Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products : GDP) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม อย่างไรก็ตามจีดีพีก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีจุดอ่อน

นายจอช ไฟรเดนเบิร์ก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย ขณะกำลังเปรียบเทียบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกโดยใช้จีดีพีเป็นตัววัด

จีดีพี คำที่หลายคนคุ้นหูจากข่าวเศรษฐกิจและคุ้นตาจากข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมักถูกใช้เป็นภาพแทนของเศรษฐกิจในภาพรวม การขยับของจีดีพีจึงเป็นเรื่องใหญ่ หากขยับขึ้นแสดงว่าเศรษฐกิจดี แต่ถ้ามีวิกฤติตัวเลขดังกล่าวก็จะพุ่งดิ่งเหว สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายเฉกเช่นที่เราเผชิญอยู่จากการระบาดของโควิด-19

จีดีพี มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Gross Domestic Products หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งหมายถึงสินค้าหรือบริการทั้งหมดทั้งมวลที่ผลิตในขอบเขตประเทศหนึ่ง นักวิเคราะห์มักหยิบตัวเลขจีดีพีมาหารด้วยจำนวนประชากรแต่ละประเทศเพื่อคำนวณจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ตัวเลขกลางๆ ที่บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนในประเทศนั้นมีการผลิตสินค้าหรือบริการเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อปี อีกทั้งยังใช้เป็นตัวชี้วัดในการจัดแบ่งกลุ่มประเทศร่ำรวยและยากจน

การใช้จีดีพีต่อหัวนี่แหละครับที่ทำให้หลายคนอาจเข้าใจว่าจีดีพีไม่ได้สะท้อนเพียงภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภาพแทนของความ ‘กินดีอยู่ดี’ ของคนในประเทศนั้นๆ เช่นในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีจีดีพีต่อหัว 7,808 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 11,428 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสหรัฐอเมริกามีจีดีพีต่อหัวสูงถึง 65,118 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าว เราก็อาจเข้าใจไปว่าประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกและแทบเทียบไม่ได้กับสหรัฐอเมริกา

ความตีความในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดถนัด เพราะตัวเลขจีดีพีต่อหัวไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมแต่อย่างใดเพราะจีดีพีต่อหัวที่สูงมากอาจเกิดจากคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ร่ำรวยล้นฟ้า ส่วนคนที่เหลือยังคงยากจนข้นแค้น นอกจากนี้จีดีพีเป็นเพียงการวัด ‘กิจกรรมทางเศรษฐกิจ’ โดยไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งที่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมกลับทำให้ตัวเลขจีดีพีขยับเพิ่มขึ้น

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาทำความเข้าใจจุดอ่อนของการใช้ตัวชี้วัดอย่างจีดีพี สำรวจทางเลือกที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างความสุขมวลรวมประชาชาติ รวมถึงทางเลือกอื่นๆ ที่กว้างและลึกกว่าการมองเพียงตัวเลขจีดีพี

จุดเด่น-จุดอ่อนของจีดีพี

“ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นับรวมมลภาวะทางอากาศ โฆษณาบุหรี่ ค่ารถฉุกเฉินกู้ภัยหายนะบนทางด่วน มันนับรวมค่าติดตั้งล็อคพิเศษเพื่อป้องกันขโมย และค่าใช้จ่ายในการคุมขังหัวขโมยที่ทำลายกุญแจเหล่านั้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติบวกเพิ่มการทำลายป่าไม้และหายนะทางธรรมชาติ มันนับรวมระเบิด ขีปนาวุธนิวเคลียร์ และรถหุ้มเกราะสำหรับตำรวจเพื่อเอามาใช้สู้รบกับประชาชน. . . ในทางกลับกัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติไม่ได้วัดสุขภาพของเด็กๆ คุณภาพทางการศึกษา หรือความสุขในการเล่น มันไม่ได้นับรวมความงามของบทกวีหรือความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว คุณค่าของความรู้จากการถกเถียงสาธารณะหรือคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ. . . ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติบวกรวมทุกอย่างยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า”

