SHARE

คัดลอกแล้ว

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตอนนี้ที่นักวิเคราะห์มองว่า ยังไม่เข้าสู่นิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้จะมีปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังชะลอตัวลง แต่ตัวเลขกลับบ่งบอกว่าภาคการบริโภคและการลงทุนกลับยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบที่แท้จริงต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมก็ตาม แต่หากไปดู Real GDP ของสหรัฐฯ พบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคดีขึ้น (แต่การส่งออกยังไม่ดีนัก)

ถ้าให้อธิบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแบบข้างต้นให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ต้องเปรียบเทียบกับ ปรากฎการณ์การซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ตของนักร้องสาว ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ที่สามารถจับภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของ กำลังซื้อ และ เศรษฐกิจของผู้บริโภค ขณะนี้ได้ จนถูกเรียกว่า Swiftonomics

ก่อนจะไปถึงศัพท์แสงที่เอาชื่อเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาใช้ทางเศรษฐศาสตร์ ต้องเล่าที่มากันซักนิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น

1) สัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสดราม่าในการขายตั๋วคอนเสิร์ตใหญ่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ในอเมริกา ที่กำลังจะเปิดทัวร์คอนเสิร์ต “The Eras Tour” ที่จะแสดงมากถึง 52 รอบ ใน 20 เมืองทั่วสหรัฐ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม ปี 2023

2) ตั๋วคอนเสิร์ตรอบพรีเซลวันเดียวสามารถขายได้ถึง 2.4 ล้านใบ และพลังความต้องการซื้อของเหล่าแฟนคลับที่เรียกกันว่า ‘Swifties’ ก็ยังทำให้ระบบซื้อขายตั๋วผ่านเว็บไซต์ล่ม จนต่อมา Ticketmaster ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ต ต้องยกเลิกการขายตั๋วรอบพรีเซลก่อนวันขายตั๋วจริง เพราะความต้องการตั๋วคอนเสิร์ตสูงเกินกว่าที่ระบบจะรับมือไหว เนื่องจากมีแฟนคลับไปลงทะเบียนจองซื้อตั๋วในระบบมากถึง 3.5 ล้านใบ และมีอีก 2 ล้านคนอยู่ในรายชื่อสำรองจองตั๋ว จนถึงตอนนี้เกิดภาวะตั๋วขาดตลาด ผู้คนยังคงแย่งชิงกันหาซื้อตั๋วจากแหล่งอื่นที่มาปล่อยขายต่อ

เทย์เลอร์ สวิฟต์ ออกมาบอกว่ามหัศจรรย์มากที่ผู้คน 2.4 ล้านคนได้ตั๋วคอนเสิร์ตแล้ว แต่หงุดหงิดมากที่หลายคนยังต้องฝ่าฟันอย่างหนักเพื่อให้ได้ตั๋วมา

3) นอกจากเป็นปรากฎการณ์คนแห่ซื้อตั๋วนับล้านๆใบในวันเดียว ก็ยังเป็นดราม่าถูกแฟนคลับต่อว่า ว่ามีการผูกขาดตั๋ว จากกรณีที่ Ticketmaster สงวนสิทธิ์ซื้อตั๋วรอบพรีเซลให้ผู้ถือบัตรพิเศษบางประเภท

4) เรื่องใหญ่โตถีงขนาดหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเข้ามาสืบสวนสอบสวนบริษัท Live Nation Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Ticketmaster ที่เป็นบริษัทจัดจำหน่ายตั๋ว ถูกสอบสวนว่าแพลทฟอร์มขายตั๋วนี้ใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่

เทย์เลอร์ สวิฟต์ โพสต์ผ่านอินสตาแกรม มีท่อนนึงที่บอกว่าจะไม่แก้ตัวให้กับใคร เพราะทีมงานของเธอได้รับแจ้งและรับประกันจากผู้จำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตว่าจะจัดการเรื่องความต้องการตั๋วที่ล้นทะลักนี้ให้ได้

5) เรื่องยังบานปลายเป็นไฟลามทุ่ง นักการเมือง นักกฎหมายต่างก็ออกมาโหนกระแสแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ทั้งบนโซเชียลมีเดียและหน้าสื่อตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลในการขายตั๋วคอนเสิรต์นี้ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการควบรวมกิจการของ Live Nation Entertainment และ Ticketmaster ที่เป็นเจ้าตลาดมีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรมดนตรีสด

โดยสำนักข่าวต่างประเทศ ต่างรายงานว่า ตอนนี้นอกจากจะซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ แบบซื้อตรง ๆ ปกติไม่ได้แล้ว ราคาตั๋วที่ถูกนำมาขายต่อตามตลาดรอง ตลาดใต้ดิน พุ่งไปถึง 338-28,000 ดอลลาร์ต่อใบ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มีถึงขนาดตั้งราคาปล่อยตั๋วถึง 40,000 ดอลลาร์!! คิดเป็นเงินไทยก็คือตั๋วคอนเสิร์ตแตะหลักล้านบาทต้นๆ

สถานการณ์ 5 ฉากที่เล่าไปข้างต้น เลยมีนักวิเคราะห์ นักการเงินในสหรัฐฯ นำไปเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจอเมริกาแบบจำเพาะเจาะจงช่วงนี้ว่า Swiftonomics (สวิฟต์ทูโนมิกส์) ที่สะท้อน “เศรษฐกิจของผู้บริโภค”

นักวิเคราะห์บอกว่า แม้เราอาจบอกว่าแฟนเพลงของป๊อปสตาร์สาวคือส่วนเล็ก ๆ ของเศรษฐกิจผู้บริโภค แต่มันก็บอกได้ว่า ยุคหลังโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคต้องการอะไร ที่แน่ ๆ คือ กลุ่มผู้บริโภคเต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินให้กับสิ่งที่พวกเขาพลาดไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม และก็ยังเป็นเทรนด์ให้นักการตลาดมองเห็นอะไรบางอย่างได้ขึ้นมา

Swiftonomics คืออะไร ?

นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ และสื่อบางสำนักออกมาเรียก Swiftonomics เพราะปรากฎการณ์แย่งชิงตั๋วคอนเสิร์ตนับล้านใบในวันเดียว สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความต้องการของผู้บริโภค’ สหรัฐฯได้ดีในช่วงเวลานี้ แม้จะมีความเสี่ยงและความวิตกกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นในสหรัฐก็ตามที

หลัก ๆ คือ สะท้อนอุปสงค์ที่มากมายหลังโควิด จนเกิดเป็นดราม่าไวรัลในอเมริกา สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทันทีที่เปิดขายบัตรคอนเสิร์ตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์จำหน่ายตั๋วล่มท่ามกลางผู้คนกว่า 14 ล้านคนที่พยายามเข้ามากดซื้อ

ปรากฎการณ์นี้จึงถูกนำมาอธิบายกำลังซื้อในสหรัฐฯได้ในช่วงนี้ แม้แต่สื่อเศรษฐกิจชั้นนำของสหรัฐฯอย่างบลูมเบิร์กเองก็ยังต้องถอดรหัสจับกระแสว่า ความยอมจ่ายแพงเพื่อได้ดูคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เปิดแสดงมากถึง 52 รอบ ใน 20 เมือง และแต่ละรอบก็เลือกจัดในสนามกีฬาที่จุคนได้มาก นี่คือการจับภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯหลังโควิด เพราะแม้วันนี้จะมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจสหรัฐปีหน้าจะถดถอยหรือไม่ จากสถานการณ์เงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ผู้บริโภคจำนวนมากกลับยังเต็มใจจะทุ่มเงินให้กับสิ่งที่พวกเขาพลาดไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยว หรือความบันเทิงแบบสด ๆ ต่อหน้าอย่างคอนเสิร์ต

ทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ กระแสทุ่มกันแย่งซื้อตั๋วคอนเสิร์ต คือ อุปสงค์ของกำลังซื้อที่พุ่งสูงขึ้น และตั๋วคอนเสิร์ตคืออุปทานที่จำกัด ทำให้เกิดการโก่งราคาขายตั๋วคอนเสิร์ต แต่ผู้บริโภคก็ยังยินดีจ่าย แปลว่ากำลังการบริโภคนั้นสูงมาก และมันสะท้อนว่า ความขาดแคลนนี้ได้เพิ่มความต้องการเข้าไปอีกนี่คือ เศรษฐศาสตร์ Swiftonomics นั่นเอง

