SHARE

คัดลอกแล้ว

เปิดเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น 1 เทป ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’ รายการเกมโชว์ที่ชวนคนรุ่นใหม่ นักเรียนสาย STEM มาวัดไหวพริบ โชว์ความคิด

รายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’ เป็นอีกหนึ่งรายการเกมโชว์ที่พูดถึงเป็นอย่างมากของช่อง “Workpoint” ที่ผู้ชมต่างให้ความสนใจ ด้วยการแข่งขันความรู้ในด้านสาย STEM ที่สนุก ดูง่าย และเข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ดำเนินรายการโดย “กันต์ กันตถาวร” ร่วมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาประจำรายการ ได้แก่ รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด และ รศ.ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ พร้อมด้วยโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าร่วมแข่งขัน ทั้งหมด 16 โรงเรียนจากทั่วประเทศ

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) สร้างสรรค์และผลิตรายการ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่ Presented by Bangchak Group” เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มีพื้นที่ได้แสดงศักยภาพ โชว์ความสามารถ และ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทางด้านวิชาการ ผ่านรายการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการรูปแบบใหม่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาของการแข่งขัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 67 ก็ได้แชมป์ของรายการในซีซั่นแรกนั่นคือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ไปเป็นที่เรียบร้อย และแน่นอนว่า วันนี้ TODAY PLAY จะพาทุกคนไปรู้จักเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่” ในซีซั่นแรก จะมีการเตรียมโจทย์ยังไงให้เป็นเรื่องราวรอบตัว, การคิดโจทย์ และการออกแบบกติกาที่เปลี่ยนในทุก ๆ สัปดาห์ ผ่านทีมงาน ทั้ง 5 คน นำทีมด้วย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต  ปรวีร์ ศรีอำพันพฤกษ์ (พี่เอ๋ย), โปรดิวเซอร์ กฤษกร เดชฉ่ำ (พี่เบสต์) และ 3 ครีเอทีฟ ภัคพล แซมเพ็ชร (เจมส์), ศิรณัฐ ชัยชนะ (นัท) และ ธิติธัญญ์ ธัญญนิพัทธ์ (โอปอล์) ที่จะมาพูดคุยพร้อมเจาะลึกเบื้องหลังของรายการ “Genwit” ไปพร้อมกัน

ปรวีร์ ศรีอำพันพฤกษ์ (พี่เอ๋ย) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต

จุดเริ่มต้นรายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’

พี่เอ๋ย : “โจทย์รายการมาจากทาง “บางจาก” เลย จริง ๆ ต้องขอบคุณทาง “บางจาก” เลยแหละที่ให้โจทย์นี้มา ทาง “บางจาก” อยากได้รายการทีวีที่เอาเด็กมัธยมมาตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เน้นด้านเฉพาะด้าน STEM เลย ที่ย่อมาจาก วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เนื่องจาก “บางจาก” เองเขาสนับสนุนการศึกษาทางด้านนี้มาอยู่แล้ว และปีนี้ทาง “บางจาก” ครบรอบ 40 ปีด้วย เลยอยากจะมีรายการที่สนับสนุนด้านนี้โดยเฉพาะ ประกอบกับทาง “บางจาก” เองเห็นว่าไม่มีรายการนี้มานานมากแล้ว ทางผู้บริหารของ “บางจาก” เลย อ้างอิง ถึงรายการที่เคยมีมาแล้วในสมัยก่อน เช่น ไอคิว 180, การบินไทยไขจักรวาล, Shell Quiz, Digital LG Quiz รุ่นใหม่ ๆ แทบจะไม่มีรายการสไตล์นี้เลย

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทาง “บางจาก” อยากให้มีรายการแนวนี้กลับมาอีกครั้ง ก็เลยให้โจทย์ “Workpoint” มาว่าอยากทำรายการแนวนี้ ทางเราก็รับโจทย์มาและนำมาปรับ อย่างที่บอกว่าในสมัยนี้แทบไม่มีรายการแนวนี้เลย ถ้าใกล้ที่สุดคือรายการที่ “Workpoint” เคยทำคือรายการ “วิทยสัประยุทธ์” ประมาณปี 2553 ประมาณ 12-13 ปี ก็คือเป็นรายการร่วมกันกับ สสวท. พาเด็กมัธยมปลายจากทั่วประเทศมาแข่งกัน ประดิษฐ์ของ เป็นเด็กที่เน้นทางสายฟิสิกส์เลย คือแข่งกันแก้โจทย์ของรายการเช่น ทลายกำแพงกระป๋องด้วยระยะไกล ด้วยเพียงกระดาษหนึ่งแผ่น, ถล่มตึกด้วยประทัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่เกิดจากของเล็ก ๆ แต่เด็ก ๆ ต้องทำให้เกิดผลใหญ่ๆ ซึ่งเป็นการแก้โจทย์ของฟิสิกส์เลย และรายการนี้ “วิทยสัประยุทธ์” ดังมากในหมู่วงการศึกษาไทย และ เด็กมัธยมปลาย ในยุคนั้น และก็ได้รางวัลเยอะมาก เราก็มองไปว่าเคยมีรายการนี้อยู่

แต่ถ้าหากเราจะทำอีก โจทย์ที่ได้รับเขาเน้นไปทางด้าน ด้าน STEM ที่เน้นหมดเลยทั้ง วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ก็ต้องมา ซึ่งจะไม่ใช่แค่ด้านฟิสิกส์ เหมือนของรายการ “วิทยสัประยุทธ์” แล้ว เราต้องกระจายให้ครบทุกสาขาวิชา พอครบทุกสาขาวิชาแล้วต้องเป็นทุกสาขาวิชาที่ผู้ชมนั้นตามดูได้ง่ายด้วย เพราะอย่างตอนนั้น “วิทยสัประยุทธ์” เป็นการประดิษฐ์ อาจจะไม่มีความรู้ด้านฟิสิกส์มาก เราจะได้เห็นงานว่า “ยิงปืนครั้งเดียวแล้ว ทุกอย่างกระจัดกระจายออกหมด” ซึ่งภาพค่อนข้างชัดสำหรับคนดูทีวี แต่คราวนี้พอเป็นรายการเราเป็นเรื่องหลากหลายวิชา ทั้ง เลข, ฟิสิกส์, เคมี ซึ่งเล่าอาจจะไม่เห็นภาพได้มากเท่าการประดิษฐ์ของ นี่เลยเป็นโจทย์ที่ทีมงานต้องมานั่งแก้กันว่าจะทำยังไงให้ได้รายการออกมาโดยที่ หนึ่ง “ไม่ซ้ำ” สอง “ไม่น่าเบื่อ” สาม “ดูสนุก เข้าใจง่าย” ในคนดูระดับแมส เพราะว่าถูกวางให้ออนแอร์ในช่วงไพร์มไทม์ ในช่วงแรกคิดกันว่าน่าจะออนช่วงบ่าย ๆ วันเสาร์-อาทิตย์ แต่ในครั้งนี้ถูกจับมาอยู่ในเวลาไพร์มไทม์ กลายเป็นว่ายิ่งชาเลนจ์และท้าทายทีมมาก ๆ เลยพัฒนามาจนเป็นรายการ Genwit”

