SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าวันหนึ่ง เราถูกปลดฟ้าผ่าจากองค์กรในตอนที่อายุมากแล้ว เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร การเตรียมตัวตั้งรับกับเหตุไม่คาดฝันน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการรับมือความเสี่ยงนี้ 

TODAY Bizview มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘คุณโน๊ต-ศรัณย์ คุ้งบรรพต’ Vice President, HR Group, Krungsri ผู้มี ประสบการณ์ในวงการ HR กว่า 15 ปี มาแชร์มุมมองว่าจะรับมือหลังถูกเลิกจ้างได้ยังไง 

และวิเคราะห์กรณีตกงานในวัยกลางคน การทำงานหนักกับชีวิตคนไทย และค่านิยม “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร”

————-

[ เช็กความพร้อม 3 ข้อ และวิธีรับมือเมื่อตกงาน ตอนอายุเยอะ  ]

สมมุติว่ามีอยู่วันหนึ่ง เราถูกเชิญให้ออกจากบริษัท หรือตัวเราเองที่ไม่อยากอยู่กับบริษัทแล้ว สิ่งแรกที่ต้องถามตัวเอง คือ ‘สาเหตุ’ และ ‘ปัญหา’ ที่ทำให้เราต้องออกมา

คุณโน๊ตบอกว่า ถ้าสาเหตุคือบริษัทไม่ต้องการเราแล้ว การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และทุกคนควรเช็กความพร้อมทั้ง 3 ข้อ 

  1. การบริหารการเงินส่วนบุคคล หรือ personal finance 
  2. อาชีพสำรอง หรือ side career 
  3. การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากในทุกวันนี้

ถ้าตัวเราเองมั่นใจ และไม่มีความกังวลกับ 3 สิ่งนี้  เราจะสามารถพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในด้านการงานของเรา 

ซึ่งจริงๆ แล้ว เช็คลิสต์ 3 ข้อนี้เปรียบเสมือนกับการบริหารความเสี่ยงของตัวเอง เพราะไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่เราก็สามารถไม่มีงานทำแบบไม่ได้ตั้งตัวได้ตลอดเวลา

การเตรียมตัวเรื่องการบริหารการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งการเตรียมตัวนี้อาจจะไม่ได้มีสูตรสำเร็จ เพราะพื้นฐานชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

————-

[ การวางแผนที่ดี ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้เลย ]

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า การวางแผนควรเริ่มต้นเมื่ออายุเท่าไหร่ คุณโน๊ตบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้เริ่มตั้งแต่วันนี้เลย ไม่จำเป็นว่าต้องรอถึงจุดหนึ่งของชีวิตแล้วค่อยเริ่ม เพราะถ้ายิ่งวางแผนเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลดีในอนาคต

สิ่งเหล่านี้จะผูกติดตัวเราไป เป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตได้ และเมื่อเราโตขึ้น เราจะมีอิสระด้านการเงินและด้านอื่นๆ ที่จะไม่ทำให้เราเครียดจนเกินไป โดยเฉพาะสำหรับพนักงานบริษัท 

บางที สิ่งที่องค์กรให้เราก็สามารถส่งผลในอนาคตได้ดี เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการลงทุนจากตัวเราส่วนหนึ่ง และบริษัทอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ตัวเรามีความมั่นคั่ง เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม เราจะไม่สามารถพึ่งพาแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเดียว แต่เราควรจะมีวินัยทางการเงิน การลงทุน และดูความเสี่ยงต่ำ-สูง

ซึ่งหนึ่งในทฤษฎีเพื่อป้องการความเสี่ยง คือการมีเงินเก็บขั้นต่ำอย่างน้อย 6 เท่าของเงินเดือนในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อเราตกงาน เราจะมีเงินเลี้ยงชีพตัวเองได้ 6 เดือน เพื่อที่จะให้เราอยู่ได้ และไม่เป็นการกดดันตัวเองจนเกินไป 

