SHARE

คัดลอกแล้ว

รายได้ไม่ทันรายจ่าย-หนี้เกาะหลัง คนไทยเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หมดที่พึ่ง เศรษฐกิจไทย 2025 เผาจริง

การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเต็มที่ ส่งออกก็เจอสงครามภาษี แถมยังมีปัญหาสินค้าไหลบ่าจากจีน เศรษฐกิจไทยหันไปทางไหนก็เจออุปสรรค ส่วนหนี้ครัวเรือนก็ยังไม่ค่อยดีขึ้น หรือว่าปีนี้จะเป็นปี ‘เผาจริง’ แล้ว?

รายการ HEADLINE สำนักข่าว TODAY ชวนมองภาพกว้างเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนไทยไปกับ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)

[Unknown Unknowns – ไม่รู้แล้ว ว่าไม่รู้อะไร]

เศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่งเริ่มมีปัญหาหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันมาตลอดตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.​2554 โดยศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถโตได้ตามเป้า และภาระหนี้สินหลังน้ำท่วมก็มากยิ่งขึ้น จนมาผนวกกับเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดเป็น ‘Income Shock’ หรือหลุมรายได้ ที่อยู่ดีๆ รายได้ก็หายไป 

ขณะที่ ‘เครื่องยนต์’ ในการทำมาหากินสร้างรายได้ของไทย ก็ประสบปัญหาในทุกส่วน ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ฉายภาพให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถูกเผา ซึ่งนอกจากเติบโตช้าแล้ว ยังต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เช่น ‘China Flooding’ หรือ การไหลบ่าของสินค้าจากจีน ขณะที่การส่งออกก็เจอปัญหาเรื่องภาษี การท่องเที่ยวก็เริ่มไม่แน่ใจว่าสามารถที่จะเป็นเครื่องยนต์ที่ดีได้ตลอดหรือไม่

ส่วนระดับผู้บริหาร หรือ ระดับ C-Level ก็กำลังกังวลกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Unknown Unknowns’ คือไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร สิ่งที่ต้องบริหารจัดการคือกระแสเงินสด และไม่รู้ว่าเดือนหน้าหรือระยะต่อไป อะไรคือความแน่นอนที่จะคำนวณหรือประมาณการได้ Business Plan อาจจะต้องดูกันเป็นรายอาทิตย์หรือรายเดือน 

“มันเรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ที่หมุนวนลงอ่ะนะครับ เศรษฐกิจไม่ดี กลัวหนี้เสีย ก็เลยเข้มงวด พอเข้มงวดก็เลยไม่ปล่อยกู้ ไม่ปล่อยกู้ก็เศรษฐกิจก็ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง ก็หมุนวนลงไปเรื่อยๆ” สุรพล กล่าว

[หนี้ครัวเรือนไทย ทรงตัว แต่ยังไร้ทางออก]

หนี้ครัวเรือนไทยทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาทมาโดยตลอด ปลายปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 1 ของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 16.22 ล้านล้านบาท การที่ลดลงมาเล็กน้อย สุรพล อธิบายว่าเป็นผลมาจากความเข้มงวดของการปล่อยกู้ จากจำนวนหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เครดิตบูโรได้เก็บข้อมูลอยู่ประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท โดยมีประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทเป็นหนี้เสีย ซึ่งถือเป็นลูกหนี้ 5 ล้านกว่าคน และในจำนวนดังกล่าว 3 ล้านกว่าคนเป็นหนี้เสียที่ต่ำกว่าแสนบาท 

“เขามีหนี้อาจจะเป็นหลักหมื่น แต่เขาไม่สามารถไปชำระหนี้ได้ 3 งวดติดกัน เพราะฉะนั้นประเด็นคือเขามีปัญหาเรื่องรายได้แน่…3 ล้านกว่าคน เป็นหนี้แค่ 120,000 ล้าน คือประมาณ 10% ของหนี้เสีย เราลองคิดภาพ 10% ของหนี้เสียครับ แต่เป็นจำนวนคน 60% ของคนที่เป็นหนี้เสีย แล้วคนเหล่านี้ 3 ล้านกว่าคนนี่มันคือ 3 ล้านคดีนะครับ” สุรพล อธิบาย

