ยุคนี้ ถ้าใครยังคิดว่าติดเกม = ไม่มีอนาคตนั้น ถือว่าเชยมากแล้ว เพราะการเล่นเกมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่จริงจังถึงขั้นมีแข่งชิงแชมป์โลก คนเล่นเกมธรรมดาๆ ยังสามารถหาเงินได้จากการสตรีมเกม การพากย์เกม และยังเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเกมได้ด้วย
ถือเป็นโอกาสพิเศษของทีมข่าว TODAY Bizview ที่จะได้ไปเกาะติดขอบสนาม ดูการแข่งขัน Valorant Champions 2023 ที่ลอสแองเจลิส การแข่งเกม Valorant รอบสุดท้ายของปีจาก 16 ทีมทั่วโลก ที่ทั้งผ่านการแข่งลีกภูมิภาค และทีมที่ได้รับเลือกให้เข้ามาแข่งโดยเฉพาะ
TODAY Bizview จึงอยากพาผู้อ่านไปรู้จักโลกของการแข่งเกมหรืออีสปอร์ตให้มากขึ้น เกมไหนบ้างที่นิยมกัน รายได้ของวงการนี้ มาจากช่องทางไหนบ้าง ซึ่งก็ต้องบอกว่า อีสปอร์ต คืออีกโลกธุรกิจที่ใหญ่ และน่าจับตามองไม่แพ้ธุรกิจความบันเทิงด้านอื่นๆ เลย
[ จุดเริ่มต้นของอีสปอร์ต ]
ในสมัยก่อนการแข่งเกม เป็นหนึ่งในการโปรโมทของบริษัทที่ผลิตเกมออกมาขาย เช่น บริษัท Sega และ Konami ในญี่ปุ่น เพื่อให้เกมขายดี ซื้อตลับเกมไปเล่นกันมากขึ้น
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในยุค 90 ทำให้เกม PC ที่เล่นกันแบบออฟไลน์เข้าถึงคนวงกว้างขึ้น มีเกมใหม่ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเกมในตำนานอย่าง Street Fighter อย่างเช่นเกม Doom, Counter-Strike, StarCraft, Warcraft โดยแนวเกมจะเล่นได้หลายคนหรือ multi player ทำให้สามารถจัดแข่งกันเป็นทีมได้
ช่วงทศวรรษ 2010 คือช่วงที่การแข่งอีสปอร์ตในรูปแบบลีกใหญ่และเงินรางวัลใหญ่เฟื่องฟู จำนวนทัวร์นาเมนต์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 10 ทัวร์นาเมนต์ในปี 2000 สู่ 260 ทัวร์นาเมนต์ ในปี 2010
เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเสถียรขึ้น ก็ทำให้แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมที่เพิ่งเกิดไม่นานอย่าง Twitch และ YouTube สามารถในการถ่ายทอดสดเกมยาวๆ ได้ โดยเฉพาะ Twitch ที่สร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเนื้อหาเกม ดึงดูดคนดูการเล่นเกม League of Legends และ Dota 2 ได้กว่าหมื่นล้านวิว
จะเห็นได้ว่า อีสปอร์ตก็พัฒนามาจากตัวเกม ที่ค่อยๆ สะสมฐานแฟนคลับจนกลายเป็นคอมมูนิตี้ใหญ่ และนำมาสู่การแข่งขัน จากเล็กไปยังลีกภูมิภาค และลีกระดับโลก
ปัจจุบัน แนวเกมที่นิยมมาแข่งในอีสปอร์ตคือ FPS หรือ first-person shooter, เกมแนว MOBA หรือ multiplayer online battle arena, เกมแนว RTS หรือ real-time strategy, เกมการ์ด, เกมเอาตัวรอด และรายชื่อเกมที่มีการแข่งอีสปอร์ตกันอยู่บ่อยๆ คือ League of Legends, Dota, Counter-Strike, Valorant, Overwatch, Street Fighter, Super Smash Bros และ StarCraft เป็นต้น
ความสนุกของอีสปอร์ตอยู่ที่ความซับซ้อนของเกม การต้องใช้กลยุทธ์และการวางแผนสูงสุด ยกตัวอย่างเกม League of Legends ที่ผู้เล่น 5 คน ต้องวางกลยุทธ์เพื่อทำลายฐานฝ่ายตรงข้าม บางคนต้องทำหน้าที่อยู่ในป่า เพื่อทำลายมอนสเตอร์เก็บคะแนน ผู้เล่นคนอื่นอยู่ตามเล่นต่างๆ เพื่อทำลายหรือสร้างแดเมจให้กับฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด
ดังนั้น เกมที่นิยมแข่งจึงเป็นเกมที่ออกแบบมาเพื่อประชันความสามารถของทีม ใช้กลยุทธ์และความหลากหลายของอาวุธและตัวละครในเกม ซึ่งต้องอาศัยการฝึกซ้อมจนชำนาญ เพราะต้องใช้ไหวพริบและทำหลายสกิลภายในเสี้ยววินาที ถึงจะเป็นระดับโปรเพลเยอร์ หรือผู้ที่เล่นจนยึดเป็นอาชีพนักกีฬาได้
[ ฐานคนดูอีสปอร์ต ]
จำนวนคนดูกีฬาประเภทอีสปอร์ตยังวัดได้ยาก และไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการ แต่ก็พอมีแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ เช่น NewZoo สื่อวิเคราะห์การตลาดวิดีโอเกม และ Esports Charts เป็นต้น
