SHARE

คัดลอกแล้ว

“หมูเถื่อนไม่ใช่ความเสี่ยง แต่คือสถานการณ์จริง…ที่ใดก็ตามที่มีสินค้าเกษตร ‘กำไรเกินปกติ’ จะมีอุปทานแฝง แถมมาให้ด้วยเสมอ” คำอธิบายของ ผศ.ดร. สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกเล่าสถานการณ์ ‘หมูเถื่อน’ ได้เป็นอย่างดี

 

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ที่ความต้องการสุกรสูงเป็นปกติ แต่สิ่งที่อาจต่างออกไปในปีนี้ คือ ความเสี่ยงจากโรคระบาด อย่าง ASF อาจไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นสูงสุดของราคาที่ปรับตัวพุ่งสูง ทว่า การทะลักเข้ามาจากประเทศจีน รวมถึงการเปิดเวทีเจรจาการค้าเสรีกับชาติทางยุโรป กลับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา รวมถึงเพิ่มความกังวล ว่าจะเปิดทางให้หมูเถื่อนแทนที่

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ หาคำตอบได้ในการพูดคุยผ่านรายการ HEADLINE ของสำนักข่าวทูเดย์

[หมูแพงเป็นปกติ จริงหรือไม่?]

เริ่มต้นปูพื้นฐาน อ.สุวรรณา เล่าว่า สถานการณ์ปกติ ที่ไม่มีโรคระบาดในหมู กำลังการผลิตและปริมาณการบริโภคไล่เลี่ยกัน ราว 17-20 ล้านตัวต่อปี ก่อนที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือ ASF จะเข้ามาเปลี่ยนเกมทั้งหมด

ราวปี 2562 เมื่อเกิดวิกฤตของโรคระบาดดังกล่าวในไทย การควบคุมช่วงต้นทำท่าเหมือนจะดี ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์รุนแรง ‘ใจกลางพื้นที่เลี้ยงหมู’ แถบภาคตะวันตก นั่นเป็นครั้งแรกที่ราคาหน้าเขียงหมู ทะลุ 200 บาทต่อกิโลกรัม เพราะราคาหน้าฟาร์มปาไป 110 บาทต่อกิโลกรัม เข้าไปแล้ว นับแต่นั้น กรณี ‘หมูเถื่อน’ จึงปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ อ.สุวรรณา กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อราคาในประเทศสูง ก็จะมีหมูที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านสอดแทรกทันที

“สถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนจะมีการระบาดของ ASF อีกรอบ แต่ไม่น่ารุนแรงเท่ากับครั้งก่อน ดูจากการขึ้นราคาหน้าฟาร์ม ตั้งแต่เดิน ม.ค. ไล่มา จนมาพีก”

ด้วยธรรมชาติการบริโภคของคนไทย ที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารหลัก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ทำให้การจัดส่งไม่ค่อยเพียงพอเป็นทุนเดิม อ.สุวรรณา ฉายภาพว่า เมื่อประกอบกับโรคระบาดจึงยิ่งยากลำบาก ราคาจึงปรับตัวตาม

“ช่วงนี้ราคาแพงเป็นวัฏจักร แต่โดยปกติแพงไม่เกินเดือน ประมาณการราว พ.ค. ถึง มิ.ย. ราคาก็จะลง และลงน่ากลัว เพราะเขาจะแย่งกันขาย เพราะกลัวหมูคาเล้า เราถึงเห็น เวลาหมูแพงผู้บริโภคเรียกร้องให้รัฐมาจัดการ แต่เวลาหมูถูกก็จะเฉยๆ”

อย่างไรก็ดี อ.สุวรรณา กล่าวว่า อาจจะเป็นโชคดีที่ ASF ระลอกนี้ อยู่ในวิสัยรับมือได้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการเรียนรู้ และรู้วิธีการอยู่กับโรคนี้แล้ว แต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนการควบคุมโรคที่สูง

“มีฟาร์มที่รอดมาได้ ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดครั้งก่อน สิ่งที่เขาทำ คือทำเหมือนเขาติดโควิดแบบรุนแรง เข้มงวดมาก จะเข้าฟาร์มต้องอาบน้ำก่อน…บางฟาร์มถึงขั้นลูกน้องต้องอยู่ในนี้ 3 เดือน จนกว่าหมูจะขาย แล้วค่อยเปลี่ยนล็อต แล้วเพิ่มเงินเดือนให้”

