SHARE

คัดลอกแล้ว

‘หาเพื่อนติดคุกค่ะ’ ‘อยากกลับไทยต้องไปที่ไหนคะ ยอมติดคุกค่ะ’ ‘หาคนแจ้งจับ ขอจับชัวร์ ต้องการเข้าคุกค่ะ’ ข้อความทำนองนี้ วนเวียนมาให้เห็นแทบจะทุกสัปดาห์ ในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มคนไทยในไต้หวัน ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 1.4 แสนบัญชี 

 

พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยโพสต์คำคมชีวิต ข่าวสาร แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงการปรึกษากฎหมายการจ้างงานของแรงงานไทยในไต้หวัน กลับมีโพสต์ที่เตะตาอยู่เป็นประจำ จนเลื่อนผ่านไม่ได้  โดยมี ‘ติดคุก’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ นำมาซึ่งคำถามว่า ทำไมคนไทยถึงต้องโพสต์หาวิธีติดคุก?

เนื่องในวันแรงงานนี้ สำนักข่าว TODAY พาไปดูอีกด้านหนึ่งของคนไทย ที่เลือกเดินทางไปใช้ชีวิต ‘ผิดกฎหมาย’ ทำงานในต่างแดน ในชาติที่ฟรีวีซ่า และอ้าแขนรับแรงงานต่างชาติอย่าง ‘ไต้หวัน’

[แรงงานไทย มาทำอะไรที่ไต้หวัน?]

จำนวนแรงงานต่างชาติในไต้หวันเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไต้หวัน มีตัวเลขเฉียด 800,000 คน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ นั่นเอง ทำให้ไต้หวันเปิดให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ก่อสร้าง การเกษตร รวมถึงประมง สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติ มานานกว่า 35 ปี 

ย้อนไปช่วงปี 2544 เป็นช่วงต้นที่เริ่มเปิดรับ แรงงานไทย เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ก่อนค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน มีแรงงานไทยซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานถูกกฎหมายในไต้หวัน ราว 73,000 คน น้อยกว่าแรงงานจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

ทศพล สุมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TODAY ระบุว่า ส่วนใหญ่แรงงานไทยที่เข้ามาทำงานจะอยู่ในภาคการผลิต อยู่ในโรงงาน และภาคการก่อสร้าง

“สมัยก่อนเคยเยอะนะครับ ไต้หวันก็มีการดูแลแรงงานไทยที่ดี มีหลักประกันเวลาแรงงานไทยเข้ามาทำงาน ค่าแรง ค่าตอบแทนก็ยังดีกว่าเมืองไทยอยู่หน่อยนึงครับ สมัยก่อนมันไม่มีประเทศอื่นเปิด…ก็มี (แรงงาน) ถึงประมาณสัก 180,000 คน เกือบ 200,000 คนนะ ตอนนี้ก็ประมาณ 73,000 คน” ทศพล กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเป เปิดเผยว่า จำนวนคนไทยที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย อยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าคน บางคนอาจจะถูกหลอกมา หรือทำงานในบางอาชีพที่ไม่ได้มีการอนุญาต ซึ่งการเข้ามาในลักษณะดังกล่าวจะไม่มีหลักประกัน ทั้งประกันสุขภาพ หรือประกันภัยแรงงาน การมาทำงานแบบถูกกฎหมายย่อมดีกว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่ได้ต่างกันมาก

[เส้นทาง ‘ผีน้อย’ ไทยในไต้หวัน]

สำนักข่าว TODAY ได้โทรศัพท์พูดคุยกับหญิงไทยรายหนึ่ง ผู้ที่แสดงตนว่าเคยเข้าไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในไต้หวันมาก่อน และเลือกวิธีการ ‘ติดคุก’ เพื่อที่จะได้เดินทางกลับประเทศ โดยเธอขอให้เรียกเธอด้วยนามสมมติว่า ‘มาลี’ 

“ทีแรกก็อยากจะไปทำงานถูกกฎหมายนี่แหละ แล้วมันต้องรอเวลานาน ด้วยภาระหนี้สิน ไหนจะหนี้ กยศ. หนูเลยตัดสินใจว่าอยากลองไปทำงานต่างประเทศ” มาลี เล่าให้ฟังพร้อมระบุว่า ประเทศแรกที่ตัดสินใจจะไป คือเกาหลีใต้ ไม่ใช่ไต้หวัน แต่ถึงแม้ลงทะเบียน K-ETA ก็กลัวว่าอาจจะติด ตม. อยู่ดี จึงเลือกจองตั๋วเครื่องบินมาไต้หวันแบบฟรีวีซ่าแทน

เช่นเดียวกับ การเดินทางเข้าไต้หวันที่ไม่ใช่เรื่องยาก การหางานทำ (แบบผิดกฎหมาย) ในไต้หวัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากเช่นกัน เนื่องจากความต้องการของนายจ้างไต้หวัน ที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเร่งด่วน จึงมีการว่าจ้างชาวต่างชาติเข้าทำงานโดยเลี่ยงการขออนุญาต ทำให้เกิดกระบวนการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย

ที่มา: สถานีตำรวจลงลี่

มาลี เล่าว่า จะมี ‘เอเจนซี่’ ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกาศรับสมัครงาน โดยผู้ที่ต้องการจะทำงาน หรือย้ายงานจะต้องเสียเงิน “ค่าซื้องาน” ให้กับเอเจนซี่ ราวครั้งละ 10,000 เหรียญไต้หวัน ซึ่งเมื่อแปลงเป็นเงินบาทไทยก็ไม่ต่างกันมาก

มาตรการหนึ่งของกระทรวงแรงงาน ไต้หวัน คือการตั้งรางวัลนำจับให้มีการแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสนายจ้าง ที่ว่าจ้างชาวต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย นายหน้าจัดหางานเถื่อน รวมถึงแรงงานต่างชาติหลบหนี และชาวต่างชาติที่ถือฟรีวีซ่าอยู่แต่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับรางวัลนำจับแล้ว 3,678 คดี และจ่ายเงินรางวัลรวมแล้วกว่า 36.5 ล้านเหรียญไต้หวัน

สำนักข่าว Radio Taiwan International ยังรายงานว่า มาตรการดังกล่าว สามารถจับกุมแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมายได้ 8,193 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันในฐานะนักท่องเที่ยว แต่อยู่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย จำนวน 5,574 คน ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายถูกจับกุม 2,673 คน และนายหน้าจัดหางานผิดกฎหมายอีก 95 คน

ในการทำงานเกือบหนึ่งปี มาลี ย้ายงานแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่การปลูกกระเทียม จนงานสุดท้าย คือการเก็บถั่วฝักยาว ระหว่างทำงาน  เธอกับเพื่อนรวม 3 คน เจอกับเถ้าแก่ที่ค้างจ่ายค่าแรงหลักหมื่น ถึงทวงถามก็ถูกปฏิเสธ ขณะที่จะย้ายไปสวนอื่นๆ ก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเพื่อนของเถ้าแก่ และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่เธอตัดสินใจว่า “กลับเถอะ”

[อยู่เกินกำหนด ค่าปรับเพิ่ม 5 เท่า]

ในการเดินทางมาท่องเที่ยวแบบฟรีวีซ่าในไต้หวันนั้น คนไทยสามารถพำนักได้ทั้งหมด 14 วัน การอยู่เกินกำหนดและการลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย อย่างที่มาลีทำนั้น ทำให้อาจต้องเผชิญกับค่าปรับที่สูงลิ่ว

อัตราค่าปรับและการจำกัดสิทธิการเดินทางเข้าไต้หวัน

หมายเหตุ ณ วันที่ 30 เม.ย. อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน เท่ากับ 1.04 บาท

ระหว่างช่วงวันที่ 1 ก.พ.-30 มิ.ย. 2566 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไต้หวัน ได้เปิด ‘โครงการมอบตัวด้วยตนเอง สำหรับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไต้หวันเกิดกำหนด’ โดยใช้มาตรการต่างๆ เช่น ไม่กักขัง ใช้โทษปรับระวางต่ำสุด และไม่มีการควบคุมระยะเวลาห้ามเดินทางเข้าไต้หวัน เพื่อผลักดันให้มีการมอบตัวแทนการถูกจับกุม

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 1 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน ไต้หวันได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีการเพิ่มบทลงโทษ โดยชาวต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันแบบผิดกฎหมาย ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า พร้อมปรับโทษการจำกัดสิทธิ์การเดินทางเข้าไต้หวันจาก 3 ปี เป็น 7 ปี

สวี่ รุ่ย ซี ประธานสมาคมพัฒนาแรงงานต่างชาติไต้หวัน ได้ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว PTS News ของไต้หวัน ถึงกรณีแรงงานต่างชาติเข้ามอบตัวกับตำรวจ เพื่อต้องการให้ถูกส่งตัวกลับประเทศ “ความจริงแล้วเขาส่งเงินกลับไปประเทศบ้านเกิดหมดแล้ว เขาจึงใช้วิธีแจ้งตำรวจ เดินทางมามอบตัวหรือถูกจับกุม จากนั้นเขาอาจจะไม่ต้องจ่ายค่าปรับ แล้วบอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน ดังนั้นจึงเป็นฝ่ายตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยเขาหาทาง”

เช่นเดียวกับ เรื่องราวของ มาลีและเพื่อน ที่อยู่เกินวีซ่า และจำเป็นต้องเสียค่าปรับ แต่เพื่อเลี่ยงเงินค่าปรับหลักหมื่นบาท การให้ตำรวจจับเข้าเรือนจำ เพื่อหวังให้ไม่ต้องจ่ายจึงเป็นทางที่พวกเธอเลือก

มาลี เล่าต่อว่า การที่จะเดินไปให้ตำรวจจับเอาดื้อๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะการันตีว่าจะถูกจับได้ เธอถึงเคยได้ยินว่า สามารถไปแจ้งพนักงานร้านสะดวกซื้อให้ช่วยแจ้งจับให้ ซึ่งตัวเธอเองก็ลองทำเช่นนี้กับ ร้านสะดวกซื้อราว 20 สาขา แต่ก็ไม่ได้ถูกจับกุม