นัท: “บางจาก ร่วมกับ เวิร์คพอยท์ อยากผลิตรายการความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน และอนาคตของชาติให้เห็นถึงความสำคัญของ STEM ในรูปแบบที่คนดูทั่วไปสนุก และเข้าใจไปด้วยได้เช่นกัน ซึ่งเรามีไอเดีย ที่อยากให้เป็นภาพใหม่ ไม่อยากให้เด็ก ๆ ยืนตอบคำถามอยู่ที่โพเดียม อยากเห็นความวุ่นวายของเด็ก ถึงแม้สุดท้ายทีมงานจะเป็นฝ่ายวุ่นวายเองก็ตาม และเรายึดหลัก 4C Creativity Critical Thinking Communication Collaboration  เพราะสมัยนี้ความเก่งไม่ได้อยู่แค่ในตำรา ต้องมีความสร้างสรรค์ วิเคราะห์ให้เป็น สื่อสารให้ได้ และที่สำคัญคือทำงานเป็นทีม จึงเป็นที่มาของการแข่งเป็นทีม และเกมในแต่ละช่วงที่ต้องใช้ทักษะต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง”

กว่าจะมาเป็น Proposal ดราฟสุดท้ายใน Genwit

พี่เอ๋ย : “จุดเริ่มต้นของ proposal เป็นเรื่องรายการเกี่ยวกับการศึกษา ทีมงานก็หาใครสักคนที่อยู่ในวงการศึกษา จังหวะนั้นก็นึกถึง “ครูกาแฟ” เนื่องจากรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยทำรายการ “แฟนพันธุ์แท้” ตอนนั้นเป็นผู้เข้าแข่งขัน “แฟนพันธุ์แท้ จุฬา” ซึ่ง “ครูกาแฟ” อยู่ในวงการศึกษาเป็นครูและเป็นอาจารย์ในโรงเรียน และเป็นติวเตอร์ ทีมงานเลยลองติดต่อเพื่อปรึกษาว่า..เรากำลังทำ proposal รายการหนึ่งอยู่เกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์.. ซึ่งครูกาแฟให้ไอเดียมาอันนึง แล้วดีมากจนกลายเป็นไอเดียของการทำรายการนี้เลย ทีมงานเรียกกันว่า “หลัก 4 C คือ ลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 มี 4 อย่าง ประกอบไปด้วย creativity, Critical Thinking, communication และ collaboration ก็คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องคิดวิเคราะห์ได้ สื่อสารเป็น และทำงานร่วมกันเป็นทีมได้”

อเดียนี่แหละที่กลายมาเป็นหัวใจของรายการ Genwit เลย ซึ่งเด็กที่มารายการเราจะต้องไม่ใช่ ภาพเด็กเนิร์ดแว่นหนา พูดไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่แล้ว ซึ่งเด็กเข้าแข่งขันของเราต้องมีหลัก 4 อย่างนี้ ซึ่งทีมงานเองก็จะคิดเกมเพื่อเซิร์ฟ 4 ข้อนี้ แล้วคัดเด็กที่ชนะ ซึ่งมีครบทั้ง 4 ข้อนี้ เลยเกิดเป็นเกมต่าง ๆ มาที่ทำให้เห็นว่าเด็กจะได้ทั้ง การทำงานเป็นทีม สื่อสารกันและกัน ทั้งสื่อสารกันเองและสื่อสารเล่าให้กับผู้ชมฟัง แล้วก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และวิเคราะห์เป็นที่ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ ที่ไม่ใช่แค่นำข้อมูลในหนังสือเรียนแล้วมาตอบ ก็เลยเป็นที่มาของ proposal แรกก็จะมีหลัก 4 C เลย ก็จะเกาะหลักนี้มาตลอด แต่ว่าก็จะมีการเปลี่ยนลายละเอียดดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ มาตลอดทาง ชื่อรายการก็เปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่กับ proposal แรกมาตลอดก็คือ energy

ซึ่ง energy เป็นหัวใจของรายการเราพยายามคิดพื้นฐานสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กยุคนี้มากที่สุด และใกล้ตัวเราด้วยนั่นคือ “เกม” การเล่นเกม เกมออนไลน์ วีดีโอเกม ต่าง ๆ การเล่นเกมจะมีค่าพลัง ค่าเลือด เราจะทำให้รายการเราคล้ายกับเกมที่เราชอบเล่นในมือถือ เอามาอยู่ในรายการนี้ เพราะฉะนั้นมีการสะสมค่าพลังขึ้น ทางสปอนเซอร์เป็นน้ำมันพอดีเลย เขาคอนเซปต์เกี่ยวกับเรื่องพลังงานพอดี ซึ่งคำว่า “energy” ก็เท่ดี ก็เลยกลายมาเป็นหัวใจของรายการนี้ ซึ่งเกมของรายการนี้จะมีการเก็บ energy แทนที่จะใช้คำว่า “เก็บคะแนน” ก็เปลี่ยนเป็น “เก็บ energy” ไปตลอดการแข่งขัน และจะมีการนำ energy นี้ออกมาใช้ด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมือนกับการบริหารทรัพยากรที่เรามี

กฤษกร เดชฉ่ำ (พี่เบสต์) โปรดิวเซอร์

พี่เบสต์ : “ในช่วงดราฟแรก ๆ ทีมงานคิดเป็นรูปแบบเกมโชว์เลย เหยียบไฟ มีไฟขึ้นพื้น เพราะเรามองว่าเรามาจากเกมโชว์เลย เราเอาเกมโชว์ครอบรายการวิชาการก็น่าจะสนุกดี แต่พอเราคุยไปคุยมาเลยรู้สึกว่าเราอยากจะขายจุดเด่นมันคือคำถาม คนดูเขาก็อยากฟังด้วยมากกว่า ก็เลยปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็น Genwit จริงๆ ชื่อรายการชื่อแรกไม่ใช่ Genwit ด้วย”

พี่เอ๋ย : “ใช่ จริง ๆ เราอยากให้ลืมภาพการตอบปัญหาของเด็กมัธยม เพราะภาพตอบปัญหาเด็กมัธยม จะเป็นเด็กใส่ชุดนักเรียนมายืนหน้าโพเดียม ตบไฟนิ่ง ๆ แค่ถามอะไรก็ตอบแบบนั้น แล้วเด็กก็จะไม่ได้โชว์ความคิด ความเป็นตัวตนของเขา ทีมงานเลยพยายามคิดเกมเพื่อให้เด็กได้โชว์ความเป็นตัวตน เพราะเด็กทุกคนมีเสน่ห์ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิดภาพไว้ น้อยมากที่จะเป็นภาพแบบที่เราคิดเด็กเนิร์ด ๆ กลายเป็นว่าเด็กรุ่นใหม่ยุคใหม่เขาโตมากับเทคโนโลยี กับสื่อ กับ Influencer กับ Youtube กับ TikTok เขาพร้อมออกกล้อง เขาพูดเป็นเขารู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องพูดอย่างไร รายการ Genwit จะดึงเสน่ห์ของเด็กมาให้ผู้ชมได้เห็นว่า เด็กที่เรียนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเนิร์ด ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่สื่อสารไม่ได้ และเด็กสามารถ คูล เท่ได้ด้วยมันสมอง”

