Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่ว “บ้าน” กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นที่กักตัว เป็นที่เรียนหนังสือ เป็นที่ทำงาน

“จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNHCR) เองก็ทำงานจากบ้านเหมือนกัน

ที่เรารู้เพราะเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์ทูเดย์มีโอกาสได้ Zoom คุยกับเขามา

จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNHCR) ทำงานจากบ้านระหว่างให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ทูเดย์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563

พูดกับผู้รับผิดชอบสูงสุดของ UNHCR ในไทยทั้งที แน่นอนว่าหัวเรื่องที่เราพูดคุย หนีไม่พ้นเรื่องของ “คนที่จำเป็นต้องอยู่ไกลบ้าน” ในสถานการณ์นี้

ผู้ลี้ภัย : คนจำต้องไกลบ้าน ในยามที่ทุกคนอยู่บ้าน

ตอนนี้ใคร ๆ ก็รู้สึกถึงความไม่แน่นอนใช่ไหมครับ แต่สำหรับผู้ลี้ภัยเขายังกังวลเรื่องการกลับบ้านด้วย เช่น เขาคิดอยู่เสมอว่าจะปลอดภัยไหมถ้าจะกลับบ้าน หรือตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะกลับ แล้วในอนาคตจะทำยังไง นั่นคือความกังวลที่อยู่กับเขามานานแล้ว แล้วการระบาดครั้งนี้ก็เป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นมาอีก”

ในฐานะผู้แทนข้าหลวงใหญ่ UNHCR ประจำประเทศไทยคุณจูเซ็ปเป้รับหน้าที่ดูแลเรื่องสถานะของผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ

“กลุ่มแรกที่ UNHCR ดูแลหลัก ๆ ในไทยคือกลุ่มที่อยู่ในค่าย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ กลุ่มผู้อพยพกลุ่มนี้อยู่ตรงนั้นมานานกว่า 30 ปีแล้วครับ เขาหนีออกจากเมียนมาร์มาเพราะมีความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็ต้อนรับเขา”

คุณจูเซ็ปเป้แจกแจงรายละเอียดได้อย่างคล่องแคล่วถึงที่ตั้งของค่ายต่าง ๆ 9 แห่งที่กระจายในจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก

หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศไทยให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยกว่า 90,000 คนมาหลายสิบปีแล้ว การปะทะกันของกองทัพพม่าและกองกำลังชนชาติกะเหรี่ยงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้พลเมืองต้องยอมทิ้งดินแดนที่เขาเรียกว่าบ้าน เดินเท้าข้ามมาฝั่งไทยเพื่อรักษาชีวิตให้รอด

ภาพจากปี 2012 : ผู้อพยพในค่ายแห่งหนึ่งที่อ.แม่สอด จ.แม่ฮ่องสอน ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาร์ (AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL)

เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ค่ายทั้ง 9 แห่งก็มีประชากรหนาแน่นขึ้น ผู้ลี้ภัยในค่ายไม่ได้รับอนุญาตให้ออกสู่โลกภายนอก มีเพียงความช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิตประจำวันจากหน่วยงานนานาชาติต่าง ๆ ที่เอื้อเฟื้อให้พอเอาชีวิตรอดได้

หากใครคิดว่าสบาย ก็ต้องนึกถึงข้อจำกัดของการใช้ชีวิต ที่ค่ายของผู้ลี้ภัยเรียกว่าค่ายเพราะมันเป็นค่ายจริง ๆ ในความหมายที่ว่าไม่มีความคงทนถาวร สิ่งปลูกสร้างต้องสร้างจากไม้ไผ่ให้พร้อมรื้อได้ทุกเมื่อ สภาพจิตใจของแต่ละคนเองก็ประหวัดคำนึงถึงบ้านที่จากมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เมื่อมีโควิด-19 ระบาดไปทั่ว ชีวิตของพวกเขาก็ยิ่งเผชิญความท้าทายมากขึ้นไปอีก

การสื่อสาร – ความร่วมแรงร่วมใจ : หัวใจของการป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยในค่ายติดเชื้อ

