Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุก 1 ใน 3 คน จะมีอยู่หนึ่งคนที่ต้องคอยกดสั่งฟู้ดเดลิเวอรีให้คนในบ้าน กดเรียกรถให้คนในครอบครัว

ใครอยู่คอนโดฯ กำลังง่วนกับงานบ้าน หรือทำงานยุ่งอยู่ที่ออฟฟิศ พออาหารมาส่ง แต่ยังไม่มีเวลาลงมารับอาหารได้ทัน

ส่วนถ้าใครเป็นไรเดอร์อยากจะรีบทำเวลารับงานเพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่บางครั้งการเดินตามหาร้านอาหารในห้าง-ตัวอาคารก็ใช้เวลาอยู่ ขับไปเจอถนนหนทางพัง ปิดซ่อม เสียเวลาเพิ่มไปอีก

ขณะที่ร้านอาหารเล็กๆ ที่แอบอร่อยแต่คนนอกพื้นที่ไม่รู้จัก จะทำยังไงให้คนเห็นเพิ่มขึ้น เพราะไม่รู้จะครีเอทถ่ายรูปอาหารให้สวยๆ แถมเมนูมากมายจะถ่ายรูปแต่งภาพยังไงหมด

ที่ว่ามาทั้งหมดเป็นตัวอย่างอินไซท์ที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี รวมทั้งไรเดอร์ และร้านค้าเล็กๆ ซึ่ง ‘วรฉัตร ลักขณาโรจน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย เล่าเรื่องนี้ให้ฟังในงาน GrabTalk : Driving Livelihoods with Tech & AI ว่า พอเห็นอินไซท์แบบนี้ทำให้ Grab พัฒนาเทคโนโลยีและ AI เข้ามาช่วยหาทางออกจนได้ฟีเจอร์ใหม่ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน ไรเดอร์ และร้านค้าพาร์ทเนอร์

เขาอธิบายต่อว่า ตอนนี้บางคนอาจได้ทดลองใช้ฟีเจอร์ที่เป็นโซลูชั่นใหม่ๆ ออกมา อาทิ ฟีเจอร์ที่เรียกว่า ‘บัญชีครอบครัว’ หรือ Family Account ที่ผู้ใช้บริการสามารถติดตามการเดินทางและชำระค่าบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ให้กับคนในครอบครัวได้สะดวกมากๆ และยังมี ‘ฟู้ดล็อกเกอร์’ (Food Lockers) ตู้ฝากอาหารเดลิเวอรีที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานออฟฟิศ ส่วนกลุ่มไรเดอร์มีฟีเจอร์ ‘แผนที่ในอาคาร’ หรือ Indoor Map ที่ช่วยให้คนขับประหยัดเวลาเดินหาร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร

ส่วนกลุ่มร้านค้าเล็กๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างทดลองนำร่องนำ AI มาสร้างรูปภาพจากชื่อเมนูอาหาร และรายละเอียดเมนูที่เจ้าของร้่านใส่ไว้ ซึ่งเฉพาะฟีเจอร์นี้น่าสนใจมาก เพราะ Grab เป็นพาร์ทเนอร์ทำงานร่วมกันอย่างเป็นทางการกับ ChatGPT แน่นอนว่า การทดลองนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วภาพอาหารที่เจนเนอเรทออกมาแล้ว มันจะเป็นยังไง มันจะใช่แค่ไหน

‘วรฉัตร’ เล่าให้ฟังว่า เทคโนโลยีนี้หวังที่จะมาช่วยทำให้ร้านอาหารขายดีขึ้น เน้นไปที่การนำเทคโนโลยีไปใช้กับร้านเล็กๆ ฟังดูอาจธรรมดา แต่นี่เป็นปัญหาใหญ่ของร้านเล็กๆ ที่ขายดีในโซนหรือย่านของตัวเอง แต่ถ้าจะให้คนนอกพื้นที่รู้จักให้มากขึ้น พบว่าอากง อาม่า อาแปะ ถ่ายรูปไม่สวย ถ่ายไม่เป็นบ้าง พอผู้ใช้เข้าไปก็เจอแต่ชื่อเมนู ไม่มีรูปอาหาร หรือรูปที่ไม่สวยดูไม่น่ารับประทาน สิ่งที่ทำมาหลายปีก่อนหน้า Grab ใช้วิธีติดต่อไปหาร้านเล็กๆ และถ่ายรูปให้บ้าง สอนให้ถ่ายรูปบ้าง มี Grab Academy สอนร้านอาหารถ่ายภาพเอง ซึ่งที่ผ่านมามีร้านค้าเริ่มเปลี่ยน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีร้านอาหารอีกมากที่มีรูปอาหารน้อย

