SHARE

คัดลอกแล้ว

ว่ากันว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฮอลลีวูดยังคงผลิตหนังทุนสูงชนิดชนิดที่ว่าไม่ต้องคำนึงถึงเพดานใดๆ ก็เพราะฮอลลีวูดมีตลาดจีนรองรับอยู่ สำหรับฮอลลีวูดแค่ตลาดจีนตลาดเดียวก็แทบจะสร้างกำไรมหาศาลจนนับไม่หมดแล้ว  ทั้งนี้เนื่องจากจีนมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และยังเป็นประเทศที่ยอดขายตั๋วชมภาพยนตร์สูงที่สุดในโลก (เฉพาะในปีที่แล้วยอดขายตั๋วมีจำนวน 1.73 พันล้านใบ)

ในบางกรณีหนังทุนสูงที่อาจล้มเหลวในอเมริกาแต่เมื่อมาเปิดตัวที่ประเทศจีนกลับทำรายได้มหาศาลจนสามารถพลิกวิกฤตจากการขาดทุนกลายมาเป็นกำไรอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ ยกตัวเช่นกรณีของภาพยนตร์เรื่อง Warcraft ซึ่งภาพยนตร์ดัดแปลงจากเกมออนไลน์ชื่อดังมีทุนสร้างสูงถึง 160 ล้านเหรียญแต่ทำรายได้ในอเมริกาเพียงแค่ 47 ล้านเหรียญ  หากพิจาราณาจากทุนสร้างอย่างเดียว หนังเรื่องนี้ขาดทุนย่อยยับชนิดที่ไม่เห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์  อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังเข้าฉายในประเทศจีน และทำรายกว่า 225 ล้านเหรียญ  สถานการณ์ก็เริ่มพลิกกลับ และเมื่อบวกกับรายได้จากทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) อีก  166 ล้านเหรียญ ทำให้สุดท้าย Warcraft ทำรายได้ทั่วโลกรวมกันกว่า 439 ล้านเหรียญ รอดตัวจากการขาดทุนไปหลายช่วงตัว
จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดภาพยนตร์จีนที่ฮอลลีวูดจำเป้นต้องยึดเกาะและไม่ปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆจึงไม่น่าแปลกใจที่ฮอลลีวูดจะยอมจีนในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มบทนักแสดงจีนลงไปในหนังอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่องX-Men: Days of Future Past (2014) ที่มีฟานปิงปิงรับบทเล็ก ๆ ในเรื่อง  หรือ การยอมเพิ่มฉากเมืองเซี่ยงไฮ้เข้าไปในหนังเรื่อง Looper (2012)  แทนที่เมืองปารีส เพื่อที่จะทำให้นายทุนจากจีนยอมร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตามตัดภาพมาในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐอเมริกาทวีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่สงครามการค้าที่ดูเหมือนจะสงบลงเมื่อปีที่แล้วแต่กลับมาปะทุอีกครั้งในปีนี้มาจนถึงข้อกล่าวหาของสหรัฐต่อจีนว่าเป็นผู้ต้นเหตุของโรคระบาดโควิด 19  การเข้าแทรกแซงของสหรัฐต่อกรณีฮ่องกง และกรณีรัฐบาลสหรัฐผ่านร่างกฎหมายถอดถอนบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นโดยทันที  แม้ว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีบุคคลใดหรือองค์กรใดในภาคธุรกิจภาพยนตร์ในอเมริกา ออกมาให้ความเห็นถึงความขัดแย้งระลอกใหม่ของทั้งสองรัฐบาล แต่เชื่อได้ว่าผู้คนในฮอลลีวูดต่างอยู่ไม่สุขกันแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อต้องคิดถึงคำตอบของคำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากความขัดแย้งพัฒนาไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทุกระดับ ซึ่งรวมถึงมิติทางด้านวัฒนธรรมอย่าง”ภาพยนตร์”
แต่ก่อนที่จะว่าถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับวงการภาพยนตร์หากความขัดแย้งระลอกล่าสุดเกิดบานปลาย  ผู้เขียนขออนุญาตพาผู้อ่านย้อนกลับไปศึกษาจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับฮอลลีวูดก่อนว่าเมีความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดจึงพัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นตลาดสำคัญของฮอลลีวูดจนถึงทุกวันนี้

