Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

บาติสตูตา บูร์รูชากา ซาราเจโว นี่ไม่ใช่ชื่อนักฟุตบอลแต่อย่างใด ทว่าเคยเกือบได้เป็นชื่อเรียกโรงหนัง House RCA ในปัจจุบัน 

หากคุณเป็นคอหนังตัวยง คงจะได้ยินชื่อหรือรู้จักมักคุ้นโรงภาพยนตร์ ‘House RCA’ เป็นอย่างดี เพราะที่นี่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของคนชอบดูหนัง โดยเฉพาะหนังนอกกระแส หนังอาร์ต หรือหนังที่เราไม่ได้เห็นตามโปรแกรมฉายของโรงใหญ่สักเท่าไหร่ 

อย่างที่รู้กันว่าเจ้าของบ้าน ‘อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ’ และ ‘จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ’ มีแพลนจะย้ายคอมมูนิตี้ของคนรักหนังที่เปิดมากว่า 15 ปีแห่งนี้ ไปอยู่ที่สามย่านมิตรทาวน์ โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมือง วันนี้เราจึงชวนทั้งคู่มาย้อนความหลังนั่งคุยเรื่องความทรงจำครั้งเก่า ก่อนที่พวกเขาจะย้ายไป “เฮาส์” หลังใหม่ และเปิดให้เราแวะไปเยี่ยมเยียนสิ้นเดือนกันยายนนี้

อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ (ซ้าย) และ จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ (ขวา)

 

– สร้างบ้าน –

 

นิยามโรงหนัง เฮาส์ 

 “เราพยายามบอกว่าเราเป็นโรงหนังอินดี้ เป็นโรงหนังทางเลือก แต่สุดท้ายถามว่ามันคือคำตอบที่ใช่ไหม ก็ไม่เชิง เราแค่พูดเพื่อทำให้คนเข้าใจง่าย”  อุ๋ยเล่าว่าการนิยามโรงหนัง House RCA เป็นสิ่งที่ยากตั้งแต่วันที่เริ่มทำ ที่จะอธิบายคนดูว่าพวกเขาทำอะไรอยู่เมื่อมองย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน 

“คนมักจะพูดว่า ‘อ๋อ โรงหนังทางเลือกใช่ไหม?’ แต่ทุกคนดูหนังอะไรก็ต้องเลือกอยู่แล้วหรือเปล่า เราก็เลยคิดว่าโรงหนังทางเลือกไม่ใช่แน่ๆ หรืออาจจะเป็น ‘อ๋อ อย่างนี้แสดงว่าอินดี้’ แต่บางเรื่องมันก็สตูฯ ใหญ่นะ ดังนั้น อินดี้ก็ไม่ใช่อีก” จ๋องเสริม 

“เราทำโรงภาพยนตร์เพื่อฉายหนังที่เรารู้สึกว่าหนังมันสนุก หนังดีที่ไม่มีโอกาสฉาย หรือหนังที่อาจจะหาดูยาก” อุ๋ย ตบท้าย

อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ

เฮาส์ คือผู้กรุยทางรายแรกๆ ในวงการโรงภาพยนตร์ที่นำหนังนอกกระแสมาขึ้นจอให้คนได้ดูกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ House ฉายหนังไปกว่า 600 เรื่องจาก 40 ประเทศทุกมุมโลก

เมื่อถามว่าทำไมพวกเขาถึงสนใจภาพยนตร์ทางเลือกเหล่านี้เป็นพิเศษ จึงได้คำตอบว่า 

“ต้องพูดว่าก่อนจะมีเฮาส์ หนังแบบที่ว่ามันแทบไม่มีโอกาสจะได้ฉายในโรงหนังเลยนะ ส่วนใหญ่จะมีคนซื้อมา แล้วจากนั้นมันจะกลายเป็นวีดิโอหรือ DVD ไปเลย คนจึงไม่มีโอกาสได้ดูในโรง เราจึงคิดว่าทำกันดีกว่า ในวันที่มันไม่มีเลย เพราะถ้าบังเอิญมีคนทำอยู่แล้ว เราก็คงไม่ได้ทำ” จ๋อง อธิบาย 

“ในฐานะที่ทำบริษัทภาพยนตร์มาก่อน เรารับรู้ถึงความลำบากมาตลอด เวลาไปชวนโรงฉายเขาก็ไม่ฉายด้วย เพราะมันไม่คุ้ม” อุ๋ย กล่าว

