Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คดีโฮปเวลล์เดินถึงปลายทาง รัฐบาลไทยสู้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผลศาลปกครองสูงสุดชี้ไม่ใช่เรื่องศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือทำให้กระบวนการพิจารณาคดีบกพร่องทำให้คดีไม่มีความยุติธรรม  ส่วนหลักฐานเรื่อง บ.โฮปเวลล์เป็นต่างด้าวผิดกฎหมายในเวลานั้น ที่อาจทำให้โมฆะตั้งแต่ต้น ศาลฯ ชี้ ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติเป็นที่ยุติแล้ว เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

คดีโฮปเวลล์ ปรากฏเป็นข่าวดัง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา สั่งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินคืน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน หลังบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือ โครงการโฮปเวลล์ อย่างไม่เป็นธรรม

คดีดังกล่าวยังไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น เมื่อฝ่ายรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังพยายามหาทางพลิกคดี โดย 18 ก.ค.2562 ได้มีหนังสือขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยโต้แย้งว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด ซึ่งนอกจากจะโต้แย้งข้อกฎหมายและผลการวินิจฉัย ยังได้ยกเอากรณีที่พบใหม่ว่า บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่ถูกต้อง มีผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ถือหุ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขัดกับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น ที่ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาล จะทำให้การทำสัญญาที่ผ่านมา และการที่รัฐบาลไทยแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นโมฆะไปด้วย

ต่อมา 23 ส.ค. 2562 ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยหักล้างทุกประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลไทยยื่นมา รวมทั้งเรื่องที่บริษัทโฮปเวลล์ เป็นการดำเนินการของคนต่างด้าว โดยระบุว่า มิได้เป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นใหม่ อันมีผลให้ข้อเท็จจริง ที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ความพยายามอีกครั้งคือยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเป็นที่มาของการนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 22 ก.ค. 2563 โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา เนื่องจากข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ที่แม้จะแตกต่างไปจากความเห็นของผู้ร้องแต่มิใช่ที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือทำให้กระบวนการพิจารณาคดีบกพร่องทำให้คดีไม่มีความยุติธรรม

ส่วนกรณีหลักฐานใหม่ที่พบว่า บริษัทโฮปเวลล์จดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าวไม่ถูกต้อง ศาลระบุว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ตั้งแต่ในขณะเข้าทำสัญญาโดยหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นเอกสารมหาชนซึ่งทุกคนสามารถขอเข้าตรวจสอบจากทางราชการได้ และหนังสือรับรองดังกล่าวจะต้องยื่นประกอบการลงนามในสัญญา ขณะที่ฝ่ายของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ก็ทราบว่า บริษัทโฮปเวลล์มีบริษัทแม่ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันการที่บริษัทโฮปเวลล์ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกอบธุรกิจ และกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบกิจการตามที่ลงนามในสัญญาจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อน เป็นข้อกฎหมายที่มิอาจปฏิเสธการไม่รู้ได้ และร่างสัญญาต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสุงสุด) ก่อนลงนาม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐย่อมจะต้องตรวจสอบและต้องรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว การไม่ตรวจสอบถึงความมีอยู่ของข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งไม่เคยยกขึ้นมาต่อสู้คดีมาก่อน จึงเป็นความบกพร่องของฝ่ายผู้ร้องเอง เอกสารตามที่กล่าวอ้างจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติเป็นที่ยุติแล้ว เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ศาลปกครองสูงสุดยังยืนยันด้วยว่า ศาลปกครองชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และเมื่อพิจารณาว่าคำขอพิจารณาคดีใหม่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ก็มีอำนาจสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ซึ่งด้วยเหตุผลของการไม่รับคำขอนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้ว

จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

คดีที่เรียกกันว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์” มีที่มาอย่างไร

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หวังแก้ปัญหาเรื่องการจราจร

โดยกระทรวงคมนาคมได้เริ่มเปิดการประมูล ในเดือนตุลาคม 2533 ซึ่งมี บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เพียงรายเดียวเสนอชื่อเข้าร่วม และชนะการประมูล และเซ็นสัญญาสัมปทานวันที่ 9 พ.ย.2533 โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี ข้อตกลงว่าบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด วงเงินลงทุนโครงการ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี (6 ธ.ค.2534 – 5 ธ.ค.2542) โดยผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง

แต่การก่อสร้างโครงการก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณข้างทางรถไฟและการการย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด ที่มีเงื่อนไขการผูกขาด และประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทน

ต่อมาในสมัย รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีพันเอกวินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วง ปี 2535–2538 ได้พยายามผลักดันโครงการโฮปเวลล์ต่อ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องทุน หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และเรื่องแบบก่อสร้างที่พบว่าระยะห่างระหว่างรางรถไฟกับไหล่ทางมีน้อยเกินไป ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล นอกจากนี้ ในสัญญาไม่ได้ระบุเวลาไว้ว่าโครงการจะก่อสร้างเสร็จเมื่อใด ทำให้ บ.โฮปเวลล์ มีสิทธิ์โดยชอบที่จะไม่ทำโครงการให้เสร็จ

สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2538 – 2539) มีพรรคพลังธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการ ได้เร่งรัดการก่อสร้างอีกครั้ง พร้อมทั้งให้ยืนยันเรื่องผู้รับเหมาและแหล่งเงินทุน แต่โครงการก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

กระทั่งในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2539 – 2540) การก่อสร้างโฮปเวลล์ได้หยุดดำเนินการลง ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัมปทาน

การยกเลิกสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์ มีผลอย่างเป็นทางการในสมัยที่ นายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ม.ค. 2541 หลังดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.77% เท่านั้น

ภายหลังสัญญาสิ้นสุดลง รฟท. ได้พยายามนำโครงการที่สร้างไปแล้วมาพัฒนาต่อ โดยนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ในโรงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ทำให้ บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา จากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. เรียกร้องค่าชดเชย 28,000 ล้านบาท เพื่อให้กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนทำสัญญา เพราะมองว่าการที่ รฟท. ใช้ประโยชน์จากโครงการเดิม ถือเป็นการเวรคืนพื้นที่สัมปทาน

ขณะนั้น คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาดว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม จึงสั่งให้จ่ายเงินชดเชยกับ บริษัทโฮปเวลล์ 11,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท, ค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่บริษัทจ่ายไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และค่าออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน 38.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ให้โฮปเวลล์

แต่ข้อพิพาทกลับไม่จบลงเพียงเท่านั้น กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้ร้องศาลปกครอง ว่าข้อพิพาทนี้ไม่อยู่ในขอบเขตของอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาทได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดกับกระทรวงคมนาคมและ รฟท. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2557

ข้อมูลเมื่อ เม.ย. 2562

วันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาชั้นต้น ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายเงินคืนบริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปี ภายใน 180 วัน

ซึ่งเมื่อคดีเดินทางมาจนถึงปัจจุบัน ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยก็ขยับไปมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า