Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม 2567) ลานสนามมวยโอลิมปิกแทบลุกเป็นไฟ เมื่อ Angela Carini นักมวยตัวแทนทีมชาติอิตาลีขอ “ยอมแพ้” จากการแข่งขันในวินาทีที่ 46 และยกธงขาวให้กับ Imane Khelif นักมวยตัวแทนทีมชาติแอลจีเรีย ให้กลายเป็นผู้ชนะในสังเวียนนี้ แต่ปัญหามันไม่ใช่ว่าใครชนะหรือแพ้ แต่หลังจากการยอมแพ้ของ Carini เธอก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และนั่นคือเพลิงชั้นดีที่ทำให้คนในโลกออนไลน์หันมาสนใจโดยทันที

เกิดอะไรขึ้นบนสนามมวย?

Carini และ Khelif ทั้งสองคนต่างเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส โดยพวกเธอแข่งมวยสากลในรุ่นเวลเตอร์เวทหญิง ซึ่งก็มีการแข่งขันตั้งแต่รอบ 32 ทีมสุดท้าย จนเธอทั้งสองมาเจอกันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายในที่สุด โดยเมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้นเพียงวินาทีที่ 46 ฝั่งของ Carini ได้ส่งสัญญาณให้โค้ชแจ้งคณะกรรมการการแข่งขันว่าขอยอมแพ้ในการชกครั้งนี้ ซึ่งเป็นการยอมแพ้หลังจากที่เธอโดน Khelif ชกเข้าที่ใบหน้าและจมูกอย่างรุนแรง ก่อนที่จะตัดสินใจชั่วครู่ และขอยอมแพ้ในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการขอยอมแพ้ของ Carini คือเธอปฏิเสธที่จะจับมือกับ Khelif เธอเริ่มร้องไห้และคุกเข่ากลางเวทีมวย และหลังลงจากเวทีเธอก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ฉันมาแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อของฉัน ฉันถูกคนรอบข้างบอกหลายครั้งว่าฉันเป็นนักรบ แต่ฉันจะขอหยุดก็ต่อเมื่อมีผลมาถึงสุขภาพของฉัน และแน่นอนว่าฉันไม่เคยรู้สึกเจ็บจมูกและใบหน้ากับหมัดแบบนี้มาก่อน ฉันขึ้นสังเวียนเพื่อต่อสู้และฉันไม่ยอมแพ้ แต่หมัดเดียวในครั้งนี้มันเจ็บเกินไป ฉันเลยพูดว่า ‘พอแล้ว’ และเงยหน้าขึ้นเพื่อบอกว่าขอยอมแพ้แล้ว”

เธอยังบอกอีกว่าเธอไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าจะให้ Khelif ลงสนามในฐานะนักกีฬาหญิงหรือไม่? เพราะเธอไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น นี่จึงกลายเป็นเพลิงชั้นดีที่ทำให้มีคนค่อยๆ จุดไฟตั้งคำถามหรือบางคนก็สร้างความเกลียดชังเลยก็มี

Khelif เป็น “ชายข้ามเพศ” ตามที่เขาว่าเหรอ?

หากเราจะเริ่มต้น “แปะป้าย” Khelif ว่าเป็น “ชายข้ามเพศ” แล้วแอบมาขึ้นเวทีนักกีฬา “เพศหญิง” และบอกว่าการกระทำเช่นนี้ “มันไม่แฟร์เลย” อันนี้อาจจะเป็นการด่วนตัดสินไปหน่อย เพราะจริง ๆ แล้วก็มีข้อมูลอีกด้านที่อยากให้ลองพิจารณากันก่อนตัดสินใจ

Mark Adams โฆษกของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวว่า Khelif จากแอลจีเรียและ Lin Yu-ting จากไต้หวัน ทั้งคู่ต่างไม่ใช่นักกีฬาข้ามเพศ และไม่ควรอธิบายว่าเป็นเช่นนั้นด้วยซ้ำ เนื่องจากในหนังสือเดินทางของทั้งคู่ถูกระบุว่ามีเพศสภาพเป็น “หญิง” 