สิ่งที่เราได้ยินเสมอในมาตรการป้องกันโควิด-19 คือให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด แต่สำหรับผู้ลี้ภัยบางคนเกิดมาก็อยู่แต่ที่แออัดแล้ว จะเลี่ยงไปไหนก็ไม่ได้เพราะต้องอยู่ในค่าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีมาตรการอย่างดีที่สุดเพื่อตัดตอนไม่ให้เชื้อโรคเล็ดลอดเข้าภายในค่ายได้

“สถานการณ์ค่อนข้างดี โชคดีมากที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในค่ายเลย” คุณจูเซ็ปเป้บอกเรา

เบื้องหลังความสำเร็จตลอดสองเดือนที่ผ่านมาประกอบด้วยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกักตัว ความช่วยเหลือของหน่วยงานเอ็นจีโอด้านการแพทย์ที่ประจำอยู่ในค่าย ตลอดจนผู้สนับสนุนนานาชาติที่บริจาคสิ่งจำเป็นอย่างน้ำ อาหาร และอุปกรณ์ป้องกันตัวจากโรคต่าง ๆ อย่างครบครัน

แต่สิ่งที่ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ เน้นย้ำว่าเป็นปัจจัยสำคัญ คือการสื่อสารที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่บ

“สำคัญมากว่าต้องให้ข้อมูลข่าวสารครับ รวมถึงต้องช่วยเหลือให้แต่ละคนประคองตัวได้ในภาวะเครียดระดับต่าง ๆ โรคระบาดครั้งนี้เป็นเรื่องของไวรัส คนก็ต้องรู้สึกกลัวแน่นอนเพราะมันมองไม่เห็น มองไม่ได้ชัดเจนว่ามันเป็นตัวยังไง สิ่งที่เราทำในค่ายหลัก ๆ จึงเป็นการสื่อสาร สื่อสาร สื่อสาร และสื่อสารให้โปร่งใสและชัดเจน ส่งต่อสารที่เน้นย้ำความสำคัยของการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ”

การสื่อสารเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ช่วย หากไม่ได้ความกระตือรือร้นและความร่วมมือร่วมใจของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายเข้ามาหนุน

“พวกเขาตื่นตัวมาก ๆ เลยครับ สำคัญเหมือนกันที่ผู้ลี้ภัยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตของพวกเขาเองด้วยแทนที่จะรอความช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัยของเราทั้งเข้ามาร่วมลงมือ ปรึกษากัน ทั้งสร้างวอร์ดหรือที่สำหรับคนที่ต้องถูกกักพวกเขาก็สร้างกันเองด้วย”

เขาตั้งข้อสังเกตว่าผู้ลี้ภัยมีความร่วมมือร่วมใจกันสูงมาก “เขาผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาด้วยกันหลายรอบแล้ว”

Urban Refugee : ผู้ลี้ภัยนอกค่ายผู้มีศักยภาพแต่ขาดโอกาส-งาน

นอกจากผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามค่ายซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศไทยยังรับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เราเรียกว่า “Urban Refugee” หรือผู้ลี้ภัยในเขตเมืองอีกกว่า 5,000 ชีวิตอาศัยกระจายอยู่ในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก

“เราสร้างเครือข่ายการติดตามผู้ลี้ภัยในเมืองเพื่อให้ติดต่อพวกเขาได้ตลอดเวลา หรือให้เขาหาเราได้ง่ายเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ พอมีโควิดเข้ามาตรงนี้ก็ต้องกระชับขึ้น ต้องเอาข้อมูลการทำความสะอาด การระมัดระวังโควิดต่าง ๆ แปลเป็นหลาย ๆ ภาษาด้วย”

ที่ต้องแปลหลายภาษาเพราะผู้ลี้ภัยในกลุ่มนี้มาจากหลายสัญชาติด้วยกัน แต่ต้องเผชิญชะตากรรมคล้าย ๆ กันคือต้องออกจากประเทศของตนมาเพื่อแสวงหาความปลอดภัย

คนที่หนีออกนอกประเทศบางทีไม่ได้มีเอกสารหรือวีซ่าที่ถูกต้อง หลายคนเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ สถานะของพวกเขาจะถูกจัดเป็น “ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย” ก่อนจะถูกคัดกรองโดยหน่วยงานของรัฐและ UNHCR เพื่อยืนยันตัวตนว่ามีเหตุจำเป็น จะถูกส่งกลับประเทศต้นทางไม่ได้เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

