SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกคืนวันพฤหัสบดี ค่ายหนังไทยน้ำดีอย่าง GDH จะจัดไลฟ์ครั้งพิเศษ Talk From Home ให้นักทำหนัง ประจำค่ายได้มาพูดคุย แลกปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ให้กับคนดูที่อยู่ทางบ้านฟัง 

สำหรับหัวข้อล่าสุดที่เสวนาผ่านกล้องไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาคือหัวข้อ “อยากทำหนังต้องเรียนหนัง?” โดยได้ 4 ผู้กำกับชั้นแนวหน้าของค่ายอย่าง บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จาก ฉลาดเกมส์โกง (2560), เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จาก ฮาวทูทิ้ง.. ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2562), หมู – ชยนพ บุญประกอบ จาก Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2562) และ ไก่ – ณฐพล บุญประกอบ จาก 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว (2561) มาถกกันว่า จำเป็นไหมที่การเป็นคนทำหนังมืออาชีพต้องจบการศึกษาด้านภาพยนตร์มาโดยตรง แล้วถ้าไม่เคยเรียนจะเป็นปัญหาหรือไม่

หัวข้อนี้ถือว่าเข้าทางผู้กำกับทั้ง 4 คนทีเดียว เพราะมีทั้งคนที่เรียนหนังมาโดยตรง ได้แก่ 2 พี่น้อง ชยนพ-ณฐพล ทั้งคู่จบการศึกษาจากเอกภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนัฐวุฒิและนวพลไม่เคยเรียนด้านภาพยนตร์ แต่ผ่านการลงมือทำและเรียนรู้แบบมวยวัดกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ นั่นทำให้พวกเขาน่าจะตอบคำถามดังกล่าวได้น่าสนใจทีเดียว

อยากทำหนังต้องเรียนหนังหรือไม่? นี่คือคำตอบ…

ปมในใจจากการไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน

เริ่มที่รายแรก นัฐวุฒิ ไม่เคยได้เรียนด้านภาพยนตร์มาโดยตรง เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกการแสดงและกำกับการแสดง (Acting and Directing) จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม้จะเกี่ยวข้องกับการแสดงเหมือนกัน แต่ที่นี่เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับละครเวทีมากกว่า และกว่าเขาผู้มีความฝันว่าอยากทำหนังจะรู้ตัวว่าเลือกคณะผิดก็สายเกินไป จึงเสียใจพอสมควรกับการไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน

“ยังจำความรู้สึกได้ ตอนนั้นจะมีนักเรียนภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาช้อปปิ้งเด็กจากมหาวิทยาลัยพี่ไปเล่นหนังสั้น พี่ก็จะเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ไปเล่น แล้วเวลาที่ไปมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ได้เห็นห้องแลบของเขา ได้เห็นอุปกรณ์และเครื่องมือ เราจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมากๆ รู้สึกว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ กลายเป็นปมที่ทำให้พี่เลือกไปเรียนต่อที่นิวยอร์คในอีก 3 ปีต่อมา”

อย่างไรก็ตามตอนอยู่ที่นิวยอร์ค บัณฑิตจาก มศว ก็ไม่ได้เรียนหนังอยู่ดี แต่เขาได้ประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่าหลายอย่างจากการทำงานเป็นบาร์เบนเทนดอร์ มีโอกาสได้ดูหนังหลากหลายแนว และเสพงานศิลปะจำนวนมาก ยิ่งกว่าตอนอยู่ที่ประเทศไทย เขาถือว่าการจ่ายค่าตั๋วเพื่อดูหนังคือวิธีเรียนรู้อีกแบบ ไม่ต้องเรียนผ่านสถานศึกษาอย่างเดียวก็ได้

สุดท้ายเขาเก็บเงินแล้วลงมือทำหนังสั้นเรื่อง The Misbehavers และมีโอกาสให้ผู้กำกับชยนพดู และชยนพก็เอาหนังเรื่องนี้ให้คนใน GDH สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า GTH ดูอีกที เป็นผลให้เขาได้ทำงานกับค่าย และพัฒนาหนังเรื่องนี้ให้กลายเป็นหนังขนาดยาวชื่อว่า Countdown ออกฉายเมื่อปี 2555 และได้ฝึกฝีมือตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้

เห็นตัวอย่างที่ดีจากความหลากหลาย

ด้านของ นวพล ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าเขาอยากทำหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาเติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนา เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีและหากเรียนนิเทศศาสตร์อาจจบมาแล้วไม่มีงานทำ จึงเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ เพื่อจะได้เรียนรู้เรื่องราวหลายด้าน อาทิ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันเขายังหาเวลามาเรียนบางวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ด้วย เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด

