SHARE

คัดลอกแล้ว

จากรายงานผลการศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในปลาทู ที่จับมาจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง โดยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ซึ่งสุ่มตรวจปลาทู 60 ตัว แล้วพบไมโครพลาสติกลักษณะต่างๆ กัน เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า พบแล้วยังไง?

เราคงต้องกลับมาที่คำถามแรกก่อนว่า ไมโครพลาสติกคืออะไร?

อธิบายง่ายๆ ก็คือพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเลที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มม. นั่นเอง โดยคำว่า​ “ไมโครพลาสติก” นี้จัดว่าเป็นคอนเซปต์ที่ใหม่มาก และเพิ่งจะมีการใช้คำเรียกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2004 นี่เอง โดย ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ทอมป์สัน (Richard Thompson) จากมหาวิทยาลัยพลิมัท (University of Plymouth) สหราชอาณาจักร ได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มการใช้คำว่าไมโครพลาสติกมาอธิบายพลาสติกชิ้นจิ๋วๆ ที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรของเราเหล่านี้ [1]

แล้วไมโครพลาสติกพวกนี้มาจากไหน? จากรายงานเรื่อง Primary Microplastics in the Oceans: a Global Evaluation of Sources ของ IUCN เมื่อปี 2017 โดย Julien Boucher และ Damien Friot ระบุว่า ไมโครพลาสติกที่ถูกผลิตใหม่ (primary microplastic) ส่วนมากมาจาก 3 แหล่งใหญ่ด้วยกัน [2] คือ

  1. เศษพลาสติกจากกระบวนการผลิตพลาสติกต่างๆ 85%:
ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างชนิดล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นในรูปของเม็ดพลาสติกขนาด 2-5 มม. ซึ่งในระหว่างกระบวนการผลิต ขนส่ง และรีไซเคิล เม็ดพลาสติกเหล่านี้อาจเล็ดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ด้วยวิธีต่างๆ กันไป [2]
  2. การซักผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ 12%:
 การซักผ้าที่มีส่วนผสมของใยสังเคราะห์ในครั้งหนึ่งอาจปลดปล่อยเส้นใยไมโครพลาสติกได้มากถึง 640,000-1,500,000 เส้น ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้า [3]
  3. ยางสังเคราะห์ของล้อยานพาหนะ 2%:
 เมื่อล้อยางเสียดสีกับผิวถนน ยางสไตรีนบิวตาไดอีน หรือยางเอสบีอาร์ (Styrene-Butadiene Rubber, SBR) ที่เป็นส่วนผสมของผิวยางรถชั้นนอกจะค่อยๆ สึกกร่อนไป ซึ่งฝุ่นผงจากการสึกกร่อนนี้ อาจถูกพัดพาไปกับลมหรือถูกชะออกจากผิวถนนเมื่อฝนตก และไปถึงทะเลในที่สุด [2]

เมื่อเดินทางไปถึงทะเล ไมโครพลาสติกก็สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้โดยง่าย จากการศึกษาของ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลมีเปลือกแข็งบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทย พบว่าค่าเฉลี่ยการปนเปื้อนของสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งเหล่านี้อาจสูงถึง 0.2–0.6 อนุภาคต่อกรัม (counts/g) [4] หรือเท่ากับว่า ถ้าเรากินหอยแครงจากบริเวณนี้ 6 ตัว เราอาจะได้พลาสติกจิ๋วแถมมาด้วย 50 ชิ้น [5]  ซึ่งสัตว์มีเปลือกแข็งเหล่านี้ล้วนอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของห่วงโซ่อาหาร ทำให้ไมโครพลาสติกเข้ามามีส่วนร่วมกับสรรพชีวิตที่เกี่ยวข้องกันตามมาเป็นลูกโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากจะมีผลกระทบต่อสัตว์ที่กินอาหารโดยการกรอง (filter feeder) ตัวเล็กตัวน้อยแล้ว สัตว์กินกรองขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งขวัญใจมหาชนและเป็นทั้งแหล่งทำเงินชั้นดีจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่าง ฉลามวาฬ กระเบนราหู และวาฬไม่มีฟันหรือวาฬบาลีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ประมาณการว่าฉลามวาฬในคาบสมุทรแคลิฟอร์เนีย (Baja California หรือ Sea of Cortez) กลืนกินพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มม. เหล่านี้เป็นร้อยชิ้นต่อวัน และจำนวนพลาสติกอาจมากถึง 2,000 ชิ้นต่อวันในกลุ่มวาฬฟินที่ถูกศึกษาวิจัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซากวาฬตัวหนึ่งที่ถูกพบในฝรั่งเศสมีพลาสติกตกค้างอยู่ในระบบย่อยอาหารมากถึง 800 กิโลกรัม หรือเกือบหนึ่งตัน [6]

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ได้ออกมาชี้แจงให้เราได้อุ่นใจหน่อยนึงว่า งานวิจัยที่ออกมานั้นเป็นการศึกษาไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลา (ซึ่งโดยมากจะถูกควักออกเมื่อนำมาประกอบอาหารอยู่แล้ว) ไม่ใช่การศึกษาในเนื้อของปลา จึงไม่อาจระบุได้ว่าในเนื้อปลาทูทั้ง 60 ตัวมีไมโครพลาสติกปนอยู่ด้วยหรือไม่ และนี่เป็นปลาทูจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเท่านั้น จึงไม่ใช่ผลการศึกษาที่บ่งชี้ถึงสถานการณ์ของปลาทูทั้งประเทศไทยได้ [7]

