SHARE

คัดลอกแล้ว

คำนิยามการเมืองที่ดีที่สุดก็คือ “การรวมกลุ่มเพื่อเกิดการต่อรองกันเชิงอำนาจ”

การต่อรองนั้นมีตั้งแต่ระดับรัฐบาลกับฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลเอง ไปจนถึงหน่วยเล็กที่สุดคือภายในพรรค ครั้งนี้พาย้อนรอย “มุ้งใหญ่” ยุคพรรคไทยรักไทย และการบริหารจัดการภายในพรรค ที่กลายเป็นสูตรสำเร็จของการเมืองยุคปัจจุบัน ที่หลายๆ พรรคเดินรอยตามด

ปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของพรรคไทยรักไทยในช่วงทศวรรษ 2540 ที่ชนะการเลือกตั้งสองครั้งติดต่อกัน และยังเป็นรัฐบาลพรรคแรกที่อยู่ครบเทอม อีกทั้งยังเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่ยากจะเกิดซ้ำได้อีกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 ที่เน้นขายนโยบายที่ต้องตาต้องใจประชาชน จากเดิมเน้นขายตัวบุคคลและ “ความใจซื่อ มือสะอาด” การสื่อสารการเมืองที่เรียบง่าย ทรงพลัง และติดหู และอีกมรดกหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “การบริหารจัดการภายในพรรค”

โดยเฉพาะหลังจากหมดสมัยแรก หลายๆ พรรคการเมืองในสมัยทักษิณ 1 นั้น พรรคร่วมรัฐบาลประกอบไปด้วย พรรคไทยรักไทยที่เป็นแกนนำ พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทยของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคชาติพัฒนาของ นายกร ทัพพะรังสี หลานชาย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ล่วงลับ

ความนิยมของพรรคไทยรักไทยขึ้นถึงจุดสูงสุดในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ ทั้ง “30 บาทรักษาทุกโรค” กองทุนหมู่บ้าน การผลักดันสินค้า OTOP และอีกหลายนโยบายที่ครองใจประชาชน ทำให้คาดหวังว่า การเลือกตั้งในปี 2548 จะสามารถนำชัยชนะมาได้อย่างไม่ยากเย็น ดังนั้นทุกคนอยากมีส่วนร่วมกับพรรคไทยรักไทย

เมื่อดำเนินการบริหารแผ่นดินไปได้ 2 ปี ในปี 2546 พรรคชาติพัฒนาภายใต้กลุ่ม “บ้านราชครู-กลุ่มโคราช” ทั้งนายกร ทัพพะรังสี และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย รวมไปถึงพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เข้ามาควบรวมเช่นกัน ทำให้ปลายสมัยทักษิณ 1 นั้น เป็นรัฐบาลที่เหลือแค่ 2 พรรค คือ ไทยรักไทยและพรรคชาติไทยที่ตัดสินใจไม่ควบรวม

งานวิจัยของ ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ชี้ว่าการบริหารจัดการพรรคการเมืองของไทยรักไทยนั้นเป็นโครงสร้างแบบใหม่ ที่เน้นความทันสมัยและประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าหากมองในมิติความเป็นจริง การเกิดมุ้งภายในพรรคนั้น ไม่แตกต่างจากงานบริหารจัดการบริษัทเอกชนที่ ดร.ทักษิณ เคยผ่านมาแล้ว ที่แต่ละ Business Unit ต้องทำงานแข่งกัน โดยมี CEO หรือหัวหน้าพรรคเป็นคนชี้ขาดว่า ใครควรไปอยู่ตรงไหนและทำหน้าที่อะไร

การบริหารมุ้งนั้นจึงเหมือนการบริหารความคาดหวังของหัวหน้าพรรคว่า ถ้าหากกลุ่มนั้นๆ ได้รับมอบหมายภารกิจไปแล้ว จะสามารถทำได้แล้วเสร็จหรือไม่ และยิ่งชัดเจนเมื่อสมัยการเลือกตั้งปี 2548 ที่เรียกว่ามี “พลังดูด” จนทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ที่มีเอกภาพและกวาดไปถึง 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ซึ่งมีการผนวกพรรคกิจสังคม พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพเข้ามาร่วมด้วย

เมื่อมีจุดสูงสุดย่อมมีจุดเสื่อมถอย ในครั้งนั้นรัฐบาลทักษิณถูกนักวิชาการ พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สร้างวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” นำไปสู่การบอยคอตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน หลังจากที่ ดร.ทักษิณ ตัดสินใจยุบสภาในปี 2549 และกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุม เพื่อปูทางไปสู่การทำรัฐประหารปี 2549 โดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น

และเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจ ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มตรงข้ามกับ ดร.ทักษิณ และนำไปสู่กลไกยุบพรรคไทยรักไทยของศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นการปิดฉากกลุ่มการเมืองการมุ้งในพรรคไทยรักไทย ก่อนจะแตกเป็นพรรคต่างๆ

มุ้งใหญ่ๆ ในขณะนั้นประกอบไปด้วย กลุ่มวังน้ำเย็น ที่มี นายเสนาะ เทียนทอง เป็นหัวหน้ากลุ่ม หลังจากถูกยุบพรรค ก็ให้ทายาทการเมืองออกมาตั้งพรรคประชาราช ซึ่งในปัจจุบันตระกูล “เทียนทอง” ยังแตกออกเป็นสองสายก็คือ นายสุรชาติ เทียนทอง ลูกชายของนายเสนาะ ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่ “กลุ่มสระแก้ว” ปัจจุบัน ทั้งนายฐานิสร์ และ ตรีนุช เทียนทอง อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

ด้านกลุ่มบุรีรัมย์ นำโดย นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งถือว่าเป็นคนสนิทที่ ดร.ทักษิณ ไว้ใจที่สุด ก็กลับมารวมเป็นพรรคพลังประชาชน และร่วมผลักดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีเรื่องผิดใจกรณีที่นายสมัครหลุดจากตำแหน่ง จากกรณี “ทำกับข้าวออกทีวี” ทางนายเนวินเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะโหวตนายสมัครที่ตนเองหนุนกลับมา แต่ท้ายที่สุดกลับเลือก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ ดร.ทักษิณ เป็นนายกฯ และหลังจากยุบพรรคพลังประชาชน นายเนวินได้พา ส.ส. งูเห่าจากพรรคพลังประชาชน สร้างพรรคใหม่ “ภูมิใจไทย” และผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็มีบทบาททางการเมืองสืบมาถึงปัจจุบัน

กลุ่มสุโขทัยของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ถือว่าเป็นโคตรเซียนการเมืองที่พร้อมจะเป็นรัฐบาลในทุกครั้ง หลังจากยุบพรรค กลุ่มนายสมศักดิ์ออกมาตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยจับมือกับ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นายทุนผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และต่อมา กกต. มีมติยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยในปี 2551 นายสมศักดิ์จึงนำ ส.ส. ในกลุ่มไปทำงานกับกลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในปี 2547 และเมื่อหลังการทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น เมื่อเข้าสู่ศึกการเลือกตั้ง นายสมศักดิ์จึงจับมือกับอดีตเพื่อนร่วมพรรคไทยรักไทยอย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และยกระดับเป็น “กลุ่มสามมิตร” ที่เป็นกำลังสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่แน่ว่าในครั้งนี้ จะกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหรือไม่

แต่ที่กลับมาแล้วแน่ๆ คือ กลุ่มพ่อมดดำ หรือกลุ่มบ้านริมน้ำ ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งหลังจากยุบพรรคไทยรักไทย ได้ไปร่วมจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ก่อนที่จะขน ส.ส. ร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยในปี 2553 และสมัยล่าสุดพากลุ่ม ส.ส. บ้านริมน้ำ เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายสุชาติได้รับตำแหน่งรองประธานสภาฯ และล่าสุดในปี 2566 ได้ส่งลูกชาย นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ เข้ามาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งรอบที่กำลังจะถึง

กลุ่มอื่นๆ ที่ยังทำงานร่วมกับพรรคที่มีดีเอ็นเอของทักษิณอย่างเข้มแข็งก็เช่น กลุ่มวังบัวบาน ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ ดร.ทักษิณ และอีกหลายๆ กลุ่มที่กลับมาร่วมงาน เช่น กลุ่มชลบุรีของ นายสนธยา คุณปลื้ม ก็กลับมาร่วมงานอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งถ้าหากกลุ่มพ่อมดดำ และกลุ่มสุโขทัยกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยจริงๆ นี่คืองานเลี้ยงรียูเนียนของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

ส่วนพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ โดนมองว่าเป็นผู้ท้าชิงอันดับที่ 1 หากต้องลงสู้ศึกกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่แน่ว่าหลังเลือกตั้ง เมื่อผลเลือกตั้งออกมา จะได้เห็นภาพพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

ดังคำฝรั่งเขาบอกว่า Never says Never อย่าไปพูดว่าไม่ เพราะต้องดูบริบททางการเมืองขณะนั้นอีกเช่นกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า