ดังนั้น Grab ได้ลองทำโปรเจ็กต์นำร่อง นำ AI มาสร้างรูปภาพจากชื่อเมนูอาหาร และเขียน Prompt ที่ใส่รายละเอียดเมนูที่เจ้าของร้านระบุไว้ นำข้อมูลมาเจนเนอเรทสร้างภาพอาหารให้ จากการทดลองกับร้านค้าเล็กจำนวนหนึ่งพบว่ายอดขายดีขึ้น และยังไม่มีผู้ใช้งานคอมเพลนว่า อาหารที่ได้ไม่ตรงปก ซึ่งหลังจากนี้ถ้าโมเดลนี้ดีต่อไปก็จะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ร้านอาหารมียอดขายดีขึ้นแน่นอน

แน่นอนว่ายุคที่ AI ก็ถูกตั้งคำถามทางจริยธรรม ‘วรฉัตร’ บอกว่า เมื่อ AI จะช่วยสร้างรูปฟู้ดเมนูได้จำนวนมาก ช่วยให้ร้านอาหารมีเมนูสวยงาม มีรูปอาหารก็จะช่วยทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่แน่นอนว่าเราต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึง AI Ethics เป็นความรับผิดชอบเมื่อนำ AI มาใช้ในรูปอาหาร ต้องแน่ใจว่าตรงปกเท่าที่จะตรงได้ และแน่นอนว่าจะต้องมีการสกรีนเป็นลายน้ำไว้บนรูปภาพว่า เป็นภาพที่ถูกสร้างด้วย AI

ที่ผ่านมาเราเคยทดสอบเทคโนโลยีนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว แต่ไม่เวิร์ก แต่พอมี ChatGPT ซึ่ง Grab เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับ ChatGPT ในการพัฒนาฟีเจอร์นี้ โดยตอนนี้เวอร์ชั่นล่าสุดภาพอาหารมีความเป็นของจริงมาก และไม่ได้ดูโอเวอร์ อย่างไรก็ตามการพัฒนายังมีต่อไป เพราะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องใส่ใจ เช่น ภาพเมนูผัดกะเพราจะทำยังไง ต้องมีรายละเอียดบางร้านใส่ถั่วฝักยาว บางร้านไม่ใส่ถั่วจะแยกยังไง ซึ่งโมเดลยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง ค่อยๆ ปรับจูน ซึ่งมองว่าโปรเจ็กต์นี้กำลังไปในทิศทางที่ดี

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบริการสินเชื่อดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ประเมินศักยภาพ และอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้า โดยพิจารณาจากข้อมูลการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของ Grab และขยายวงเงินให้กู้สูงสุดถึง 10 ล้านบาท

ส่วนอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่หลายคนเริ่มคุ้นเคยและทดลองใช้มาแล้ว คือ ฟีเจอร์ Group Order ที่สั่งอาหารแบบเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะ ซึ่งปล่อยฟีเจอร์ตัวเต็มออกมาแล้ว ไฮไลท์ของฟีเจอร์นี้ คือ สั่งบนแอปตัวเอง แต่ออเดอร์รวมกันมาที่เดียว แล้วยังสามารถ tracking ติดตามตรวจสอบได้ ผลสำรวจการตอบรับจากฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานสะดวกสบายตอบโจทย์ได้ 93% โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาและคนทำงานออฟฟิศ ที่นิยมใช้ฟีเจอร์นี้ในการสั่งมื้อเที่ยงและเย็น

ส่วน Food Lockers เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานที่สั่งอาหารผ่านแอป แต่ไม่สามารถรับอาหารได้ทันที เปิดให้ใช้งานแล้ว 4 จุด คือ อาคารเดอะพาร์ค, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส, และโซนอาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีผู้ใช้งานฟังก์ชั่นนี้ราว 20%

