SHARE

คัดลอกแล้ว

ดูนิทรรศการ เข้าพิพิธภัณฑ์ จอยกิจกรรมวาดรูป-แต่งหน้าเค้ก ปั้นเซรามิก Cafe hopping… สารพัดกิจกรรมที่หลายคนลิสต์เอาไว้ รอคิวสุดสัปดาห์จัดเต็ม และที่น่าสนใจ คือ กิจกรรมฮีลใจ บำบัดตัวเอง เข้า Session เพื่อเรียนรู้ข้างในตัวเองก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม

 

ในวันที่ผู้คนเหนื่อยล้า ต้องการคำตอบของชีวิต ที่ไม่ยึดติดแค่เพียงกรอบตามที่สังคมบอกไว้ แต่เป็นคำตอบที่อยู่ข้างในจิตใจ โดยที่เราค้นพบคำตอบนั้นด้วยตัวเอง

สำนักข่าวทูเดย์ มีโอกาสพูดคุยกับ คนที่เริ่มจริงจังกับการเรียนรู้อารมณ์ข้างในเพื่อเข้าใจตัวเอง พร้อมกับ 3 ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นทั้งนักออกแบบ กระบวนการ และนักบำบัด ผู้ซึ่งทำงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ ‘เดินทางภายใน’ ถึงกิจกรรมที่นำเทรนด์ โอกาส และมุมมองการเติบโต ที่อาจหมายถึงการอยู่รอดของคนทำงานด้านนี้

[‘พาใจกลับบ้าน’ Therapeutic Space เข้าถ้ำสำรวจโลกข้างในใจ พื้นที่ที่กลับมาซ้ำได้เหมือนไปยิม]

เพียงผ่านม่านกั้นเข้าไป ความรู้สึกของผู้เข้าชมอาจลืมไปว่า ‘พาใจกลับบ้าน Homecoming –  Therapeutic Space By Eyedropper Fill’ ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แสงไฟถูกจัดให้สลัว กลิ่นข้างในสดชื่น อากาศเย็นสบาย ท่ามกลางเสียงธรรมชาติไหวๆ ทั้งเสียงน้ำไหล นกร้อง ใบไม้ปลิว และอื่นๆ 

ทั้งหมดถูกออกแบบ และจัดเตรียมอย่างมีความหมาย ให้ผู้เข้าชมได้มีช่วงเวลาสำรวจความรู้สึกข้างในใจเรา โดยไม่ต้องมีอะไรมารบกวน การให้ผู้เข้าชมล้างเท้า และเดินเท้าเปล่า เป็นทั้งเงื่อนไขและกิมมิค ที่ต้องการให้เราได้ “รู้สึกถึงเท้า” หนึ่งในอวัยวะที่ถูกหลงลืมประโยชน์มากที่สุด และเพื่อให้เรา “เดินช้าลง” เมื่อเหยียบบนก้อนหินหลายขนาด หลากผิวสัมผัส

จั๊วะ – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล ผู้ก่อตั้ง และ Managing director ของ Eyedropper Fill บอกว่า ‘พาใจกลับบ้าน’ ที่มี MMAD – MunMun Art Destination ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เป็น Partnership ด้านสถานที่นั้น เป็นเวอร์ชั่นที่อัปเกรดมาจากการทำนิทรรศการ ‘พาใจกลับบ้าน’ ครั้งก่อน ที่เคยโฟกัสกลุ่มเด็กจบใหม่ หรือวัยรุ่นยุคโควิด 

ขณะที่ รอบนี้ขยายไปถึงคนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะ Sandwich Generation ที่ไม่ได้หมายถึงวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ต้องแบกรับความกดดัน และความคาดหวัง จากทั้งพ่อแม่ หัวหน้างาน และความฝันของตัวเอง 

และที่พิเศษ จั๊วะไม่ได้เรียกที่นี่ว่าเป็นนิทรรศการ แต่เข้าเปรียบที่แห่งนี้ เหมือน เป็นพื้นที่ยิมเพื่อบำบัดเยียวยาหัวใจ

