Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เชื่อว่าหลายคนคงได้ดูภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” กันมาแล้ว ในภาพยนตร์จะพบว่า “จีน” ตัวเอกของเรื่องอยากทำออฟฟิศสไตล์มินิมอลลิสต์ (Minimalism) โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสต๊อกโฮล์ม เมืองที่เธอเคยไปอยู่มาก่อนหน้านี้ 

แม้ว่าภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอแนวคิดมินิมอลแบบสวีเดนเป็นหลัก แต่คงมีประโยชน์ไม่น้อยหากหยิบยกเรื่องมินิมอลลิสต์ในสวีเดน ซึ่งมีมิติของวัฒนธรรมและระบบเศรษฐกิจการเมืองมาพูดถึงในที่นี้ ทั้งนี้ ต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ใช่นักออกแบบที่เข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะมินิมอลลิสต์ แต่เขียนในฐานะผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมสวีดิชและเคยอาศัยอยู่ในสวีเดนช่วงหนึ่ง และตั้งใจว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยจะต้องเปลี่ยนบ้านและสังคมรอบตัวให้คล้ายกับที่สวีเดนให้ได้ แต่ก็พบว่าตัวเองประสบปัญหาไม่น้อยไปกว่าจีน

ลากอม: ไม่มาก ไม่น้อย เอาที่พอดีๆ 

“ลากอม” (Lagom) เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของชาวสวีดิช ซึ่งหมายถึง “ความพอดี” ในการใช้ชีวิต ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ให้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง สร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย จะทำอะไรก็คิดถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้งการสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศ แนวคิดนี้ส่งผลให้เกิดการเลือกใช้สินค้ารีไซเคิลและมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแนวคิดนี้ก็เป็นหนึ่งในรากฐานของงานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียด้วย 

เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสแกนดิเนเวียต่างก็เคลมว่า งานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียเกิดมาก่อนที่ศิลปะแบบมินิมอลลิสต์จะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเสียอีก โดยงานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียเกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศนอร์ดิกในช่วงทศวรรษที่ 1950 ทั้งนี้ รูปแบบการออกแบบตกแต่งดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากอากาศที่หนาวเย็นและเห็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ยาวนานอย่างน้อย 5 เดือนต่อปี ผู้คนจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านและปรับบ้านให้เป็นพื้นที่ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยและดูอบอุ่นมากที่สุด แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี ลากอมก็ไม่ใช่ปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ไม่มีข้อกังขาเลย เพราะความพอดีของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “พอดี” ในอีกแง่หนึ่ง ลากอมจึงแสดงถึงความไปเรื่อยๆ ไม่เด็ดขาด ไม่เผชิญหน้า เมื่อใช้ลากอมมาแก้ปัญหาการเมืองและสังคมก็ยิ่งวุ่นวายไปกันใหญ่ ในยุโรปมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าลากอมทำให้คนพึ่งพาสวัสดิการ ขาดความทะเยอทะยาน และพยายามประนีประนอมกับทุกกลุ่มก้อนทางการเมืองจนดูเหมือนว่าจะไม่จัดการกับอะไรเลย และนี่อาจเป็นแนวคิดที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของสวีเดนที่ควรพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ นอกจากนี้ ในเวทีระหว่างประเทศ สวีเดนก็มักแสดงท่าทีเป็นกลางต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเน้นแต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

Death cleaning: ส่งต่อของที่เรารักให้คนรอบตัวก่อนตายและไม่ทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลาน

มีวัฒนธรรมกระแสรองในสวีเดนที่คล้ายกับเทคนิคการจัดบ้านแบบมาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo) ที่นำเสนอในภาพยนตร์ นั่นคือ การจัดการกับข้าวของส่วนตัวเพื่อเตรียมตัวตาย (Death cleaning) ที่ชาวสวีดิชเรียกว่า “เดอสแตดนิ่ง” (Döstädning) 

จุดประสงค์คือการกำจัดข้าวของของเราให้เหลือแต่ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระและสร้างความลำบากใจให้ลูกหลานในการจัดการกับสิ่งของเมื่อเราตายไป และยังได้บ้านที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การพักผ่อนอีกด้วย วัฒนธรรมนี้จึงไม่ได้นิยมเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถจัดการข้าวของด้วยวิธีนี้ได้

Death cleaning เป็นที่รู้จักและนิยมกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษ และสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเทคนิคการจัดบ้านของมาริเอะ คอนโดะ ความแตกต่างอยู่ที่ Death cleaning ไม่ได้แนะนำให้กำจัดของทุกอย่างออกไปทีเดียว แต่อนุญาตให้เลือกเก็บของที่คิดว่าไม่ใช้แล้ว แต่คนที่เรารู้จักน่าจะได้ใช้ประโยชน์ โดยให้เก็บใส่กล่องแบ่งประเภทไว้ว่าของชิ้นไหนจะให้ใคร หรือให้เนื่องในโอกาสอะไรบ้าง เมื่อถึงโอกาสนั้นก็นำของเหล่านั้นไปให้คนที่เหมาะสม 