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) สร้างสรรค์และผลิตรายการ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่ Presented by Bangchak Group”

พี่เอ๋ย : “ส่วนหนึ่งที่ทาง “บางจาก” เลือกให้ทาง “Workpoint” เป็นผู้ดูแลรายการนี้ ภาพลักษ์ที่ผ่านมาของ Workpoint สามารถทำรายการแนว Edutainment ได้ดี นึกถึงรายการเก่า ๆ ที่ Workpoint เคยทำเช่น อัจฉริยะข้ามคืน, แฟนพันธุ์แท้, วิทยสัประยุทธ์ เป็นการนำเรื่องที่หนักและยากมาผสมกับความบันเทิง และย่อยให้เข้าใจง่ายขึ้นใหผู้ชมดูได้ ถ้าเมื่อก่อนจะมีคนมาเล่าเรื่องพระเครื่องให้เราฟังในทีวีเราว่าเราก็คงไม่ฟัง แต่เมื่อพอมาผ่านปากของแฟนพันธุ์แท้ จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่สนุกนะ ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยมีความรู้เรื่องเบญจภาคี หรืออะไรก็ตาม นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “บางจาก” เลือก “Workpoint” ซึ่งพอได้โจทย์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ชาเลนจ์สำหรับทีมงาน เหมือนกับ “WorkpointDNA” เลย เราเชื่อว่าเรามี How to เรามีความรู้ ประสบการณ์ ในสิ่งนั้นที่เราจะสามารถทำมันออกมาให้ดีและสื่อสารออกมาได้”

มัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้เข้าแข่งขัน ทั้งหมด 16 โรงเรียนจากทั่วประเทศ

เจมส์ : “ทีมงานส่งจดหมายรับสมัครไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศร่วมหลายร้อยฉบับ เพื่อเล่าที่มาของรายการ และกติกาโดยคร่าวให้แต่ละโรงเรียนทราบ เพื่อที่จะได้คัดเลือกนักเรียนที่สนใจสมัครส่งกลับมา โดยทุก ๆ โรงเรียนจะต้องส่งประวัตินักเรียน รวมทั้งทำคลิปแนะนำตัวสมาชิกในทีม หรือ คลิปแสดงความสามารถทางวิทยาศาสตร์ส่งกลับมา (ใครที่ได้ชมรายการ EP สุดท้าย จะเห็นคลิปวิดีโอของทีมมหิดลวิทยานุสรณ์ที่ใช้สมัครเข้าร่วมรายการอยู่ด้วย) เพราะนอกจากความเก่งในตัวของน้อง ๆ แต่ละคนแล้ว ทีมงานอยากได้เห็นความสามารถในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ทักษะการพูด การทำงานเป็นทีม แม้แต่วิธีการนำเสนอ เพราะในรายการ คนที่เป็นพระเอกในการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้คนดูเข้าใจ ไม่ใช่พิธีกร ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา แต่เป็นน้อง ๆ แต่ละคนต่างหาก ดังนั้น ถ้ารายการอยากให้คนดูจะเข้าใจวิทยาศาสตร์ยาก ๆ เหล่านี้ได้ น้อง ๆ ที่มาแข่งขัน จึงต้องควรสามารถเล่าวิธีคิดเหล่านั้น ถ่ายทอดออกมาให้คนดูเข้าใจตามได้ด้วย”

พี่เอ๋ย : “โจทย์จากทาง “บางจาก” อีกข้อหนึ่งที่ให้กับทีมงานมาคือ อยากให้ผู้ร่วมรายการเป็นเด็กหัวกะทิจากทั่วประเทศแล้วเน้นเลยว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นเด็กโอลิมปิกวิชาการ พอได้โจทย์นี้มาคือ โอโห้! ลำพังทีมงานก็ไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์กันอยู่แล้ว และโจทย์คืออยากได้เด็กที่เก่ง เอาแล้วเราจะไปหาจากที่ไหน”

โอปอล์ : “ใช่ คืออันดับแรกเราก็จัดแรงค์กิ้งน้อง ๆ จากคะแนนสอบ O-net หรือ Gat-Pat คะแนนสอบต่าง ๆ ที่มี เราก็จะคัดเลือกกันก่อน ซึ่งเมื่อจัดแล้วเราจะได้ 20 โรงเรียนแรกที่เราได้ยินชื่อและคุ้นหูกันเยอะ ๆ อยู่แล้ว นอกจากในอันดับแรงค์กิ้งนี้แล้ว เราดูของเด็กต่างจังหวัดด้วย ก็จะมีโรงเรียนประจำจังหวัดต่าง ๆ ที่บางจังหวัดก็จะมีแรงค์กิ้งที่สูงติดท็อป 5 ของประเทศก็มี”

พี่เอ๋ย : “เป็นโรงเรียนชื่อแปลก ที่แบบโรงเรียนอะไรอยู่ต่างจังหวัดด้วย แต่แรงค์กิ้งคือสูงมาก นอกจากคะแนนแรงค์กิ้งแล้วเราจะดูจากพวกค่ายต่าง ๆ ด้วย”

โอปอล์ : “ใช่ค่ะ ทั้งค่าย สอวน. ค่ายโอลิมปิกวิชาการต่าง ๆ ที่น้อง ๆ ที่มาสอบเข้าค่ายกันเยอะ ๆ”

พี่เอ๋ย : “เขาจะมีคนจัดแรงค์กิ้งเอาไว้ว่า โรงเรียนไหนติดค่ายโอลิมปิกวิชาการมากที่สุด”

โอปอล์ : “ก็จะมีแบ่งเป็นรายวิชาก็มีค่ะ และก็จะเป็นวิชารวม 9 วิชาสามัญก็มี”

ธิติธัญญ์ ธัญญนิพัทธ์ (โอปอล์) ครีเอทีฟ

พี่เอ๋ย : “เราก็จับชื่อทั้งหมดมารวมกัน แล้วก็ชื่อที่เหมือนกันอยู่ ทั้งคะแนนวิชาการก็สูง ทั้งคะแนนสอบเข้าค่ายก็เยอะ เราก็พยายามกระจายให้ได้เยอะที่สุด ทั้งในกรุงเทพฯ และต้องไม่ลืมต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน ซึ่งพอทางทีมงานได้ชื่อโรงเรียนมาแล้วเราก็ส่งจดหมายเรียนเชิญให้กับทางโรงเรียนมาร่วมสมัครเข้ารายการ ซึ่งครั้งแรกที่ส่งออกไปแน่นอนว่า เป็นรายการใหม่และคนยังไม่ได้รู้จัก ในรอบแรกมีโรงเรียนที่ตอบกลับมาน้อยมาก”

โอปอล์ : “ใช่ค่ะ 4 โรงเรียนแรกก็จะมี โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร, โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์”