มุมนักการตลาดมองว่า แฟนๆของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นตัวแทนของผู้บริโภครุนแรงสุดขั้ว นั่นคือคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z หลายล้านคนที่รออย่างน้อยเกือบ 5 ปี กว่าจะได้เห็นศิลปินคนโปรดระดับซุปตาร์ของพวกเขากลับมาเปิดการแสดงคอนเสิร์ตสด ๆ อีกครั้ง นอกจากนี้นักการตลาดก็มองว่า ที่ผู้คนยอมจ่ายค่าตั๋ว แย่งกันหาซื้อตั๋วคอนเสิร์ตนี้ เพราะพวกเขายังไม่เห็นสิ่งอื่นที่จะทดแทนได้ดีกว่า ดังนั้นการยอมเอาเงินเก็บหรือเงินที่มีไปใช้จ่ายเพื่อดูคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ แปลว่าผู้คนโหยหาการแสดงสด และมองว่าคุ้มค่ากับการใช้จ่ายนี้ และแน่นอนว่าก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ Revenge Spending หรือปรากฎการณ์ช้อปล้างแค้นหลังโควิด

ความเห็นของนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ “ลิซา หยาง” ซึ่งเขียนรายงานเรื่อง Music in the Air บอกในเชิงจิตวิทยาว่า อุปสงค์ของความต้องการตั๋วชมคอนเสิร์ตที่มีมาก ถึงแม้จะเป็นสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือย (ในความหมายคือไม่ใช่สิ่งจำเป็น) แต่ถ้าเทียบแล้วก็เป็นความฟุ่มเฟือยในราคาย่อมเยา (กรณีที่ซื้อทันในการเปิดรอบขายทางการ เพราะตอนนี้ตั๋วหายากแล้ว ต้องไปซื้อในตลาดรองเท่านั้น)

หากอลัน ครูเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้่ล่วงลับยังมีชีวิตอยู่เชื่อว่าเขาจะนำปรากฎการณ์ Swiftonomics มาอธิบายอย่างแน่นอน เพราะเขาคือต้นตำรับแนวคิดเรื่อง “Rockonomics” (ร็อคโคโนมิกส์) ที่นำเสนออกมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพื่ออธิบายเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งครูเกอร์เคยใช้กรณีศึกษาเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาอธิบายแนวคิดด้านกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายบัตรคอนเสิร์ตและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อตอนที่สวิฟต์วัย 16 ปี ออกอัลบั้มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2006 โดยครูเกอร์ เรียกเทย์เลอร์ สวิฟต์ว่าเป็น “อัจฉริยะทางเศรษฐกิจ”

โอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา ?

สุดท้าย Swiftonomics อาจพอจะบอกปรากฎการณ์เศรษฐกิจและภาพกำลังซื้อของประชาชนสหรัฐฯอย่างน้อยคือจบในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

แต่คำถามของเรื่องนี้คือ หากมองถึงระบบเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้างเทียบเคียงกรณีความต้องการล้นทะลักจากการแย่งกันซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์นั้น ก็ชวนให้หาคำตอบว่า ภาพใหญ่ทั้งประเทศในต้นปีหน้าผู้บริโภคทั่วไปยังคงใช้จ่ายเพิ่มกำลังซื้อในประเทศต่อไปหรือไม่ เมื่ออัตราดอกเบี้ยและการว่างงานในสหรัฐดูจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น

และอย่าลืมว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานยอดหนี้ครัวเรือนของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มในไตรมาส 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2565) หรือราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่เฟดปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจนมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อจำนองบ้าน และยอดหนี้บัตรเครดิตที่ก็เพิ่มขึ้นด้วย

แม้การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯว่าจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นกันแน่ในปีหน้า ยังถูกวางไว้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 3 หรือมีความเป็นไปได้ราว 38% ซึ่ง แอนนา หว่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics มีความเห็นว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในต้นปี 2023 แม้ว่างบดุลของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะยังคงแข็งแกร่ง แต่ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย เพื่อดูท่าทีและน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานและการลงทุนในอนาคต

อย่างไรก็ตามนั่นคือการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากการดูตัวเลขดัชนีต่าง ๆ แต่กับสภาพที่เห็นจาก Swiftonomics ที่ตั๋วนับล้าน ๆ ใบถูกแย่งชิงก็ชวนให้น่าคิดถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศของสหรัฐฯที่ยังไม่แผ่ว และดูจะยังไม่ได้ชะลอตัวลงตามความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย

 

Source

[1] [2] [3] [4] [5] [6]

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า