SHARE

คัดลอกแล้ว

“หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินว่ามีการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันที่บ่งบอกว่าเราเป็นภูมิแพ้แฝงต่ออาหาร แล้วก็มีการอ้างว่า มันสัมพันธ์กับอาการทางคลินิก หรือว่าอาการของโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้ที่เขาโฆษณาให้ตรวจ จะเป็นภูมิคุ้มกันชนิด G (IgG(4) ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิด G ทางการแพทย์ หรือในทางภูมิแพ้เอง เราถือว่ามันเป็นการตรวจที่ใช้ติดตามการแพ้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับการแพ้อาหารแต่อย่างใด สำหรับภูมิคุ้มกันชนิด G” ผศ.ดร.นพ.สิระ นันทพิศาล กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย อธิบายถึงการตรวจหาอาการภูมิแพ้ ที่คนยังเข้าใจผิด ในรายการ Health Me Please หาหมอมาเล่า

⚫️ ทำความเข้าใจ “โรคภูมิแพ้” คืออะไร?

ผศ.ดร.นพ.สิระ อธิบายว่า โดยทั่วไปโรคภูมิแพ้เราจะบอกว่ามันเป็นภาวะ ที่ร่างกายสร้างปฏิกิริยา หรือปฏิกิริยาภูมิไวต่อสิ่งกระตุ้น ที่มากระตุ้นร่างกายเรา อาการของโรคภูมิแพ้สามารถแสดงอาการได้ในหลายระบบ เช่น อาการทางเดินหายใจ อย่างที่เรารู้จักกัน ภูมิแพ้จมูกอักเสบ เราก็จะมีอาการจาม คัน เมื่อสัมผัสสิ่งที่แพ้ เช่นไรฝุ่นในที่นอน เมื่อเราไปสัมผัสเราก็จะมีอาการจาม น้ำมูกไหล คันตา หรือว่าถ้าเป็นอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง เช่น การแพ้สัมผัสยางพารา เป็นต้น เวลาที่เราใส่ถุงมือยางพาราเราก็จะเกิดผื่นขึ้น 

โดยภาวะสำคัญที่จะพูดถึงกันแพร่หลายในปัจจุบันก็คือ การแพ้อาหาร หรือ ภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวต่อสารอาหาร ซึ่งจะแสดงอาการได้หลายแบบ เป็นอาการที่หลังจากที่หลังจากกินอาหารไปแล้ว เราจะมีอาการส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาการคันปาก มีอาการปวดท้อง มีผื่นลมพิษ ซึ่งบางคนก็มีอาเจียน มีท้องเสีย มีถ่ายเหลว บางคนก็อาจจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย แต่ว่าถ้าเป็นอาการแพ้อาหารแบบรุนแรงเลย เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะ Anaphylaxis

การแพ้อาหารในเด็ก – ผู้ใหญ่ ต่างกัน

หลักๆ การแพ้อาหารจะแบ่งเป็นกลุ่มอายุ คือการแพ้อาหารในเด็ก กับการแพ้อาหารในผู้ใหญ่ ตัวอาหารหลักเลยที่พบในเด็กและเป็นสาเหตุของการแพ้หลัก 5 ชนิด คือ นมวัว ไข่ไก่ แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง 

ส่วนในผู้ใหญ่จะแตกต่างกัน คือจะมีอาหารพวก กุ้ง ปู หรือว่าสัตว์น้ำมีเปลือก แพ้ถั่วลิสง แป้งสาลี แต่ว่าทั้งถั่วลิสง และแป้งสาลี อุบัติการณ์หรือว่าจำนวนของคนไข้ที่แพ้จริงก็จะน้อยกว่าในเด็ก

“ความสำคัญก็คือว่า ถ้าแพ้อาหารตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นไปมีโอกาสที่จะหายได้หากมีการเลี่ยงอาหารที่แพ้เป็นเวลาที่เหมาะสม เช่น การแพ้นมวัว ถ้าหากเลี่ยงเป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ 2-3 ปี เด็กก็จะมีโอกาสหายจากภาวะการแพ้นมวัวได้ ไข่ขาวก็เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งสองอย่างแพ้นมวัวและไข่ขาวมีโอกาสหายได้ อยู่ที่ประมาณสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์” ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าว

จะรู้ได้อย่างไร ว่าเราแพ้อาหารอะไรบ้าง ?