แต่ Khelif เธอเคยถูกสมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) ตัดสิน “ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน” ในการแข่งขันมวยสากลชิงแชมป์โลก เนื่องจากเธอถูกระบุว่าไม่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการแข่งขันประเภทหญิง

เช่นเดียวกับ Lin Yu-ting จากไต้หวันก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันเช่นกัน ซึ่ง IBA ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเพียงเล็กน้อยว่า “การตัดสิทธิ์การแข่งขันในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากนักกีฬาไม่ได้ผ่านการตรวจฮอร์โมนซึ่งเป็นข้อบังคับของสมาคมมวยสากลนานาชาติ ว่าต้องตรวจแยกต่างหากและต้องมีผลตรงตามคุณสมบัติเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้”

Umar Kremlev ประธานสมาคมมวยสากลนานาชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า จากการทดสอบด้านพันธุกรรม พบว่าเธอทั้งสองมีโครโมโซม X และ Y (โครโมโซมเพศชาย) และพบว่าพวกเขามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งหญิงคนอื่น ๆ ดังนั้นทางสมาคมมวยสากลนานาชาติจึงตัดสิทธิ์เธอทั้งสองออกจากการแข่งขันในประเภทหญิง และกฎเหล่านี้เคยนำมาใช้ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลเช่นกัน

ทำไมเธอทั้งสองถึงยังมาแข่งที่ปารีสได้?

พอยท์สำคัญอยู่ตรงที่ปี 2024 การแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสนั้นไม่ได้มีกฎเหล่านี้อีกต่อไป โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกล่าวว่าการตัดสิทธิ์ของทั้งคู่นั้น “กะทันหันและตามอำเภอใจไปหน่อย” IOC จึงอยากปกป้องสิทธิ์ของพวกเขาในการแข่งขันครั้งนี้ และ “ทุกคนมีสิทธิที่จะแข่งกีฬาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ”

แน่นอนว่า IOC ได้ตัดความสัมพันธ์กับ IBA ออก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ IOC เองก็มีกฎให้มีการตรวจพันธุกรรมเพศสภาพของนักกีฬาทุกคนมาตั้งแต่ปี 1968 แต่สุดท้ายก็เลิกไปในปี 1999 และแน่นอน IOC กล่าวหา IBA ว่าการเปลี่ยนกฎแบบฉุกระหุกในการแข่งขันชิงแชมป์โลกเมื่อปีที่แล้ว (2023) นั้น “ไม่ยุติธรรม” ไม่มีขั้นตอนที่โปร่งใส เหมาะสม

โดยเฉพาะการตัดสิทธิ์นักกีฬาทั้งสองคนซึ่งผ่านการแข่งขันในระดับสูงมาอย่างมากมายแล้วนั้น ค่อนข้างขัดต่อหลักธรรมาภิบาลของ IBA อย่างร้ายแรก ซึ่ง IOC ก็ได้ให้ความเชื่อมั่นว่า “เพศและอายุของนักกีฬาจะยึดโยงกับหนังสือเดินทางของพวกเขาเท่านั้น” แทนการวัดด้วยฮอร์โมนนั่นเอง

แน่นอนการตัดสินของ IBA จึง “ไม่มีผล” ต่อการแข่งขันโอลิมปิก เนื่องจาก IOC ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับ IBA อีกแล้ว โดยนักกีฬาที่ถึงแม้จะมีโครโมโซน X และ Y แต่มีอวัยวะเพศหรือมีการกำหนดเพศสภาพว่าเป็น “ผู้หญิง” ถือว่านักกีฬาเหล่านี้เป็น “ผู้หญิง” หรือ Intersex แต่ไม่นับว่าเป็นผู้ชายนั่นเอง

