับ UNDP ทำ Challenge ขึ้นมาให้เยาวชนอายุ 14 – 24 ปี ค้นหาทางออกให้กับปัญหาใกล้ตัวพวกเขา “ไม่มีใครพูดถึงปัญหาของเยาวชนได้ดีไปกว่าตัวของเยาวชนเอง เพราะฉะนั้นตอนรับสมัครเราไม่ได้ให้น้องๆ เสนอทางแก้เลย แต่ให้เขาเล่าว่าปัญหาของเขาคืออะไร เราตัดสินจากความเป็น ‘เจ้าของปัญหา’ และปัญหานั้นส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนในวงกว้าง”

“จุดประสงค์ของ Generation Unlimited ประกอบด้วย 3E คือมุ่งเน้นเรื่องของ Education ให้เด็กได้เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา สอง Employment คือการสร้างทักษะอาชีพให้เยาวชนมีงานทำ และสาม Empowerment คือส่งเสริมหรือให้พลังกับเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นผู้หญิง” วิลสา อธิบาย และบอกอีกว่า โครงการนี้พยายามเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกกลุ่ม จึงจะสังเกตเห็นว่าผู้ร่วมกิจกรรมมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนจากสถานพินิจ

“เราเห็นศักยภาพเยอะมาก อย่างแรกคือการปรับตัวของน้องๆ เนื่องจากปีนี้เราเจอโควิด-19 ทำให้ระยะเวลาของโครงการขยายออกไปเป็น 3 เดือน แต่น้องๆ ก็สามารถปรับตัวได้และแอคทีฟมาก สองคือ ความมุ่งมั่น เราเห็นได้ชัดว่าเขาอยากจะแก้ปัญหาที่มันอยู่ใกล้ตัวของเขาจริงๆ เป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของบ้านเกิดเขา ซึ่งความเป็นเจ้าของปัญหานี่แหละคือพลังของพวกเขา เราอยากสนับสนุนให้น้องๆ ทำต่อแม้แต่ทีมที่ไม่ได้เป็น 2 ทีมสุดท้ายก็ตาม”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า