พี่เอ๋ย : “ก็คือแชมป์กับรองแชมป์ เป็น 4 โรงเรียนแรกที่ส่งใบสมัครกลับเข้ามา ซึ่งในตอนแรกที่ยังไม่ค่อยมีโรงเรียนส่งใบสมัครกลับมา ทางทีมงานบอกเลยว่า เอาแล้วลำบากใจมาก แต่พอเห็น 4 โรงเรียนแรกที่ส่งกลับมา และเป็น 4 โรงเรียนใหญ่ แล้วยิ่งเจอโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ พอชื่อ 4 โรงเรียนนี้ส่งกลับมาก็ใจฟูเลย ก็แบบได้แล้ว อย่างน้อยก็มี 4 โรงเรียนนี้ที่เขาสนใจเรา ตอนนี้ก็จะเป็นขั้นตอนที่ 2 แล้ว ลองติดต่อไปอีกสักครั้ง ใช้เป็นวิธีการโทรไล่ตามทีละโรงเรียนเลยว่า “ได้จดหมายหรือยังคะ””

โอปอล์ : “ใช่ค่ะ หลังจากนั้นก็อธิบายให้ฟัง ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละโรงเรียนเขาจะมีระบบสารบรรณ เพราะโณงเรียนใหญ่มาก ๆ เลยอาจจะไม่เห็นจดหมายของเรา ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก ๆ ในการตอบกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนที่ตอบกลับมาก็จะเห็นว่าเป็นพื้นที่ ที่จะให้เด็กได้มาแสดงความสามารถ มาแสดงศักยภาพของเขา บางโรงเรียนถึงขั้นคัดเด็กจากในโรงเรียนมาอีกที แบบจัดสอบกันเลยว่ามีใครจะเป็น 4-5 คนสุดท้ายที่จะได้เป็นตัวแทนมาเข้าแข่งขันในรายการ หรือบางโรงเรียนก็จะไปเปิดรับสมัครในโรงเรียนเขาอีกทีกว่าจะได้ชื่อเด็ก ๆ มา”

พี่เอ๋ย : “แต่อย่าง 4 โรงเรียนแรกที่ส่งชื่อมา เขาจะกระจายข่าวไปในโรงเรียน เปิดโอกาสให้เด็กมาสมัคร พอเด็กเห็นก็อยากมาแข่งขัน จริง ๆ เด็กไม่รู้ว่ารายการคือรายการอะไร แต่คืออยากมา และอยากลอง อยากมาออกทีวี 4 โรงเรียนแรกก็คือ พร้อมออกทีวีมาก ในที่สุดก็คือได้ครบ 16 โรงเรียนแบบทันเวลาพอดี มีบางโรงเรียนโทรมาหลังจากปิดรับสมัครแล้วก็มี เนื่องจากติดสอบกลางภาคทำให้เตรียมทีมไม่ทันก็มี  แต่สุดท้ายนี่ก็คือ 16 โรงเรียนที่ตอบรับกลับมาทันเวลา”

กว่าจะมาเป็น “Genwit” 1 เทป 1 อีพี ในทุกสัปดาห์

นัท : “ทำงานกันดุเดือดระดับหนังไมเคิลเบย์ ซับซ้อนระดับหนังโนแลนด์ ตัด ตรวจ เขียนพากย์ ทำ cg ร้อยเทปมิกซ์ ตรวจ แก้ ตรวจ แก้ ตรวจ แก้ จนกว่าจะได้ออนแอร์ยันวินาทีสุดท้าย เรียกว่า 1 สัปดาห์ 7 วัน เราใช้เวลาทำไปแล้ว 8 วัน (ฮา) เพื่อให้ได้สิ่งที่ออกมาดีที่สุดสำหรับผู้ชมทุกท่าน”

ภัคพล แซมเพ็ชร (เจมส์) ครีเอทีฟ

เจมส์ : “ถ้าเล่าง่าย ๆ ด้วยภาษาโปรดักชั่น ก็แบ่งงานได้เป็น 3 พาร์ตใหญ่ ๆ ก็คือ Pre / Pro / Post ซึ่งทุกพาร์ตใช้เวลาและพลังสมองไม่ต่างกัน

ขั้นตอนการ Pre-production หรือเล่าง่าย ๆ ว่าช่วงเตรียมโจทย์ เป็นช่วงเวลาที่ทีมงานต้องทำการบ้าน หาข้อมูลดิบเพื่อใช้ในการสร้างเป็นโจทย์ โดยทีมครีเอทีฟหลัก 3 คน ทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาข้อมูลอีก 3-4 ท่าน ช่วยกันออกไอเดียและคิดโจทย์แต่ละโจทย์ขึ้นมา แต่โจทย์ที่ได้มาในจุดนี้ จะยังไม่ใช่โจทย์ที่พร้อมใช้ เพราะรายการ Genwit ไม่ได้ใช้โจทย์ในลักษณะข้อสอบ ที่เป็นเพียงข้อความคำถาม และพื้นที่ว่างสำหรับคำตอบ

ทีมครีเอทีฟหลัก จึงต้องเอาโจทย์ดิบเหล่านี้ มาแปลงต่อให้เป็นโจทย์สำหรับรายการ เช่น ถ้าเป็นโจทย์ในรอบ Scene Analysis ก็ต้องเอามาคิดต่อว่าจะดึงข้อมูลส่วนไหน เอาไปไว้กับตัวละคร ข้อมูลไหนที่ต้องทำเป็นโปสเตอร์ความรู้ไว้ในห้อง LAB หรือข้อมูลไหนที่น้อง ๆ ควรจะรู้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องพึ่งการดีไซน์และวางแผนเป็นอย่างมาก ซึ่งยิ่งซับซ้อนมากเท่าไร ความยากในขั้นตอนการเตรียมงาน และการถ่ายทำก็จะซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อโจทย์ทุกส่วนพร้อม ก็จะส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่าน คือ อ.ยอ (รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด) และ อ.ปอ (รศ.ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ) ช่วยตรวจความถูกต้อง ความสมเหตุสมผล และรีเช็กคำตอบให้อีกครั้ง (รวมทั้งอาจารย์เองก็จะได้ทำข้อมูลเพื่อใช้อธิบายเสริมในรายการให้น้อง ๆ ด้วย) เมื่อผ่านการะบวนการเหล่านี้แล้ว โจทย์เหล่านั้นจึงจะพร้อมใช้จริงในวันถ่ายทำ (ซึ่งก็จะเสร็จเอากระชั้นชิดวันถ่ายทำมาก)

