นายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงหลังสถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือคัดค้านแบนสารไกลโฟเซต ขณะที่ “อนุทิน” เมินย้ำยืนยันมติเดิม ชี้เรื่องหาสารทดแทนให้เกษตรกร เป็นเรื่องของกระทรวงอื่น
วันที่ 25 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึงคัดค้านการแบน “ไกลโฟเซต” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมีทางเกษตรที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้ยกเลิกใช้ ว่า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามมติเดิม ส่วนกระทรวงอื่นแล้วแต่เจ้ากระทรวง เราก้าวก่ายกันไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ควรก้าวก่ายกัน กฎหมายใครกฎหมายมัน ส่วนต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพราะหนังสือไม่ได้ส่งมาที่ตน แต่ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน ดังนั้นอะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนไม่ได้ ส่วนเรื่องหาสารทดแทน ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่นที่ต้องหาวิธี เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องพยายามสุดความสามารถที่จะหาสารทดแทน
ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้คุยกับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ว่า มีสารตัวไหนมาทดแทนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ชีวิตและสุขภาพของคน หาอะไรมาทดแทนไม่ได้ และหวังว่าสารทดแทนตัวใหม่ จะไม่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน เพราะถ้ามีผลร้ายแรง กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องสั่งแบนอีก

(ภาพประกอบเท่านั้น)
ก่อนหน้านี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแบบสารเคมี 3 ชนิด โดยมีเนื้อหาว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย ในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิด
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วย ว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวัง ว่า ประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซตเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก
หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ได้ประเมินแล้ว ว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่น จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต โดยคาดการณ์หากมีการห้ามใช้ เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนที่สูงขึ้น หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อการนำเข้าคือ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ลและองุ่น รวมไปถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร