SHARE

คัดลอกแล้ว

แฮชแท็กอันดับ 1 ประจำวัน [#IAM48] เมื่อกลุ่มโอตะของ BNK48 จำนวนมาก ถล่มโจมตีใส่ต้นสังกัดของวงอย่างรุนแรง ในประเด็นเรื่องของ “เธียเตอร์” ที่น่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ BNK48 แต่กลับอนุญาตให้ทีวีรายการอื่นไปถ่ายทำด้านในได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือ “ความรู้สึก” ระหว่างแฟนๆ กับ ต้นสังกัดของ BNK48 ที่อาจจะมีรอยร้าวจนต่อไม่ติดอีกต่อไปก็เป็นได้

เรื่องราวเป็นอย่างไร Workpoint News จะเล่าแบ็กกราวน์ทั้งหมด พร้อมสรุปให้เข้าใจใน 24 ข้อ

1) ปลายปี 2556 บริษัท โรส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอร์ปอเรชั่น มีชื่อเดิมคือ “โรส วีดีโอ” เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนอนิเมะในประเทศไทย ได้ติดต่อไปที่บริษัทที่ดูแลไอดอลญี่ปุ่น AKB48 เพื่อขอสิทธิ์มาทำวงในโมเดลเดียวกันที่ประเทศไทย ซึ่งหลังจากเจรจากันหลายปี ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ตกลง และประกาศว่าจะมีวง “น้องสาว” ในไทย ชื่อว่า BNK48

โดย บริษัท โรส ได้ตั้งบริษัทย่อยชื่อ BNK48 Office เพื่อเข้ามาบริหารวง จัดสรรรายได้และงบประมาณทั้งหมด

2) BNK48 มีการประกาศสมาชิกรุ่นแรก ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยจำนวนทั้งหมด 29 คน รวมกับรินะ อิซึตะ ที่มาจาก AKB48 อีก 1 คน รวมเป็น 30 คน เริ่มต้นกันอย่างนับ 1 ตั้งแต่วันนั้น

ด้วยการที่เป็นวงขนาดเล็ก ยังไม่มีสถานที่ฝึกซ้อมอย่างเป็นทางการ ทำให้สมาชิกของวงต้องเปลี่ยนสถานที่ซ้อมอยู่เป็นระยะ เมมเบอร์บางคนต้องไปซ้อมที่บ้านเพื่อนก็มี

3) หลังจากเปิดตัวไปได้ 4 เดือน BNK48 ก็ออกซิงเกิ้ล 3 เพลงคือ “อยากจะได้พบเธอ” ,”ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ” และ “365 วันกับเครื่องบินกระดาษ” จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ต้นสังกัดของ BNK48 ได้สร้าง “ตู้ปลา” ขึ้นที่เอ็มควอเทียร์ เพื่อเป็นสถานที่ ที่แฟนๆจะมีโอกาสได้มาพบปะกับสมาชิกของ BNK48 อย่างไรก็ตาม แฟนเพลงทั่วประเทศก็ยังรู้จักพวกเธอในวงแคบๆอยู่

4) แผนธุรกิจของ BNK48 จะมีการหารายได้ 3 ทางคือ 1-สปอนเซอร์แบรนด์ต่างๆ 2- อีเวนต์โชว์ และ 3-การขายสินค้า ซึ่งในช่วงแรกนั้น การที่วงยังไม่ดัง ทำให้รายได้หลักของ BNK48 มาจากกลุ่มแฟนๆที่ช่วยกันซื้อสินค้าที่ทางต้นสังกัดผลิตออกมา ซึ่งเหล่าๆแฟนๆก็คาดหวังว่า เงินที่ตัวเองสนับสนุน จะช่วยเป็นรายได้ และเป็นพลังใจให้น้องๆสู้ตามความฝันต่อไป