“ไม่อยากให้มันเป็นแค่นิทรรศการแล้ว เราพูดกัน 1 เรื่องอยู่สามอาทิตย์ หรือ 1 เดือน แป๊บๆ ก็ไปทำงานใหม่กับเรื่องอื่น เรารู้สึกว่าเรามีศักยภาพ เพราะว่า Stakeholder ของเราเป็นนักจิตบำบัดจริง รับเคสจริง ที่นี่อารมณ์เหมือนไปยิม เครื่องเล่นเหมือนเดิม มาด้วยความรู้สึกไม่เหมือนเดิม อาจจะดีใจท่วมท้น หรือเศร้ามากจนบอกใครไม่ได้ แล้วอยากมาคุยกับตัวเอง”

จั๊วะบอกว่า การออกแบบพื้นที่ Therapeutic Space มีข้อติ๊กถูกอยู่ว่า ต้องทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย แสง สี เสียง อุณหภูมิ หรือผิวสัมผัส ต้องไม่ทำให้รู้สึกถูกเร่งรัดเกินไป และการเลือกออกแบบแต่ละห้องให้คล้ายถ้ำ

“มันเป็นที่หนึ่งที่เราไม่ต้องมานั่งคิดว่า จะมีอะไรมางาบเรา มาฆ่าเรา หรือเราจะต้องไปฆ่าใคร เราอยู่ตรงนี้เพื่อดูแลกัน มันเต็มไปด้วยความรักหมด (ถ้ำและธรรมชาติ) มันมีอยู่ในโลกใบนี้ แต่เราตีตัวออกหาก จากหน้าที่การงาน สิ่งที่ต้องทำ ทำให้เข้าไปเชื่อมโยงไม่ค่อยได้ ทั้งที่พื้นที่เหล่านั้นมันสร้างภาพวาดแรกของโลก ศิลปะแรกของโลก เราเลยลดความแข็งมาเป็นผ้า เป็นกายหยาบของพาใจกลับบ้าน แล้วแต่ละโซนออกแบบมาค่อยๆ ให้มันเชื่อมโยงกับเราไปเรื่อยๆ”

“อย่างเสียงเป็นไฮไลต์ ก่อนหน้าเราใช้เสียงป่าจากโลก ป่าตะวันตก แต่ตอนนี้เราใช้เสียงจาก พี่เบิร์ด เฉลิมรัฐ กวีวัฒนา Sound Composer ให้กับหนังของพี่เจ้ยหลายๆ เรื่อง เขาเอาเสียงป่าต่างๆ แมลง รวมในแทร็กรู้เลยว่า ‘ป่านี้ไม่ไกล’ มันอยู่ใกล้ๆ เรา”

แม้จี๊วะจะเล่าว่า ทุกห้องของ ‘พาใจกลับบ้าน’ จะเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การกอดต้นไม้ การเขียน Reflection การทำวารีบำบัด การฟังเรื่องราวของผู้อื่น แต่ความโดดเด่นของพื้นที่นี้คือ การทำให้ผู้ที่เข้าร่วมรู้สึกว่า “ไม่ได้เผชิญสิ่งนี้คนเดียว” ซึ่งหากนับจำนวนผู้เข้าที่ชม ก็มีเกือบ 20,000 คนแล้ว

“เราตั้งใจให้มันไม่ใช่แค่ฮีลใจ แต่อยากให้เป็นเวทมนตร์ของพื้นที่  ฟังพอดแคสต์ก็ฮีลใจได้ แต่การมาเจอกันในพื้นที่เดียวกัน คือ มันเป็นการสร้าง Common Humanity ให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ไม่ได้เผชิญสิ่งนี้คนเดียวในโลก ไม่ได้มีภาวะความรู้สึกนี้คนเดียว”

อย่างไรก็ตาม จั๊วะเล่าต่อว่า ที่นี่เป็นเพียงสิ่งที่คัดมาให้ผู้เข้าชมรู้เบื้องต้น ศาสตร์แต่ละศาสตร์ ในแต่ละโซนนั้นมีความลึกเฉพาะตัว ที่หากจะทำเพิ่มเติม ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่ทำงานในวิชาชีพช่วยแนะนำ และพาใจกลับบ้านก็มีข้อมูลองค์กร หรือทีมที่ทำงานด้านนี้อยู่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ต่อยอดหลังจบการเข้าชมด้วย

[Aware Aware Space มาปลุก มาตื่น พื้นที่เวิร์คช็อปโดยกระบวนกร และนักบำบัดแบบจิตตปัญญา]