“จนถึงตอนนี้ผู้ลี้ภัยก็ยังไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพราะพวกเขาลักลอบเข้าเมืองมาก็เลยถูกมองว่าผิดกฎหมาย ประเทศไทยยอมให้พวกเขาอยู่ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แต่ไม่มีสถานะอย่างถูกกฎหมาย ” คุณจูเซ็ปเป้กล่าว

เมื่อไม่มีเอกสาร ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จึงหาได้แต่งานนอกระบบที่กฎหมายไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน แน่นอนว่าพอโควิด-19 มาหลายคนก็ถูกเลิกจ้าง

“พอเสียรายได้ไปหลายคนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน UNHCR ก็เข้ามาทำงานกับองค์กรอื่น ๆ ดูว่ามีทางไหนที่เราจะช่วยเขาได้ เข้าไปสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถมีทรัพยากรมากพอจะใช้ชีวิตแต่ละวันและเลี้ยงครอบครัวได้ เราอยากมั่นใจว่าเขาจะอยู่อย่างปลอดภัยและพวกเขาจะสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ”

นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาวแล้วคุณจูเซ็ปเป้บอกว่าไม่มีใครอยากนั่งอยู่เฉย ๆ รอความช่วยเหลือ พวกเขาอยากทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้องตนเองและสร้างประโยชน์ให้สังคม

“UNHCR พยายามจะบอกรัฐบาลไทยและรัฐบาลชาติต่าง ๆ มาตลอด ผู้ลี้ภัยเขาไม่ได้ต้องการจะมาสร้างภาวะพึ่งพิง มันก็ไม่ดีกับเขาด้วยเหมือนกันในฐานะมนุษย์ เขาอยากทำอะไรเพื่อสังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่ แล้วพวกเขาก็สร้างประโยชน์ได้มากเลยด้วย”

เจมี่ หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่เวิร์คพอยท์ทูเดย์เคยสัมภาษณ์ เขาพูดภาษาเวียดนาม อังกฤษ และไทย ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เขาต้องหาเช้ากินค่ำด้วยงานหลากหลายประเภท ทั้งงานก่อสร้าง เสิร์ฟอาหาร เนื่องจากไม่มีสถานะคนเข้าเมืองอย่างเป็นทางการ เขาหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถเรียนต่อได้และเป็นทนายเพื่อช่วยเหลือผู้คน

“มีผู้ลี้ภัยหลายคนที่อยากจะลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่ให้การพักพิงอยู่นะครับ หลายๆ คนก็กระตือรือร้นมากที่จะทำงานหยัดยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง นั่นคือสาเหตุที่เราต้องผลักดันเรื่องเหล่านี้ ”

ยังไงก็ตาม คุณจูเซ็ปเป้แสดงความหวังให้เราเห็นว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นได้

“ปีที่แล้วรัฐบาลไทยเพิ่งอนุมัติระบบคัดกรองบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ รัฐบาลไทยจะเป็นคนคัดกรองคนที่เขามา ให้เราไปทำงานร่วมกับเขาด้วย พอผู้ลี้ภัยได้รับการคดกรองจากรัฐบาลเองพวกเขาก็จะมีสถานะทางกฎหมายที่มั่นคงมากขึ้น” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ ประจำประเทศไทยอธิบาย“

“เราก็หวังว่านี่จะปูทางในอนาคตให้ผู้ลี้ภัยได้ถูกจ้างงานเหมือนๆ กับคนที่อพยพเข้ามาทำงานหรือคนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย เขาได้ถูกจ้างงานอย่างเป็นทางการและมีโอกาสมากขึ้น”

ระบบคัดกรองนี้ยังจะเป็นผลดีต่อ “คนไร้รัฐ” อีกหนึ่งกลุ่มบุคคลที่อยู่ในขอบเขตงานของ UNHCR ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นกำเนิดในประเทศแต่ตกหล่นจากการบันทึกในทะเบียนราษฎร์ที่มีอยู่กว่า 474,000 คนทั่วประเทศไทย

ความพยายามเรื่องผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย ที่ยังพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีก

นอกจากเรื่องระบบคัดกรองที่รัฐบาลไทยเพิ่งอนุมัติออกมา คุณจูเซ็ปเป้ ชี้ให้เห็นว่าอันที่จริงมีหลายเรื่องที่รัฐบาลไทยปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยได้อย่างเท่าเทียม เช่นเรื่องสุขภาพกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเป็นที่น่ากังวล แต่รัฐบาลไทยก็ประกาศว่าจะรักษาทุกคนในประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยในเมืองติดโควิดและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเสียเงินแล้ว นี่เป็นผลจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพื่อให้คนที่ไม่มีเงินหรือคนที่ไม่มีประกันสุขภาพได้รับการรักษาทุกคน บนพื้นฐานที่ว่าเรื่องสาธารณสุขไม่ควรมีใครถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง นั่นคือสิ่งที่เราสนับสนุนมาก ถือว่ามาถูกทางแล้ว”

แต่เรื่องที่ UNHCR กังวลอยู่ในปัจจุบันยังมีอยู่ โดยเฉพาะหลังจากช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโรคโควิด-19 ระบาดภายในศูนย์กักคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา ที่เป็นสถานกักบุคคลที่รัฐมองว่าเข้าเมืองผิดกฎหมายประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แรงงาน คนไร้รัฐ และผู้ลี้ภัย

“ผู้ลี้ภัยไม่ควรไปอยู่ในศูนย์กักเพียงเพราะเขาข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ UNHCR บอกเรา “แน่นอนว่าพวกเขามีความผิด จะพ้นผิดไปเลยก็ไม่ใช่ แต่ในกรณีของเขาไม่มีสิ่งจำเป็นติดตัวเลย ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีเวลามาขอวีซ่า เพราะต้องรีบหนี”

สถานะของผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มีเอกสารการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายทำให้เขาอาจจะถูกกักไว้ในศูนย์กักกันของสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง

ในประเทศไทยตอนนี้ผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กและแม่จะถูกจัดให้อยู่สถานที่อื่นที่ไม่ใช่ห้องกัก คุณจูเซ็ปเป้มองว่าเป็นพัฒนาการที่ดี แต่เขาก็หวังว่าต่อไปจะใช้มาตรฐานนี้กับผู้ลี้ภัยทุกคน ไม่ใช่เพียงเด็กและแม่

“แนวคิดของการกักตัวเป็นการริบเสรีภาพ น่าจะมีทางออกอื่นที่ดีกว่า แต่ดีมากเลยนะครับที่รัฐบาลไทยหันมามองทางนี้ให้พวกเขาได้ไปอยู่ที่อื่น เริ่มจากเด็กและแม่ก่อน ผมก็คิดว่าเราก็ต้องเชิดชูความสำเร็จ ต้องมองความสำเร็จนี้ให้มาก ๆ เป็นความก้าวหน้ามาก และเราหวังว่าจะสร้างความก้าวหน้าต่อไปอีก”

ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่โหมกระพือขึ้น คนจะยังบริจาคช่วยเหลือกันด้านมนุษยธรรมหลังโควิด-19?

หลังเกิดภาวะโรคระบาดขนาดใหญ่อย่างโควิด-19 บรรยากาศการปิดชายแดน การแก่งแย่งทรัพยากรระหว่างชาติต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยทั่ว หลายฝ่ายเตือนว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะที่ประเทศต่าง ๆ หันมาเป็นชาตินิยมแทนที่จะยึดถือคุณค่าของความเป็นพลเมืองโลกอย่างที่เคย

เรื่องนี้คุณจูเซ็ปเป้ตระหนักทราบดี เขากล่าวว่าโลกควรจะมีบทเรียนจากโควิดในทางตรงกันข้ามมากกว่า