CREDIT: AFP PHOTO / UNIVERSITY OF TASMANIA/ JENNIFER LAVERS

ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อมนุษย์

ปัจจุบัน เรื่องผลกระทบจากไมโครพลาสติกในมนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ถึงแม้ว่าจะมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่งานวิจัยจากผลกระทบและความเสี่ยงจริงๆ ของพลาสติกขนาดจิ๋วเหล่านี้ยังมีน้อยมาก มีการประมาณว่า มนุษย์คนหนึ่งอาจกินไมโครพลาสติกเข้าไปคนละ 39,000-52,000 ชิ้นต่อปี และถ้านับว่าอาจหายใจเข้าไปแล้วด้วยนั้น ตัวเลขนี้ก็อาจจะสูงถึงคนละ 74,000 ชิ้นต่อปีเลยทีเดียว [8]

เรายังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าผลกระทบของมันจะมีมากมายขนาดไหน เนื่องจากยังมีงานวิจัยอยู่น้อย และยังต้องการเวลาในการศึกษาเพิ่มเติม แต่ขนาดของชิ้นพลาสติกนั้นๆ รูปร่าง ประเภทของโพลีเมอร์ สารเติมแต่งที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนระยะเวลาที่ได้รับเข้ามาในร่างกาย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อระดับความร้ายแรงของ “พิษ” ไมโครพลาสติกในมนุษย์ [13]

มีผลการทดลองในห้องแลปที่บ่งชี้ว่า ไมโครพลาสติกที่ปูสีฟ้า (blue crabs, Callinectes sapidus) ได้รับเข้าไป มีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจของพวกมันแย่ลง[10] โฟมขนาดจิ๋วมีผลทำให้หอยนางรมสามารถผลิตไข่ได้น้อยลงและทำให้ตัวอสุจิเคลื่อนไหวได้ช้า ยังมีผลการทดลองที่ให้ปลาตัวเล็กๆ กินอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติกเป็นเวลา 2 เดือนที่บ่งชี้ว่า ตับของปลาที่ได้รับอาหารปนเปื้อนพลาสติกที่มีสารเติมแต่ง ถูกทำลายมากกว่าตับของปลาที่ได้รับอาหารปนเปื้อนพลาสติกที่ผลิตใหม่ (virgin plastic) อีกด้วย[12] เราจึงอาจอนุมานเอาได้ว่า ความเสี่ยงจากการกินพลาสติกชิ้นจิ๋วเข้าไปนั้น ครอบคลุมถึงการได้รับสารอาหารจำเป็นน้อยลงและความเสียหายต่อระบบย่อยอาหาร สารเคมีจากพลาสติกที่ปนเปื้อนในร่างกายของสิ่งมีชีวิตยังอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการชีวเคมีที่จำเป็นต่างๆ เช่น การเจริญเติบโต ระบบการเจริญพันธุ์ และสุขภาพโดยรวมในระยะยาว[6]

หาทางออก ปัญหาไมโครพลาสติก

การละ ลด เลิกการใช้พลาสติกอาจเป็นหนทางเดียวที่จะลดจำนวนไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของเราได้ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้พลาสติกที่หลอกตาว่าไม่ใช่พลาสติก อย่างถุงผ้าสปันปอนด์ (ถุงผ้าเนื้อเหนียวคล้ายกระดาษสา) ซึ่งมักผสมเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นไมโครพลาสติก เช่นเดียวกันกับทิชชู่เปียกส่วนใหญ่ ก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด หรือการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ที่อวดอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Degradable Plastics หรือ EDP) ก็ต้องเป็นพลาสติกที่ผลิตโดยได้มาตรฐาน composable plastics ที่สลายตัวเป็นปุ๋ยภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน เช่น ISO 17088, ASTM D6400 (USA), EN 13422 (Europe), หรือ มอก.17088-2555 (ไทย) [9] เท่านั้น

การเติมสารประเภทแป้งหรือสารอินทรีย์อื่นๆ ลงในพลาสติกที่อ้างว่าสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น พลาสติกชนิด PE, PP, PS, PET, และ PVC ทำให้พลาสติกแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ หลังจากแป้งถูกจุลินทรีย์ย่อยไปแล้ว และพลาสติกชนิดอ๊อกโซ ที่มักถูกเรียกว่า Oxo-biodegradable นั้นก็ถูกเติมสารประเภทอ๊อกโซที่เร่งให้พลาสติกแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ เร็วขึ้น ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ นอกจากจะไม่ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังสร้างปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มให้กับปัญหาไมโครพลาสติกอีกด้วย [9]

บทความโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

อ้างอิง

[1] https://www.plymouth.ac.uk/news/professor-richard-thompson-made-an-obe-for-services-to-marine-science

[2] https://portals.iucn.org/library/sites/library/files/documents/2017-002.pdf

[3] https://www.nature.com/articles/s41598-019-43023-x

[4] https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0025326X17304903?via%3Dihub

[5] http://www.judprakai.com/gallery/video/21

[6] https://www.bbc.com/news/science-environment-42920383

[7]

https://www.facebook.com/mnpoc3.trang/posts/670971466724320

[8] https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/06/you-eat-thousands-of-bits-of-plastic-every-year/

[9] http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/the-fact-of-environmentally-degradable-plastics-edp/

[10] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22042435/

[11] https://www.pnas.org/content/113/9/2430

[12] https://rochmanlab.files.wordpress.com/2016/08/rochman-et-al-2013-scientific-reports.pdf

[13] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6132564/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า