นวพลยังคิดว่าโชคดีที่หนังไทยในยุคที่เติบโตมานั้นเต็มไปด้วยความแตกต่าง ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ไล่ตั้งแต่ 15 ค่ำเดือน 11 (2545), นางนาก (2542) 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) เรื่องตลก 69 (2542) รวมถึงหนังอิสระของ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อได้เห็นความหลากหลายของหนัง จึงคิดว่าคิดว่าต่อให้เรียนคณะไหนก็มีหนทางในการทำหนังได้ทั้งสิ้น

และเมื่อเขาขึ้นชั้นปีที่ 2 เมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนา และมีกล้องถ่ายวีดีโอที่พกพาได้ เขาจึงใช้โอกาสนี้ทดลองทำหนังสั้น หาเรื่องที่สนใจในช่วงนั้นแล้วเล่าออกมาในรูปแบบของตัวเอง ต่อให้จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำหนังโดยตรงก็ตาม เขาลองผิดลองถูกกับกระบวนการทำหนังมาเรื่อยๆ และเพิ่งมารู้ว่าการทำหนังตามตำราเป็นเช่นไรตอนร่วมงานกับ GTH แล้ว

การเรียนภาพยนตร์ ช่วยให้เจอคำสอนและแรงบันดาลใจที่ดี

สำหรับฝั่งของนักทำหนังอย่าง ชยนพ ผู้มีความสนใจในศาสตร์ของภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็กกล่าวว่า การเรียนหนังมาโดยตรงมีข้อดีคือ จะได้อยู่ในสังคมของคนทำหนังโดยตรง จะเกิดการกระบวนการเรียนรู้และแปลกเปลี่ยนง่ายกว่า และจากประสบการณ์ตรง การเรียนที่คณะทำให้เขาได้พบเจอกับ เก้ง – จิระ มะลิกุล ผู้กำกับหนังเรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ผู้เป็นทั้งรุ่นพี่และอาจารย์พิเศษที่มอบความรู้ที่น่าสนใจไว้มากมาย

“พี่เก้งเคยแบ่งว่าการเรียนหนังคือการเรียน What กับ How การเรียน How คือเรียนวิธีทำ เรียนเรื่องเทคนิคว่าใช้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างไร ซึ่งทุกวันนี้สามารถศึกษาได้หลายวิธี การเรียนภาพยนตร์ที่คณะ ที่มหาวิทยาลัย มีสิ่งแวดล้อม มีอุปกรณ์เพียบพร้อมให้ลองใช้ มันก็จะได้เรียนรู้ How ตรงนี้ แต่การเรียนรู้ What คือสิ่งที่ยากกว่าว่าจะเล่าเรื่องอะไร”

ไม่เพียงแค่นั้น จิระ ยังมอบแรงบันดาลใจชิ้นสำคัญด้วยนั่นคือ การออกไปหาโลกกว้าง 

“หนังคือการยกตัวอย่าง คนทำหนังคือคนเล่าเรื่อง การยกตัวอย่างคือการเล่าเรื่อง คนที่จะยกตัวอย่างได้เก่งและหลากหลาย เก่งในการเล่าเรื่องต้องมีประสบการณ์ชีวิตเยอะมากพอ เพราะฉะนั้นพี่เก้งเลยเชียร์น้องๆ ที่เรียนหนังว่าจงไปใช้ชีวิต ออกไปเผชิญโลก ออกไปบาดเจ็บ ไปมีความสุข มีความทุกข์ เผชิญสิ่งต่างๆ ยังไม่ต้องรับทำหนังก็ได้ ผมก็เคารพในสิ่งที่พี่เขาพูดเลยไปทำอย่างอื่นดู เลยไปเป็นสจ๊วต หรือพนักงานต้อนรับบทเครื่องบินอยู่ 2 ปี….”

“แล้วก็ได้ไปเจอโลกจริงอย่างที่พี่เขาบอก ได้เจอผู้โดยสารจากหลากหลายที่ แค่เพื่อนร่มงานมาจากทุกคณะเลย สัตวแพทย์ก็มาเป็นได้ วิศวกร นักบัญชี แม้กระทั่งนักดนตรี ศิลปินก็ยังมาเป็นพนักงานต้อนรับบทเครื่องบิน”

หลายปีต่อมาเขายังเอาประสบการณ์การทำงานบนเครื่องบินมาใช้ในหนังเรื่อง Friend Zone ด้วย แต่หลังผ่านกระบวนการเรียนรู้หลายปี สิ่งที่ชยนพเชื่อว่าสำคัญที่สุดคือการลงมือทำจริงนี่แหละ “ทันทีที่คุณเริ่มทำหนังสักเรื่อง ตั้งแต่เริ่มเขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ ฉาย และดูฟีดแบ็คคนดู ขั้นตอนที่สำคัญมากๆ คือตอนดูรีแอ็คชั่น ถามความรู้สึกของคนที่ได้ดู อ่านคอมเมนต์ว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์อันนี้ได้บทสรุปเป็นอย่างไร มันคือตัวเพิ่มเลเวลของเราเลย เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญมาก”