เช้าวันเสาร์ เดินขึ้นชั้น 3 ของร้าน Arai Arai  ย่านวงเวียน 22 ก็พบกับพื้นที่ของ Aware Aware Space ที่มี ไข่มุก-มติมนต์ สืบสาย นักบำบัด นักออกแบบการเรียนรู้ และ ทาม – นเรศ เสวิกา กระบวนกร เป็นเจ้าของพื้นที่ Aware Aware Space ที่เคยจัด Session ‘ขวัญเอย ขวัญมา ค้นหาขวัญที่หล่นหาย ให้กลับกลายเป็นพลัง ด้วยกระบวนการจิตตปัญญา’ ในงาน Soul Connect 2025 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

ทั้งสองทำงานอยู่ในแวดวงนี้มาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมาเปิดพื้นที่จริงจังได้เพียงปีกว่า เน้นออกแบบกิจกรรม ทำเวิร์คช็อป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีวิธีรู้จักตัวเอง

“ที่นี่เป็นสถานที่ชวนผู้คน ‘มาปลุก-มาตื่น’ ชวนมา ‘ตื่นจากข้างใน’ พื้นฐานของเราสองคน คือ เรียนจบจิตตปัญญา กระบวนการภายใน ที่ทำก็จะมีพื้นฐานออกแบบกระบวนการแบบจิตตปัญญาเป็นหลัก ข้างนอกเหมือนดูทำอะไรสนุกๆ แต่สุดท้ายจะมีเครื่องมือที่ทำให้เขาได้สืบค้นกับมิติภายในตัวเอง เราเคยมีวงที่ชวนกันดื่มชา แล้วกลับมาพูดคุยกับข้างใน เปิดความรู้สึกของตัวเอง รับรู้ว่าตัวเองเป็นยังไง ไม่ใช่แค่ดื่มชาเพื่อน้ำชา” ไข่มุกเริ่มต้นเล่าถึงพื้นที่ของตัวเอง

ขณะที่ ทามเสริมว่า สเปซนี้เกิดมาจากตัวตนของทั้งคู่ การทำเวิร์คช็อปที่ชวนคน ‘มารู้จักตัวเอง’ ราคาค่อนข้างสูง แต่ทั้งสองอยากทำให้มันเป็นปกติ และเข้าถึงได้ 

“มุมหนึ่ง Aware Aware คือ คำเชื้อเชิญ ไม่ใช่คำสั่ง เอ้ย ตื่นเดี๋ยวนี้ แต่เป็นแบบ เรากลับมาตื่นรู้ได้แล้ว“

ที่นี่ไม่ใช่พื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาใช้เรียนรู้ตัวเอง หรือแก้ไขปัญหาบางอย่าง แต่เปิดพื้นที่ให้คนที่มีความรู้ แต่ไม่รู้วิธีสื่อสาร หรือไม่รู้จะออกแบบกิจกรรมยังไง โดยที่มีคนทำงาน NGO ครู กระบวนกร เจ้าของบริษัท ซึ่งพวกเขาเรียกสายนี้เป็นสายผู้นำพา

“อีกส่วนหนึ่งของพี่มุก และผม คือ การเป็นเทรนเนอร์ในการสอนทักษะ การเป็นกระบวนกร เราเรียนรู้การเป็นกระบวนกรในหลากหลายสาขา แล้วก็ทำงานจริงกับมันด้วย ก็เลยถอดบทเรียนของตัวเอง แล้วมาสร้างหลักสูตรการเป็นกระบวนกรภายในของตัวเอง”

“คนที่มาที่นี่ ไม่ใช่แค่สายซ่อม แต่เป็นสายสร้างด้วย มิติที่สำคัญคือ เขาสนใจเรื่องการรู้จักตัวเอง และสนใจเรียนรู้มิติด้านใน และจุดเด่นของ Aware Aware คือให้เครื่องมือสร้างการรู้จักตัวเองให้กับคนอื่น” ทามกล่าว

[จากวันที่โบยตัวเองว่า “มันเรื่องแค่นี้เอง” สู่จุดเริ่มต้นของดูแลตัวเอง “วันนี้เป็นยังไงบ้าง”]