[โบรกเกอร์ ‘สุญญากาศใหม่’ ของราคาหมูไทย]

จะพูดถึงราคาหมู เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ราคาหมู่ในแต่ละขั้นตอนก่อนการเคลื่อนย้ายนั้นต่างกัน ทั้งราคาลูกสุกร ราคาขุนหน้าฟาร์ม ราคาขายหน้าเขียง โดยที่ ‘ราคาระหว่างทาง’ ไม่ค่อยถูกพูดถึง ในอดีตฟาร์มเล็กๆ จะขายสุกรให้กับ ‘เจ๊กจับหมู’ ซึ่งจะมีเขียงหมูเป็นของตัวเอง เพื่อรับมาชำแหละแล้วจำหน่ายต่อ แต่เมื่อรูปแบบการผลิตเปลี่ยนไป ต้องใช้โรงเชือดที่ได้มาตรฐาน คนกลางเหล่านี้ไม่สามารถลงทุนได้ด้วยตนเอง จึงจำต้อง ‘เสียค่าชำแหละ’ ให้กับโรงเชือด นับเป็นต้นทุนใหม่

“ประเทศไทยเรากินทุกอย่าง แต่ถ้ายุโรป หัว เครื่องใน ไม่มีใครกิน เราก็จะเห็นเป็นหมูผ่าซีก”

การกำหนดราคาในอดีต จะกำหนดราคาขายได้ทุกส่วน ตามความนิยมของผู้บริโภค เช่น คอหมูย่าง ต้องใช้ส่วนคอที่มีอยู่นิดเดียว สามชั้นจากที่ไม่เคยกิน พอเอามาทำหมูกรอบจนเป็นที่นิยม สามชั้นก็เป็นที่ต้องการสูงมาก ชิ้นส่วนเหล่านี้ก็จะราคาแพง โดยปัจจุบัน จะมีการตรึงราคาเนื้อแดง ราว 160 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค

“เขียงไปดีลหน้าฟาร์ม เขาก็ต้องมีลูกน้อง ไปจับหมู มีค่าน้ำมัน ค่าบริหารจัดการ ค่าสถานที่ ก่อนจะไปขายที่เขียง ถ้าคิดง่ายๆ เลขกลมๆ ราคาหน้าฟาร์มเท่าไหร่ก็คูณ 2 ไป โดยประมาณ”

อ.สุวรรณา กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน รูปแบบเปลี่ยนไป เขียงไม่ได้ไปหาหมูเองที่ฟาร์มแล้ว แต่มี ‘โบรกเกอร์’ มาเป็นคนกลาง ทำหน้าที่จัดหาให้ ดังนั้น คนนี้เลยกลายเป็นกุญแจใหม่ ที่กำหนดราคาแท้จริงก่อนไปถึงมือผู้บริโภค “นี่เป็นกระบวนการที่เพิ่งเกิด ทำให้ช่องว่างตรงกลางห่างขึ้น จาก 88 บาทหน้าฟาร์ม ก็ไม่จบที่ 170 บาทหน้าเขียง กลายเป็นบางที่ 190-200 บาท ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ตรงกลาง ว่าจะบริหารจัดการยังไง ”

อย่างไรก็ดี โบรกเกอร์ ไม่ใช่ผู้ร้าย ตามความเห็นของ อ.สุวรรณา เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แต่คำถามตัวโตๆ คือ ‘ช่องว่าง’ ของราคาที่เกิดขึ้นนั้น ยุติธรรมแล้วหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลมากน้อยแค่ไหน “ส่วนตัวรู้สึกว่า เกิดช่องว่างเยอะเกินไป ระหว่างฟาร์มกับเขียง” ซึ่งนี่เองเป็นโครงสร้างใหม่ ที่ไทยต้องหาวิธีบริหารจัดการ

[ทำความรู้จัก โลกของหมูเถื่อน]

“หมูเถื่อนไม่ใช่ความเสี่ยง แต่คือสถานการณ์จริง” นับเป็นข้อความต้นๆ ที่ อ.สุวรรณา ใช้อธิบายสถานการณ์ของประเทศไทย ที่มักเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘กำไรเกินปกติ’ ในสินค้าเกษตร นั่นถึงทำให้เป็นช่องโหว่ นำหมูราคาถูกเข้ามาขาย