Michael Booth  นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของผลงาน “The Almost Nearly Perfect People” ซึ่งเล่าถึงสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้อธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรม Death cleaning ไว้ว่า วัฒนธรรมนี้ได้อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากความเป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบของสวีเดน ทำให้คนแก่ในสวีเดนสามารถอยู่อาศัยได้เองตามลำพัง ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน และการเก็บกวาดข้าวของส่วนตัวก่อนตายยังแสดงถึงนิสัยของคนสวีดิชที่มีความรับผิดชอบมากๆ และพยายามไม่ทำตัวเป็นภาระแก่คนอื่น นอกจากนี้ ท่านทูตสวีเดนประจำสหรัฐฯ ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อในสหรัฐฯ ว่า “Death cleaning ก็เหมือนกับผลผลิตทางธรรมชาติของสังคมที่ให้คุณค่ากับการมีชีวิตที่เป็นอิสระ มีความรับผิดชอบ และใช้ชีวิตอย่างไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของประชาชนจึงสะท้อนออกมาสู่การตกแต่งบ้าน” 

Clothes swap day: ลดการทิ้ง เน้นการแลกเปลี่ยน

ชาวสวีดิชมีวันแลกเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้านประจำปี หรือที่เรียกว่า “แคลดบีทาดาเกน” (Klädbytardagen) ในวันนี้ ทั่วทั้งประเทศจะเปิดตลาดนัดเล็กๆ ในชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ารวมทั้งของตกแต่งบ้าน โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2010 และประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2014 โดยมีตลาดซื้อขายและแลกเปลี่ยนของมือสองมากกว่าร้อยแห่งทั่วทั้งสวีเดน และในปี 2015 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกก็ได้จัดวันแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าขึ้นพร้อมกัน จนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจว่ารูปแบบการบริโภคของพวกเขาส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโลกอย่างไรบ้าง

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างยั่งยืนของสวีเดน หรือ Mistra Future Fashion ยังเปิดเผยด้วยว่า วัฒนธรรมการแลกสินค้าหรือซื้อขายของมือสองมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายหลังจากอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้ซื้อ โดยมีรูปแบบของธุรกิจหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ โดยไปเก็บสินค้าจากบ้านของลูกค้าที่ต้องการกำจัดข้าวของมาไว้ในโกดัง จากนั้นผู้ให้บริการจะถ่ายรูปและโปรโมทสินค้าลงบนแพลตฟอร์ม รวมทั้งขายและจัดส่งให้กับเจ้าของคนใหม่ โดยผู้ให้บริการจะได้ส่วนแบ่งจากราคาสินค้าที่ขายได้มากกว่า 50% ส่วนเงินที่เหลือจะเป็นของเจ้าของสินค้าเดิม ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของแพลตฟอร์มดังกล่าวคือช่วยเก็บกวาดสิ่งของที่ไม่ต้องการออกไปจากบ้าน โดยไม่ไปลงเอยที่ถังขยะ

กระนั้นก็ตาม สวีเดนยังคงประสบปัญหาลัทธิบริโภคนิยมอยู่พอสมควร แม้จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เปอร์เซ็นต์การซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้ามือสองหรือสินค้าที่ใช้แล้วก็ยังไม่มากเท่าที่ควร โดยผลสำรวจพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของคนสวีดิชในปี 2013 พบว่า พวกเขาซื้อเสื้อผ้าโดยเฉลี่ย 13 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และทิ้งเสื้อผ้าที่ใช้แล้วราว 10 กิโลกรัม ซึ่งส่วนมากจะกลายเป็นขยะและนำไปเผาทำลาย มีเพียงแค่ 2.4 กิโลกรัมที่ถูกนำไปบริจาคและซื้อขายในตลาดสินค้ามือสอง 

วิถีชีวิตของคนสวีเดน จะคุ้นชิ้นกับการเปลี่ยน ส่งต่อ มากกว่าการทิ้ง

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในสวีเดนจึงพยายามทำความเข้าใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน โดยก่อตั้งห้องทดลองทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า “Beteendelabbet” ภายใต้ความเชื่อว่า “มนุษย์เพียงแค่ต้องการการบริการที่ช่วยให้ชีวิตพวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น” หน้าที่ของห้องทดลองนี้คือศึกษาและทดลองเพื่อหาโมเดลธุรกิจ การบริการ หรือเทคโนโลยีที่ทำให้การแลกเปลี่ยนและนำข้าวของกลับมาใช้ใหม่เป็นไปได้ง่ายขึ้น คำว่า “เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม” ในสวีเดนจึงไม่ได้หมายถึงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความเป็นมิตรต่อชุมชน สร้างงานและรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะชาวสวีดิชถือว่าการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากไม่สามารถขจัดความยากจนและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติออกไปได้

หาก “จีน” ต้องการนำความมินิมอลแบบสวีเดนมาไว้ในบ้านตัวเองที่กรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อย เนื่องด้วยวัฒนธรรม สภาพอากาศ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และการกระจายอำนาจที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย สังคมสวีเดนสอนผู้เขียนอย่างหนึ่งว่าการประนีประนอมและใช้เหตุผลโดยนำข้อมูลและงานวิจัยมาพูดคุยกันเพื่อหาจุดตัดตรงกลางที่มีร่วมกันระหว่างผู้อยู่มาก่อน ผู้ที่กำลังเติบโต และผู้ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ จะทำให้เกิดฉันทามติขึ้นในสังคมที่เราอยู่

หมายเหตุ: “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” (2019) เขียนบท อำนวยการสร้าง และกำกับโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นำแสดงโดยชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ษริกา สารทศิลป์ศุภา 

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า