SHARE

คัดลอกแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนวัตกรรมล้ำหน้าอย่างทุกวันนี้ ‘ทางลัด’ หนึ่งที่หลายบริษัทนำมาใช้ในการขยายกิจการให้ไปได้ไกล ก้าวได้เร็วกว่าคู่แข่ง ก็คือ ‘การควบควมกิจการ’ กับบริษัทอื่น

ซึ่งไม่ใช่เพียงบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่นำกลยุทธ์นี้มาใช้ แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพเองก็เริ่มใช้วิธีนี้มากขึ้นด้วย

และล่าสุดกับดีลยักษ์มูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของ 2 สตาร์ทอัพระดับบิ๊กเนมจากอินโดนีเซียอย่าง Gojek (แพลตฟอร์มเรียกรถ Ride-Hailing) และ Tokopedia (แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ) ที่ควบรวมกิจการสำเร็จเรียบร้อยภายใต้ชื่อใหม่ ‘GoTo’

แล้วดีลนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? ควบรวมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ลองไปทำความเข้าใจกัน

รู้จัก Gojek และ Tokopedia

ก่อนไปทำความเข้าใจ GoTo อาจต้องเริ่มทำความรู้จักพ่อกับแม่ของมันกันก่อน ซึ่งนั่นก็คือ Gojek และ Tokopedia นั่นเอง

หลายคนอาจคุ้นชื่อ Gojek กันมาแล้วบ้าง ในฐานะแพลตฟอร์มเรียกรถ ส่งของ และส่งอาหาร ที่รีแบรนด์มาจาก GET ในปีก่อน

หรือหากเทียบง่ายๆ Gojek ก็คือแอปพลิเคชั่นที่คล้ายๆ กับ Grab แต่ด้วยความที่มาทีหลัง ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับรายหลังเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นรองในบ้านเรา แต่ Gojek คือซูเปอร์แอปอันดับหนึ่งแห่งประเทศอินโดนีเซีย

ประวัติคร่าวๆ ของ Gojek เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 จากการที่ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘นาเดียม มาคาริม’ พบปัญหาในการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ชาวอินโดฯ เรียกว่า ‘ojek’ จากเสียงสะท้อนของคนขับว่าหาลูกค้าลำบาก ทั้งๆ ที่หลายครั้งลูกค้าเองก็ต้องฝ่ายรอคนขับนานเช่นกัน

เขาและผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนจึงปิ๊งไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางให้คนขับและผู้โดยสารเชื่อมต่อกันได้อย่างสะดวกในทุกพื้นที่ ซึ่งในระยะแรกเป็นการให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์ และมีรถมอเตอร์ไซค์ให้บริการเพียง 20 คันเท่านั้น

ปรากฏว่าไอเดียของพวกเขาไปได้สวยเลยทีเดียว Gojek ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวอินโดฯ ทั้งยังได้การสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงนักลงทุนอย่างบริษัทเวนเจอร์แคปิตอล จนกลายมาเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น หรือมีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000 ล้านบาท) ได้ในปลายปี 2557 ก่อนต่อยอดพัฒนาบริการมาเป็นแอปพลิเคชั่นได้ในปี 2558

ขณะที่ปัจจุบัน Gojek ขยายการให้บริการไปมากกว่า 20 บริการแล้ว เช่น GoMed บริการซื้อยามาให้, GoClean บริการเรียกแม่บ้านทำความสะอาด ไปจนถึง GoGlam บริการเรียกช่างเสริมสวยมาแปลงโฉมให้ถึงบ้าน เรียกได้ว่ากลายเป็นซูเปอร์แอปอย่างแท้จริง

และมูลค่ากิจการของ Gojek ก็ทะลุ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเป็นสตาร์ทอัพระดับ เดเคคอร์น (Decacorn) ไปแล้วนั่นเอง

ตัดภาพมาที่ Tokopedia ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพอันดับ 2 ในอินโดนีเซียที่มียศเป็นม้าติดปีกอย่างยูนิคอร์น โดยก่อตั้งขึ้นใน 2552 โดย ‘วิลเลียม ทานูวิจายา’

แม้ในบ้านเราอาจไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่สำหรับในอินโดฯ แล้ว Tokopedia เป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ชาวอินโดฯ แทบทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ใครจะซื้อขายอะไรก็ได้ผ่านมือถือ พูดง่ายๆ คือคล้ายกับอาลีบาบานั่นเอง ซึ่ง Tokopedia ก็เคยได้รับเงินสนับสนุนจากอาลีบาบาด้วย

