หลายคนคงเคยได้ยินถึงกิตติศัพท์ของการเซนเซอร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ของจีนเป็นอย่างดี
สำหรับคนทั่วไป อินเตอร์เน็ตอาจเป็นแหล่งข้อมูลและสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ แต่สำหรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนแล้ว พวกเขายึดถือหลักการเรื่อง อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต (Sovereign Internet) เหนือกว่าเสรีภาพ
Baidu, WeChat, Weibo และแพลตฟอร์มอีกหลายแห่งได้รับอานิสงค์จากกฎหมายเซนเซอร์ข้อมูลที่เข้มข้น จนทำให้ Google, Whatsapp, Facebook หรือ Twitter ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่หากไม่ยอมปรับเปลี่ยนนโยบายการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มเหล่านั้นยังคงเน้นให้บริการในประเทศจีนเป็นหลัก แม้จะมีการเปิดให้บริการในประเทศอื่นๆ บ้าง แต่ยังไม่ได้รับการจับตามองมากเท่าใดนัก
กลับกันกับ Huawei และ TikTok ที่มักจะเห็นปรากฎอยู่บนสื่อหลักแทบทุกวัน อะไรทำให้พวกเขาถูกพูดถึงมากขนาดนี้
ก่อนอื่นเราอาจต้องย้อนไปดูแนวทางปฏิบัติของจีนเมื่อมีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเข้าไปเปิดให้บริการกันก่อน
เมื่อ Google ยอมแพ้ในการปีนกำแพงเมืองจีน
Google กลายเป็นหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ยอมยกธงขาว หลังจากที่เปิดให้บริการในจีนครั้งแรกเมื่อปี 2006
ในตอนแรกทาง Google พยายามที่จะทำตามกฎหมายของจีนทุกประการ โดยการบล็อกเนื้อหาที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง ตามที่ทางรัฐบาลร้องขอ
แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากผู้ให้บริการท้องถิ่น และทำให้รัฐบาลจีนไม่ชอบใจก็คือ เมื่อมีเนื้อหาที่ไม่ผ่านการเซนเซอร์ปรากฎขึ้นในผลการค้นหา แทนที่ Google จะนำออกไปทั้งหมด กลับมีข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาว่า ผลการค้นหาบางส่วนถูกนำออกไป
ที่ผ่านมาผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนแทบไม่รู้ตัวมาก่อน ว่าเนื้อหาที่ปรากฎบนเสิร์ชเอนจิ้นนั้นผ่านการเซนเซอร์ของรัฐบาลมาแล้ว การขึ้นข้อความเตือนเช่นนี้เสมือนเป็นการสะกิดให้คนรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นไม่ใช่ทั้งหมด
จนกระทั่งในปี 2010 Google เผยว่าพวกเขาโดนโจมตีจากกลุ่มแฮกเกอร์ภายในประเทศจีน และบริษัทก็ได้เปลี่ยนท่าที ด้วยการประกาศว่าจะไม่ยอมเซนเซอร์ผลการค้นหาอีกต่อไป และรู้ตัวดีว่าอาจหมายถึงการปิดตัวของเว็บไซต์ Google ภาษาจีนก็เป็นได้
การประกาศครั้งนั้นเสมือนเป็นการบอกให้โลกรู้ถึงปัญหาการเซนเซอร์เนื้อหาในประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และสุดท้ายทางบริษัทก็ต้องย้ายฐานไปยังเกาะฮ่องกง เนื่องจากไม่สามารถให้บริการบนแผ่นดินใหญ่ได้อีกต่อไป
การเซนเซอร์ข้ามเขตแดน
ยิ่งจีนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากเท่าใด องค์กรต่างๆ ยิ่งรู้สึกกดดันและระมัดระวังมากขึ้น
ฉะนั้นคนที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง จึงต้องระมัดระวังคำพูดที่จะใช้สื่อสารเวลาพูดถึงจีน หรือประเด็นอ่อนไหวต่างๆ
ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดที่สุดก็คือ ข้อความบนทวิตเตอร์เมื่อปี 2019 ของดารีล มอรี่ย์ ผู้จัดการทั่วไปของทีมฮูสตัน ร็อกเก็ตส์ ในลีกบาสเกตบอล NBA
Here’s the tweet from @dmorey of the @HoustonRockets that the @NBA says ‘deeply offended many of our friends and fans in #China’. https://t.co/aHSYqbiSIY pic.twitter.com/Kst3jcD0IY
— Norman Hermant (@NormanHermant) October 7, 2019
มอรี่ย์ได้ทำการทวีตข้อความที่เป็นการสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง และผลที่ตามมาในท้ายที่สุดก็คือ การถ่ายทอดสด NBA ในประเทศจีนถูกระงับทั้งหมด
เริ่มแรกมีการหยุดถ่ายทอดสดเฉพาะเกมที่ร็อกเก็ตส์ลงแข่งขันเท่านั้น แต่เมื่อทาง NBA ตัดสินใจไม่ลงโทษ โดยออกมาบอกว่าความเห็นของมอรี่ย์เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล ไม่ได้สะท้อนถึงความเห็นของทีมและของลีก ทำให้ชาวจีนยิ่งไม่พอใจและนำมาสู่การแบนในวงกว้าง
มีการประเมินว่าความเสียหายครั้งนี้มีมูลค่านับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากบาสเกตบอล NBA ถือเป็นกีฬาต่างชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มากกว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษเสียอีก
จริงอยู่ที่ทางลีก NBA ออกมาสนับสนุนการพูดอย่างเสรี แต่ลึกๆ ทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมรู้ดีว่า การไปแสดงความเห็นใดๆ ที่ส่งผลให้เกิดมุมมองในแง่ลบต่อจีน อาจนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายจีนก็ตาม
ความกังวลของทั่วโลกต่อเทคโนโลยีจีน
แม้ที่ผ่านมาจะมีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์สัญชาติจีนมากมายที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศ และส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายการเซนเซอร์ข้อมูลของรัฐบาล
แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันที่มาแรงที่สุดในโลกอย่าง TikTok ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทสัญชาติจีน กลายเป็นแอปฯ ที่ตีตลาดโลกได้โดยไม่ต้องพึ่งการแทรกแซงจากนโยบายของรัฐแต่อย่างใด
จากข้อมูลล่าสุดของ SensorTower ในเดือนมิ.ย. 2020 TikTok สามารถคว้าอันดับ 1 ของโลกทั้งยอดดาวน์โหลดและรายได้ไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลายสำนักข่าวมีการรายงานว่าแอปฯ ตัวนี้กำลังถูกพิจารณาจากรัฐบาลนานาประเทศว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากบริษัทตั้งอยู่ในประเทศจีน ยังไม่รวมข่าวด้านลบที่ออกมาทั้งการแอบอ่านข้อความที่ผู้ใช้กดบันทึกไว้ หรือจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการของสหภาพยุโรปกำลังทำการสอบสวนเรื่องความปลอดภัยอยู่
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Huawei ก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จากการที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับจีน
ระเบิดลูกแรกที่ถูกทิ้งลงมาโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประกาศห้ามไม่ให้บริษัทในประเทศทำการค้าร่วมกับ Huawei
ในการประกาศผลประกอบการประจำปี 2019 Huawei ยอมรับว่าการถูกกีดกันครั้งนั้นส่งผลให้พวกเขาสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.7 แสนล้านบาท)
ส่วนระเบิดอีกลูกถูกปล่อยมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยสหรัฐฯ อีกแล้ว ที่คณะกรรมการด้านโทรคมนาคมประกาศว่าสินค้าจากแบรนด์ Huawei และ ZTE ถูกจัดให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากทั้งสองบริษัทอยู่ภายใต้กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาต้องยอมให้ความร่วมมือด้านข่าวกรองกับรัฐบาลจีนได้
จากการประกาศครั้งนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มเกิดความกังวลต่ออุปกรณ์ของ Huawei ที่ในตอนแรกวางแผนว่าจะนำมาใช้วางระบบ 5G แล้วเช่นกัน
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าความเสียหายในครั้งนี้จะมีมูลค่าอยู่ที่เท่าใด แต่ที่แน่ๆ คือทำให้ความเชื่อมั่นของ Huawei ในสายตาของรัฐบาลและผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั่วโลกลดลงไปแล้วไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อทั้ง Huawei และ TikTok นั้นยังมีไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทั้งคู่เป็นอย่างที่กล่าวหาจริง เป็นเพียงการประเมินสถานการณ์จากพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) เท่านั้น
โอกาสและอุปสรรค
ตามหลักการวิเคราะห์ SWOT ที่ใช้ในด้านการตลาดแล้ว ที่ผ่านมาบริษัทสัญชาติจีนมักจะได้เปรียบในด้าน โอกาส (Opportunities) อยู่เสมอเมื่อให้บริการภายในประเทศตนเอง ที่มีหลายปัจจัยกีดกันการแข่งขันจากต่างชาติ ทำให้ตราบใดที่สินค้ามีคุณภาพและราคาเหมาะสม ย่อมสามารถประสบความสำเร็จได้
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อออกไปสู่ตลาดโลก สิ่งที่เคยเป็นข้อได้เปรียบยามเป็นเจ้าบ้าน กลับกลายมาเป็น อุปสรรค (Threats) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะได้คุณภาพที่สูงในราคาที่ต่ำกว่าเจ้าอื่น แต่ถ้าถูกมองว่าปราศจากความโปร่งใสแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการโดนกีดกันจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการควบคุมของแต่ละประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากสิ่งที่รัฐบาลจีนทำกับบริษัทต่างชาติในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
สินค้าที่แปะป้าย Made in China อาจเป็นที่นิยมของทั่วโลกจากจุดเด่นในเรื่องราคา แต่พอเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และความเป็นส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว การขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ตรวจจับและกลั่นกรองเนื้อหาแทบทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ต ไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทสัญชาติจีนเลย