SHARE

คัดลอกแล้ว

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้พิจารณา

วันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีคำร้องที่ 394-396/2564 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้พิจารณา โดยอ้างว่า การนับระยะเวลาหรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ

กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 35(1)(4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีในคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221- 223/2562ให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850,000,000 บาท

คืนหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท กับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเคยมีมติในคราวประชุมใหญ่ ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ว่า ในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้น

ต่อมาหลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขณะที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมยังไม่ครบกำหนด แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้นจะเป็นการฟ้องคดีปกครองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 50 หรือมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการเป็นต้นไปก็ตาม

ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ

การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มีนาคม 2544 เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาโดยอาศัยข้อกฎหมายกรณีการเริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544

แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงมติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา ให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว หรือถ้าผู้นั้นยังรับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใดๆ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น คงมีความหมายแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นคำพิพากษาที่ใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลงเท่านั้น

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17มีนาคม 2564 ที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 410 – 412/2557 หมายเลขแดงที่ อ. 221 – 223/2562 ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ อ. 410 – 412/2557หมายเลขแดงที่ อ.221- 223/2562 นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542แต่อย่างใด

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้พิจารณา

 

  • คดีที่เรียกกันว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์” มีที่มาอย่างไร

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หวังแก้ปัญหาเรื่องการจราจร

โดยกระทรวงคมนาคมได้เริ่มเปิดการประมูล ในเดือนตุลาคม 2533 ซึ่งมี บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เพียงรายเดียวเสนอชื่อเข้าร่วม และชนะการประมูล และเซ็นสัญญาสัมปทานวันที่ 9 พ.ย.2533 โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี ข้อตกลงว่าบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด วงเงินลงทุนโครงการ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี (6 ธ.ค.2534 – 5 ธ.ค.2542) โดยผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง

แต่การก่อสร้างโครงการก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณข้างทางรถไฟและการการย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด ที่มีเงื่อนไขการผูกขาด และประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทน

ต่อมาในสมัย รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีพันเอกวินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วง ปี 2535–2538 ได้พยายามผลักดันโครงการโฮปเวลล์ต่อ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องทุน หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และเรื่องแบบก่อสร้างที่พบว่าระยะห่างระหว่างรางรถไฟกับไหล่ทางมีน้อยเกินไป ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล นอกจากนี้ ในสัญญาไม่ได้ระบุเวลาไว้ว่าโครงการจะก่อสร้างเสร็จเมื่อใด ทำให้ บ.โฮปเวลล์ มีสิทธิ์โดยชอบที่จะไม่ทำโครงการให้เสร็จ

สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2538 – 2539) มีพรรคพลังธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการ ได้เร่งรัดการก่อสร้างอีกครั้ง พร้อมทั้งให้ยืนยันเรื่องผู้รับเหมาและแหล่งเงินทุน แต่โครงการก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

กระทั่งในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2539 – 2540) การก่อสร้างโฮปเวลล์ได้หยุดดำเนินการลง ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัมปทาน

การยกเลิกสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์ มีผลอย่างเป็นทางการในสมัยที่ นายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ม.ค. 2541 หลังดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.77% เท่านั้น

ภายหลังสัญญาสิ้นสุดลง รฟท. ได้พยายามนำโครงการที่สร้างไปแล้วมาพัฒนาต่อ โดยนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ในโรงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ทำให้ บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา จากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. เรียกร้องค่าชดเชย 28,000 ล้านบาท เพื่อให้กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนทำสัญญา เพราะมองว่าการที่ รฟท. ใช้ประโยชน์จากโครงการเดิม ถือเป็นการเวรคืนพื้นที่สัมปทาน

ขณะนั้น คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาดว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม จึงสั่งให้จ่ายเงินชดเชยกับ บริษัทโฮปเวลล์ 11,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท, ค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่บริษัทจ่ายไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และค่าออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน 38.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ให้โฮปเวลล์

แต่ข้อพิพาทกลับไม่จบลงเพียงเท่านั้น กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้ร้องศาลปกครอง ว่าข้อพิพาทนี้ไม่อยู่ในขอบเขตของอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดกับกระทรวงคมนาคมและ รฟท. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2557

วันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาชั้นต้น ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายเงินคืนบริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปี ภายใน 180 วัน

ซึ่งเมื่อคดีเดินทางมาจนถึงปัจจุบัน ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยก็ขยับไปมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา สั่งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินคืน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปี ภายใน 180 วัน หลักบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือ โครงการโฮปเวลล์ อย่างไม่เป็นธรรม

อ่านคำศาลปกครองฉบับเต็ม คลิก 1646382863_14846_10-2565

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า