จนถึงวัน Production หรือวันถ่ายทำ (REC) ทีมงานกับพิธีกร (กันต์ กันตถาวร) จะต้องทำความเข้าใจโจทย์ร่วมกันก่อน เพื่อเข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อออกไปทั้งกับน้อง ๆ และผู้ชมทางบ้าน ในขณะเดียวกันทีมงานก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับใช้ มีการคิดค่า error ซึ่งอาจเกิดได้ทุกเมื่อในการคิดของน้อง ๆ เตรียมไว้ และเมื่อน้อง ๆ เริ่มทำโจทย์แต่ละโจทย์จริง ๆ ทีมครีเอทีฟต้องคิดคำนวณโจทย์ใหม่ตั้งแต่ต้น ตามข้อมูลที่น้อง ๆ ได้ตามไปด้วย เพื่อที่จะได้คาดคะเนรูปเกม หรือถ้าเกิดน้อง ๆ คิดคำนวณผิดพลาด ก็จะได้รู้ว่าจุดผิดพลาดนั้นเกิดที่ตรงไหน พิธีกรและอาจารย์ที่ปรึกษา จะได้รู้และช่วยอธิบายน้อง ๆ ได้หลังจากการแข่งขันแต่ละเกมจบลง

ส่วนขั้นตอน Post-production นั้นก็ยากไม่แพ้สองพาร์ตแรก เพราะเป็นพาร์ตที่ใกล้คนดูมากที่สุด การตัดต่อเนื้อรายการนั้นยากทั้งในแง่ของเนื้อหา และยากในแง่ของการเล่าเรื่อง ยกตัวอย่างเกม Final Battle ที่น้อง ๆ ทั้งสองทีม จะต้องคิดโจทย์เดียวกัน พร้อมกัน แปลว่ามีเหตุการณ์ของทั้ง 2 ฝั่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ไม่นับว่าแต่ละฝั่ง ก็มีเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่น้อง ๆ แต่ละคนแยกกันไปทำเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังต้องพึ่งทีมกราฟิกในการทำอะนิเมชั่นอธิบายโจทย์ต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจมากที่สุดของคนดูอีกด้วย เรียกว่า ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายการนี้ ตั้งใจและทุ่มเทเวลาให้กับทุกชิ้นส่วนของรายการจริง ๆ” 

พี่เบสต์ : “ต้องบอกว่ารายการนี้ยากทุกกระบวนการ ยากตั้งแต่คิด ยากทั้งถ่ายทำ จนมายากถึงขั้นตอน Post Production การตัดต่อ การเล่าเรื่อง ต้องเกริ่นก่อนว่ารายการทั่วไปก็จะถ่ายมาเป็นเส้นตรงและเล่าเรื่องตามนั้นได้ แต่รายการนี้ไม่สามารถเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงตามที่เราถ่ายมาได้ เราถ่ายไปเราเล่าเรื่องไป และเราต้องแวะอธิบายด้วย เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเพราะผู้ชมทั่วไปมีหลากหลายมาก ซึ่งคงไม่เข้าใจหรอกว่า “โพรเจกไทล์คืออะไร” หรือ “พีทาโกรัส” ประมาณนี้ผู้ชมไม่เข้าใจ ทีมงานต้องมาอธิบายแบบอย่างง่ายให้เข้าใจได้ สิ่งที่ช่วยได้ก็คือ “อินโฟกราฟิก” ต่าง ๆ “CG” ต่าง ๆ”

พี่เอ๋ย : “CG รายการนี้จะเยอะมาก ซึ่งหน้าบ้านเล่าจะเต็มไปด้วยอาจารย์ คนที่คิดโจทย์ แต่พอตัดภาพกลับมาที่ Post Production ก็จะมีแค่ทีมงาน ซึ่งทีมงานฝั่ง Post Production ของเรา ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้ ซึ่งเราเรียนสายศิลป์กันมาทั้งทำกราฟิก, CG, ตัดต่อ ซึ่งจะมีคนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์น้อยมาก ก็จะต้องพึ่งน้อง ๆ ครีเอทีฟที่จบสายวิทย์มา”

พี่เบสต์ : “ใช่ อย่างรายการทั่วไปก็จะมี ครีเอทีฟ , ตัดต่อ , โปรดิวเซอร์ ที่จะมาดูเทปเท่านั้น แต่รายการนี้คือต้องมีทั้ง ครีเอทีฟ, โปรดิวเซอร์ แล้วก็ต้องเอาน้อง ๆ ทีมงานที่เข้าใจด้านวิทย์มาช่วยด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเล่านั้นถูกหรือผิด”

พี่เอ๋ย : “ก็คือทีมที่คิดคำถามนี่แหละ ที่ต้องมาช่วยดูว่าได้ไหม เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ เข้าแข่งขันพูดกันไม่ใช่ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายเลย แบบ “เอาค่า K K คือะไร เอาค่า V ไปกับ T” คือเด็ก ๆ ที่เข้าแข่งขันพูดกันในทีม ซึ่งทีมงานก็ต้องมาฟังกันเองตอนที่น้องเขาคำนวณ ซึ่งถ้าไม่ใช่คนจบสายวิทย์มาไม่มีทางเข้าใจได้เลย รายการนี้เป็นรายการที่ไม่สามารถส่งงานให้กับตัดต่อแบบ 100% ได้เลย อย่างน้อยต้องมีทีมงานที่รู้วิทยาศาสตร์หรือคิดโจทย์นั้นขึ้นมาเอง หรือว่าโจทย์นี้ต้องการอะไรมานั่งคุมการตัดต่อกันอีกที อย่าง CG น้องๆ ทีมงานที่รู้เรื่องวิทยาศาตร์ก็ต้องเขียน Storyboard เลย และส่งให้ทีม CG อีกทีนึง ซึ่งภาพที่ออกมาต้องสวย , ดูแล้วเข้าใจง่าย และต้องถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ทุกอย่างด้วย” 

พี่เบสต์ : “สิ่งที่ยากของรายการนี้อีกอย่างคือ เหมือนเรานับหนึ่งใหม่ทุกอาทิตย์ เอา CG ของอาทิตย์นี้มาใช้กับอาทิตย์หน้า ไม่ได้เลย ทีมงานจะต้องเปลี่ยน CG ใหม่ทุกอาทิตย์ ทุกอย่าง”

พี่เอ๋ย : “ใช่เพราะโจทย์เราเปลี่ยนใหม่ทุกอาทิตย์เลย เช่น สัปดาห์นี้ “แม่นาค” สัปดาห์หน้าอาจจะไป “แข่งเรือยาว” เรื่องคือเปลี่ยน เพลงที่มิกซ์ ธีมต่าง ๆ ทุกอย่างคือเริ่มใหม่หมด เนื้อหาคือเหมือนกับเรียลลิตี้ แต่จริง ๆ มันคือเกมโชว์นะ เบรกที่ตัดง่ายสุดก็คือ เบรกแรก Speedy Quiz ถามตอบคือเกมโชว์ปกติ แต่พอเข้าเบรกสอง เบรกสาม เบรกสี่ ที่เหลืออย่าง Scene Analysis, Final Battle, Escape Room มันคือเรียลลิตี้ เราไม่สามารถกำหนดทิศทางที่เกิดขึ้นในเรื่องราว ไม่รู้ว่าเด็ก ๆ ที่เข้าแข่งขันจะวิ่งไหน น้อง ๆ จะทำอะไร จะเกิดอะไรขึ้น มันคือการตัดต่อเรียลลิตี้ เลยทำให้รายการนี้ยากทุกตรง ตอนคิดคำถามก็ยาก เอามาตัดต่อโดยให้ผู้ชมรู้เรื่องไปกับเรา ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นความรู้ระดับโอลิมปิกวิชาการเขารู้กัน แต่ต้องตัดให้ผู้ชมทุกเพศทุกวัยเข้าใจ ซึ่งภาพแรกที่คิดไว้ผู้ชมน่าจะเป็นผู้ใหญ่ Gen Y, X, บูมเมอร์ แต่พอทำรายการไปเราค้นพบว่ารายการเรามีแต่เด็ก ๆ ที่ดูเด็กมัธยมไปจนถึงเด็กประถม 7 ขวบ 8 ขวบ พ่อแม่คอมเมนต์มาบอกว่านั่งดูกับลูก กลายเป็นว่าทุกอย่างที่เราอธิบายทำให้คนทุกวัยและทุกฐานความรู้ เข้าใจได้พอ ๆ กัน ตามเรื่องได้ทันด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นแล้ว เด็ก ๆ ที่เขาแข่งขันเขาพูดเรื่องนี้” 

ศิรณัฐ ชัยชนะ (นัท) ครีเอทีฟ

Genwit” ตั้งโจทย์จากเรื่องใกล้ตัว จับเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย

นัท : “ประยุกต์คำถาม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ทำเรื่องยากให้ง่าย หรือทำให้ดูเหมือนง่ายแต่จริงก็ยากอยู่ดี (ฮา)

: โจทย์สุดว้าว

นอกจากคำถามจะใกล้ตัวแล้ว ต้องว้าวด้วย แม่นาค พะยูน โคนัน ยัดมาให้แบบจัดเต็ม สิ่งนี้คือเสน่ห์ของเวิร์คพอยท์ เป็นจุดแข็งของเรา เราสามารถทำเรื่องตลกให้จริงจัง และทไเรื่องจริงจังให้ตลกได้ ดังนั้นรายการจึงครบรส คนดูจะรู้สึกสนุกไปด้วย

: ไม่ทิ้งคนดู

คอยอธิบายทฤษฎี หลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบสวยงามให้น่าดูอยู่เสมอ เพื่อให้คนดูเข้าใจ และคิดตามได้ทัน ทำให้คนดูเล่นไปกับรายการได้ด้วย

: เล่าเรื่องให้น่าสนใจ/ไม่จำเจ

เราพยายามดึงจุดเด่นของแต่ละเทปแต่ละการแข่งขันออกมา สังเกตได้ว่าแต่ละเทปจะมีเรื่องราวที่น่าจดจำแตกต่างกัน ความวุ่นวายของดาวบดินทร อัจฉริยะสายชิลอย่างสาธิตเกษตร

ความกวนขี้เล่นของกำเนิดวิทย์

น้องๆ แต่ละทีมมีคาแรคเตอร์อยู่แล้ว แต่ละการแข่งกันก็มีเรื่องราวสำคัญอยู่ เราต้องหาสิ่งนั้นให้เจอ และนำเสนออย่างมีชั้นเชิง ถ้าน้อง ๆ และการแข่งขันคือวัตถุดิบ หน้าที่ของทีมงานคือการปรุงให้วัตถุดิบเหล่านั้นออกมามีรสชาติที่ดีที่สุด”

พี่เอ๋ย : “นี่คือเป้าหมายของการทำรายการนี้เลย ว่าทำอย่างไรให้เรื่องยากมากเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกเพศทุกวัย อย่างแรกเลยเกาะเรื่องใกล้ตัวไว้ก่อน ตั้งแต่ Speedy Quiz ซึ่งช่วงนี้เป็นอะไรที่เป็นมิตรกับคนดูที่สุดละรายการนี้ ใน 4 เบรก ซึ่งเป็นการอุ่นเครื่องตั้งแต่เราวางเบรกแล้วละว่า เบรกหนึ่งทำอะไร เบรกสองทำอะไร

ซึ่งเบรกแรกเป็น Speedy Quiz คือถามตอบ เพราะฉะนั้นจะเป็นช่วงที่ทำให้คนดูเข้าใจได้ง่ายที่สุด เป็นการเอาเรื่องใกล้ตัวมาถามให้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดของรายการนี้ และก็ของเบรกหนึ่งเลย ทุกเรื่องที่ใกล้ตัวสามารถเป็นคำถามได้ อย่างเทปแรกก็ “ทำไมหมาหอน””  

โอปอล์ : “หรือ “ทำไมตุ๊กแกถึงเกาะติดบนเพดานได้” ก็จะเป็นคำถามที่ผู้ชมฟังแล้วได้คิดตามและได้เล่นตาม แต่คำตอบดันคิดไปตามหลักการได้ ซึ่งคำอธิบายอาจจะดูว้าวนิดนึงในแง่ของผู้ชม ซึ่งถ้าสำหรับเราฟังว่า ว้าว! แล้ว คนดูก็จะ ว้าว! ไปกับเรา”

 

Escape Room เกมสุดท้ายที่ท้าทายสำหรับเด็ก ๆ ที่เข้าแข่งขัน

พี่เอ๋ย : “ในทุก ๆ อีพี ทีมงานพยายามหยิบสิ่งที่ใกล้ตัวมาก ๆ ทั้งละครไทย ผี เรือยาว ประเพณี ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความไทย ๆ ใส่เข้ามาในทุก ๆ เทป จนมาถึงอีพีรอบสุดท้าย คือรอบชิงชนะเลิศ ต้องจบแบบใหญ่ ๆ โชคดีที่ได้ ครูกาแฟ พูดขึ้นมาในที่ประชุมคนแรกว่า “อยากเล่นเรื่องรามเกียรติ์จังเลย” พอได้ยินคำนี้เลยใช่เลย ใหญ่จริง แกรนด์จริง รอบไฟนอลจริง ๆ  หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ คิด ค่อยๆ กันช่วยออกไอเดีย เรื่องราวในรามเกียรติ์สามารถไปจับกับวิชาอะไรในวิทยาศาสตร์ได้บ้าง ซึ่งความโชคดีในทีมงานไม่ได้เก่งเรื่องวิทยาศาสตร์ เขาเก่งภาษา และ สังคมศาสตร์กันด้วย ซึ่งเราเองก็เป็นเด็กศิลป์ที่ชอบภาษาไทย เลยเอาภาษาไทยมาจับว่ามีเหตุการณ์ไหน ช่วยกันลิสกันออกมา และเอามาดูว่าจะจับกับวิชาไหนได้ จากนั้นก็ค่อย ๆ ตัดออกจนเหลือเพียง 5 เหตุการณ์ที่เหมาะ