“ผมหวังว่ามนุษยชาติจะเรียนรู้จากโควิดนะ โควิดสอนให้โลกต้องมีความร่วมแรงร่วมใจกันเพราะมันเป็นปรากฎการณ์ที่ทั้งโลกต่างก็ประสบเหมือน ๆ กัน เป็นปัญหาที่กระทบมนุษยชาติทั้งมวลและจะเอาชนะได้ด้วยการสมัครสมานและร่วมแรงร่วมใจกัน ผมหวังว่าในระยะยาวทุกคนจะถอดบทเรียนได้จากสิ่งนี้ แทนที่จะส่งความรู้สึกเกลียดกลัวคนต่างชาติหรือชาตินิยมล้นเกิน ขอให้เป็นโอกาสในการเข้าใจการร่วมือมือกัน ช่วยกันแบ่งปันความรู้และสนับสนุนสิ่งที่สามารถทำร่วมกันได้

แต่เมื่อถามว่าเรื่องนี้ทำให้ทำงานยากขึ้นหรือไม่ เขาไม่ได้แสดงท่าทีท้อถอย แต่บอกเราว่านี่เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องมีความหวัง

“ผมเห็นด้วยว่าความกลัวก็มีอยู่ทุกที่ แต่ก็ยังมีความหวังที่จะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในทุกพื้นที่ ผมเชื่อหมดใจว่าในฐานะมนุษย์แล้วเราจะสามารถดึงเอาบทเรียนจากวิกฤติที่ใหญ่โตครั้งนี้ได้และทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน”

แต่แน่นอนว่าสถานการณ์โรคระบาดส่งผลอย่างแรงกล้าต่อสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อต้องรัดเข็มขัด สิ่งแรก ๆ ที่รัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ เลือกจะทำอาจจะเป็นการตัดการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อโยกทรัพยากรมาฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจในประเทศก่อน

”ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แต่ก็มีโอกาสได้อ่านมุมมองแบบนี้เหมือนกัน น่าหดหู่ทีเดียว” เขาบอกกับเรา “ผมว่าเราไม่ควรให้โควิดเป็นข้ออ้างในละทิ้งการให้ความช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โควิดยิ่งทำให้ความต้องการทางมนุษยธรรมขยายกว้างขึ้นไปอีกสู่ประชากรทั่วโลก และผู้ลี้ภัยไม่ควรตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้ คนตกงานเยอะเรารู้ดี แต่ผู้ลี้ภัยก็ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นกัน”

คุณจูเซ็ปเป้ยืนยันว่าเราไม่ควรเลือกช่วยใครแค่บางกลุ่ม แต่ต้องทำตามหลักการ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ขององค์การสหประชาชาติอย่างแข็งขัน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่จะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกันเท่านั้น

อีกข้อหนึ่งที่สะกิดความสนใจของเราคือ เขาบอกว่าการเลือกช่วยเหลือแค่บางกลุ่มแล้วทิ้งผู้ลี้ภัยไป สะท้อนว่ารัฐต่าง ๆ ยังคงมองผู้ลี้ภัยเป็นภาระ ซึ่งเขาไม่สู้เห็นด้วยมากนัก “ผู้ลี้ภัยก็เป็นประชากรที่สามารถสร้างประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ พัฒนาชุมชนที่เขาอยู่ได้เหมือนกัน”

การที่รัฐบาลบางแห่งมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระไม่ได้อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นเลย แต่เป็นผลจากแนวคิดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบบเก่าที่คุณจูเซ็ปเป้เมองว่าอาจจะถึงเวลาแล้วสำหรับการเปลี่ยนเป็นวิธีคิดแบบใหม่

จากการสงเคราะห์ สู่การเป็นแรงหนุน ให้ผู้ลี้ภัยยืนขึ้นได้ด้วยตัวเอง

“ผมว่าสำคัญมากที่ต้องเลิกเน้นการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ที่มีแต่การให้ความช่วยเหลือ แต่พอให้ไปหลาย ๆ ปีเข้าก็ไม่ได้ทำให้ ประชากรผู้ลี้ภัยมีพลังในตัวเองขึ้นมา ไม่ได้มุ่งดึงศักยภาพพวกเขาในระยะยาว” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ UNHCR ประจำประเทศไทยกล่าวถึงเรื่องนี้ทันทีที่หัวข้อบทสนทนาเอื้อ