กิจกรรมฮีลใจล่าสุดที่ พัตรา (นามสมมติ) เพิ่งเข้าร่วมมา คือการไปฟังวงเสวนาของคนที่ทำงานในแวดวงออกแบบแบรนด์ ด้วยลักษณะงานรีโมท ทำงานคนเดียว ทำให้พัตราถูกตัดขาดออกจากการพบปะผู้อื่นกลายๆ หลายครั้ง จึงมีภาวะเครียด มีปัญหา Self-Doult ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “ฉันดีพอหรือยัง” การได้ออกมาพบเจอ และรับฟังเรื่องราวชีวิตการงานของคนอื่นทำให้เธอได้รับพลัง และถือเป็นกิจกรรมที่ “มันฮีลใจ”

“เวลาฟังแล้วหัวใจมันเต้นแรง ม่านตามันขยาย ตาเป็นประกาย มันดีจริงๆ นี่มันคือ Local Brand ที่มีเป้าหมายถึงความยั่งยืน ซึ่งออฟฟิศเราไม่มี”

มองผิวเผินดูเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจ อย่างที่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่สำหรับพัตรานั้น การดูแลข้างในใจ “มันเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้” ที่ทำให้ได้อยู่กับปัจจุบัน รู้สึกสบายใจ หรือรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น

หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการ “ดูแลจักรวาลภายใน” อย่างต่อเนื่อง มาจากตอนที่เธอมีภาวะนอนไม่หลับ หรือบางครั้งหลับแล้วเหมือนคนจมน้ำ ชีวิตต้องจัดการกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการงาน การเรียน และความรัก รวมถึงในความสัมพันธ์ Toxic

“เรารู้สึกว่าตัวเองไหว คิดว่า ‘ไม่เห็นต้องร้องไห้กับอันนี้เลย’ ‘เราเอาอยู่’ ‘เรื่องมันแค่นี้เอง’ สุดท้ายมันถูกเอาไประเหิดทางความฝัน แบบเครียดแล้วมันก็เสียตัวตน”

ตอนนั้นเป็นครั้งแรก ที่พัตราตัดสินใจควักเงินหลักพัน เพื่อไปพบกับนักจิตบำบัด และเมื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว กลับพบความจริงว่า ตัวเธอใจดีกับคนอื่น แต่ยากที่จะใจดีกับตัวเอง

นับจากนั้น พัตราค่อยๆ เริ่มปรับรูทีนชีวิต ให้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เกิดข้างในให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง เธอหมั่นหาเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ ตั้งแต่เขียน Journal บันทึกสิ่งที่รู้สึก ทำ Mood Tracking ไปร่วมงานทางจิตวิญญาณ หรือที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต คุยกับคนสนิท ไปจนถึงกิจกรรมที่ทำให้อยู่กับวินาทีตรงหน้า เช่น การจัดดอกไม้อิเคบานะ หรือเล่นพิลาทิส ที่ทำให้ค้นพบแก่นบางอย่างของการไว้วางใจ

“ได้ไว้วางใจตัวเอง และคนอื่น ไว้วางใจอุปกรณ์ ว่ามันจะไม่ร่วง ไว้วางใจกล้ามเนื้อทุกมัด ไว้วางใจครูที่สอนเราถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาจะชาร์ตเรา ตอนแรกมันโหนไม่ได้ พอไปเล่นจริงๆ แรงเราอยู่ทุกที่ เราต้องปล่อยให้ทุกส่วนทำงานได้ทั้งหมด เราเลยได้หันกลับมามองเรื่องนี้”

[Healing is a new lifestyle. ทั้งใช่ และไม่ใช่] 

“คือมันไม่มีใครรู้จักเราเท่าเราแล้ว จักรวาลในใจเรามันกว้างมาก และลึกมาก ทุกคนต้องเดินทางเพื่อให้ Self ทั้งภายในและภายนอกมันเชื่อมต่อกัน หรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้มันไปต่อสู้กับโลกข้างนอกให้ได้ มันแรงมากอ่ะ เช่น การตัดสินใจของคน คนเรามันตัดสินกันตลอดเวลา เราก็ต้องฝึกไม่ตัดสินตัวเอง แล้วเราก็ต้องภูมิใจในตัวเอง เคารพตัวเอง มีดีมีเก่งยังไง”

จากกิจกรรมที่เข้าร่วมเป็นครั้งคราว พัตราทำต่อเนื่องเป็นกิจวัตร จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตมาหลายปีแล้ว ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ตัวเอง เกี่ยวกับสุขภาพจิตสุขภาพก่อน ประกอบกับสื่อและองค์กรต่างๆ ก็ร่วมส่งเสริมให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึง 

