หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย ที่ดูแลเรื่องโซลูชั่นเพื่อองค์กร โครงข่ายและคลาวด์ ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการบริหาร หรือซีอีโอคนใหม่ เดวิด หลี่ มาแทนนายอาเบล เติ้ง พร้อมพูดคุยถึงกลยุทธ์สำคัญในประเทศไทย ประจำปี 2566 นี้
เดวิด หลี่ คุณเดวิดได้จบการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านการออกแบบเครื่องกลสำหรับการผลิต จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง ร่วมงานกับหัวเว่ย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในตำแหน่งวิศวกรแผนกวิจัยและพัฒนาที่สาขาใหญ่ของบริษัทหัวเว่ยในเมืองเซินเจิ้น
ช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2557 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกโซลูชันโครงข่ายของหัวเว่ยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี พ.ศ. 2557 – 2560 เขาได้ดำรงตำแหน่งในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร (Vice CEO) ฝ่ายขายของหัวเว่ย ในประเทศอินเดีย
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2560 เขาได้ดำรงตำแหน่งในฐานะประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ในประเทศกัมพูชา จนกระทั่ง เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยในประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2564 และล่าสุดย้ายมาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย
กลยุทธ์ หัวเว่ย ภายใต้ซีอีโอคนใหม่
สำหรับกลยุทธ์หัวเว่ยในไทย ยังคงเหมือนกับปีที่ผ่านมา คือเน้นทำเทรนนิ่งบุคลากรในไทยป้อนตลาดเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับพาร์เนอร์โดยเฉพาะภาครัฐ ตั้งเป้าฝึกอบรมนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้ได้ถึง 20,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี
ตัวอย่างโครงการเช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจเอสเอ็มอี Spark Ignite โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคมซึ่งจะต่อยอดให้ครอบคลุมในพื้นที่ 10 จังหวัด ฝึกอบรมนักเรียนให้ถึง 2,000 คน งานสัมมนา Talent Talk เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านดิจิทัลจากภาคส่วนต่างๆ และโครงการ Seeds for the Future ที่จะมีทั้งการฝึกอบรม มอบทุนการศึกษา และการแข่งขันในกลุ่มเยาวชน เพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทัล มีคุณภาพ และมีความพร้อมสำหรับตลาดดิจิทัลของไทยในอนาคต
นายเดวิด หลี่ บอกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมาโดยตลอด ครอบคลุมทั้งด้านการผลักดันโครงข่าย และการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ การติดตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในประเทศไทยถึง 3 แห่งและการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์กว่า 300 ราย การนำโซลูชันเข้าประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 10 ประเภท การผลักดันพลังงานดิจิทัลเพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย การร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการมีส่วนร่วมพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีไทยกว่า 60,000 ราย