SHARE

คัดลอกแล้ว

White Star Line บริษัทที่ต้องรับผิดชอบจากการจมของเรือไททานิก ผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังเรืออัปปาง

โศกนาฎกรรมเรือดำน้ำไททัน ของบริษัทโอเชียนเกต ที่เกิดระเบิดระหว่างการดำดิ่งลงลึกที่มหาสมุทรแอตแลนดิกเป้าหมายความลึกระดับ 4,000 เมตร เพื่อนำผู้โดยสารที่เป็นกลุ่มมหาเศรษฐีที่มีใจรักการผจญภัยได้ทัวร์ชมซากเรือไททานิก ขณะที่ซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันก็ถูกค้นพบในบริเวณไม่ไกลจากซากเรือไททานิกเช่นกัน กลายเป็นเรื่องเขย่าขวัญ และจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์โศกนาฎกรรมโลกไม่ลืม ที่จะถูกบอกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากมีหลายประเด็นที่มีการเปรียบเทียบว่ากรณีเส้นทางที่มาของโปรเจ็กต์เรือดำน้ำไททัน มีความคล้ายกับอาถรรพ์ของไททานิก ที่เคยได้รับฉายาว่า เรือที่ไม่มีวันจม

เรื่องราวความสูญเสียทั้งจากเรือไททานิกในปี 1912 และเรือดำน้ำไททันในปี 2023 เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้กับชีวิตที่เสียไป ทว่าในแง่มุมประวัติศาสตร์ของไททานิก ได้เคยมีการประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากการจมของเรือไททานิก เพราะนอกจากจะเป็นหายนะจากการสูญเสียชีวิตแล้ว ปรากฎว่า หลังโศกนาฏกรรมนี้ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

บทความนี้เราจะมาสรุปว่า การจมของเรือไททานิกมีผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร

เจ้าของเรือและผู้สร้างเรือ ไททานิก คือ บริษัท ‘White Star Line’ ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1845 เป็นบริษัทเดินเรือที่มีชื่อเสียงในเส้นทางที่เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเรือพาณิชย์ของบริษัทได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร เนื่องจากจุดเด่นที่มีการให้บริการที่สะดวกสบายและมีความปลอดภัยสูง เดิมที White Star Line เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ต่อมาเปลี่ยนมือขายให้กับ เจพี มอร์แกน บริษัทอเมริกันแทน แต่ยังคงจ้างพนักงานและลูกเรือชาวอังกฤษทำงาน

จุดเริ่มต้นแนวคิดสร้างเรือไททานิก มาจาก ‘เจ.บรูซ อิสเมย์’ กรรมการผู้จัดการของ White Star Line ผู้บริหารสูงสุดในเวลานั้น ต้องการสร้างเรือขึ้นมาแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทเดินเรือสัญชาติอังกฤษเจ้าใหญ่ที่เป็นคู่แข่งที่ชื่อ ‘Cunard Lines’ ซึ่งโดดเด่นในเรื่องนวัตกรรมและได้รับการยอมรับอย่างมากอยู่ก่อนหน้าแล้ว

แผนการสร้างเรือไททานิกถูกฟักออกมาในปี 1907 ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจดุเดือด เมื่ออิสเมย์ และหุ้นส่วนอาวุโส ประธานอู่ต่อเรือ Harland and Wolff วางแผนสร้างเรือที่ใหญ่และหรูหรากว่าบริษัทคู่แข่ง โดยตามแผนลำแรกที่จะสร้างถูกให้ชื่อว่า โอลิมปิก (Olympic) ลำที่สอง ไททานิก (Titanic) ลำที่สาม ไจแจนติก (Gigantic) ที่ภายหลังพอเกิดโศกนาฏกรรมไททานิก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริแทนนิก (Britannic) ซึ่งจะพร้อมให้บริการเรียงตามลำดับคือ ในปี 1911, 1912 และ 1913 และเมื่อดูงบประมาณก่อสร้างที่ยังเหลือ ทำให้ผู้บริหารเพิ่มโหมดให้เรือหรูสามารถขนส่งไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ด้วย เรือทั้ง 3 ลำจึงได้ชื่อย่อนำหน้าว่า Royal Mail Ship หรือ RMS นั่นเอง