อย่างไรก็ดี Aware Aware Space มองว่า Healing หรือการเยียวยา ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือเป็นเทรนด์ แต่การรับรู้ของ Self Awareness ต่างหากเป็นเทรนด์ เหตุผลหนึ่ง เพราะการเยียวยา คือการรักษา เมื่อไม่รู้เลยว่าป่วยอะไร เราจึงต้องตรวจเพื่อรักษา

ทั้งทาม และไข่มุก เห็นตรงกันว่า เมื่อผู้คนเริ่มมารู้จักโลกของการเยียวยา การดูแลจิตใจของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ การสร้างสมดุลระหว่างโลกภายในและภายนอก

“เราคิดว่าถ้าเรายังต้องใช้ชีวิตใต้ทุนนิยม เราก็ยังจะต้องหาบาลานซ์ เราคิดว่าที่คนมองว่าการเยียวยามันใหม่ เพราะเพิ่งเจอมัน แต่ถ้าเราใช้ชีวิตไปทั้งคู่จนมันผสมผสานกัน มันก็คือไลฟ์ไตล์ อยู่กับโลกด้านนอกกับโลกด้านในยังไง ไม่ได้หมายความว่าเราโลกด้านในจ๋าเท่านั้น แต่ถ้าเรายังต้องพึ่งพิงโลกด้านนอก มันก็ต้องใช้ อย่าฝืนเราก็ยังต้องเปิดคอร์สหาตังค์ เพื่อทำให้พื้นที่มันอยู่รอด” ไข่มุกกล่าว

ด้าน ทาม เสริมว่า “ต้องระมัดระวังการที่เราสนใจโลกด้านใน แล้วปฏิเสธโลกด้านนอก การตระหนักในตัวเอง บางครั้งคือการเหยียบเบรก ทุนนยิมทำให้เราเร่ง มุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียวเหมือนขับรถ เร่งรถ เราต้องมีเบรก เพื่อหาจังหวะที่เหมาะและใช่ กับถนนนั้น เหมาะกับสถานการณ์นั้น”

ด้าน จั๊วะ Eyedropper Fill มองว่า “ดีแล้วที่ Healing ตัวเองเป็นไลฟ์สไตล์ เพราะเราให้ค่ากับเรื่องกายภาพเยอะมากแล้ว” ซึ่งจั๊วะพยายามทำให้สิ่งนี้เป็นเรียกปกติ ทำได้ในชีวิตธรรมดาๆ อยากให้ลบภาพความเป็นพิธีกรรมที่ยุ่งยาก เข้าถึงยาก แล้วพลิกภาพให้มันเป็นเรื่องใกล้ด้วย ป๊อป และจับต้องได้

“เช่น ตอนนี้เราพยายามบอกว่า ถ้าตอนนี้รู้สึกแย่ เราฝึกหายใจสิ แค่ 15 นาที รู้สึกดีขึ้น เดี๋ยวนี้มันมี meeting pod (ห้องทำงานเก็บเสียง) เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว พอเราเข้าไป ออกมาแล้วบอกว่า ไปทำการฝึกหายใจมา ถ้ามันไม่เท่ มันไม่ดี มันไม่มีอิทธิพลต่อใคร มันก็จะแปลก อยากให้มันทลายการตีตราต่างๆ ที่คนคิดว่าเวลาไปฝึกจิต มันน่ากลัว หรือคนที่ทำมันต้องใกล้บ้า โดยลบการตีตราออกได้ด้วยความที่เป็นไลฟ์สไตล์นี่แหละ”

[โอกาสเติบโตของธุรกิจฮีลใจ ที่ดูแลพื้นที่ภายในใจของผู้คน]

ในฐานะที่ Eyedropper Fill เห็นกระแสโลก เกี่ยวกับเทรนด์สุขภาพจิต มาตั้งแต่ปี 2019 จนเริ่มทำ Mock up อารามอารมณ์ ใน BKK Design Week นับเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้รู้ว่าตลาดของ “การเดินทางภายใน” เป็นตลาดที่เฉพาะกลุ่มมาก 