และถ้าถามว่า Tokopedia ประสบความสำเร็จขนาดไหน ลองดูได้จากการจ้างแบรนด์แอมบาสเดอร์เป็นศิลปินเคป๊อปอย่าง BTS และ Blackpink ได้ เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาแน่นอน โดยปัจจุบัน Tokopedia มีมูลค่ากิจการราว 7.5 พันล้านดอลลาร์

ความที่ว่าใครๆ ก็ขายบนแพลตฟอร์มนี้ได้ ทำให้ Tokopedia เป็นอีกธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และขยายความเท่าเทียมให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก

ดีลควบรวมกิจการขนาดยักษ์

ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้คือการประกาศความสำเร็จในการควบรวมกิจการของ 2 สตาร์ทอัพเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มหารือกันมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563

โดยหลังควบรวมแล้วจะดำเนินกิจการในชื่อ GoTo ซึ่งจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ครบครันทั้งเรียกรถ, ส่งของ, สั่งอาหาร, การเงิน, อี-คอมเมิร์ซ รวมถึงทุกบริการที่มีอยู่ใน Gojek กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่ Grab และ SEA ต้องหวาดเสียวอยู่พอตัว

ขณะที่ดีลในการควบรวมครั้งนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.66 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอินโดนีเซีย โดยหลังควบรวมเสร็จ Gojek จะถือหุ้นในสัดส่วน 58% และ Tokopedia ถือหุ้น 42%

และด้วยพลังแห่งการควบรวมนี้ จะเสริมความแข็งแกร่งให้ GoTo กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีร้านค้าพันธมิตรกว่า 11 ล้านราย, พาร์ทเนอร์คนขับ 20 ล้านคน, ผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือน และมีระบบนิเวศที่ครอบคลุมจีดีพีประเทศอินโดนีเซียถึง 2%

การแข่งขันที่รุนแรงในภูมิภาค

และหากจะพูดในแง่ของการแข่งขัน นอกจาก Gojek จะมี SEA ซึ่งเป็นเจ้าของเกมการีน่าและแอป Shopee เป็นคู่แข่งแล้ว อีกหนึ่งคู่แข่งที่ฟาดฟันเชือดเฉือนกันมาตลอดในภูมิภาคก็คือแอปพลิเคชั่นสัญชาติสิงคโปร์ที่ก่อตั้งโดยชาวมาเลเซียอย่าง Grab นั่นเอง

แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ อันที่จริงแล้วผู้ก่อตั้งของทั้งสองแอปเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด และก่อนหน้านี้ทั้งสองสตาร์ทอัพมหาอำนาจก็เคยพยายามที่จะเจรจาผนึกสองกิจการเข้าด้วยกัน แต่สุดท้ายไม่รู้อีท่าไหน ดีลกลับล่มไปในเดือน ธ.ค. 2563

กระทั่งในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา Grab ได้ประกาศเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างตลาด Nasdaq ด้วยวิธีขายหุ้นแบบ SPAC ซึ่งมีหลักการคือ การตั้งบริษัทจดทะเบียนขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ และให้บริษัทนี้เข้าไปซื้อกิจการบริษัทเป้าหมาย ต่างจากวิธี IPO ซึ่งเป็นการระดมทุนโดยขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการก็ใช้เวลานานราวปีสองปีเลยทีเดียว

กลับมาที่การเข้าตลาดหุ้นของ Grab เรียกได้ว่าเป็นการเสนอขายหุ้นแบบ SPAC ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยคาดว่าจะมีมูลค่าหุ้นรวม 3.96 หมื่นล้านดอลลาร์

ด้วยข่าวนี้เองคงเป็นชนวนสำคัญให้ Gojek และ Tokopedia ต้องรีบคลอด GoTo มาสู่ตลาด โดยวางแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอินโดฯ ด้วยวิธี IPO ในปีนี้ และยังมองโอกาสเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยวิธี SPAC ด้วย

และแน่นอนว่าหลังจากนี้ เราคงเห็นการแข่งขันของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกแข้มข้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และบริการเดลิเวรี่มากขึ้น

แต่โดยรวม GoTo ก็น่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ เห็นได้จากรายชื่อบริษัทที่เข้ามาลงทุนนั้นล้วนแต่เป็นบิ๊กเนมที่น่าเชื่อถือ อาทิ อาลีบาบา, กูเกิล, เทนเซนต์ และซอฟต์แบงก์

และไม่แน่ว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้ อาจหนุนให้ GoTo กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับเฮกโตคอร์น (Hectocorn) หรือบริษัทที่มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เลยก็เป็นได้

เรื่องโดย: วาสิตา ทัพภะสุต

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า