ซึ่งการจะออกจากห้อง Escape Room จะต้องไม่ง่ายขนาดนั้น เหมือนกับทุกรอบที่ผ่านมาที่แก้โจทย์หนึ่งโจทย์ได้ตัวเลขหนึ่งตัว ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดหีบ 5 หีบ เมื่อเปิดไปเจอกลอน และต้องนำกลอนทุกกลอนมาต่อกัน และต้องตีความกลอนอีกชั้นหนึ่งเพื่อที่จะได้คำตอบ 4 ตัว หลังจากนั้นก็บอกพี่ทีมงานที่แต่งกลอนให้เราว่า “รหัสสุดท้ายเราอยากให้ออกมาเป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย” นั้นคือวันที่ที่รัชกาลที่ 4 ได้ทำนายวันสุริยุปราคาได้ถูกต้อง และเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 เดือน 8 ซึ่งให้โจทย์ไปเท่านี้ แล้วเดี๋ยวเราจะเอากลอนมาซอยเป็นจิ๊กซอว์ 5 ชิ้น พี่ทีมงานก็หายไปแต่งกลอน 2 วันกลับมาก็คือตามที่เห็นในอีพีสุดท้ายนี้เลย ซึ่งพี่เขานึกถึงกลอนกลบทที่อยู่ตามเสาที่วัดโพธิ์ ซึ่งกลอนเหล่านี้จะเหมือนซ่อนกล ซ่อนโค้ด ซ่อนวิธีการเอาไว้ ถ้าเราไม่รู้วิธีการอ่านเราจะไม่เข้าใจมันเลย กลอนที่พี่ทีมงานได้มาคือ กลบท วรไตรโลกย์ เป็นกลบทที่มีอยู่จริงที่วัดโพธิ์ แล้วเรียงหน้าตาแบบนี้ และหั่นจิ๊กซอว์มาให้เลย ถ้าเป็นจิ๊กซอว์ 5 ชิ้นจะหน้าตาเป็นแบบนี้ ซึ่งตอนเห็นก็คืออึ้งมาก นี่คือรายการวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อพอกลับมาคิดดี ๆ ย้อนกลับไปที่ 4 C ซึ่งเด็กที่มาแข่งรายการนี้พี่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ต้องไม่เก่งแค่ในตำราวิทยาศาสตร์ของตัวเอง ต้องมีความรู้รอบตัวอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วต้องมี creativity และ Critical Thinking

ซึ่งทีมงานก็จะช่วยโดยเขียนผังกลอนไว้ที่หน้าแป้นกดรหัส เมื่อเด็ก ๆ ผู้เข้าแข่งขันได้แต่ละชิ้นมาก็เอามาต่อเองนะ อ่านให้ถูกตามผังที่ให้ ก็คาดหวังว่าถ้าจะโชคดี เด็กอาจจะอ่านออกสัก 4 ชิ้นแรก ปรากฏว่า น้องตีความได้ตั้งแต่ชิ้นที่ 1-2 ชิ้นแรกแล้วว่าคือ สุริยุปราคา ซึ่งชิ้นที่หนึ่งจะพูดถึงพระอาทิตย์ ชิ้นที่สองพูดเรื่องพระจันทร์ ซึ่งคำยังไม่ครบแต่คีย์เวิร์ดเริ่มมีแล้ว ซึ่งเด็ก ๆ ผู้เข้าแข่งขันเข้าใจแล้วว่าหรือเขาจะหมายถึง สุริยุปราคา ซึ่งเด็ก ๆ เก่งมาก ซึ่งโจทย์ที่คิดมา สุดท้ายแล้วตอบโจทย์กับจุดเริ่มต้นของรายการของเราได้จริง ๆ  ต่อความตั้งใจทั้งหมดของเราเลย รามเกียรติ์ก็ใหญ่มากด้วย คนทั้งประเทศรู้จักทกุคนต้องเคยได้เรียนในบทเรียน เป็นความโชคดีของเราที่ทุกคนที่คิดคำถามช่วยกันหยอดไอเดีย เมื่อมารวมกันแล้วมันลงตัว เมื่อน้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันมาเล่นก็เข้าใจ ถ้าหากว่าน้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันมาเล่นแล้วไม่เข้าใจคำถามนี้ก็จะไม่มีประโยชน์ และไม่มีค่าเลย”

เจมส์ :  “รายการ Genwit แข่งขันโดยใช้ระบบทัวร์นาเมนต์ 16 ทีม และใช้ระบบแพ้คัดออก แปลว่าทีมที่ชนะเลิศต้องแข่งชนะทั้งหมด 4 รอบ คือ รอบ 16 ทีม, รอบ 8 ทีม, รอบ 4 ทีม และรอบชิง ในภาพใหญ่ยิ่งรอบลึกขึ้น โจทย์ที่ใช้ก็ควรจะยากขึ้น แต่ในความจริงแล้ว ทีมคิดคอนเทนต์ใช้เวลาเตรียมโจทย์ไปทีละรอบ ๆ เพื่อใช้เวลากับทุก ๆ โจทย์ให้มากที่สุด การวางไดนามิกความยากหรือซับซ้อนของรายการ (ที่คนดูชอบและสนุกตามนั้น) จึงเกิดขึ้นในขั้นตอนเตรียมโจทย์ มากกว่าขั้นตอนการแบ่งรอบการแข่งขัน

และอย่างที่บอกไปว่า เราอยากให้เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว โจทย์ที่ถูกคิดแล้วใช้ในรายการ จึงเกิดจากปัญหา หรือประเด็นรอบตัวเราก่อน เช่น เรื่องที่เกิดในข่าว (เรื่องสารเคมีรั่วไหล เรื่องเทนรด์รถยนต์ไฟฟ้า) เรื่องในชีวิต (การขึ้นเครื่องบิน การกินอาหาร การนอนหลับ) แต่ทีมงานเอามาคิดต่ออีกว่าจะเล่าเรื่องเหล่านี้ ผ่านสถานการณ์ที่คนดู relate ตามได้ เพื่อให้ทั้งเข้าใจและสนุกตามรายการไปด้วย เลยเป็นที่มาของธีมโจทย์หลาย ๆ โจทย์ที่ถูกใช้ในรายการ เช่น แม่นากพระโขนง งานวัด ลอตเตอรี่ ร้านสุกี้ชาบู หรือแม้แต่รามเกียรติ์ ที่ก็โดนดึงวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยว จนคนดูตื่นเต้นตาม และไม่คิดว่าจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้มารวมกันได้”

ความเข้นที่เพิ่มขึ้น พร้อมกติกาที่ถูกเปลี่ยนในทุกรอบการแข่งขัน

พี่เอ๋ย : “เราแข่งขันกัน 4 รอบ มี 16 ทีม 8 ทีม และ 4 ทีม กติกาเปลี่ยนทุกรอบ ในตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าจะต้องเปลี่ยนเยอะขนาดนี้”

โอปอล์ : “ด้วยความที่น้อง ๆ เขาเก่งกันมาก เขาจับทางรายการได้ เขามีการวางแผนมาจากบ้าน จากโรงเรียนแล้ว จากรอบแรกเรามีการประมูล น้อง ๆ ก็จะวางแผนประมูลอะไรดี เราต้องใช้ energy ประมูลเท่าไหร่ ของชิ้นไหนน่าจะเป็นชิ้นสุดท้าย ชิ้นสำคัญ น้องก็คือวางแผนกันมาแล้ว และเดาทางรายการได้ บางทีเขาเดาถูกด้วยนะ ทีมงานเลยต้องหักมุมหน่อยก็ต้องเปลี่ยนกติกา เพื่อให้น้องสนุก และให้ผู้ชมสนุกไปด้วย เพราะถ้ากติกาเราเหมือนเดิม ผู้ชมก็จะรู้สึกเหมือนเดิม มันก็จะไม่ได้มีความเข้มข้น และจะหลายเป็นว่าโจทย์ยากขึ้นแทน แต่รายการไม่ได้พัฒนาความสนุกไปด้วย”