5) ปลายปี 2560 ทาง BNK48 Office ต้นสังกัดของวง มีแผนการที่จะสร้าง BNK48 The Campus ซึ่งจะเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของวง มีทั้ง Theater (เวทีแสดง), ร้านขายของที่ระลึก และคาเฟ่ ซึ่ง The Campus จะเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทุกๆอย่าง ทั้งการซ้อม การประกาศผลโหวต การประชุม ฯลฯ

6) ไอเดียของการสร้าง The Campus คือต้องการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าๆแฟนๆ (โอตะ) จะสามารถมาเยี่ยมเยือนวงได้ โดยไม่ต้องตระเวนไปแต่งานอีเวนต์ หรือตู้ปลาอย่างเดียว ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่วง AKB48 ใช้ คือมีเธียเตอร์ อยู่ที่ห้างดองกี้ ในย่านอากิฮาบาระ โดยสถานที่ ที่ต้นสังกัดมองว่าเหมาะสมที่สุดคือ เดอะมอลล์ บางกะปิชั้น 4 ซึ่งมีพื้นที่กว้างประมาณ 1,000 ตารางเมตร

7) อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ BNK48 เพิ่งจะโด่งดังขึ้นมาไม่นานนัก ค่าใช้จ่ายของวงก็มีจำนวนมาก ทำให้ไม่มีงบประมาณมากพอในการสร้าง The Campus ดังนั้นทางต้นสังกัดจึงทำการระดมทุนด้วยการออกสินค้าพิเศษที่ชื่อ Founder Member Box โดยขายกล่องละ 20,000 บาท จำนวนทั้งหมด 1,000 กล่องด้วยกัน ซึ่งถ้าขายหมด ต้นสังกัดจะได้เงินก้อนมา 20 ล้านบาท

โดยสินค้าที่ได้รับ ในราคา 20,000 บาทประกอบไปด้วย บัตรเข้าชมในเธียเตอร์ (เมื่อสร้างเสร็จ), สายคล้องคอ, เสื้อโปโล, สูจิบัตร ,เข็มกลัดลายพิเศษ, รูปพร้อมลายเซ็นของศิลปินโดยระบุคนได้ว่าจะเลือกใคร และ บัตรถ่ายรูปโพลารอยด์ร่วมกับศิลปิน 1 คน

ตัวเลข 20,000 บาท ก็มีการวิจารณ์ไม่น้อยว่าแพงไปหรือไม่ กับสินค้าที่ได้รับ อย่างไรก็ตามกลุ่มแฟนคลับพันธุ์แท้ก็พร้อมจ่ายเงิน เพื่อเป้าหมายให้ The Campus สร้างเสร็จให้ได้

8 ) นอกจาก Founder Member Box แล้ว บริษัทต้นสังกัดยังขายบัตร Campus Card หรือบัตรล่วงหน้าสำหรับเข้าชมการแสดงให้เธียเตอร์ (เมื่อสร้างเสร็จ) อีกจำนวน 20,000 ใบ ราคาใบละ 600 บาท ถ้าเป็นนักเรียน-นักศึกษาลดเหลือ 500 บาท รวมเป็นยอดเงินทั้งหมดราว 10 ล้านบาท

9) เท่ากับว่า Founder Member Box บวกกับ Campus Card ระดมทุนให้ต้นสังกัดได้สูงถึง 30 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการสร้าง BNK48 The Campus แน่นอน และการก่อสร้างก็ดำเนินการมาเรื่อยๆ จนในที่สุด 11 พฤษภาคม 2561 สถานที่ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย

10) The Campus กลายเป็นสถานที่ที่มีคุณค่า “ทางใจ” สำหรับทั้งศิลปิน และ แฟนคลับ ในมุมของศิลปินนี่เป็นที่ที่ BNK48 ทุกรุ่นจะมาซ้อมร่วมกัน และสตอรี่ต่างๆมากมายจะเกิดขึ้นที่นี่ โดยเวทีบนเธียเตอร์จะเป็นเหมือนเป้าหมายของเด็กรุ่นใหม่ที่สักวันจะขึ้นไปทำการแสดงบนนั้นให้ได้