“ที่ใดก็ตามที่มีสินค้าเกษตร ‘กำไรเกินปกติ’ จะมีอุปทานแฝง แถมมาให้ด้วยเสมอ”

โดย อ.สุวรรณา หยิบยกคำนิยาม ‘หมูเถื่อน’ อย่างเข้าใจงานของ คณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย ที่ว่า “คือ หมูราคาประหยัดจากต่างประเทศ ที่ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย” นั่นคือใช้ทางลัดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขออนุญาตนำเข้า เสียภาษี และการตรวจสูง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสูงสุด

อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทยไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมู แต่อนุญาตให้นำเข้าเพียงเครื่องในหมู ซึ่งมาจากไม่กี่ประเทศ และต้องมาจากเป็นโรงชำแหละที่ผ่านการตรวจแล้ว ว่าไม่มีสารตกค้าง

“เกิดจากคนเห็นแก่ตัว ที่อยากได้กำไรเกินปกติ แล้วทำร้านคนอื่น โอเคอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ในการประหยัดค่าครองชีพ แต่ผลของการกินของไม่มีคุณภาพ อาจเกิดการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ อย่างล่าสุด เจอคลังของจีนที่มีกลิ่น นั่นคือเถื่อน”

จากเหตุการณ์จับกุมไม่นานมานี้ ตอกย้ำความเป็นไปได้ว่า ‘จีน’ เป็นพื้นที่ต้นทางหมูเถื่อนจำนวนมาก สืบเนื่องจาก ความพยายามรับมือสงครามภาษี ที่เขาเตรียมมานานแล้ว ทำให้มีการขยายกำลังการผลิต ปลูกพืชอาหารสัตว์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศ เพื่อลดการนำเข้า เปิดเงื่อนไขทางการค้า กับประเทศที่ทดแทนผลผลิตทางการเกษตร ที่เขาเคยนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้ 

นั่นทำให้ หมูในประเทศจีน มีราคาอยู่ราว 67-68 บาทต่อกิโลกรัม เกิดช่องว่างทางราคากับไทยกว่า 20 บาท

“ตัวเนื้อเขาผลิตได้เยอะ ราคาก็ตก หลังโรคระบาด เขาเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตหมูในประเทศ ทุกคนต้องปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม และความปลอดภัย ปรับปรุงสายพันธุ์ให้ต้านทานโรค…เขากลับมาเร็ว แต่เกิด Over Supply (อุปทานส่วนเกิน)”

แม้ระยะทางการขนส่งจากจีนไม่ได้ไกล เมื่อเปรียบเทียบกับลาตินอเมริกา ซึ่งความห่างไกลเคยเป็นข้อบ่งชี้ความเสี่ยง แต่ อ.สุวรรณา ยังคงย้ำว่า เมื่อไม่ผ่านระบบนำเข้าอย่างถูกต้อง ก็ไร้ประโยชน์ “เขา (จีน) ควบคุมคุณภาพที่ฟาร์ม แต่หลังออกมาแล้ว ไม่ใช่เขาจะควบคุมให้เรา”

[กังวลแค่ไหนกับ ‘หมูทรัมป์’]

อาจไม่ชัดเจนเสียทีเดียว เนื่องจากการเจรจาของรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าและลดแรงกดดันการขึ้นภาษีของสหรัฐ ถูกเลื่อนออกไป แต่อย่างที่ทราบ ‘หมู’ กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นลิสต์ที่ไทยจะใช้ในการพูดคุย แม้รัฐบาลจะมีการยืนยันบางส่วนแล้วว่า จะไม่นำชิ้นส่วนและเครื่องในหมู อยู่ในรายการสินค้าที่ใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ แต่จะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง หลังพบว่าปริมาณความต้องการใช้สูงกว่าปริมาณผลผลิต แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ผลิตในไทยวางใจเสียทีเดียว

อ.สุวรรณา เห็นต่างออกไป มองว่า การนำเข้าหมูน่าจะอยู่ในวิสัยที่ต้านได้ แต่ ‘เนื้อวัว’ ต่างหากที่น่ากังวล เพราะเป็นสินค้าที่อนุญาตนำเข้าได้ถูกต้อง และในปีนี้ก็นำเข้าแล้วกว่า 4 แสนตัน ซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขต่อรอง เพื่อให้ไทยนำเข้าเพิ่ม 