จ๋องเสริมว่า “ถ้าเริ่มสร้างเฮาส์วันนี้ เราว่าง่ายกว่า 15 ปีที่แล้วเยอะเลย เพราะมันเห็นแล้วว่ามีกลุ่มคนที่ชอบแบบนี้ มีคนที่ทำอะไรแบบนี้เยอะแยะแล้ว” 

ถึงแม้วงการภาพยนตร์เมื่อ 15 ปีก่อนจะไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับวันนี้ แต่เราเชื่อว่า House RCA มีส่วนช่วยในการผลักดันหนังนอกกระแสหลายเรื่องให้ได้แจ้งเกิด และสร้างนักดูหนังหน้าใหม่ที่เติบโตไปเป็นนักดูหนังตัวยงได้ไม่มากก็น้อย

จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ

โรงภาพยนตร์ที่เกือบมีชื่อเหมือนนักฟุตบอล

“พี่จ๋องตั้งมาประมาณ 200 ชื่อ…” เมื่อถามถึงที่มาของชื่อ House RCA เราจึงได้คำตอบแบบนี้

“คือเราบอกคนดูว่าเราฉายหนังแบบไหนมันก็ยากอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์ไปตั้งชื่อเป็นบาติสตูตา อะไรต้าๆ นะ?” อุ๋ย หันไปถามจ๋อง

“บาติสตูตา, บูร์รูชากา, ซาราเจโว, แต่สุดท้ายมาชื่อเฮาส์ เพราะว่าอุ๋ยเลือก” จ๋องตอบ

“ด้วยความที่คอนเทนต์เรายาก เราอยากให้ชื่อไม่ต้องยากแล้ว สื่อสารกันง่ายๆ รู้จักกันง่ายๆ จำกันง่ายๆ แม้ว่าบ้านนี้จะไม่ได้ง่ายเลย” อุ๋ย หัวเราะ

“หนังที่เราจะเปิดดูที่บ้าน มันก็คือหนังที่เราเลือกเองนี่นา ถ้าเป็นหนังที่อื่นก็เป็นคนอื่นเลือกให้เราดู พอเราเลือกแล้วว่าจะดูเรื่องอะไร ก็เลยเป็นไอเดียว่า บ้านของคนชอบดูหนังเหรอ? อะไรประมาณนี้มั้ง” จ๋องยิ้ม

บรรยากาศโรงหนัง House RCA ในวันวาน

ประสบการณ์ Day จาวู 

9 กรกฎาคม ปี 2004 โรงภาพยนตร์แห่งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จัดกิจกรรม Film Buffet จ่ายเงิน 100 บาท ดูหนังเก่าหนังดีหนังดัง 300 เรื่องได้ไม่อั้น โดยประเดิมฉาย High Fidelity (2000) ภาพยนตร์แนวดราม่าโรแมนติกดราม่าสัญชาติอเมริกันเป็นเรื่องแรก ในวันนั้น พวกเขาสร้างปรากฏการณ์ที่น่าจดจำคือ การที่มีคนต่อแถวยาวจากชั้น 3 ลงไปถึงชั้น 1 ของอาคาร RCA Plaza เพื่อรอเข้าโรงภาพยนตร์ 

“จริงๆ ผมอยากใช้คำว่าประสบการณ์มากกว่า คือเราทำโรงหนังที่ดูท่าทางจะเสร็จไม่ทัน เดจาวูไหม?” จ๋อง ถาม

“เดจาวู สุดๆ” อุ๋ยตอบทันที 

แต่ก่อนจะพูดถึเดจาวูที่ว่า จ๋องก็พาเราย้อนกลับไปในวันเปิดตัว House RCA 

“ที่เกิดปรากฏการณ์คนไปรอข้างหน้าเต็มไปหมด เพราะมันยังเปิดไม่ได้ หนังเราฉายรอบแรก 11:15 น. แต่ตอนตี 5 กว่าเราเพิ่งจะได้เทพื้น เลยต้องชวนให้คนดูถอดรองเท้าเดินเข้าโรง เพราะถ้าคุณเหยียบไปรองเท้ามันพัง พื้นเราก็พังด้วย”