นอกจากนี้ การมีอาชีพสำรองยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้างานประจำของเราหายไป เรายังมีอีกอาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงเราได้ ยังทำให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้ 

อาชีพเสริม หรืออาชีพสำรอง อาจจะเป็นงานที่ชอบ งานที่เรารักที่จะทำมัน อาจจะไม่ได้เป็นงานที่รายได้เยอะเท่าอาชีพหลีกของเรา แต่จะยังสามารถเลี้ยงชีพเราได้เมื่ออาชีพหลักเราหายไป

คุณโน๊ตบอกว่า “สำหรับคนที่ยังไม่ได้เตรียมแผนอะไรเลย ในวันนี้คุณอาจจะกำลังสนุกกับการใช้ชีวิต แต่ในอนาคต คุณจะมีตัวเลือกที่น้อยลง เพราะถ้าเรามองว่า ในอนาคตเราไม่มีความมั่น เราจะพร้อมที่จะปรับตัวกับ ทักษะ หรือบรรยากาศใหม่ๆ มั้ย 

ถ้าคำตอบคือ ไม่พร้อม เราต้องยิ่งเตรียมตัว หรือรีบกลับไปดูเช็คลิสต์ 3 ข้อว่าเป็นอย่างไร เพราะยังไงก็ตาม ยิ่งวางแผนเร็ว ยิ่งจะส่งผลดีในอนาคต”

————-

[ ทุกคนไม่ได้พร้อมกับการ Reskill ]

คำว่า ‘reskill’ ดูเหมือนจะเป็นคำที่ฟังแล้วดูเท่ และสำคัญมากในทุกวันนี้ เพราะสภาพแวดล้อมทำให้ทุกคนต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีคนจำนวนน้อยมากที่จะสามารถ reskill และประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น บางคนไม่ได้แม้แต่ที่จะพร้อมกับการ reskill ตัวเองด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง

คุณโน๊ตบอกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่ได้ต่อต้านคำว่า reskill แต่อยากให้ทุกคนลองมองโลกขององค์กร (corporate) ว่าจริงๆ แล้ว ตัวเราเองมีความจำเป็นที่จะต้อง reskill มั้ย

บางคนอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้อง reskill ด้วยซ้ำ เพราะเขามีทักษะอื่นๆ นอกจากเนื้องานปัจจุบันที่สามารถไปต่อยอดได้ หรือบางคนอาจจะมีอิสระทางการเงินแล้ว เพราะฉะนั้น เขาไม่ต้องกังวลด้วยซ้ำว่า เขาจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกมั้ย

สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้ก่อนว่า ภาพรวมตอนนี้เราอยู่ตรงไหน มีความจำเป็นที่จะต้อง reskill มั้ย หรือเรามีความพร้อมที่จะไปทำอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน

————-

[ พนักงานอายุงานมาก มีโอกาสถูกปลดง่ายกว่า ]

คุณโน๊ตมองว่า ถ้าองค์กรมีจริยธรรมที่ดี จะไม่มองเรื่องอายุในการปลดพนักงานออก ซึ่งหลักการจริงๆ คือมองการสร้างคุณค่า หรือการสร้างผลงานที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรมากน้อยแค่ไหน

การที่มองว่า คนรุ่นนี้ไม่เวิร์คแล้ว อายุเยอะแล้ว ไม่สามารถทำงานได้แล้ว เป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้ว กลุ่มพนักงานที่มีอายุงานเยอะ มักจะมีคำว่า ‘wisdom’ ซ่อนอยู่ในการทำงานอยู่ 

wisdom คือจุดแข็งของพนักงานประสบการณ์สูง บางทีประสบการณ์การทำงานอาจจะมีคุณค่ามากกว่าทักษะบางอย่างด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะรู้วิธีการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ และมี ‘fit’ กับองค์กรด้วย 

แปลว่าคนที่อายุ 45 ปีจะหางานยากกว่าคนที่อายุน้อย?