พี่เอ๋ย : “ยิ่งคำถามลึกมันก็จะยิ่งยาก ซึ่งจะยากอย่างเดียวไม่ได้ ทีมงานเลยเปลี่ยนที่ตัวเนื้อหาและกติกาด้วยให้เข้มข้นขึ้น แล้วก็จับทางได้ยาก เพราะว่าผู้เข้าแข่งขันเราฉลาดมาก ซึ่งน้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันจะรู้กติกาจริง ๆ 100% คือวันถ่ายทำรายการ น้องอาจจะพอรู้บ้าง เราก็จะเล่าโครงสร้างให้ฟังเมื่อเปลี่ยนรอบใหม่ เดี๋ยวพี่จะเปลี่ยนกติกาประมาณนี้ แต่บอกหมด 100% ไม่ได้ ยังไงสิ่งนี้ก็คือเกมโชว์ ความสนุกของเกมโชว์อย่างหนึ่งคือความคาดเดาไม่ได้ และน้อง ๆ ที่เข้าแข่งขันเก่งมาก เพราะฉะนั้นน้องรู้ก่อนเริ่มถ่ายทำไม่นาน ซึ่งที่เห็นในรายการทั้งหมดนั้นคือความเก่งของเด็กจริง ๆ ที่สามารถรับมือกับโจทย์ที่เพิ่งรู้ไม่กี่นาทีก่อนเริ่มเล่น”

ความยาก และ ความท้าทาย ของรายการ “Genwit”

เจมส์ : “ถ้าให้ตอบตอนนี้เลยก็คือ “ท้าทายทุกจุด” 555555 อย่างที่อธิบายไปในทุกส่วนงาน ทุกคนทุกฝ่ายต้องใช้ความทุ่มเทอย่างมาก เพื่อที่จะถ่ายทอดสารต่าง ๆ ออกไปให้ถึงคนดูมากที่สุด โจทย์ที่สำคัญมากที่สุดของรายการ จึงไม่ใช่แค่การทำให้รายการถูกต้องอย่างเดียว แต่คนดูต้องจับต้องและสนุกตามไปด้วยในทุก ๆ วินาที ซึ่งสิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ยากมากกว่าทุกโจทย์”

นัท : “เปลี่ยนเป็นถามว่ามีจุดไหนง่ายแทนได้ไหม (ฮา) คิดว่าความยากของรายการนี้มีอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆ คือ

การทำรายการวิชาการให้ออกมาสนุก เข้าใจง่าย และทันสมัย เพราะต่อให้เราทำเนื้อหาดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนดูมันก็สูญเปล่า ดังนั้นเราให้ความสำคัญกับส่วนนี้มาก ส่วนวิธีการ ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2 เลยจ้า

เรื่องการจัดคิวน้อง ๆ เพราะน้อง ๆ คิวทองมากอย่างกับพระเอกเงินล้าน เลยอาจจะมีบางคู่ที่ถูกเลื่อนให้ออนปอร์ทีหลัง ทีมงานจะทำการวางแผนให้ดีในซีซั่นหน้า หากอยากทราบรายละเอียดความวุ่นวาย สอบถามน้องโอปอล์ได้เลยครับ // ยื่นไมค์

สิ่งนี้ตอนแรกคิดว่าจะเป็นปัญหาก็คือ คิดว่าน้อง ๆ เด็กเรียนจะนิ่ง ๆ เงียบ ๆ แต่ผิดมหันต์จ้า เอนจอยฟน้ากล้องหน้าอะไรสุด อย่างกับอินฟลูเอนเซอร์ ติ๊กต่อกเกอร์ยังไงยังงั้น ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว โซเชียลได้หลอมละลายให้น้องๆ พร้อมออกกล้องทุกคนจ้า”

ฝากถึงผู้ชมรายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’

นัท : “นิยามของรายนี้คือรายการที่คุ้มมาก คืนกำไรให้คนดูอย่างแท้ทรู คุณจะได้รู้ความเร็วในการยื่นแขนของแม่นาคเพื่อเก็บลูกมะนาว แพนด้าต้องกินก๋วยเตี๋ยวกี่ชามเพื่อเดินขึ้นเขาฝึกวิชา คุณจะได้เชียร์ไอดอลสายเนิร์ด ที่นอกจากจะเก่ง ยังสวยหล่อน่ารักมารยาทดี จิตใจโอบอ้อมอารีย์อีกด้วย คุณจะได้ดูการแข่งขันที่หักมุมไปมาราวกับเขียนบททั้ง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีการนัดแนะใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่คุณตั้งความเก่งระดับเทพ ไปจนถึง ความโก๊ะต่างๆ เกิดขึ้นจริงไม่ใช้ตัวแสดงแทน และสุดท้าย รายการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนอีกมากมายได้หลวมตัวเข้ามาเรียนสายวิทย์ (ฮา) เชื่อว่าเยาวชนที่ได้ชมรายการนี้จะจุดประกายความคิดหรือแรงบันดาลใจบางอย่างที่จะนำไปสู่การต่อยอดหรือพัฒนาสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน ฝากติดตามซีซั่นสองด้วยนะคร้าบ”

เจมส์ : “ในฐานะทีมงาน ขอบคุณผู้ชมทุก ๆ คนที่ติดตามรายการ และส่งฟีดแบกมาให้ผ่านคอมเมนต์ตลอด 15 EP. ที่ผ่านมา ทีมงานได้อ่านและได้รับพลังดี ๆ จากผู้ชมอย่างท่วมท้น เพราะการที่ได้สร้างสรรค์รายการที่มีโจทย์ยากตั้งแต่ตัวรายการ และโจทย์ยากสำหรับทีมผลิตรายการแบบนี้ ผ่านทางหน้าจอทีวี แล้วมีผู้ชมอีกด้าน คอยให้การติดตามและติชมกลับมาตลอดนั้น เป็นรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับทีมผลิตรายการแล้ว ส่วนในฐานะนักเรียนวิทย์-คณิต ตั้งแต่สมัยมัธยมจนจบมหาวิทยาลัย ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในรายการนี้ และได้ปลุกกระแสแวดวงวิชาการ และวงการการศึกษาของไทย ให้ได้หันมาส่งเสริมต้นกล้ารุ่นใหม่ที่จะเติบโต และเป็นกำลังสำคัญของประเทศนี้ในอนาคต รวมทั้งสร้างสังคมของการเรียนรู้ และความสนใจวิทยาศาสตร์ของคนไทยให้มากยิ่งขึ้นด้วย”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า