อย่างที่รู้กันว่าด้วยขนาดมหึมาของเรือไททานิกเวลานั้นที่ถือเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในการก่อสร้าง ติดตั้งระบบการทำงานต่าง ๆ ที่สุดจะทันสมัย พร้อมกับการออกแบบภายในเรือที่หรูหรา สะดวกสบาย ก็ต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี (1909 – 1911) ถึงจะเสร็จสมบูรณ์

เรือไททานิกใช้งบประมาณก่อสร้างในตอนนั้นที่ราคา 7.4-7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเทียบกับปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในแง่การลงทุนทางธุรกิจ บริษัท White Star Line ได้ประเมินต้นทุน และวางแผนทางธุรกิจไว้แล้วว่า การเดินเรือพาณิชย์ด้วยเรือไททานิกจะสร้างรายได้ทำกำไรมากมายในระยะยาวให้กับบริษัท

ก่อนหน้าที่จะมีการเดินทางเที่ยวแรกของเรือไททานิกในปี 1912 เรือไททานิกเป็นข่าวโด่งดังกับความใหญ่โตหรูหราและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเรือ และการส่งสารผ่านสังคมขนานนามว่า ‘เรือที่ไม่มีวันจม’ ซึ่งบริษัท White Star Line ยังเรียกเรือไททานิกว่า ‘The Millionaire Special’ ซึ่งมาพร้อมกับราคาตั๋วชั้นหนึ่งที่มอบประสบการณ์ระดับเฟิร์สคลาส ที่พักบนหรือหรูหรากว้างขวาง พร้อมบริการสระว่ายน้ำบนเรือ สนามสควอช โรงยิม โรงอาบน้ำสไตล์ตุรกี ร้านตัดผม ฯลฯ

โดยราคาตั่วชั้นหนึ่งในเวลานั้น มีรายงานว่าถ้าเทียบปัจจุบันจะมีราคาสูงถึง 80,000 ดอลลาร์ต่อคน ส่วนที่นั่งชั้นสองราคาที่ 1,375 ดอลลาร์ และที่นั่งชั้นสาม 350-900 ดอลลาร์ ซึ่งผู้โดยสารก็ยินดีที่จะจ่ายตามกำลังทรัพย์ และทุกคนก็ล้วนตื่นเต้นและรู้สึกโชคดีที่จะได้ขึ้นเรือที่ไม่มีวันจมนี้

ไททานิกออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาท์แทมป์ตันในอังกฤษ 11 เมษายน 1912 ปลายทางนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ 2,223 ชีวิต มีผู้คนหลายชนชั้น ในจำนวนนี้มีเศรษฐีและคนมั่งคั่งร่ำรวยซื้อตั๋วชั้นหนึ่งขึ้นเรือ ประสาคนร่ำรวยออกเดินทางก็มีการนำของมีค่าขึ้นเรือมาด้วย จนเมื่อเกิดเหตุเรือจมลง ทรัพย์สินมีค่าของเศรษฐีเหล่านี้ได้จมหายไปในมหาสมุทรแอตแลนติก แม้ว่าจำนวนไม่น้อยจะถูกนำขึ้นไปบนเรือชูชีพด้วย แต่ก็มีการสูญหายระหว่างช่วงอพยพเคลื่อนย้ายในจังหวะที่เรืออีกลำเข้ามาทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ขณะเดียวกันบนเรือไททานิกก็ยังมีพื้นที่ส่วนโลจิสติกส์บรรทุกสินค้าพาณิชย์หลายรายการเพื่อจัดส่งไปให้ลูกค้าห้างร้านในสหรัฐอเมริกา มีทั้งแกรนด์เปียโน 5 หลัง ซิการ์ 800 กล่อง ไวน์ 1,500 ขวด ยาสีฟัน 50 ลัง นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักร ผลงานศิลปะ เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ รวมทั้งยังมีจดหมาย 3,500 ถุง และพัสดุ 750 ชิ้น ทั้งหมดไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

หลังโศกนาฎกรรมผ่านพ้นเหล่าผู้รอดชีวิต ครอบครัวของเหยื่อ และเจ้าของสินค้าหลายร้อยคนได้ยื่นคำร้องต่อบริษัท White Star Line ทั้งเรื่องการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บต่อเนื่อง รวมทั้งการสูญเสียทรัพย์สินด้วย โดยคำร้องระบุว่าพวกเขาต้องได้รับเงินคืนตามมูลค่าสิ่งของที่สูญหาย รวมทั้งต้องได้ค่าชดเชยจากการที่สิ่งของที่แม้ไม่ได้มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่าทางใจสูญหายไปด้วย การเรียกร้องคิดเป็นมูลค่ารวม 16.4 ล้านดอลลาร์