ขณะเดียวกันในกลุ่มคนขับและไรเดอร์ มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับพวกเขาด้วย โดยระบบ AI ที่นำมาใช้กับไรเดอร์ คือ ระบบจัดสรรงานสำหรับคนขับและวางแผนระบบปฏิบัติการหลังบ้าน และนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) ที่ใช้ Machine Learning มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับเพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด และการพัฒนาแผนที่ในอาคาร (Indoor Map) ที่ช่วยแนะนำเส้นทางและบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

‘วรฉัตร’ ย้ำว่าแนวคิดนี้อยู่บนพื้นฐานการช่วยให้คนขับประหยัดเวลา ส่งผลให้รับงานเพิ่มรายได้ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบนี้จะช่วยลดระยะเวลารออาหารได้ถึง 50%

นอกจากนี้ ก็ยังมี GrabMap ซึ่งติดตั้งกล้องที่คนขับไรเดอร์ เพื่อฟีดข้อมูลแผนที่และเส้นทางให้ AI ดูแลข้อมูล ซึ่งทำให้ Grab ได้แผนที่เส้นทางที่แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้คนขับทำงานง่ายและสะดวก และเรายังมี ฟีเจอร์ report ที่ รายงานอุบัติเหตุ น้ำท่วม ถนนปิด ถนนพังเสียหาย และแผนที่ภายในอาคาร เพื่อให้คนขับหาร้านที่จะไปได้ง่ายที่สุด โดยจะเป็นการรายงานแบบเรียลไทม์ข้อมูลฟีดขึ้นมาให้คนขับรับทราบทันที

และในกลุ่มพนักงานของ Grab เองตอนนี้ใช้เทคโนโลยีอะไรมาช่วยบ้าง ‘วรฉัตร’ อธิบายว่า เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘AI-led Organization’ ในปีนี้ Grab ผลักดันให้พนักงานทั่วทั้งภูมิภาคเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านโปรแกรมพัฒนาและฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้น โดยเฉพาะ Generative AI

โดย Grab ได้พัฒนาเครื่องมือที่ออกแบบโดยทีมเทคภายในองค์กร เช่น GrabGPT เครื่องมือที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ รวมถึง ‘โปรแกรม Mystique’ เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ

หลังจากปล่อยตัวอย่างฟีเจอร์เด็ดๆ มาเล่าสู่กันฟังกันในงาน GrabTalk : Driving Livelihoods with Tech & AI แล้ว ตอนนี้ธุรกิจของ Grab อยู่จุดไหนในภูมิภาค

‘วรฉัตร’ บอกว่า ปัจจุบัน Grab ขยายธุรกิจไปใน 8 ประเทศอาเซียน ครอบคลุม 700 เมือง มีผู้ใช้งานจริงแบบที่ไม่ใช่แค่เข้ามาดูในแอปพลิเคชั่น แต่ทำธุรกรรมจริงๆ เฉลี่ยสูงถึง 41 ล้านรายต่อเดือน

เมื่อคำนวณให้เห็นภาพขึ้นผ่านตัวเลข พบว่าจำนวนรายได้ที่สร้างให้กับเมืองต่างๆ ไรเดอร์ ร้านอาหารในอาเซียนแตะเกือบ 4 แสนล้านบาท ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มท็อป

และขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี ‘วรฉัตร’ เล่าทิ้งท้ายว่า Tech Hub ของ Grab ตอนนี้ตั้งอยู่ใน 9 ประเทศ พัฒนาทั้งเทคโนโลยีโลจิสติกส์ ฟู้ดโมบิลิตี้ ทรานสปอร์ทเตชั่น ฯลฯ และล่าสุดจบไตรมาส 2 Grab จดสิทธิบัตร นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปแล้วมากกว่า 1,000 สิทธิบัตร และมีโมเดล AI ที่พัฒนามากกว่า 1,000 โมเดล

เก็บตกจากวงเสวนา GrabTalk : Driving Livelihoods with Tech & AI จากนี้ต้องจับตากันต่อไป เพราะสนามซุปเปอร์แอปทั้งฟู้ดเดลิเวอรีและขนส่งนั้นยังขับเคี่่ยวแข่งขันกันอย่างสนุก และแน่นอนว่าตัวตัดของอุตสาหกรรมนี้ก็คือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โดนใจคนใช้งานได้มากที่สุดนั่นเอง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า