The Fugitive ใบเบิกทางความสัมพันธ์

ภาพยนตร์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เผยแพร่อุดมการของคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ประเทศสาธราณะรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นในปี 1949 `โดยในระยะแรกภาพยนตร์ที่ฉายให้ประชาชนได้ชมกันเกือบทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตโดยรัฐโดยมีภาพยนตร์ต่างประเทศถูกนำเข้ามาฉายบ้างเล็กน้อยส่วนใหญ่เป็นของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงระหว่างปี 1966- 1976 อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนต้องหยุดชะงัก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่ขัดกับอุดมการการปฏิวัติ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แม้ว่าในระยะแรกภาพยนตร์ที่รัฐสร้างขึ้นจะได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย (โดยเฉพาะในปีแรกหลังปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุด ยอดขายตั๋วภาพยนตร์สูงถึง 29.3 พันล้านใบ!!)
แต่ด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เชิดชูอุดมการณ์ของรัฐ จึงทำให้ผู้ชมค่อย ๆ ถอยห่างจากโรงภาพยนตร์ จนในที่สุดรัฐบาลต้องออกมาตรการดึงคนดูกลับเข้าโรงภาพยนตร์หลายมาตรการ และหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การอนุญาตให้มีการนำเข้าหนังต่างประเทศคุณภาพเข้ามาฉาย โดยภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรกในรอบหลายสิบปี เป็นภาพยนตร์จากฮอลลีวุดที่ออกฉายในปี 1993 นำแสดงโดย แฮริสัน ฟอร์ด เรื่อง The Fugitive

 

The Fugitive เข้าฉายในประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนปี 1994 และทำรายได้สูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐแม้ว่าความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง The Fugitive ทำให้คนดูกลับเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้ง  แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลจีนอยู่ไม่น้อย พวกเขามองว่าภาพยนตร์จากฮอลลีวูดจะกลายเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ในปี 1996 รัฐบาลจึงกำหนดโควตาการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยจำกัดเพียงปีละ 10 เรื่องเท่านั้น แล้วให้สิทธิ์การจัดจำหน่ายแก่สองบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐได้แก่ China Film Group และ Huaxia Film Distribution
อย่างไรก็ตามโควตานำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศเพียงปีละ 10 เรื่องไม่เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทภาพยนตร์จากฮอลลีวูดที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของตลาดภาพยนตร์จีนจึงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลจีนขยายโควตาเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นผลเพราะรัฐบาลจีนยืนกรานไม่ต้องการให้ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากเกินไป
จุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อประเทศจีนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ผลจากการเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าวทำให้จีนต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้าหลายอย่างให้สอดรับกับแนวทางขององค์กรหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการค้าแบบสรี  รัฐบาลอเมริกันจึงถือโอกาสนี้บีบให้จีนคลายกฏเกณฑ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าภาพยนตร์ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ รัฐบาลได้ขยายโควตาการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น 34 เรื่องต่อปีในปัจจุบัน

ระบบโควตา เงื่อนไขที่ทำให้เกิดหนังฮอลลีวูดสัญชาติจีน

แม้ว่าระบบโควตาจะเพิ่มจำนวนภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับหลายๆชาติโดยเฉพาะกับฮอลลีวูดที่ได้รับสัดส่วนการนำเข้ามากที่สุดและทำรายได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ชาติอื่นๆ  จึงได้มีความพยายามในการหาช่องทางในการทำให้ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดได้มีโอกาสเข้าไปฉายในประเทศจีนโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง บริษัท China Film Group หรือ บริษัท Huaxia  Film Distribution ที่ได้รับสิทธิ์ให้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในจีน โดยวิธีเดียวที่ต้องทำคือ  การหาผู้ร่วมทุนในประเทศจีนเพื่อเพิ่มสัญชาติจีนให้กับภาพยนตร์ บริษัทภาพยนตร์อเมริกันที่ใช้วิธีนี้มีตั้งแต่ สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง ค่าย Universal ที่ร่วมทุนกับบริษัท China Film Group ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious 7 (2015)  หรือ ค่าย Paramount Pictures ร่วมทุนกับ Alibaba ของแจ็ค หม่า ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible : Fall Out (2018) ไปจนถึง สตูดิโออิสระอย่าง Lionsgate ที่ร่วมกับ Hunan TV สถานีโทรทัศน์ชั้นนำของจีน ผลิตภาพยนตร์เรื่อง God of Egypt (2016)  และ Now You See Me 2 (2016) เป็นต้น