“เราทำเส้นสมมุติให้คนเดินเข้าโรงหนังโดน เดินจากข้างหน้าประตูมาตรงพื้นของ Box Office แล้วเดินตัดข้ามมาฝั่งนี้ เดินผ่านไม้นี้ จากนั้นทะลุไปเปิดประตูห้องครัว แล้วมุดใต้จอเข้าโรงหนัง” จ๋องเล่าอย่างสนุกสนาน

“ทุกคนก็ดูเข้าใจนะ แต่เราก็มารู้ทีหลังว่ามีคนเดินกลับ”

“ก็ดูตลกดีออก ไม่มีประสบการณ์ที่ไหนบนโลก คุณอาจจะเคยเดินพรมแดงกัน แต่คุณไม่เคยเดินถอดรองเท้ามุดเข้าโรงหนังแน่ๆ”

บรรยากาศใน House RCA

ทำไมถึงคิดว่าการเปิด House Samyan จะเกิดปรากฏการณ์เดจาวูเหมือนเมื่อ 15 ปีก่อน? เราถามต่อ

“ยังไม่พร้อมค่ะ” อุ๋ยตอบแบบเขินๆ 

จ๋องเล่าย้อนความว่า “ผมเพิ่งคิดเรื่องนี้เมื่ออาทิตย์ก่อน ตอนนั้นเราแม่งเด็กหรือเปล่าวะ เหมือนหมูไม่กลัวน้ำร้อน ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นเราทำกันชิลล์ๆ แต่คราวนี้ดูยากกว่าเดิม”

“ตอนนั้นเราชิลล์มากเลยนะ เรามารู้ตัวอีกทีตอน เฮ้ย พรุ่งนี้จะเปิดแล้วว่ะ ยังไงดีวะ แต่ดีที่เราอยู่ในธุรกิจภาพยนตร์มา แล้วเราก็มีมิตรหรือผู้ใหญ่ที่คอยบอกว่า มันเป็นอย่างนี้แหละ ก่อนวันโรงหนังเปิดมันจะคลุกฝุ่นไปหมด เหมือนจะไม่เสร็จ แต่เราในวันนั้นคือ มันไม่เสร็จจริงๆ ไม่ใช่เหมือนจะไม่เสร็จ” 

“เราว่าวันนี้มันยากกว่าเดิมนะ คือปัญหาอาจจะเท่ากันแต่เราไม่เอฟเฟกต์กับปัญหาเยอะ คือรู้แค่ว่าอยากทำ วันนี้การลงทุนมันหนักขึ้น เราโตขึ้นแล้ว เรารู้ว่ามันมีความคาดหวังของคนดูประมาณไหน เครียดอยู่นะ” อุ๋ย กล่าว 

อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ (ซ้าย) และ จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ (ขวา)

 

– ดูแลบ้าน –

 

ความผูกพัน ความทรงจำ และความประทับใจ  

อุ๋ยเล่าว่า “ประทับใจตั้งแต่วันแรก ได้ทำก็คือประทับใจแล้ว มันเริ่มมาจากความอยากทำ ไม่ได้เริ่มจากการคำนวณว่าจะเป็นธุรกิจที่กำไรหรือขาดทุน แล้วพอมันได้เกิดมันก็คือความภูมิใจ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้”

“ทำในสิ่งที่มันไม่เคยมีมันยากจะตาย เรายังไม่ประทับใจกับมันอีกหรือ การที่มันได้อยู่ต่อมาได้เรื่อยๆ ก็คือความประทับใจนะ มันพิสูจน์ว่าเราไม่ได้คิดอยู่คนเดียวหรือสองคน มันอยู่มาได้ 15 ปีเลยนะ แล้วยังเป็น 15 ปีที่เหมือนจะอยู่ต่อไปได้อีกด้วย ตอนนั้นอุ๋ยก็เป็นป้าแล้ว” จ๋องพูดติกตลก

“พี่จ๋องก็เป็นปู่” อุ๋ย ตอกกลับ

อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ

“ห้องทางประตูหนีไฟด้านนู้น อุ๋ยเคยหนีออกไปร้องไห้ เรายังจำได้เลย เดินไปไหนความทรงจำมันเต็มไปหมด วันที่เราทำโรงหนังแล้วเจอฝนครั้งแรกน้ำรั่วจนแทบจะร้องไห้ ห้องน้ำตัน โอ้โห ทำไมมันเจ็บอย่างนี้วะ”

