โลกกำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดสัปดาห์สูงสุด หวั่นส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค. 2023) ระบุว่า โลกเพิ่งจะมีสัปดาห์ที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เมื่อดูจากข้อมูลเบื้องต้น หลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิ.ย.
ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ ฮิววิตต์ ผู้อำนวยการ WMO เผยว่า ความอุ่นที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในเดือนมิ.ย.และต้นเดือนก.ค. เป็นผลมาจากจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่ความร้อนบนผืนดินและมหาสมุทรที่จะเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นรูปแบบสภาพภูมิอากาศที่มักจะเกี่ยวข้องกับการที่อุณหภูมิอากาศปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของโลก และเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก โดยปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024
ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2016 ที่นับว่ารุนแรงแล้ว จนอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกขึ้นไปสูงที่สุดอยู่ที่ 16.94 องศาเซลเซียส ในวันที่ 16 ส.ค. 2016 แต่เมื่อ 3 ก.ค. 2023 ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกพุ่งขึ้นไปถึง 17.01 องศาเซลเซียส และขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปถึง 17.24 องศาเซลเซียสในวันที่ 7 ก.ค.
นอกจากอุณหภูมิตลอดช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมจะสูงเป็นสถิติแล้ว แถลงการณ์ของ WMO ยังระบุถึงระดับน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติก ที่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เคยมีการเริ่มใช้ดาวเทียมสำรวจ โดยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 17% ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล
เนื่องจากโดยปกติแล้ว การลดลงของน้ำแข็งอย่างฉับพลัน มักจะเกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ทางขั้วโลกเหนือ และมักจะไม่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอนตาร์กติกทางขั้วโลกใต้
ซึ่งจากการที่น้ำแข็งในแถบขั้วโลกลดลง นอกจากจะเป็นสัญญาณเตือนถึงอุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในที่สุด
https://www.aljazeera.com/news/2023/7/10/last-week-the-planets-hottest-on-record