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลจึงอาจไปอยู่ที่การยกเลิกการนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ ของจีน ที่มีกว่า 12,000 ตัน ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสที่ ‘หมูเถื่อน’ จะแทรกซึมเข้ามาในไทย

“หมู 12,000 ตันนี้ มันอยู่ไหนในเรือละ อยู่ส่วนไหนของโลก เพราะเขาออเดอร์ล่วงหน้ากันเป็นปี หมูที่ยกเลิกน่ากลัว มันไม่กลับบ้านมันหรอก ต้นทุนสูง มันก็จะอยู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ”

ทั้งนี้ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างมีประสบการณ์ที่เลวร้ายต่อการนำเข้าหมูมาแล้ว ว่าทำลายผู้ประกอบการในประเทศ อย่างในเวียดนาม อ.สุวรรณา เปรียบเทียบว่า ไม่ต่างกับลองโควิด ที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 

อธิบายให้ใกล้ตัวมากขึ้น ความเสี่ยงต่อสุขภาพอาจเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญเพิ่มขึ้น อ.สุวรรณา กล่าวว่า เนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ มีสารเร่งเนื้อแดง ที่เกินกว่ามาตรฐานที่ภาครัฐแต่ละประเทศกำหนดเกณฑ์ แต่ ‘อาการแพ้’ ที่จะพบมากขึ้นนั้นจะรุนแรงมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคล

“สารเร่งเนื้อแดงเป็นตัวนึงในเงื่อนไขทางการค้า ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกดดันจากสหรัฐ เพราะเขาใช้ ถามว่าทำไมถึงใช้ หมูที่มีสารเร่ง โตเร็วกว่าเกือบเดือน ใส่ดีๆ กล้ามขึ้น น้ำหนักได้”

หากท้ายสุดไม่สามารถต้านทานได้ จนต้องเกิดการนำเข้า อ.สุวรรณา กล่าวว่า ไทยต้องตั้งมาตรฐานการตรวจที่ชัดเจน ไม่มีการหลบเลี่ยง และเก็บภาษีต้นทุนให้สูง ขณะเดียวกัน สิ่งที่ อ.สุวรรณา มองว่าน่ากังวล กลับเป็น ’หมูยุโรป’ ซึ่งไทยกำลังเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป

“อย่าไปหลงว่าหมูอเมริกา หมูยุโรปและหมูจีนนี่แหละ น่ากลัว เพราะเขาไม่มีเงื่อนไขกับสารเร่งเนื้อแดง”

“ภาครัฐต้องทำหน้าที่เข้มข้น เพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ เราเห็นตัวอย่างฟิลิปปินส์เจอโรคระบาด ตัดสินใจง่ายมาก นำเข้าแล้วไม่ได้คุม ทุกวันนี้หมูฟิลิปปินส์ราคา 144 บาทต่อกิโลกรัมหน้าฟาร์ม”

นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ‘การนำเข้า’ ไม่ใช่ทางออกในระยะยาวสำหรับเกษตรกร แม้แต่ประเทศไทย ก็เคยมีบทเรียน อย่างการนำเข้าถั่วเหลือง ซึ่งทุกวันนี้ไทยต้องกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เพราะผู้ผลิตไทยอยู่ไม่ได้

อ.สุวรรณา ยังกล่าวถึง ‘ความจริงใจ’ ที่รัฐต้องมีต่อเกษตรกร  ไม่ใช่คิดเพียงว่าพวกเขารู้น้อย ซึ่งไม่เป็นความจริง 

จากประสบการณ์ส่วนตัว อ.สุวรรณา มองว่า ผู้ประกอบการ ณ ปัจจุบัน สะสมองค์ความรู้ จนมองตัวเองเป็น ‘นักธุรกิจเกษตร’ ไปแล้ว เพราะทุกคนต้องติดตามข่าว หาความรู้ เพื่อจัดการสถานการณ์ นั่นถึงทำให้เมื่อถูกถามทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมได้หรือไม่ ถึงได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทันทีทันใด

“ได้ ดีด้วย ทำได้ดีเหมือนเนเธอแลนด์ด้วย จะทำหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง” อ.สุวรรณา ทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า