เขาระบุว่า เรื่องนี้ต้องมองไปนอกเหนือจากแค่ปัญหาหนี้ หรือปัญหาเศรษฐกิจ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจทุจริต หรือประกอบอาชีพผิดกฎหมายเพื่อหาเงินไปชำระหนี้

ในมุมของ สุรพล เชื่อว่าใน 3 ล้านกว่าคนนี้จะต้องมีหนี้นอกระบบ ดังนั้นอาจจะออกมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือให้เขากล้าเข้ามาติดต่อ มากกว่าไปตามหาตัวลูกหนี้ เช่นการบอกว่าหากมาติดต่อจะจ่ายแค่ 5% หรือ 10% ไปพร้อมๆ กับหาธนาคารของรัฐปล่อยกู้และห้ามกู้ที่อื่นเพื่อให้สามารถไปเคลียร์หนี้นอกระบบได้ 

[‘แก้หนี้’ ต้องมองเชิงสังคม มากกว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจ]

ในความเห็นของ สุรพล มองว่าได้มีมาตรการออกมาเพื่อแก้หนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการระบาดของโควิด-19 มาตรการแรกคือการให้ถือว่าไม่จ่ายหนี้ไม่ถือว่าเป็นการค้างชำระ หลังจากนั้นก็เป็นการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการปกติ จนปัจจุบัน สุรพล คือมาตรการที่เรียกว่า ‘คุณสู้ เราช่วย’ ให้ลูกหนี้ไม่ต้องส่งดอก ชำระแค่เงินต้น แต่มาตรการก็อาจจะยังมีข้อจำกัดสำหรับลูกหนี้บางส่วน

“มันก็จะมีประเด็นของมันนะครับ มาตรการที่ไหลออกมาทั้งหมดเนี่ย แต่มันก็ยังตั้งคำถามอีกว่า แล้วคนที่พยายามจะกัดฟัน เช่น พอผมเริ่มค้างปุ๊บ 1 งวด ผมรีบไปปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน แล้วผมก็จ่ายหนี้ดีมาตลอด หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน แต่ผมจะไม่ค่อยไหวแล้วนะ ผมเข้าโครงการไหนไม่ได้ ซึ่งในที่สุดแล้วมาตรการที่มีอยู่และกำลังจะหมดในเดือนมิถุนายนนี้ มันก็ต้องมีมาตรการมาเสริมอีกครับ เพราะปัญหาหนี้มันยังไม่จบ…ผมเชื่อด้วยตัวเองเลยนะครับว่า มาตรการเพิ่มเติม ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม จะต้องมีออกมาครับ” สุรพล คาดการณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย นำข้อมูลในระบบของเครดิตบูโรไปวิเคราะห์ราว 27 ล้านคนพบว่า มีเพียงไม่เกิน 5 ล้านคนที่มีสุขภาพการเงินดี

หัวเรือใหญ่เครดิตบูโรมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ จะส่งผลกระทบต่อคนในสังคมแตกต่างกัน โดยคนที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือกลุ่มคนที่มีรายได้ประมาณ 30,000 บาทลงมา ซึ่งจะต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้น 

สุรพล ยกข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประมาณ 110 กว่าเปอร์เซ็นต์ของรายได้ คือ จ่าย 110 หา 100 และต้องมีอีก 25% ในการไปจ่ายหนี้ มันคือ 130 กว่าเปอร์เซ็นต์ของรายได้

“เราอย่าเพิ่งตั้งกติกาว่าคนที่เขาจ่ายหนี้ไม่ได้ไม่มีวินัยไปทั้งหมด ปัญหาชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รายรับ รายจ่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมาตรการที่จะต้องออกมาเนี่ย มันจะเริ่มมีกลิ่นไอ มาตรการเชิงสังคม ผสมผสานเข้าไปมากขึ้นๆ แต่บางคนที่ไม่ชอบก็จะไปตีความว่าอันนี้เป็นมาตรการประชานิยม เอาเงินรัฐทุ่มลงไป แต่มองไปลึกๆ ก็คือว่าเราเจอ Income shock ครับ รายได้ไม่ทันรายจ่าย มีหนี้เกาะหลัง…เพราะฉะนั้นหนี้มันถึงหมุนวนในชีวิต” สุรพล กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า