ขณะที่กับแฟนคลับก็มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะในตอนแรก BNK48 ยังล้มลุกคลุกคลาน แต่แฟนคลับก็ช่วยซัพพอร์ทมาตลอด และยอมจ่ายเงินจำนวนมาก จนในที่สุด วงก็มีบ้านของตัวเองแล้ว ให้น้องๆได้มีสถานที่ดีๆสำหรับการฝึกฝน ดังนั้นความรู้สึกของแฟนๆจึงมองว่า เราก็มีส่วนร่วมกับบ้านหลังนี้เช่นกัน

11) ความสำคัญของ “เธียเตอร์” สำหรับศิลปิน และแฟนๆถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งถ้าในแนวคิดเดียวกับ AKB48 คือไม่ใช่ใครๆที่จะขึ้นไปเหยียบเวทีได้ โดยย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2561 เฌอปราง มิวสิค และ เจนนิษฐ์ ไปถ่ายรายการ BNK48 Senpai (Ep.13 Part 2) และมีโอกาสไปชมเธียเตอร์ของ AKB48 ที่อากิฮาบาระ โดยคนที่มาต้อนรับทั้ง 3 คน คือโอกุริ ยุย หนึ่งในสมาชิกของ AKB48 โดยตอนที่โอกุริ ยุย อธิบายเรื่องราวอยู่บนเวที ทั้งเฌอปราง มิวสิค และเจนนิษฐ์ ก็ต้องนั่งอยู่ที่เก้าอี้ข้างล่าง ไม่ได้ขึ้นไปบนเวทีด้วย นั่นเพราะคนที่จะอยู่บนเวทีได้ ต้องเป็นศิลปินของ AKB48 เท่านั้น

12) ความนิยมของ BNK48 จากวันแรก จนถึงมีเธียเตอร์ ก็เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนมาก กลายเป็นกลุ่มไอดอลที่มีแฟนคลับอันแข็งแกร่ง รวมถึงรายได้ของต้นสังกัด BNK48 Office ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

13) วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ต้นสังกัดของวง บริษัท BNK48 Office ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Independent Artist Management หรือชื่อย่อ iAM เพื่อขยายธุรกิจจากเดิม ที่มีแค่วง BNK48 เท่านั้นแต่คราวนี้จะมีการขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยมีจุดประสงค์สามอย่างคือ

– ขยายฐานการตลาดเกิร์ลกรุ๊ปไอดอลสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วไทย ตัวอย่างเช่นกลุ่ม CGM48
– ทำธุรกิจศิลปินไอดอลชาย โดยจะใช้โมเดลของ BNK48 เข้ามาใช้ และจะใช้ชื่อรายการว่า The Brothers
– ทำหน้าที่เป็นบริษัทผู้จัดการของศิลปิน นักร้อง นักแสดง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการไอดอล

14) วันที่ 15 พฤศจิกายน The Brothers Thailand เปิดตัว โดยมีคอนเซ็ปต์ เฟ้นหาชายไทยอายุ 14-24 ปี คัดเลือกจนเหลือ 20 คน เอามาเทรนนิ่งในเวลา 90 วัน โดย 3 คนสุดท้ายที่ชนะเลิศจะได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัดช่อง 3 โดยในงานแถลงข่าว ประกอบด้วย ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่จะทำหน้าที่โค้ชในรายการนี้ , อริยะ พนมยงค์ ผู้บริหารช่อง 3 และ จิรัฐ บวรวัฒนะ ซีอีโอของ iAM ที่มีประสบการณ์ในการปลุกปั้นไอดอล BNK48 จนโด่งดังมาแล้ว