Eyedropper Fill จึงเริ่มพัฒนางานด้านนี้เรื่อยมา อาศัยทรัพยากรจากประสบการณ์การทำงานกับองค์กรเอกชน ในการออกแบบงานแบบ Experiential Marketing จนออกมาเป็น “พาใจกลับบ้าน” ซึ่งปี 2023 ถูกนำไปจัดแสดงที่ River City ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม คู่ขนานกับศิลปินอื่นๆ เช่น Crybaby ก้องกาน ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิตใจ การรักตัวเองคล้ายๆ กัน 

จากนั้น ทาง MADD (ตะติยะ ซอโสตถิกุล และจักรพล จันทวิมล) มาเห็นงานจึงสนใจอยากให้มีงานนี้ MADD Seacon ศรีนครินทร์

“เราตั้งไข่ มาฝั่งที่มีทรัพยากร และพัฒนาต่อได้เรื่อยๆ ในเรื่องโอกาสทางธุรกิจมีหลายความท้าทาย คือ พื้นที่พวกนี้ ต้องใช้พื้นที่อย่างน้อยๆ 600 ตร.ม. เลย เท่ากับตึกแถว 3-4 ห้องเลย ถ้าไม่ได้พาร์ทเนอร์คือตาย เพราะค่าเช่าแพง”

“ถ้าพื้นที่ต้องมีอยู่แล้ว มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจทางฝั่งนี้เหมือนกัน เช่น สถานที่อย่าง Elderly Care (การดูแลผู้สูงอายุ) โรงเรียน โรงแรม ซึ่งเป็นพื้นที่หย่อนใจอยู่แล้ว คือมีพื้นที่ดูแลจิตใจก็น่าสนใจทำสิ่งนี้ หรือทำให้ออกมาเป็นส่วนๆ…ผมคิดว่า สินค้าบริการด้านนี้ ยังไงก็มีโอกาสโตแน่นอน จากทุกๆ สำนักที่มองเทรนด์ราว 2-5 ปี คิดว่ายังไงก็ไปได้ไกล”

เช่นเดียวกับ Aware Aware Space แม้จะออกตัวว่า “ไม่ถนัด” ทางธุรกิจเพราะเคยรู้สึกว่า ทำงานด้านนี้ “มันต้องฟรี” เพราะมองว่าทุกคนควรเข้าถึงได้

“มันต้องฟรีสิ ทั้งๆ ที่พวกเราก็ไม่มีเงิน จนมาถึงวันที่เราคิดว่า ไม่มีวันทำสิ่งดีๆ ได้ต่อ ถ้าเรายังกินไม่อิ่ม นอนไม่พอ ทุกข์ใจ ไม่แข็งแรง ตอนที่เราพูดกับผู้คน เราหลอกตัวเองไม่ได้ว่าเราไม่มีความมั่นคงบางอย่าง และเรารู้สึกว่าเราจริงแท้กับตัวเองมากพอ ที่จะทำให้รู้ว่า ชั้นไม่ชอบที่จะต้องมานั่งรู้สึกกังวลปากท้องว่า คอร์สนี้ค่าใช้จ่ายบวกลบมันเท่าไหร่นะ แล้วตอนที่เราสอน เราจะรู้สึกว่ามันไม่จริงๆ เพราะข้างในไม่มั่นคงมากพอ” ไข่มุกอธิบาย

ตอนนี้ทามและไข่มุก ใช้วิธีระบุช่วงราคาต่ำสุด และสูงสุด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเป็นผู้เลือกจ่ายเงินเองตามที่สะดวกและสมัครใจ แต่ก็ยังมีเขียนทิ้งท้ายไว้ให้คนที่ไม่มีทุนสามารถเข้าร่วมได้ฟรี

“ค่อยๆ เรียนรู้ ขยับราคาขึ้นมาเพื่อให้เรียนรู้ให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ใช่แค่เรา แต่คือการอยู่รอดของพื้นที่ที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่ปากกัดตีนถีบ แต่คือพื้นที่ที่จะสร้างประโยชน์ให้ผู้คน”

ทามเสริมว่า “บางรุ่นทักมาก 5 คน เราก็ให้ทุน 5 คน เราใช้วิธีแบบนี้เพื่อยั้งตัวเอง อย่างน้อยๆ ก็เขาทักมา ผมอยากดูใจด้วย ผมเชื่อกฎการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม งานฟรีบางทีไม่ไหว แต่ในมุมผู้ประกอบการมีคุ้มไหม ถ้าเรามีต้นทุนอยู่แล้วด้านนอก ถ้าสนใจเรื่องด้านใน คนที่คิดเชิงผู้ประกอบการ คิดว่ามันใหญ่ และใหม่มาก”