หลักๆ ของอาการแพ้ จะเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินอาหาร กินไปแล้วมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ซึ่ง 2 อย่างนี้มักจะเกิดขึ้น ในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากกินเข้าไป อาจจะประมาณครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง โดยบางรายถ้าเป็นเด็กเล็กหลังจากที่แพ้นมวัว กินไปแล้วอาการอาจจะเป็นช้าได้ คือ มีอาการถ่ายเหลว ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นเวลาสัก 4-8 ชั่วโมงขึ้นไป

นอกจากทางเดินอาหารแล้ว อาการถัดมาที่พบได้บ่อย ก็จะเป็นอาการทางผิวหนัง การแสดงออกก็จะเป็นผื่นลมพิษ ก็จะเป็นผื่นนูนแดง คัน เป็นทั่วร่างกายเลย อีกอันก็คือ อาการคันริมฝีปาก หนังตา มือเท้า บวม ซึ่งภาวะนี้เราจะเรียกว่า Angioedema หรือการบวมของผนังผิวหนังชั้นลึก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ที่แพ้อาหาร เพราะฉะนั้นเด็กหรือคนไข้ที่แพ้กุ้ง กินไปแล้วเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ก็มีอาการผื่นลมพิษขึ้น หน้าบวม ปากบวม จะเรียกว่าเป็นการแพ้กุ้งแบบอาการเกิดไว

ส่วนอาการระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ พบได้ แต่ค่อนข้างน้อย มักจะเกิดร่วมกับระบบอื่น เช่น กินไปแล้วมีน้ำมูกไหล กินไปแล้วในคนไข้ที่เป็นหอบก็อาจจะมีอาการหลอดลมตีบ แน่นหน้าอกเกิดขึ้นได้ คนไข้บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย เพราะว่าอาการแพ้รุนแรงมาก และบางครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่กินเข้าไป รวมถึงโรคประจำตัวของคนไข้เองหรือว่ากินยาบางตัวเป็นยาประจำ จะทำให้สามารถที่จะเกิดอาการแพ้อาหารรุนแรงได้และมีโอกาสเสียชีวิตได้

มีอาการแพ้อาหาร ต้องตรวจหาภูมิคุ้มกัน “อิมมูโนโกลบูลิน อี (IgE)” ที่มีต่ออาหารชนิดนั้นๆ

ประเภทของอาการแพ้ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ อาการที่เกิดขึ้นไว กับอาการที่เกิดขึ้นช้า การตรวจเลือดจะเป็นการตรวจที่จำเพาะเจาะจงสำหรับการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นไว เกิดในระยะเวลาสั้นๆ 30 นาที 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 4 ชั่วโมงหลังกินอาหารแล้วเกิดอาการ ซึ่งการตรวจจะเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จำเพาะเจาะจงต่ออาหาร ภูมิคุ้มกันชนิดนี้ เราเรียกว่าเป็นภูมิคุ้มกันชนิด อี หรือว่า IgE อย่างเช่น ผู้ป่วยแพ้กุ้ง กินกุ้งเข้าไปแล้วมีอาการหน้าบวม ปากบวม หรือเกิดผื่นลมพิษ เวลาที่เราไปตรวจหา เราจะตรวจหา IgE ต่อกุ้ง และร่วมกับประวัติการแพ้ที่ผ่านมา

แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เกิดอาการช้า เช่น อาการทางเดินอาหารมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย จะไม่มีการตรวจเลือดเฉพาะ แต่การตรวจหลักในการวินิจฉัยเพื่อยืนยันการแพ้ คือว่าคนไข้จะต้องเลี่ยงอาหารที่สงสัยก่อน แล้วก็มาทดสอบด้วยการกิน แล้วดูว่าเกิดอาการเดียวกับที่คนไข้สงสัยว่าตัวเองแพ้หรือเปล่า ซึ่งต้องให้คนไข้หยุดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทดสอบด้วยการกิน แล้วถ้าเกิดอาการเหมือนกัน เพื่อให้สามารถสรุปว่าคนไข้น่าจะแพ้อาหารจริง โดยแนะนำว่า ไม่ควรทำการทดสอบการแพ้อาหารเองเด็ดขาด

โดยแพทย์ย้ำว่า บางอาการที่เกิดขึ้น ก็อาจไม่เกี่ยวกับภูมิแพ้อาหารเลย เช่น ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัวไมเกรน ไม่สบายตัว ท้องอืด ซึ่งไม่ใช่อาการจากการแพ้อาหาร โดยยกตัวอย่าง ปวดไมเกรน จะมีอาหารบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น กล้วยหอม ช็อกโกแลต ชีส
อาจทำให้คนสับสนได้ เพราะบางครั้งอาการก็เกิดหลังกินอาหาร ที่สำคัญในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ยังไม่พบว่าอาการเหล่านี้สัมพันธ์กับการแพ้อาหาร ดังนั้นเมื่อเกิดอาการแบบนี้ ให้พบแพทย์ เพื่อรักษาตามอาการ และไม่แนะนำให้ตรวจ “ภูมิแพ้อาหารแฝง”