แม้ว่ากระบวนการร่วมทุนระหว่างฮอลลีวูดกับบริษัทภาพยนตร์จีนจะต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขหลายข้อเช่น 1) ต้องยื่นบทให้สำนักงานร่วมผลิตภาพยนตร์หรือ China Film Co-Production Corporation (CFCC) ตรวจสอบก่อนถึงจะสร้างได้และ 2 ต้องสอดแทรก”ความเป็นจีน”เข้าไปในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังของเรื่องหรือตัวละครจีนที่ต้องมีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม แต่บริษัทภาพยนตร์อเมริกันหลายแห่งล้วนแต่ยอมรับโดยดีเนื่องจากเล็งเห็นว่าตลาดภาพยนตร์จีนเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ 2010 จนถึงปัจจุบันและภาพยนตร์อเมริกันโดยเฉพาะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของสตูดิโอมักเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆของผู้ชม
อย่างไรก็ตามในความราบรื่นของสัมพันธ์ระหว่างฮอลลีวูดกับประเทศที่ตลอดทศวรรษที่ 2010 ได้เกิดสัญญาณของความไม่มั่นคงขึ้นภายหลังจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศสงครามการค้ากับประเทศจีนในปี 2018 ด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าหลายประเภท และจีนก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าอเมริกันเช่นกัน (สถานการณ์มาเริ่มคลี่คลายในช่วงกลางปี 2019 เมื่อทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นได้)
แม้ว่าจนถึงปัจจุบันธุรกิจภาพยนตร์ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและภาพยนตร์จากฮอลลีวูดยังคงกอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่ (เรื่องล่าสุดคือ Avengers Endgame ที่ทำรายได้ 614ล้านเหรียญ)  แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด 19  ตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้น ความตึงเครียดระลอกใหม่ได้เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ รัฐบาลทรัมป์กล่าวหารัฐบาลจีนว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดของโรคโควิด 19 มาจนถึง การผ่านร่างกฎหมายถอดถอนบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้น และล่าสุดคือความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามการค้าระลอกใหม่
คำถามที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งขึ้นมาก็คือหากความขัดแย้งบานปลายไปจนถึงขั้นทั้งสองประเทศตัดสัมพันธ์กันทุกมิติธุรกิจภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูดจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดจีนในการเพิ่มรายได้จะเป็นอย่างไร 

เมื่อฮอลลีวูดต้องไร้ตลาดจีน

หากไม่นับว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดอาจกลายเป็นสิ่งต้องห้ามแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในอิหร่านหรือเกาหลีเหนือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นถ้าภาพยนตร์อเมริกันและบริษัทภาพยนตร์อเมริกันทั้งเล็กและใหญ่ต้องเสียตลาดจีนไปมีดังนี้

1. รายได้มหาศาลที่ต้องหายไป  หากพิจารณาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ทำเงินล่าสุดในประเทศจีน 3 เรื่องในปี 2019 ได้แก่ 

เท่ากับว่ารายได้ box office ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่เฉพาะในประเทศจีนจะอยู่ระหว่าง 17-27%  ของรายได้ทั้งโลก และถ้าหากสัดส่วนรายขนาดนั้นต้องหายไป ก็ต้องถือว่าเป็นความเสียหายไม่น้อยสำหรับสตูดิโอใหญ่

2. ทุนสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยนผลจากการที่ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากจากประเทศจีนอาจทำให้บริษัทฮอลลีวูดหลายแห่งต้องหันกลับมาทบทวนทุนการสร้างภาพยนตร์ใหม่ เพราะโดยหลักการของการวางแผนสร้างภาพยนตร์สักเรื่องของบริษัทผลิตภาพยนตร์การคำนึงถึงรายได้ล่วงหน้า ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจลงทุนสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง ดังนั้นถ้าต้องสูญเสียตลาดจีนซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกไป ทุนสร้างภาพยนตร์อาจต้องลดลงด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนและเมื่อทุนสร้างต้องลดลงโอกาสที่จะเห็นหนังฟอร์มยักษ์ถูกสร้างขึ้นแบบแต่ก่อนก็ต้องลดลงตามไปด้วย

3. ฮอลลีวูดอาจต้องหาโมเดลในการเข้าตลาดจีนใหม่ด้วยการ “สลายความเป็นอเมริกันลง” โดยบริษัทสตูดิโอใหญ่ๆ อาจต้องไปเปิดบริษัทในประเทศที่ไม่ได้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับประเทศจีน เช่นอังกฤษหรือประเทศในยุโรบจากนั้นก็ทำการร่วมทุนกับบริษัทภาพยนตร์ในจีนเพื่อให้เข้าเงื่อนไขของการเป็นภาพยนตร์ร่วมทุนจะได้หลีกเลี่ยงการต้องไปลุ้นระบบโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ  หรือ ถ้าไม่ร่วมทุนกับบริษัทในภาพยนตร์จีนก็ต้องหาวิธีดีลกับบริษัทที่ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ คือ China Film Group  และ Huaxi Film Distribution เพื่อผลักดันให้หนังได้เข้าสู่โควตาการฉาย แต่วิธีดังกล่าวก็มีความซับซ้อนไม่น้อย โดยเฉพาะทำอย่างไรที่จะสลายความเป็นอเมริกันในหนังอเมริกัน

แม้ว่าจนถึงเวลานี้ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลอเมริกันยังคงตอบโต้กันไปมา และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่หลายฝ่ายที่มองโลกในแง่ดีก็ยังคงคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเลวร้ายไปกว่าการทำสงครามน้ำลายไปมาแต่ถ้าความขัดแย้งต้องพัฒนาไปสู่จุดแตกหักที่ทุกคนไม่อยากจินตนาการให้เกิด  เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์โลก ในวันที่ฮอลลีวูดไม่อาจสามารถครองโลกทั้งใบได้เหมือนเดิม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า