Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“สะอาด ปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค” กลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ผู้บริโภคคำนึกถึงมากที่สุดในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั่นทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต้องปรับตัวอย่างหนัก แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นการสวมถุงมือ ใส่หน้ากากป้องกัน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะหัวใจสำคัญของผู้สัมผัสอาหาร หรือ ผู้ประกอบอาหาร คือการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขาภิบาลอาหารด้วย

ที่ผ่านมาในหลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับมาตรฐานผู้สัมผัสอาหารบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้มีข้อบังคับที่เป็นกฎหมายชัดเจน ส่งผลให้มาตรฐานนี้ถูกลดทอนความสำคัญลงไปในบางธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหารตามสั่ง รวมไปถึงอาหารข้างทาง (Street Food) ทำให้ในปี พ.ศ.2563 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงผลักดันให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 โดยกำหนดให้มีการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภครับประทานอาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่สะอาดปลอดภัย ปรุงประกอบอย่างถูกสุขลักษณะ โดยจัดอบรมและออกใบรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือการท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด -19 ด้วย โดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 หากภายหลังมีการตรวจสอบพบว่าไม่ดำเนินการจะมีโทษทั้งจำและปรับ

บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมอนามัยให้เป็นผู้จัดอบรมผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารในชื่อโครงการ “หลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร” เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการของรัฐที่ปกติให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จึงดำเนินการจัดหลักสูตรอบรมให้กับผู้ประกอบกิจการและผู้สำผัสอาหารไปแล้วกว่า 70 รุ่น

ชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด

นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า Street food คือเสน่ห์ของประเทศไทย จึงต้องพยายามทำให้เสน่ห์ตรงนี้มีมาตรฐานขึ้น ซึ่งการอบรมนี้รวมกิจการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการยกระดับในปี 2564 ไว้แล้ว ซึ่งหากเทียบกับในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารประเภทไหนก็จะมีการตรวจคุณภาพทั้งสิ้น และไม่ใช่เฉพาะอาหารแต่ยังรวมไปถึงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบกิจการยังต้องมีการสอบรับใบอนุญาตผู้จำหน่าย จะทำร้านอาหาร คนเสิร์ฟ คนปรุง ต้องผ่านการสอบใบรับรองเช่นกัน หรือคนไทยที่จะไปทำงานร้านอาหารต่างประเทศก็จะต้องผ่านการอบรมกับหน่วยงานที่กำหนดไว้ก่อน ดังนั้นไทยเราเองก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานนี้เช่นเดียวกัน

ชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด

“ประเทศไทยเราไม่เคยมีมาตรฐานผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารมาก่อน และครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ดีต่อประชาชน ผู้ประกอบการและการท่องเที่ยว เป็นการยืนยันถึงการมีคุณภาพ การมีองค์ความรู้ ซึ่งเป็นแนวทางของรัฐที่ดีมาก ทางเซ็นทรัลแล็บไทยยินดีให้การสนับสนุน เพราะเราเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านการอบรม และเชื่อว่าหากไทยเราผลิตอาหารผ่านองค์ความรู้ จะทำให้อาหารมีคุณภาพ ผู้บริโภคก็จะเกิดความมั่นใจว่าปลอดภัย และจะลดปัญหาอย่างที่เคยเป็นข่าวว่า ทานอาหารแล้วท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือเจอสิ่งแปลกปลอมอยู่ในอาหาร ผมคุยกับทีมงานว่าครั้งหน้าเราอาจจะลงไปตามซุ้มอาหารในมหาวิทยาลัย ในตลาด ซึ่งเราเคยทำที่ตลาดแห่งหนึ่ง และจะหาตลาดกลุ่มอื่นๆ มาจัดอบรมเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งเป็นการใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อให้ผู้ประกิบการผู้สัมผัสอาหารได้รับทราบและตระหนักเรื่องนี้” นายชาคริต กล่าว

โดยในช่วงเริ่มต้นจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมอบรมก่อน เชื่อว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มให้ความสนใจและเข้ามาร่วมอบรมหลักสูตรผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหารที่ผู้บริโภคจะพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือการมีคุณภาพและมาตรฐาน

อรอนงค์ ตัณฑานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคลและธุรการ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

นางสาวอรอนงค์ ตัณฑานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคลและธุรการ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมเจอร์ในส่วนของโรงภาพยนตร์จะมีมินิบาร์ที่ขายอาหาร ป๊อบคอร์น ไส้กรอก เครื่องดื่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหาร อีกธุรกิจที่ทำคือโบว์ลิ่ง จะมีอาหารตามสั่งให้บริการกับลูกค้าซึ่งมีครัวอยู่ภายใน และยังมีจุดให้บริการเครื่องดื่ม พนักงานที่สัมผัสอาหารทุกคนจะต้องผ่านการอบรมเรื่องสุขอนามัยในการประกอบอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

“หากลูกค้ามีความเชื่อมั่นในพนักงานของเราทุกคน จะดีต่อองค์กรของเรา และเมื่อลูกค้าเห็นว่าพนักงานที่ให้บริการผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการประเมิน เมื่อมาทานอาหารจะรู้สึกมั่นใจ และถ้าเราทำได้ตามกฎกระทรวงที่กรมอนามัยกำหนด ก็จะยิ่งสร้างมาตรฐานให้กับเราด้วย และมองว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเติบโตในสายงานได้ ซึ่งผู้บริโภคจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนหลังจากนี้ เพราะทางเซ็นทรัลแล็บไทยผู้จัดอบรมจะมีป้ายรับรองรายบุคคลให้ ซึ่งเมเจอร์ตั้งเป้าว่าจะให้พนักงานในเครือ 160 กว่าสาขาให้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด” นางสาวอรอนงค์ กล่าว

ตัวอย่างบัตรประจำตัวผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร

ตัวอย่างบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร มี QR Code สำหรับทบทวนหลักสูตรให้กับผู้ผ่านการอบรม

อบรมทั้งทฤษฎี-ปฏิบัติ 3 ชั่วโมง

นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวถึงหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหารว่า จะสอน ภาคทฤษฏี เกี่ยวกับหลักการสุขาภิบาลอาหาร และอันตรายที่เกิดจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดปลอดภัย มาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคล กฏหมายที่เกี่ยวข้องและการบริหารจัดการสถานที่จำหน่ายอาหาร ส่วน ภาคปฏิบัติ อบรมเกี่ยวกับ การสาธิตและฝึกปฏิบัติตามหัวข้อที่หน่วยงานจัดการอบรมเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น

  • วิธีการล้างผักที่ถูกวิธี
  • วิธีการล้างมือ การหยิบจับอาหาร และการแต่งกายที่ถูกสุขลักษณะ
  • การเลือก ล้างภาชนะ อุปกรณ์
  • การเลือกใช้เครื่องปรุงรสอาหาร
  • หลักการทำงาน และการดูแลรักษาบ่อดักไขมัน
  • เทคนิคการตรวจทางด้านชีวภาพ โดยใช้ชุดทดสอบคลิฟอร์มแบคทีเรีย SI-2 หรือ อ13 (SI Medium)
  • เทคนิคการตรวจทางด้านเคมีโดยใช้ชุดทดสอบ การตรวจหาบอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารกันรา และยาฆ่าแมลง

 

สมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย

โดยอบรมทั้ง ผู้ประกอบกิจการ” ที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และ ผู้สัมผัสอาหาร” ที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่กระบวนการเตรียม ปรุง จำหน่าย และเสิร์ฟอาหาร รวมถึงการล้างและเก็บภาชนะอุปกรณ์ โดยหลักสูตรการอบรมผู้สัมผัสอาหาร จำอบรม 3 ชั่วโมง

ปัจจุบันวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่นิยมประกอบอาหารเพื่อทานเอง เป็นการทานอาหารนอกบ้านหรืออาหารปรุงสำเร็จ สถานที่จำหน่ายอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนัก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นเพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตามกฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการ จัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภครับประทานอาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ปรุงประกอบอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ  ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า