15) เรื่องราวก็ผ่านไปโดยปกติ แฟนคลับของ BNK48 ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของต้นสังกัดที่ใช้ชื่อใหม่ คือ iAM หรือรายการ The Brothers แต่อย่างใด โดยรายการ The Brothers ตั้งแต่เปิดตัวช่วงปลายปี 2562 มีผู้สมัครเข้าร่วมออดิชั่นในรายการมากถึง 3,500 คน และทำการคัดมาเรื่อยๆจนเหลือ 120 คนสุดท้าย

16) อย่างไรก็ตามดราม่าสำคัญของเรื่องนี้เกิดขึ้น ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เมื่อช่อง LINE TV ลงวีดีโอตอนแรกของรายการ The Brothers ในวัน Workshop เพื่อคัดจาก 120 คนสุดท้าย ให้เหลือ 40 คนสุดท้าย

ประเด็นคือ การ Workshop ของรายการกลับไปจัดที่ The Campus ของ BNK48 ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ในสถานที่เดียวกับที่ศิลปิน BNK48 ใช้ซ้อม ใช้ฟังประกาศผลโหวต และใช้ขึ้นแสดงบนเวที

เด็กหนุ่มที่มาออดิชั่นบางคนก็กระโดดไปนั่งบนเวที นอกจากนั้นทางรายการก็อนุญาตให้เด็กหนุ่มขึ้นไปใช้ห้องพักศิลปิน ห้องเดียวกับ BNK48

17) ทำให้กลุ่มแฟนคลับที่สนับสนุน BNK48 มาโดยตลอดและมองว่าตัวเองจ่ายเงินมหาศาลเพื่อช่วยระดมเงินให้ BNK48 สร้าง The Campus ได้ แต่สิ่งที่บริษัทต้นสังกัด (iAM) ทำกับแฟนๆ คือไม่ได้แคร์ความรู้สึกกันเลยแม้แต่นิดเดียว

18) สิ่งที่ต้นสังกัดพยายามจะบอกตอนแรกคือ ขอระดมทุนจากแฟนๆเพื่อสร้างเธียเตอร์ที่จะใช้เป็นบ้านของ BNK48 แต่สุดท้ายกลับเปิดให้คนอื่นมาเช่าใช้งาน แบบนี้จะต่างอะไรกับสตูดิโอเช่ารายวัน ไม่เห็นจะคงความศักดิ์สิทธิ์ของเธียเตอร์ตรงไหน

เพราะถ้า BNK48 ต้องการสร้างโมเดลเดียวกับ AKB48 ก็น่าจะดูทางฝั่งญี่ปุ่นว่า เธียเตอร์ที่ห้างด็องกี้ ในอากิฮาบาระ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และจะให้แต่ศิลปิน AKB48 ไว้ใช้งานจริงๆเท่านั้น ไม่ได้มีการปล่อยเช่าให้รายการอื่นแบบนี้แน่นอน

19) ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการทำร้ายความรู้สึกของแฟนคลับว่าต้นสังกัดเอาความฝันของศิลปินในวงมาล่อหลอกเงินจากแฟนคลับให้จ่ายเงินมหาศาล จนสามารถสร้าง The Campus ได้สำเร็จ แต่สุดท้าย The Campus ก็กลายเป็นแค่เวทีแห่งหนึ่งที่บริษัทเอาไว้ใช้งานด้านอื่นๆที่ต้องการด้วยเพียงแค่นั้น

20) จ๊อบซัง ผู้จัดการวง BNK48 ออกมาไลฟ์อธิบายในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า “ขอชี้แจงว่าเป็นการใช้พื้นที่ถ่ายทำรายการแค่วันเดียวเท่านั้น และใช้พื้นที่จำกัดบริเวณด้านล่างกับออฟฟิศ โดยห้ามใช้พื้นที่บนเวที และพื้นที่ส่วนตัวของเมมเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำและห้องแต่งตัว”

21) อย่างไรก็ตามแฟนคลับก็ไล่บี้ สิ่งที่จ๊อบซังพูดไลฟ์ ว่าในคลิปวีดีโอของรายการ The Brothers ก็มีเด็กผู้ชายที่มาออดิชั่นไปนั่งบนเวที ไม่ได้มีการห้ามปรามแต่อย่างใด รวมถึง ที่บอกว่าถ่ายทำรายการแค่วันเดียว มันจริงอย่างที่พูดหรือเปล่า ในเมื่อติ๊ก เจษฎาภรณ์ โค้ชของรายการ พูดชัดเจนว่า “ยินดีต้อนรับสู่แคมป์ของ The Brothers นะครับ” ซึ่งถ้าใช้คำว่าแคมป์ นี่อาจไม่ใช่แค่ใช้งานวันเดียวแล้วก็เป็นได้

22) เมื่อมีประเด็นนี้แฟนคลับ จึงโจมตีต้นสังกัดในประเด็นอื่นๆตามมาด้วย เช่น บังคับให้ห้ามเมมเบอร์คบกับผู้ชาย แต่กลับเอาผู้ชายเข้ามาในสถานที่ที่ควรจะเป็นของผู้หญิงทั้งหมดแทน แฟนคลับรายหนึ่งในทวิตเตอร์ ทวีตข้อความว่า “เห็นตอนบีบบังคับเมมเบอร์ให้ลงสมัครเลือกตั้งนี่ อ้างวัฒนธรรมจากวงพี่มาเยอะเลยนะครับ อ้างแม่งทุกอย่าง จนเมมต้องร้องไห้ขอโทษ ตอนนี้ไม่เอามาอ้างวะ”

“บอกเมมเบอร์ให้เซฟตัวเอง บอกแฟนคลับให้ช่วยกันเซฟน้อง เซฟวง ลองถามตัวเองนะ ว่าพวกมึงน่ะเซฟอะไรน้องกูมั่ง”

23) จากประเด็นนี้ ทำให้กลุ่มแฟนคลับแต่ละบ้าน เช่นบ้านของตาหวาน, อร, ปัญ ,เจนนิษฐ์ และอื่นๆอีกมากมาย ประกาศว่าจะงดกิจกรรมชั่วคราวกับ BNK48 และ iAM โดยจะไม่สนับสนุนสินค้า จนกว่าทางต้นสังกัดจะแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ในเรื่องนี้ ต้องดูต่อไปว่าแนวทางของ บริษัท iAM จะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร และ เวทีของ BNK48 The Campus จะยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรกหรือไม่

24) ดราม่าของเรื่องนี้ ดูเผินๆอาจเป็นเรื่องของ “สถานที่” แต่จริงๆแล้วมากกว่าเรื่องของสถานที่ เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ต่างหาก นั่นเพราะ The Campus เป็นเวทีที่แฟนๆเชื่อว่าสร้างขึ้นมาได้ จากเงินทองที่พวกเขาสนับสนุนวง แฟนคลับยอมเสียเงิน บางคนอาจหลายหมื่น เพื่อเติมเต็มความฝันให้ไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ ให้มีสถานที่ฝึกซ้อม และเวทีที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า เวทีนั้น กลับถูกปล่อยให้รายการอื่นใช้ เท่ากับว่า แฟนคลับเองก็โดนต้นสังกัดหลอกล่อด้วยความฝันของเด็กๆ เช่นเดียวกัน

ประเด็นนี้ เมื่อรวมกับดราม่าที่เกิดขึ้นหลายครั้งกับ ต้นสังกัด (หรือที่แฟนคลับเรียกกันว่า อฟช – ออฟฟิเชียล) ทำให้กลายเป็นชนวนรุนแรงและบานปลายมากขนาดนี้ ซึ่งก็คาดเดาไม่ได้จริงๆว่าบทสรุปจะออกมาในรูปแบบใด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า