ซึ่งหากให้พูดตามตรง นอกจากเคสของนักมวยสองรายแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีข้อกังขากับแชมป์โอลิมปิกสองสมัยในประเภทกรีฑาอย่าง Caster Semenya ที่พบภาวะผิดปกติกับพัฒนาการทางเพศที่เรียกกันว่า 46XY DSD ที่พบโครโมโซน XY เช่นกัน และยังมีประเด็นกับนักกีฬาข้ามเพศอย่าง Lia Thomas ซึ่งเป็นนักว่ายน้ําชาวอเมริกัน และเขาเองก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาแข่งขันในโอลิมปิกปี 2024 ด้วยเช่นกัน

ใครพูดต่อเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไรบ้าง?

จากกระแสที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เป็นที่พูดถึงมากพอสมควร โดย Giorgia Meloni – นายกรัฐมนตรีประเทศอิตาลี กล่าวว่า “การแข่งขันดูไม่เท่าเทียม และนักกีฬาที่มีลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ชาย ไม่ควรเข้าร่วมการแข่งขันของผู้หญิง”

ในขณะที่ Claressa Shields – นักมวยอาชีพที่ในปี 2012 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เธอ “จำไม่ได้” ว่าได้รับการทดสอบฮอร์โมนเพศชายในช่วงเวลาไหนที่เธอลงแข่งขัน ในช่วงที่เธอยังคงเป็นนักมวยมือสมัครเล่นอยู่ เธอยังกล่าวว่าผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) สูงตามธรรมชาติไม่ควรถูกลงโทษ และควรมีขั้นตอนในการทดสอบที่โปร่งใสอีกด้วย

“เราไม่สามารถลงโทษผู้หญิงที่มีบางสิ่งที่ผู้หญิงคนอื่นไม่มีโดยธรรมชาติได้ เพราะนั่นเหมือนกับการพูดว่า ‘เธอแข็งแกร่งเกินกว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ เธอกําลังทําให้ทุกคนล้มลง เราจะให้เธออยู่ในประเภทชาย’ มันต้องเป็นข้อเท็จจริงบางอย่างที่สมเหตุสมผล”

คณะกรรมการโอลิมปิกของแอลจีเรีย (COA) กล่าวเมื่อวันพุธ (31 กรกฎาคม 2567) ที่ผ่านมาว่า “COA ขอประณามการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ และการใส่ร้ายนักกีฬาของเรา ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีข้อเท็จจริงจากสื่อต่างประเทศบางสํานัก การโจมตีตัวตนและศักดิ์ศรีของเธอนั้นไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่เธอเตรียมพร้อมสําหรับเป้าหมายสูงสุดของอาชีพการงานของเธอ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ และทาง COA ได้ใช้มาตรการที่จําเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องนักกีฬาของเราอย่างถึงที่สุด” 

Christian Klaue – โฆษกของ IOC กล่าวว่า “พวกเขาเกิดมาเป็นผู้หญิง พวกเขาชกมวยในฐานะผู้หญิงมาเป็นเวลานาน และพวกเขาอยู่ในการแข่งขันประเภทหญิงโดยไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2021 ที่ผ่านมาด้วย แต่ในครั้งนี้เขากลับมีปัญหา ก็เพราะว่าเขาคือผู้หญิงนั่นเอง”

ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้จะจบลงที่ตรงไหน แต่ที่สุดแล้วผู้ที่ “ขอยอมแพ้” ก็เจ็บปวด เพราะรู้สึกว่าไม่เท่าเทียมตามที่ตนเองคิดว่าควรจะเป็น ในขณะเดียวกันผู้ชนะในสนามนี้ก็ “เจ็บปวด” ที่โดนตีตรา โดนแปะป้าย และโดนตำหนิไปแล้ว ทั้งๆ ที่ตนเองก็แข่งขันเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ และทั้งสองคนก็เจ็บปวดไปพร้อม ๆ กันจากสนามที่ “ผู้แพ้” ขอจุดไฟนั่นเอง

 

อ้างอิง :

nytimes.comtheguardian.com

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า