คุณโน๊ตไม่อยากให้มองแบบนั้น เพราะจริงๆ แล้วในหลายครั้งต้องยอมรับว่าประสบการณ์ของคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป กำลังสุขงอม กำลังก้าวเข้าสู่การขึ้นเป็น top management ด้วยซ้ำ และหลังๆ กลุ่มที่เป็น mid-career มักจะมี fast-track สามารถเป็น top management ได้เร็ว 

เพราะฉะนั้น การคิดว่าอายุ 45 จะโดนปลดออกจากงานหรือเปล่า ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะการที่ทำงานมา 20 กว่าปี มันต้องมีความรู้มากพอสมควร ทั้งด้านการงานและตัวองค์กรเอง ไม่อยากให้รู้สึกกังวลเรื่องอายุจนเกินไป 

แต่เมื่อไหร่ที่ควรรู้สึกเริ่มกังวล คือเมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถให้อะไรกับองค์กรได้ หรือไม่มี impact ให้กับองค์กร เนื้องานที่ใส่ให้ไป หรือไม่สามารถใส่ให้ได้แล้ว 

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น สิ่งที่ควรจะเริ่มคิดและพิจารณา คือเรากำลังตกขบวนหรือเปล่า และเมื่อเริ่มเห็นภาพ เราต้องเริ่มประเมินการบริหารความเสี่ยง 

ถ้าเราจะรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร เราจะหันไปดูว่า เราจะออกไปจากวงจรนี้เลย หรือถ้าเรายังอยากจะอยู่วงจรนี้ เราจะต้องทำอย่างไร ให้มันเป็นไปได้จริง แล้วเรายังมีความสุขอยู่ในการทำงาน

————-

[ ออกจากวงจรมนุษย์เงินเดือน ไปเป็นนายตัวเอง ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป ]

การถูกปลดออกจากงาน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่คำถามคือ ถ้าเราเจอสถานการณ์แบบนั้นขึ้นมาจริงๆ เราจะรับมือได้อย่างไร เพราะทุกคนที่โดนปลดออกมาจากงานประจำ อาจจะไม่สามารถไปเป็นผู้ประกอบการได้

บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า “การเป็นมนุษย์เงินเดือน มันไม่มีความสุข ไปเป็นผู้ประกอบการดีกว่า เป็นเจ้าคนนายคนดีกว่า” เพราะจะสามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้ 

แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทักษะเป็นผู้ประกอบการได้ 

บางคนอาจจะเหมาะกับการมาเรียนรู้ระบบ-การปฏิบัติงานในองค์กร แล้วค่อยไปเป็นผู้ประกอบการ หรือบางทีอาจจะประเมินแล้ว ตัวเองไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ประกอบการเพราะได้เห็นวิธีคิด การ setup ที่มันยาก

หรือบางคนอาจจะเกิดมาเพื่อเป็นผู้ประกอบการเลยก็ได้ สามารถลุกขึ้น และเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองได้เลย เพราะมี mindset บางอย่างที่เอื้อให้ทำตรงนั้นได้ หรืออาจจะมีอิสระทางการเงินที่สามารถสนับสนุนได้

ไม่งั้น ถ้าทุกคนไปเป็นผู้ประกอบการทั้งหมด โลกนี้จะไม่น่าอยู่เลย เพราะเรากำลังทำทุกอย่างเหมือนๆ กัน ทำในสิ่งที่ใกล้เคียงกันมาก และไม่ใช่ทุกคนที่มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการได้ทีเดียว

แพลตฟอร์มและพื้นฐานชีวิตของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน และการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมด้วย ที่จะบ่งบอกว่าเราสามารถไปเป็นผู้ประกอบการได้มากน้อยแค่ไหน

————-

[ ทำไมคนไทยยังจนอยู่ ทั้งๆ ทีทำงานหนักมาก ]

การทำงานหนัก เป็นค่านิยมคนไทย และกลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว แต่ความน่าเศร้าคือทำไมไทยยังจนอยู่ ทั้งๆ ทีเราทำงานหนักมาก 

คุณโน๊ตเลยตั้งคำถามว่า “จริงๆแล้วเรา ‘work hard’ (ทำงานหนัก) แล้วเรา ‘work smart’ (ทำงานด้วยความชาญฉลาด) ด้วยมั้ย? แล้วเรา work hard เพื่อให้คนอื่นร่ำรวยด้วยหรือเปล่า?” 

เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราทำงานหนักเพราะว่าเราชอบเนื้องาน และอยากประสบความสำเร็จกับมัน หรือ เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่ 

เพราะฉะนั้นการทำงานหนักกับชีวิตคนไทย เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะบางทีเราลืมคิดว่า เราทำงานเพื่ออะไร แล้วเรา work smart ด้วยมั้ย

การมีแรงขับเคลื่อนในการทำงานที่ต่างกันไป มันจะมีความหมายที่ต่างกัน เช่น ทำไมบางคนทำงานหนักแล้วยังมีความสุขกับชีวิต? เพราะเขารักงานนี้ ยังสนุกกับมันอยู่ 

ซึ่งคำถามนี้ ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวเหมือนกัน แต่เราต้องถามตัวเองว่า ลึกๆ แล้ว เราขับเคลื่อนด้วยอะไรกันแน่ แล้วเราจะมาถึงจุดที่รู้ว่า คำตอบของการทำงานหนักคืออะไร 

ถ้าเป็นความสุขอยู่แล้ว ก็อาจไม่ต้องปรับก็ได้ แปลว่าเราอยู่ถูกที่แล้ว แต่ถ้าการทำงานมันสร้างความเจ็บปวดในทุกวัน เราก็ต้องมาถามตัวเองแล้วว่าทำไม ถามคำว่าทำไมจนเราถ่องแท้กับคำตอบ

————-

[ คำว่า Passion เป็นเพียงคำสวยหรู หรือว่ามีอยู่จริง ]

คุณโน๊ตบอกว่า คำว่า ‘passion’ ก็ดูเป็นคำที่อาจจะสวยหรูเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ เราจะไม่รู้สึกว่าเรามาทำงาน แต่มันคือการมาใช้ชีวิตที่มีความสุข

ในความเป็นจริง คำว่า passion ควรมองให้เป็นคำว่า ‘ความรับผิดชอบ’ น่าจะดีกว่า เพราะ passion ก็มีปัจจัยหลายอย่างของมัน ถ้าลองสังเกตดีๆ อายุของเราก็มีผลกระทบต่อ passion เหมือนกัน 

เช่น เมื่อเราอายุ 30 ปี เรามีแรงฝัน และเราก็ตามความฝันได้ถึงจุดๆ หนึ่ง แต่วันหนี่งชีวิตจะทำให้เรามีเงื่อนไข มาเปลี่ยน passion ของเรา จนสิ่งที่มันเคยเป็น passion อาจจะไม่ใช่ passion แล้ว สุดท้ายมันจะเหลือแค่ความรับผิดชอบที่เราต้องทำ

แล้วถ้าชีวิตเราสู้กลับแต่เรายังไม่มีแผนสำรองหล่ะ?

คำถามนี้ก็จะกลับไปที่เรื่องเดิม คือการเตรียมตัวตลอดเวลา การเตรียมตัวยิ่งเร็ว ก็จะยิ่งส่งผลดี เพราะคงไม่มีไม่ใครอยากตกไปในหลุมหรอก เราต้องเตรียมตัว และมีความพร้อม คิดหาหนทางกับตัวเองตลอดเวลา

เราต้องเตรียมการในทุกๆ ด้าน แล้วคิดตัวเลือกไว้ให้ตัวเองหลายๆ ทาง วันหนึ่งอะไรที่เราเคยมี ถ้าเราไม่มีมันแล้ว เราจะทำอย่างไร ถ้าวันนี้ไม่มีงานประจำ เรายังมีอาชีพเสริมมั้ย เรายังมีงานอื่นที่จะไปทำมั้ย 