แม้ว่า จั๊วะ ทาม และไข่มุก ต่างมีความกังวลในการทำธุรกิจด้านนี้ จั๊วะ Eyedropper Fill มองว่า แต่ละศาสตร์ของการบำบัดเยียวยานั้นลึกซึ้ง หลายครั้งเกี่ยวข้องกับความเชื่อ และจิตวิญญาณ ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักบำบัด กระบวนกร ควรมีความเชี่ยวชาญในการทำงาน

“พอมันเชื่อมกับความเชื่อมาก ณ ตอนนี้ เรื่องของบริการ สายมูกับสาย Spiritual healer ก็จะไปทางๆ นั้นได้ ผมเปิดกว้างอยู่มาก ถ้า wellness (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม) ของคนมันโตมาก แการตระหนักของบุคลากรไม่ดี เราอาจเจอแม่หมอที่แนะนำผิดๆ ทักผิดหลักการจิตวิทยา ทำให้ภูมิเราเยอะขึ้น ให้เขากลับมามองมาดูกับเราบ่อยๆ หรือเอื้อประโยชน์ มันมีเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพเหมือนกัน มันต้องมีมาตรฐาน ซึ่งไทยยังไม่มีอยู่มาก แล้วสิ่งนี้ไม่สามารถย้อนกลับได้”

ขณะที่ Aware Aware Space กังวลเรื่องการผูกขาดรูปแบบกิจกรรมเยียวยา จนกลายเป็นฉาบฉวยว่าแบบนั้นดีที่สุด แบบนี้เวิร์คที่สุด โดยไม่มีพื้นที่ให้กับความหลากหลาย

“เช่นมาจัดดอกไม้กันเถอะๆ จริงๆ มันไม่ผิด เพราะมันคืออะไรก็ได้ที่เข้าถึงแก่นแกน แต่ถ้าเราหลงว่ามันดีที่สุด เหมาะกับทุกคน เราคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบจัดดอกไม้” ไข่มุกกล่าว  ขณะที่ ทามเสริมต่อว่า “แล้วก็ระมัดระวังอย่าให้เป็นเครื่องประดับทางจิตวิญญาณ”

และที่น่ากังวลมากเช่นกัน คือ การติดการยอมรับเชิงจิตวิญญาณ ของการเป็นกระบวนกร หรือนักบำบัด “บางคนต้องการได้รับคุณค่า เป็นหัวหน้า แต่อันนี้คือเป็นอีกขั้นตอน คุณเป็นคุรุบางอย่างทางจิตวิญญาณเป็นอะไรที่ละเอียดมาก ผมในฐานะกระบวนกร สมมติมีคนมาคุยกับผม คุยแล้วได้รับพลัง ผมรู้สึกดีที่ได้รับความชื่นชม แต่เราก็ต้องทำงานกับตัวเอง เขามอบให้ก็ดี เราก็ขอบคุณ ดีใจมาก แล้วก็วางไว้ตรงนั้น”

ท้ายสุด สิ่งที่ท้าทายคนทำงาน รวมถึงผู้ประกอบการด้านนี้ คือ กิจกรรมเหล่านี้ราคาต่อครั้งสูง เป็นบริการหรือสินค้าหรูหรา จี๊วะ Eyedropper Fill ให้ข้อมูลเพิ่มว่า กิจกรรมมีหลายราคา ตั้งแต่หลักร้อยไปจนหลักพัน แต่หากเทียบกับค่าวิชา การฝึกฝนและทำงาน นับว่า “สมเหตุสมผล”

“ค่าครองชีพ สวัสดิการของเรามากกว่า ที่ทำให้สิ่งนี้เป็นสิ่งหรูหรา จริงๆ มันมี ลำดับราคาของมัน แต่ถ้าไปตามโรงแรมรวบยอดเป็นหมื่นได้ แต่สุดท้าย แบบที่เขาต้องเตรียมทุกอย่างให้ แจกันเผื่อเลือก ดอกไม้เผื่อเลือก กระบวนกรก็ต้องมีลูกทีมที่คอยไปดู สังเกต แล้วกลับมาคุยกัน เพื่อจะเป็นของแต่ละคน รับทีได้แค่ 5-6 คน ทำที 3 ชั่วโมง มันสมเหตุสมผล”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า