ทศพล สุมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเป อธิบายให้สำนักข่าว TODAY ฟังว่า การที่แรงงานผิดกฎหมายไปมอบตัว แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เดินทางไปจับกุม เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่า แรงงานเหล่านั้นไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

“หนูเคยเดินหาตำรวจ คุยกับตำรวจ ตำรวจก็ยังไม่จับ…ทีนี้เราก็เลยคิดว่า คือเราอยากกลับอ่ะ มันก็มีอีกอย่างนึงนะ คือ การรับจ้างแจ้งจับ” มาลี เผย

[เปิดกระบวนการ ‘รับจ้างแจ้งจับ’ ผีน้อยไทย] 

จากคำบอกเล่าของ มาลี การหา ‘คนแจ้งจับ’ ไม่ใช่เรื่องยาก เธอระบุว่า หาได้ตามช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยมีการทำงานในลักษณะของ ‘เอเจนซี่’ ที่จะทำหน้าที่ดำเนินการแจ้งจับ และแจ้งตำรวจว่าผีน้อยอยู่ตรงไหน รวมไปถึงการขับรถพาผีน้อยผู้จ้าง ไปยังจุดแจ้งจับ

“คือจะมี เขาเรียกว่าเหมือนกลุ่มมาเฟียอยู่ที่นั่นนะคะ เขาเหมือนติดต่อกับทางตำรวจ แล้วเขาก็จะให้เราไปจ่ายเงินกับเขา เพื่อที่จะให้ตำรวจมาจับ เหมือนเขาจะมีการนัดแนะว่าวันนี้เราอยู่ศาลเจ้าตรงนี้ อยู่เขตนี้ อยู่ตรงนี้ เอเจนซี่จะไปส่งไว้ แล้วขาก็จะให้ตำรวจมาจับ” มาลี อธิบายพร้อมระบุว่าเธอจ้าง ‘เอเจนซี่’ ให้แจ้งจับ ในราคาราว 5,000-6,000 เหรียญ ก่อนจะถูกคุม 14 วัน โดยประมาณ

อย่างไรดี จากการรวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ที่มีผู้แสดงตนว่าเคยติดคุกที่ไต้หวันด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ มีระยะเวลาในการถูกคุมขังแตกต่างกันไป บางกรณีถูกคุมตัวประมาณ 1 เดือน บางคนให้ข้อมูลว่า ระยะเวลาแตกต่างกันไปตามแต่ละเขต

สวี่ รุ่ย ซี ประธานสมาคมพัฒนาแรงงานต่างชาติไต้หวัน ระบุว่า หลังจากแรงงานต่างชาติเหล่านี้กลับประเทศไปแล้ว แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องการทวงค่าปรับและค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ก็ยากที่จะทวงคืน สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้ง และแรงงานต่างชาติมักอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย

[มาถูกกฎหมายดีกว่า]

สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เปิดเผยว่า ผู้ที่สนใจสมัครเพื่อทำงานในไต้หวันแบบถูกกฎหมาย สามารถลงชื่อสมัครไว้ได้ที่กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อรอรับการเรียกตัว ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับบริษัทจัดหางาน พร้อมเตือนว่า ไม่ควรสมัครงานผ่านนายหน้าที่เรียกเก็บค่าบริการสูง ซึ่งอาจถูกหลอกไปทำงานทั้งๆ ที่ไม่มีตำแหน่งงานจริง หรือไม่ตรงกับเงื่อนไขที่แอบอ้าง

ทศพล สุมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเป

“อยากฝากถึงแรงงานไทย ก่อนที่จะบินมาแบบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ค่าใช้จ่ายจริงๆ ถ้าเข้าเมืองถูกกฎหมาย มันไม่ได้แพงกว่านะครับ” ทศพล สุมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานไทย ไทเป เตือน

แม้ว่า ในสายตาของผู้ที่ลักลอบเข้ามาทำงาน อย่าง มาลี ซึ่งเคยมองว่าการทำตามกระบวนการถูกกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ‘ยุ่งยาก-รอนาน’ แต่หลังจากการมาใช้ชีวิตทำงานแบบผิดกฎหมายในไต้หวัน ราว 1 ปี เธอกลับบอกว่า ไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ในตอนแรก

“ถ้าถามว่าคุ้มไหม หนูว่ามันไม่คุ้มค่ะ หนูว่าคิดผิด ถ้าย้อนกลับไปได้ ไปถูกกฎหมายโอเคกว่า เพราะว่ามันได้สิทธิทุกอย่าง ถ้าเขาไม่จ่ายค่างาน ไม่จ่ายเงินเดือนเรา คือเราสามารถแจ้งบริษัทเขาได้ แต่ไปเป็นแบบผีน้อยอ่ะ คือเราไม่มีสิทธิอะไรเลย แม้กระทั่งเขาโกงเงินเรา เรายังไม่สามารถไปแจ้งตำรวจได้…หนูอยากจะบอกว่า ถ้าอยากไปทำงานต่างประเทศจริง ๆ อะ ไปแบบถูกกฎหมายดีๆ เถอะ” มาลี กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า