วาทะข้างต้นคือบางส่วนของปาฐกถาของโรเบิร์ต เอฟ. เคเนดี (Robert F. Kennedy) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ระหว่างการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ข้อความดังกล่าวสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงจุดอ่อนสำคัญในการใช้ตัวชี้วัดอย่างจีดีพีซึ่งเป็นที่รับรู้มาอย่างเนิ่นนาน แต่ดัชนีดังกล่าวก็ยังได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน

โรเบิร์ต เอฟ. เคเนดี (Robert F. Kennedy)

จุดเด่นของจีดีพีคือความ ‘ง่าย’ เพราะเป็นตัวเลขเดียวที่สามารถเห็นภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ความง่ายนี้เองที่กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่ตระหนัก

จุดอ่อนประการแรกคือ การนับรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ เช่น การจราจรที่ติดขัดอาจทำให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเราต้องจ่ายค่าน้ำมันมากขึ้น มลภาวะทางอากาศที่เลวร้ายก็ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะเราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือกระทั่งการตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นการแปลงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจีดีพี ‘มองไม่เห็น’ ให้กลายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั่นคือการทรัพยากรมาจำหน่าย

จุดอ่อนประการที่สองคือ การไม่นับรวมกิจกรรมที่ไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ แต่เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอคือการเลี้ยงดูลูกๆ ของพ่อแม่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทุนมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบอบเศรษฐกิจ แต่กลับถูกมองข้ามในการคำนวณจีดีพี จนกลายเป็นมุกตลกในวงนักเศรษฐศาสตร์ว่าอย่าแต่งงานกับแม่บ้าน เพราะถ้าแม่บ้านเปลี่ยนสถานะสู่ภรรยาซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องให้เงินเดือนในฐานะลูกจ้างอีกต่อไป จีดีพีก็จะลดลงทั้งที่เธอคนนั้นอาจทำงานภายในบ้านเท่าเดิม

เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้จีดีพีเป็นดัชนีชี้วัดโดยไม่ตระหนักถึงจุดอ่อนข้างต้น ผลลัพธ์ที่ได้คือนโยบายผิดทิศผิดทาง เน้นถลุงทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ความสำคัญกับ ‘ทุนทางสังคม’ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อใจ สถาบันครอบครัว สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ

ในระยะหลัง หลายคนเริ่มมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่จีดีพีโดยหันไปหาจีเอ็นเอชซึ่งย่อมาจาก Gross National Happiness : GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งเน้นวัด ‘ความสุข’ ของประชาชนเป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาประเทศมีประเทศต้นแบบคือราชอาณาจักรภูฏานซึ่งวัดจีเอ็นเอชจากตัวชี้วัดต่างๆ 9 ด้านคือ สุขภาพใจ (Psychological wellbeing) สุขภาพ (Health) การใช้เวลา (Time use) การศึกษา (Education) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Cultural diversity and resilience) ธรรมาภิบาล (Good Governance) สุขภาพชุมชน (Community vitality) ความหลากหลายทางนิเวศและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Ecological diversity and resilience) และมาตรฐานการดำรงชีพ (Living standard)

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการวัดความสุขเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างส่ายหน้า เพราะมีปัญหาตั้งแต่การนิยามว่าความสุขคืออะไร แม้แต่แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรางวัลโนเบลมองว่าการวัดความสุขเชิงปริมาณเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยและถูกกระทบจากอคติของผู้ตอบแบบสอบถามได้ง่าย เพราะการตอบแบบสอบถามเชิงนามธรรมมักจะเอนเอียงตามเหตุการณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเพิ่งเจอกับตัวเองเมื่อไม่นานมานี้ เช่น เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งก็จะเอนเอียงไปทางบวก แต่หากเพิ่งสูญเสียสมาชิกในครอบครัวก็จะเอนเอียงไปทางลบ

จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของจีเอ็นเอชอยู่ที่การแปลงคำถามเชิงคุณภาพให้กลายเป็นเชิงปริมาณ ตัวอย่างเช่น หากเราต้องทำแบบสอบถามความสุขระดับใดในปีนี้จาก 1 คือมีความทุกข์อย่างยิ่งถึง 10 คือมีความสุขแบบเต็มเปี่ยม ผู้ทำแบบสอบถามจะนำคำตอบของทุกคนมาเฉลี่ยเป็นค่า ‘ความสุขมวลรวม’ ของประเทศ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทุกคนเข้าใจความหมายของ ‘ความสุขระดับ 6’ ถูกต้องตรงกันทั้งหมด หากเข้าใจไม่ตรงกันค่าเฉลี่ยดังกล่าวก็ไม่มีความหมายใดๆ

ตัวเลขจีเอ็นเอชของภูฏานก็ชวนตั้งคำถามเช่นเดียวกัน เพราะจากการสำรวจรอบ 15 ปีจีเอ็นเอชมีค่าใกล้เคียงกันมากคือเพิ่มขึ้นจากราว 0.73 เป็น 0.75 ชวนให้กังขาว่าเราควรจะตีความตัวเลขดังกล่าวอย่างไร แล้วรัฐบาลตั้งเป้าหมายระดับความสุขของประชาชนที่เท่าไหร่ ควรหยุดที่ 0.80 หรือ 0.90 จึงจะบอกได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นอยู่ที่ดี

ถ้าไม่ใช้จีดีพีแล้วเรามีทางเลือกอะไรอีกบ้าง?

การชี้ให้เห็นจุดอ่อนของจีดีพีเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็นนัก แต่คำถามที่ยากกว่านั้นและยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้คือเราจะใช้ตัวชี้วัดใดมาทดแทนจีดีพี

แนวทางแรกคือการเดินหน้าใช้ตัวชี้วัดอย่างจีดีพีต่อไป แต่นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อลดจุดอ่อนลง เช่น ตัวชี้วัดความก้าวหน้าอันเที่ยงแท้ (Genuine Progress Indicator: GPI) ที่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมของทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) ความเหลื่อมล้ำ มลภาวะ แม้กระทั่งอาชญากรรม เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณจีดีพี อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวมีจุดอ่อนสำคัญคือการแปลงค่ากิจกรรมนอกภาคเศรษฐกิจให้เป็นมูลค่าทางตัวเงิน เช่น ระบบนิเวศแนวปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือมูลค่าของทุนมนุษย์และทุนทางสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นเช่นกัน

อีกแนวทางหนึ่งคือสร้างดัชนีขึ้นมาเสียใหม่ที่บางครั้งก็หยิบเอาจีดีพีซึ่งเป็นตัวชี้วัดรายได้แบบคร่าวๆ รวมเอาไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยองค์การสหประชาชาติซึ่งคำนึงถึงอายุขัย ระดับการศึกษา และระดับรายได้ หรืออาจพัฒนาตัวชี้วัดสำหรับใช้ภายในประเทศ เช่น ดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคลของออสเตรเลีย (Wellbeing Index – Australian Unity)

ส่วนแนวทางสุดท้ายคือการทิ้งความพยายามรวบรวมทุกอย่างให้กลายเป็นตัวเลขเพียงตัวเดียว แล้วสร้างเป็นหน้าปัด (Dashboard) สะท้อนความก้าวหน้าในแต่ละด้านอาทิ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละประเด็นก็จะประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อยๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบว่าแต่ละประเทศ ‘ก้าวหน้า’ ไปแค่ไหน ตัวอย่างของตัวชี้วัดในรูปแบบหน้าปัดคือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมายครอบคลุมตั้งแต่การขจัดความยากจนและความอดอยาก การใช้ที่ดิน ทรัพยากรในมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงสันติภาพและความยุติธรรม

ในระหว่างที่ทั่วโลกยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะใช้ตัวชี้วัดอะไรมาทดแทนจีดีพี อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราควรตระหนักถึงคือสารพัดจุดอ่อนเพื่อให้เราตีความตัวเลขดังกล่าวได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งละทิ้งความเข้าใจผิดๆ ที่ว่าจีดีพีคือตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า