บริษัท White Star Line ได้ประกันเรือไททานิก ไว้ประมาณ 133 ล้านดอลลาร์ (เทียบค่าเงินปัจจุบัน) หลังจากโศกนาฎกรรม กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าครอบคลุมการเรียกร้องทรัพย์สินเกือบทั้งหมด แต่ก็มีบางสินค้าที่ไม่ได้รับการชดเชย เช่น รถยนต์ที่นำขึ้นมาบนเรือ เพราะในเวลานั้นระบบกรมธรรม​์ประกันภัยรถยนต์ยังไม่มี

หลังเกิดโศกนาฏกรรม ทำให้การค้าและส่งสินค้าทางเรือเกิดสะดุด มีผลกระทบต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจมของเรือไททานิกที่เขย่าขวัญคนไปทั่ว เพราะมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเดินเรือ อุตสาหกรรมการค้าและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ธุรกิจประกันภัย รวมทั้งยังสร้างภาระทางการเงินให้กับครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตด้วย เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาทางการเงินตามมา

เหตุการณ์เรือไททานิกจม ทำให้บริษัท White Star line ถูกตั้งคำถามจากสื่อและสังคม เพราะก่อนหน้าบริษัทได้ประกาศจะสร้างเรือที่ไม่มีวันจม ผู้คนต่างเชื่อมั่น แต่เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมเรือชนภูเขาน้ำแข็งและจมลงทำให้ผู้คนสงสัยถึงระบบความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางสังคมที่มีการตั้งคำถามถึงความแตกต่างทางชนชั้นอย่างมากบนเรือลำนี้ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิตของผู้โดยสารบนเรือ

เมื่อดูจำนวนผู้รอดชีวิตในเรือไททานิกพบว่าเป็นกลุ่มผู้โดยสารชั้นหนึ่งถึง 60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือตั๋วชั้นสอง รอดมา 44 เปอร์เซ็นต์ ตั๋วชั้นสามรอด 25 เปอร์เซ็นต์ และลูกเรือรอด 24 เปอร์เซ็นต์ โดย เจ.บรูซ อิสเมย์ ผู้บริหารของ White Star Line หนีลงเรือกู้ชีพรอดมาได้

หลังเหตุการณ์ไททานิก บริษัท White Star line ยังดำเนินธุรกิจต่อไป โดยเดินหน้าสร้างเรือรุ่นใหม่ตามมาอีก 23 ลำ บทเรียนจากไททานิก ทำให้คำนึงเรื่องความปลอดภัยสูงขึ้น มีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนเดินทาง

เมื่อย้อนมาดูเรือกลุ่มหรูหราขนาดใหญ่โต 3 ลำตามแผนการ ที่ White Star line สร้างขึ้นมาสู่้กับบริษัท Cunard Lines มีเพียงเรือ ‘โอลิมปิก’ เท่านั้นที่ทำกำไรได้ ส่วนเรือ ‘ไททานิก’ จมลงในการเดินทางครั้งแรก และเรือ ‘บริแทนนิก’ ถูกนำไปใช้เป็นเรือพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ในปี 1933 การแข่งขันอันยาวนานระหว่างบริษัท White Star line และ Cunard Lines ลงเอยที่ควบรวมกิจการกัน เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักทั้งคู่ เมื่อรวมกันแล้วได้ใช้ชื่อว่า Cunard White Star Limited หลายปีต่อมาก็ปรับกลับไปใช้เหลือแค่ชื่อ Cunard ซึ่งปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการทำธุรกิจเรือสำราญ ที่มีเรือสำราญ อาทิ RMS Queen Mary 2, RMS Queen Victoria, RMS Queen Elizabeth เป็นต้น

โดยในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือไททานิก เรือของบริษัท Cunard ทุกลำจะชักธงสัญลักษณ์ของ White Star Line ที่เป็นรูปดาวสีขาวบนพื้นธงสีแดงขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อรำลึกและเป็นเกียรติให้แก่เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกที่จมอยู่ส่วนที่ลึกลงไปของมหาสมุทรแอตแลนติก

 

อ้างอิง [1] [2] [3] [4]

 

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า