จากร่มเงาพี่ สู่แนวทางของตัวเอง

ด้านของ ณฐพล ผู้เป็นน้องชายของ ชยนพ กล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่ชายในหลายๆ ประการทั้งการดูหนัง รวมถึงการเลือกเรียนเอกภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่แนวทางของเขาจะแตกต่างกันกับพี่ชายตรงที่ เขาชอบประเด็นสังคม หนึ่งในจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือการทำแอนิเมชั่น รู้ สู้! Flood ในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2554 ทำให้เขารู้ว่าการเล่าเรื่องบางอย่างไม่จำเป็นต้องนำเสนอด้านบันเทิงเพียงอย่างเดียว 

ขณะเดียวกันเขายังร่วมงานกับ NGO เอาข้อมูลที่ได้มาแปลงเป็นหนัง และเริ่มสนใจหนังสารคดีมากขึ้น ได้ค้นพบวิธีการทำหนัง วิธีการเล่าเรื่องและเรียบเรียงอีกแบบซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในประเทศไทย เขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการทำหนังสารคดีที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการเรียนรู้ จริงอยู่ว่าจะทดลองทำเองก็ได้ แต่มันจะใช้เวลานานกว่า

สำหรับข้อดีของการเรียนหนังไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม ณฐพลตอบเช่นเดียวกันว่า มันทำให้ได้มาอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจเหมือนกัน ได้อยู่กับกลุ่มเพื่อนที่จะไปดูหนังตลอดเวลา ดูจบแล้วก็มาคุยกัน เป็นพื้นที่ให้เราได้ทดลอง และแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้น ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีได้ 

และหากให้ณฐพลแนะนำคนที่กำลังสนใจในด้านนี้ล่ะก็ เขาเชื่อว่าเรียนหนังโดยตรงไปเลย “ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกว่าจะเรียนหนังหรือไม่เรียนก็ได้ ผมว่าเรียนก็ดี เพราะจะทำให้คุณทุ่มเทเวลาไปในการลองทำหนัง ดูหนังเยอะๆ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาคิดเหมือนทุกคนคือการเรียนรู้ในการทำหนังที่ดีที่สุดก็คือการลงมือทำ ไม่สำคัญว่าจะเรียนหนังหรือไม่ แต่ถ้าเรียนมาแล้วไม่ได้เอามาใช้ในการทำงาน ไม่มาเรียนรู้จากการลงมือทำ ก็ไม่มีประโยชน์อย่างใด

สรุปแล้ว ไม่เรียนหนังแล้วทำหนังได้ไหม?

อาจกล่าวได้ว่าคำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ไม่มีถูกและผิด เพราะดังที่เห็นกัน ผู้กำกับหนังทั้ง 4 ต่างมีเส้นทางที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเรียนหนังมาตรงๆ หรือไม่ก็ตาม บ่อยครั้งสิ่งที่อยู่ในตำราอาจนำมาใช้ในการทำหนังไม่ได้เลย หรืออาจใช้ได้แค่ในบางกรณี เพราะเมื่อเริ่มทำหนังเรื่องใหม่ ก็จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับทักษะของนักทำหนังแต่ละคน ว่าจะเลือกวิธีใดถึงจะถ่ายทอดสารที่อยู่ในหนังส่งไปถึงคนดูได้ดีที่สุด

และหากจะหาคำพูดใดที่สรุปประเด็นนี้ได้ดีที่สุดก็คงเป็นคำพูดของผู้กำกับนัฐวุฒิที่ว่า “ถ้าเราไม่มีโอกาส ไม่มีต้นทุนเท่ากับคนอื่น เราไม่มีโอกาสเรียนหนังด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อย่าคิดว่านี่คือปัญหา อย่าตีอกชกหัวตัวเอง แล้วพาลเลิกล้มความคิดและความเชื่อนั้นไปเลย เพราะสุดท้ายแล้ว การทำงานศิลปะไม่มีสูตรตายตัว เราเรียนรู้ด้วยตำราชีวิตเราเองได้ และทำให้มันดีที่สุดได้” นัฐวุฒิกล่าว

หวังว่าการแชร์ทัศนะและประสบการณ์ของ 4 ผู้กำกับมากความสามารถในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังลังเลในเส้นทางชีวิตของตัวเอง กลายเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่สำคัญ เพื่อเติบโตมาเป็นคนทำหนังคุณภาพประดับวงการภาพยนตร์ไทยต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า