คนดูอีสปอร์ต อิงกับความนิยมของเกมเป็นหลัก ยิ่งเกมดัง มีคนเล่นมาก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนดูอีสปอร์ตจะเพิ่มขึ้นตาม เพราะเกมอีสปอร์ตมีกติกาซับซ้อน คนดูแล้วเข้าใจ ก็คือคนที่เล่นเกมนั่นเอง
Esports Charts จัดอันดับเกม Esports ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตามจำนวนที่มีการดูสูงสุด (Peak Viewers)ในปี 2023 คือ
- Mobile Legends: Bang Bang มีการดูถึงจุดพีคที่ 4,270,270
- League of Legends – 2,297,919
- Counter-Strike: Global Offensive – 1,528,724
- Valorant – 1,444,670
- Arena of Valor – 974,624
จำนวนแฟนคลับอีสปอร์ตยังเพิ่มขึ้นมากในช่วงล็อกดาวน์ โควิด-19 ที่การเล่นเกมกลายเป็นงานอดิเรกใหม่ของใครหลายคน และดูเหมือนว่าอีสปอร์ตจะได้ประโยชน์จากการล็อกดาวน์ไปเต็มๆ เพราะปกติก็มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันอยู่แล้ว
[ รายได้ไหลมาจากช่องทางไหน ]
เมื่อมีฐานคนดูแน่น รายได้ก็เพิ่มตาม รายได้หลักของอีสปอร์ต มาจาก 5 ช่องทางหลักๆ คือ
- สปอนเซอร์ มักเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับองค์กรอีสปอร์ต ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด สปอนเซอร์มักเป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าเกมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์เกมมิ่ง โน้ตบุ๊กเกมมิ่ง หูฟัง เก้าอี้เกมเมอร์ ไปจนถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่างๆ ซึ่งถ้าใครดูแข่งอีสปอร์ต ลองสังเกตที่เสื้อนักกีฬา จะเห็นโลโก้แบรนด์ผู้สนับสนุนวางอยู่ประปราย
- รายได้จากการโฆษณา คล้ายๆ กับสปอนเซอร์ คือการวางโลโก้ และคลิปโฆษณาสั้นในคลิปไลฟ์ระหว่างแข่ง มีทั้งรูปแบบปรากฏโลโก้ แบนเนอร์ช่วงพักครึ่ง
- สินค้า หรือ Merchandise ทีมอีสปอร์ตมักขายสินค้าของตนเพื่อขายแฟนๆ ให้ซื้อสินค้านี้และสนับสนุนทีมโปรดของพวกเขา สินค้าสามารถเป็นได้ทั้งแบบจับต้องได้และแบบดิจิทัล
- รางวัลจากการแข่งขัน ในการแข่งอีสปอร์ตแต่ละเกมและแต่ละลีก มีรางวัลชนะเลิศที่มาพร้อมจำนวนเงินล่อใจถึงหลักล้าน ข้อมูลจาก Esports Charts จัดอันดับเกมอีสปอร์ต เรียงตามรวมจำนวนเงินรางวัลที่เคยจัดแข่งมา คือ
Dota 2 เงินรางวัลรวมตลอดกาลอยู่ที่ 303,675,526 ดอลลาร์
Counter-Strike: Global Offensive 124,096,678 ดอลลาร์
Fortnite 100,039,883 ดอลลาร์
League of Legends 96,684,852 ดอลลาร์
PUBG Mobile 71,398,143 ดอลลาร์
- การแบ่งรายได้ของลีก ในลีกอีสปอร์ตขนาดใหญ่ จะมีการแข่งรายได้ขากการขายตั๋ว และสปอนเซอร์ให้กับทีมหรือองค์กรอีสปอร์ตด้วย เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล
[ ชวนดูการแข่งขัน Valorant Champions 2023 ]
ปิดท้ายบทความด้วยการชวนผู้อ่าน ติดตามการแข่งขัน Valorant Champions 2023 ปิดฤดูกาลที่ลอสแองเจลิส ตั้งแต่วันที่ 6 – 26 สิงหาคม ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะมาแข่งขันกันเพื่อชิงถ้วยรางวัล Champions และตำแหน่งแชมป์โลกของ Valorant
Valorant ถือเป็นเกมที่เกิดขึ้นไม่นาน แต่ได้รับความนิยมเร็วมากๆ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ League of Legends จากค่าย Riot Games ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มอีสปอร์ตของโลก
Valorant เป็นเกมแนว FPS หรือ first-person shooter ใช้อาวุธปืนกำจัดทีมศัตรู แต่ละอาวุธและเอเจนท์หรือตัวละคร มีความสามารถต่างกันดังนั้นความสนุกของเกมจึงอยู่ที่การวางแผนให้ดี ยิงให้แม่น และหลบให้ไว ถือเป็นเกมที่สนุก มีความซับซ้อนไม่มากเมื่อเทียบกับ League of Legends
และยังถือเป็นโอกาสพิเศษมากๆ ของ TODAY Bizview ที่จะได้ไปเกาะขอบสนาม ดูการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ KIA Forum แอลเออีกด้วย ติดตามคอนเทนต์จากงานได้ที่เพจนี้เลย
ที่มา :
https://www.esports-betting.pro/esports-organizations/
https://escharts.com/top-games?year=all-time
https://valorantesports.com/news/valorant-champions-2023-everything-you-need-to-know/th-th