“ข้างหน้าประตูเคยมีรอยเท้า รอยเท้าหายไปเพราะเราเพิ่งปูพื้นใหม่ ทุกอย่างมันก็เหมือนบ้านเราเองจริงๆ มันคือความทรงจำ แล้วคิดดูว่าหลังจากนี้อีก 10 วัน ( 31 ส.ค.) เรามาที่นี่มันไม่เปิดแล้วนะ สำหรับอุ๋ยมันคือ เฮ้ย เอาจริงเหรอวะ”  

จ๋องเล่าต่อว่า “มันไม่ใช่ความทรงจำของเราเท่านั้น แต่โรงหนังมันเป็นความทรงจำของทุกคน เรารู้สึกว่าคนที่มาที่เฮ้าส์เขารู้สึกเขาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของร่วมกันกับเราทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องเจ้าของกับลูกค้า แต่มันเป็นเรื่องของคนที่คิดอะไรเหมือนกัน ชอบอะไรเหมือนกัน พนักงานที่นี่ก็มีความผูกพัน เราไม่ค่อยเปลี่ยนพนักงานเท่าไหร่ คนที่ไปแล้วก็ยังอยากกลับมา” 

นอกจากความทรงจำขนาดยาวกว่าหนัง 1 เรื่อง ทั้งคู่ยังได้เรียนรู้ว่ามีคนกลุ่มที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน ตามหาสิ่งที่เดียวกัน และสิ่งที่ไม่เคยมีก็ใช่ว่าจะมีไม่ได้ หากเราลงมือทำ

หลากมุมโปรดในโรงหนัง House RCA

คิดว่าอะไรที่ทำให้คนอยากมาดูหนังที่ House RCA 

“สุดท้ายหนังเลือกคนดู หนังจะดึงดูดพวกเขามาที่นี่เอง เราทำหน้าที่เป็น hub ให้กับหนังเหล่านั้น ซึ่งสิ่งที่เฮาส์มีตลอดมาและชัดเจนไม่เคยเปลี่ยนไป แม้กระทั่งย้ายไปสามย่านก็คือ คาแรกเตอร์ของหนังที่เราเลือกมาฉาย” อุ๋ย กล่าว 

ถ้าอย่างนั้นหนังเรื่องโปรดที่ฉายที่ House RCA สำหรับคุณคือเรื่องไหน? 

“อย่างน้อยก็ต้องมี 50 เรื่องแหละ แต่ถ้าให้เลือกเรื่องโปรดจริงๆ คงเป็น Tokyo Sonata  หนังพูดเรื่องความเจ็บปวดในชีวิตของทุกคนในครอบครัว พ่อที่ตกงานแต่ไม่กล้าบอกที่บ้าน ภรรยาที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ครอบครัวที่แตกสลายแต่ท้ายที่สุดมันยังมีความสวยงาม”

“Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) สำหรับอุ๋ย มันคือตัวอย่างว่า นี่แหละ หนังที่ควรไปดูในโรง”

ภาพยตร์ที่เขาฉายวันนี้ (22 ส.ค.2562)

ถ้าให้เปรียบเทียบ House RCA กับหนังสักเรื่องหนึ่งล่ะ 

อุ๋ยเสนอภาพยนตร์เรื่อง “Always (2011)” พร้อมกับจ๋องที่พยักหน้าเห็นด้วย 

 

– ย้ายบ้าน –

 

สร้างบ้าน ดูแลบ้าน ย้ายบ้าน อะไรยากที่สุด

“อำลาบ้านเก่า” อุ๋ย ตอบโดยไม่ลังเล ก่อนจะเล่าถึงความรู้สึกผูกพันกับที่นี่

หน้าโรงภาพยนตร์ที่ 2

” เพราะเราไม่เคยอยากไป ไม่อยากไปนอนที่อื่น เพราะเราอยู่ที่นี่มันอบอุ่น มันสบายเราแฮปปี้แล้ว 2 ปีที่ใช้เวลาตัดสินใจมันถึงมีดีเบตกันตลอด ‘ไม่ไปดีไหม หรือเก็บที่เก่าไว้ไหม’ ยึกยักกันตลอดเวลา เพราะมันยากนะการอำลาที่นี่”  

ส่วนจ๋องเล่าว่า “สิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในหัว 15 ปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมาคือคิดว่าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ มีสถานที่ไหนที่มันใกล้บ้านทุกคนเหรอบอกเราหน่อยสิ มันไม่มีไง แต่บังเอิญโครงการเขามาชวนก็เลยคิดว่ามันเป็นโอกาส” 