ในสายตาของเขาแล้วการให้ความช่วยเหลือแบบนี้กินเวลายาวนานมากว่า 25 ปีและไม่มีความยั่งยืน หากเป็นอย่างนี้ต่อไป ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เคยให้ความช่วยเหลือขาดงบประมาณเข้ามาเมื่อไหร่ประชากรส่วนนี้ก็จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ทางที่ดีรัฐบาลจึงควรรวมเอาผู้ลี้ภัยเข้าในแผนงานการพัฒนาประชากรในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้เข้าถึงการศึกษาหรือการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ทั้งชุมชนที่รับและตัวผู้ลี้ภัยเองก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ไปพร้อม ๆ กัน

“ผู้ลี้ภัยเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ เขารู้ว่าเขาทำอะไรยู่และรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรกับชีวิตของตัวเอง ผมค่อนข้างวิพากษ์การมองผู้ลี้ภัยเป็นเพื่อนเป็นญาติอยู่พอสมควรเพราะมันทำให้เรามองว่าเขาพึ่งพิงการช่วยเหลืออย่างเดียว” เขากล่าว

“ผมสนับสนุนให้คนสนับสนุนผู้ลี้ภัยในเชิงอำนาจ (empower) มากกว่า เราต้องมองว่าเขาเองก็เป็นคนที่มีศักยภาพ เขาต้องการการสนับสนุน และงานของเราก็คือการทำงานกับรัฐบาล กับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลี้ภัยจะมีความสามารถที่จะได้รับความปลอดภัยและสิ่งต่าง ๆ เพื่อที่จะใช้ศักยภาพของเขาออกมาได้ในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างเคารพกัน”

ตรงนี้เองที่เราถามว่าถ้าเช่นนั้นเราในฐานะปัจเจกจะสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างไรบ้าง โดยที่จะไม่เป็นการสงเคราะห์และยังคงเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ลี้ภัยในฐานะคนได้อย่างภาคภูมิ ก่อนที่เขาจะตอบคำถาม เขาบอกข้อเท็จจริงที่เราไม่เคยรู้ว่าจริง ๆ แล้วคนไทยช่วยสนับสนุนผู้ลี้ภัยมามากขนาดไหน

“คนไทยช่วยมากเลยนะครับจริง ๆ เพราะพวกเขามีน้ำใจมาก สิ่งที่ประเทศไทยทำมากว่า 50 ปีด้วยซ้ำ คนไทยหลายคนอาจไม่รู้ แต่ประเทศไทยเคยรับผู้ลี้ภัย 1.3 ล้านคน หลายปีหลังจากสงครามอินโดจีนจบลง มีผู้ลี้ภัยมาไทยเยอะมาก ตอนนี้เราก็ยังมีประชากรตรงนี้อยู่ คนไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่จะอ้าแขนปกป้องคนที่หนีภัยมาเสมอ”

หลังสงครามอินโดจนจบลงมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาแสวงหาที่ปลอดภัยเป็นหลักล้านคนคุณจูเซ็ปเป้กล่าวว่า “คนไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอมา” นี่คือภาพของผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาที่อพยพหลบหนีความขัดแย้งระหว่างกัมพูชา-เวียดนามในปีพ.ศ. 2528 (ภาพจาก AFP)

ความช่วยเหลือเหล่านี้มาในรูปแบบของเงินบริจาคให้องค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานสนับสนุนผู้ลี้ภัย แต่ยังมีการช่วยเหลืออีกทางหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาลุกขึ้นได้ด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน

“นอกจากการช่วยเหลือด้านการเงิน เรายังสามารถให้ความช่วยเหลือด้านความรู้สึกส่วนตัวด้วย ที่สำคัญคือต้องช่วยกันทำลายภาพจำต่าง ๆ แล้วหันมามองผู้ลี้ภัยเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแค่พวกเขาจำเป็นต้องมาในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ เพื่อหนีภัยอันตราย ผมบอกได้เลยถ้าคุณคุยกับผู้ลี้ภัยสักคนเขาก็อยากจะกลับที่อยู่ของตัวเองหากมันปลอดภัยแล้ว แต่น่าเสียดายที่เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่สงบดี ”

“UNHCR และองค์กรนานาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อให้แน่ใจว่าประชากรผู้ลี้ภัยจะไม่หมดหวัง และนั่นเป็นเรื่องสำคัญมากที่หลาย ๆ ภาคส่วนกำลังทำ” คุณจูเซ็ปเป้กล่าวทิ้งท้าย

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า