เรามีอะไรที่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปมั้ย หรือเรามีการวางแผนอื่นๆ รองรับมั้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสุดท้าย ไม่มีใครสามารถดูแลรับผิดชอบชีวิตของเรา

นอกจากนี้ เรามักจะถูกสอนให้เห็นแต่ชีวิตตอนขาขึ้น แต่ไม่เห็นให้ถูกสอนชีวิตในขาลง ซึ่งจริงๆ แล้ว ชีวิตไม่ได้สวยงามตลอดเวลา เราไม่ได้สามารถไปท่องเที่ยวได้ตลอดเวลาขนาดนั้น 

เพราะสุดท้ายมันจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่แม้เราอาจจะรู้มาก่อน แต่พอมันเกิดขึ้นจริง เราเองนี่แหละที่พร้อมจะรับมันมั้ย และมันไม่ได้สวยงามเหมือนที่เราคิด 

พูดง่ายๆ คือ ถ้าสมมุติเราตกงาน มันคือขาลงของชีวิตนี่แหละ แต่มันจะลงเร็ว แล้วเราพร้อมกับมันหรือเปล่า เราจะสามารถรับมือมันได้ดีแค่ไหน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยถูกสอนในห้องเรียน แต่มันคือบทเรียนชีวิตที่ถ้าเราเห็นเร็วยิ่งดี

————-

[ แล้วถ้าคุณโน๊ตถูกเลิกจ้างเอง จะรับมืออย่างไร ]

คุณโน๊ตบอกว่า ถ้าตัวเขาเองถูกยกเลิกจ้าง มันก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับเขาเหมือนกัน 

การถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันเข้าใจจนกว่าเราจะได้เผชิญเอง วันนี้เราก็คงได้แต่สมมุติคิดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว มันคงไม่ง่ายเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

‘ไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก’ เป็นอีกหนึ่งวลีที่สามารถอธิบายปัญหานี้ได้ เพราะประสบการณ์ที่มันเกิดกับชีวิตเรา ถ้าเราไม่เจอเองเราจะไม่มีวันรู้ เหมือนคนที่บอกว่า วันนี้เขาไปเจอเรื่องแย่ๆ มา เราจะไม่มีวันรู้สึกได้ดีเท่ากับเจ้าของเรื่องแน่นอน 

และพวกเขากำลังเจอสถานการณ์ที่หนักในชีวิต โดยเฉพาะถ้ามันเป็นบางอย่างที่มันกะทันหันมากๆ ไม่ได้มีการเตรียมการบอกกล่าว ไม่มีการเตรียมตัวแน่นอน มันจะเป็นประสบการณ์ที่แย่มากสำหรับเขา 

ซึ่งการเกิดเรื่องแบบนี้ เราอาจจะต้องคิดเผื่อไว้เลยว่า ถ้ามันเกิด ‘worst-case scenario’ ขึ้นมาจริงๆ เราจะทำอย่างไร เราพร้อมหรือยัง เรามีพื้นฐานการเงินที่ดีหรือยัง เรามีอะไรรองรับเรามั้ย เรามีฟูกให้ล้มมั้ย 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือการไม่วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตคนอื่น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกกับเรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเอง 

ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในสถานการณ์กำลังเจอเรื่องเหล่านั้นต้องลุกขึ้นกลับมาสู้ให้เร็ว ตั้งสติ กลับมาเป็นผู้ที่สามรถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสง่างามอีกครั้ง อันนี้คือจุดสำคัญที่เราต้องตีโจทย์ต่อ

คุณโน๊ตปิดท้ายว่า “พี่เองก็ยังเป็นคนที่พยายามทำอยู่ มีถูกมีผิด ลองผิดลองถูก พยายามไปถึงจุดที่วันหนึ่ง ถ้าเราล้ม เรามีฟูก ถ้าที่ดีที่สุด คือเราไม่ล้มเลย เรามีอิสระของเราจริงๆ อันนั้นคือ best case ที่อยากไป แต่ก็ยังไม่ สมบูรณ์แบบเหมือนทุกคน”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า