ตรวจพบภูมิคุ้มกัน IgG(4) หมายความว่า เราเคยแพ้ แต่หายแล้ว

“หลายๆ ท่าน อาจจะเคยได้ยินนะครับว่า มีการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันที่บ่งบอกว่าเราเป็นภูมิแพ้แฝงต่ออาหาร แล้วก็มีการอ้างว่ามันสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกหรือว่าเกี่ยวกับตัวอาการของโรคจริง ซึ่งก็มีการตรวจภูมิคุ้มกันคล้ายๆ กันกับเมื่อกี๊ แต่ว่าภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชนิด G (IgG(4)) ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิด G จริงๆ แล้วทางการแพทย์หรือในทางภูมิแพ้เอง เราถือว่า เป็นการตรวจที่ใช้ติดตามการแพ้ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง เช่น เด็ก หากมีภาวะการแพ้ไข่ แพ้นม แล้วมีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิด E  เรามีการตรวจ และเด็กมีการเลี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงได้ต่อเนื่อง ปรากฎว่าเด็กที่เขาทนทานและหายจากการแพ้นมวัวหรือว่าไข่ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันชนิด E พอเขาหายแล้ว เขาจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด G ขึ้นมาด้วยซ้ำ” 

นั่นหมายความว่าการที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด G ต่ออาหาร แปลว่าเราสามารถบริโภคอาหารนั้นได้ โดยที่ไม่ได้เกิดอาการแพ้ เพราะฉะนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับการแพ้อาหารแต่อย่างใด สำหรับภูมิคุ้มกันชนิด G และเมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับภาวะภูมิแพ้แฝงหรือไม่ แพทย์ ย้ำว่า
เราไม่ได้มีคำจำกัดความอย่างชัดเจน ในทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะภูมิแพ้แฝงต่ออาหาร แล้วก็ภูมิคุ้มกันชนิด G จริงๆ แล้ว มันเกี่ยวข้องกับการที่เราบริโภคอาหารนั้นได้ด้วยซ้ำ เราเองน่าจะเคยกินอาหารในชีวิตมาเป็นร้อยอย่าง เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกไปถ้าเรากินอาหารนั้นได้ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันชนิด G ต่ออาหารนั้นเกิดขึ้น ถ้าเราไปเจาะเลือดดูแน่นนอนครับว่าถ้าเราตรวจไปแล้ว เราจะต้องมีภูมิคุ้มกันชนิด G ต่ออาหารเป็นร้อยอย่างแน่นอน มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการภูมิแพ้ในร่างกายเลย”

ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ในทางการแพทย์โดยเฉพาะทางภูมิแพ้วิทยา จะไม่ใช้การตรวจภูมิคุ้มกันชนิด G เพื่อเป็นการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้อาหารเลย ในทางสมาคมโรคภูมิแพ้ฯ เคยออกประกาศ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยประเทศเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโรคภูมิแพ้ของอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ก็ไม่สนับสนุนนการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด G เพื่อดูว่าเราแพ้อาหาร หรือใช้วินิจฉัยภาวะแพ้อาหารหรือเปล่า

สงสัยว่าแพ้อาหาร ให้พบแพทย์เฉพาะทาง ป้องกันเสียเงินฟรี 

“คนไข้ที่สงสัยว่าตัวเองแพ้อาหาร อย่างแรกเราต้องดูอาการก่อน ว่าเรามีอาการที่เข้าได้กับการแพ้อาหารหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าตัวเองมีความผิดปกติแพ้อาหารจริง แนะนำว่าควรจะไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอาการที่เกิดขึ้น เป็นอาการของการแพ้อาหารหรือไม่ ถ้าไม่ใช่แล้วการตรวจเลือดไม่มีความจำเป็น แต่ถ้าอาการเข้าได้ การตรวจเลือดที่ช่วยวินิจฉัยการแพ้อาหาร คือ การตรวจภูมิคุ้มกันชนิด E อย่าตัดสินใจไปตรวจเอง โดยที่ยังไม่ได้พบแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้ เพราะว่าอาจจะเป็นการเสียเงิน โดยที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน และสุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นตัวเองต้องเลี่ยงอาหารไปโดยปริยาย และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่ายกาย ก็คือเกิดภาวะทุพโภชนาการเกิดขึ้น เพราะผักผลไม้หลายๆ อย่างที่เราบอกว่าต้องเลี่ยง จะกลายเป็นว่าเราขาดวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญกับร่างกาย จริงๆ อาการที่เป็นภูมิแพ้แฝง อาการที่อยู่ในวงการภูมิแพ้ ไม่มี ไม่มีคำนี้อยู่จริง เพราะอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็อย่างที่บอกแล้วว่า มันไม่ได้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอย่างเดียว มันเกิดจากสาเหตุอื่นมากมาย เพราะฉะนั้นก็ ไม่แนะนำหากเป็นการตรวจเพื่อหาภูมิแพ้แฝงในร่างกาย” กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า