“เราหวังว่าโลเคชั่นจะทำให้คนเดินทางมาดูง่ายขึ้น เราได้ยินมาตลอด 15 ปีว่า ‘ไปยาก ไปไม่ถึง ค่ารถแพงกว่าค่าตั๋ว’ กดดันจนไม่กล้าขึ้นราคาตั๋ว เพราะรู้สึกว่าพี่มาที่นี่ก็ยากพอแล้ว ฟังแล้วมันก็จิ๊ดอยู่ในใจ โอ๊ย ทำไงดี เพราะฉะนั้น การย้ายไปที่ใหม่ของเราความคาดหวังก็คือคนมาดูเยอะๆ” 

นี่คือความคาดหวังของอุ๋ย ที่อยากแก้โจทย์ ‘บ้านไกล’ เพราะเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ยังมีอีกมาก เพียงแต่โลเคชันไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาเดินทางมาหา

“ถ้ามองว่าอยากรวยขึ้นเราไปทำธุรกิจอื่นดีกว่า เพราะมันลงทุนมากกว่าเดิม โอกาสไม่เป็นอย่างที่คิดก็มี เสี่ยงมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ถ้าจะทำเพื่อตัวเองก็อยู่ที่นี่ต่อ เพราะใกล้บ้าน อาบน้ำบ่ายสองเพื่อดูหนังรอบบ่ายสามได้สบายมาก แต่ไปที่นู่นคือมันสะดวกคนดู แล้วสถานที่ใหม่เองก็มีโรงเพิ่มขึ้นเป็น 3 โรง คนดูก็น่าจะมีความสุขกับการดูหนังได้มากขึ้น” จ๋อง กล่าว

แต่เมื่อถามถึงเสน่ห์ของเฮาส์ในแบบเดิม ทั้งคู่ยังยืนยันว่าไม่หายไปอย่างแน่นอน “จะหายได้ยังไง ในเมื่อเราเป็นคนเดิม”

Box office ของ House RCA

เฮาส์ ไม่ใช่บ้านแต่คือ “ผู้คน” 

เมื่อผลักบานประตูเข้าไป House RCA เป็นเหมือนโลกอีกใบที่เร้นกายอย่างเงียบเชียบ ภายใต้แสงนีออนสีเหลืองสลัว ให้ความรู้สึกสงบและอบอุ่นปลอดภัย บ้างก็ก็คร่ำคราไปด้วยรอยยิ้มจากผู้คนมากหน้าหลายตาที่มารวมตัวและทำความรู้จักกันในงานอีเวนต์ เสวนา หรือกิจกรรมมากมาย สถานที่แห่งนี้จึงไม่ต่างอะไรจาก “บ้าน”  

ก่อนกลับ เราขอให้เจ้าบ้านทั้งคู่กล่าวถึงผู้สนับสนุนตลอด 15 ปีที่ผ่านมาสักเล็กน้อย

อุ๋ย : ขอบคุณสุดๆ คือคนดูนอกจากจะช่วยให้เราอยู่รอดแล้ว ยังเป็นกำลังใจให้เราอยากทำต่อ แม้ว่าในช่วง 5-7 ปีแรกมันอาจจะดูไม่รอด แต่ว่าใจเรามันไปได้ เพราะคนดูมาให้กำลังใจเรา แล้วก็มาพูดกับเราตลอดเวลาว่าอยู่ให้ได้นะ อดทนนะ เอาใจช่วยนะ

จ๋อง : ขอบคุณมาก เราไม่มีทางอยู่มาได้ถ้าไม่มีคนดู เวลาทำอะไรที่มันไม่เวิร์คเขาก็แนะนำ โชคดีที่เราได้สิ่งนี้จากคนดู ไม่เคยเจอคนด่าเลย ตอนเราขึ้นราคาบัตรครั้งแรกก็มีแต่คนบอกว่าน่าจะขึ้นตั้งนานแล้ว ขึ้นราคาอีกไหม ย้ายที่ก็บอกว่าไกลบ้านนะเนี่ยแต่จะไป ทำอะไรก็ดูจะเข้าอกเข้าใจ นี่คือโชคดีที่เราได้รับสิ่งนั้นมาโดยตลอด

 

บทสัมภาษณ์โดย สุธาสินี สุขโข

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า