SHARE

คัดลอกแล้ว

วงการฟุตบอลต้องเผชิญกับข่าวเศร้าสลดครั้งใหญ่ เมื่อมีรายงานเหตุจลาจลหลังเกมระหว่างอาเรมา เอฟซี กับ เปอร์เซบายา สุราบายา จนนำมาซึ่งการเสียชีวิตของแฟนบอลอย่างน้อย 129 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย

ที่ผ่านมาแม้เราจะเคยได้ยินข่าวการใช้ความรุนแรงของกองเชียร์ในสนามฟุตบอลมาบ้างตั้งแต่ในอดีต แต่ในช่วงหลังๆ นี้ ไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนเลยที่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้มาก่อน และประเด็นที่ควรถูกนำมาพูดถึงเพิ่มเติม ก็คือการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน

เกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน workpointTODAY จะมาสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้คุณเข้าใจ

 

ซูเปอร์ดาร์บี้แห่งชวาตะวันออก

อาเรมา เอฟซี ทีมประจำเมืองมาลัง ที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะชวา นับเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของลีกอินโดนีเซีย แต่ฤดูกาลปัจจุบันทำผลงานไม่ดีนัก อยู่อันดับที่ 9 ของตารางคะแนน 

ขณะที่ทีมเยือน เปอร์เซบายา สุราบายา เป็นอีกทีมที่ตั้งอยู่ในโซนตะวันออกของเกาะชวาเช่นกัน โดยอยู่ห่างออกไปราวๆ 100 กิโลเมตร และการที่ทั้งสองทีมตั้งอยู่ในโซนเดียวกัน ทำให้การเจอกันของทั้งคู่ถูกขนานนามว่า ซูเปอร์ดาร์บี้แห่งชวาตะวันออก ซึ่งเป็นเกมดาร์บี้ที่ดุเดือดที่สุดในวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเป็นเพียง 2 ทีมในลีกอินโดนีเซียที่มีสนามความจุเกิน 4 หมื่นคน และทีมอาเรมายังเป็นทีมที่มีจำนวนผู้ชมในสนามสูงที่สุดในฤดูกาลนี้อีกด้วย

ในยามที่ อาเรมา เอฟซี ลงเล่นเป็นเจ้าบ้านนั้น นับตั้งแต่เปิดใช้สนามคานจูรูฮันสเตเดียม สนามที่มีความจุ 42,449 คน พวกเขาสามารถเอาชนะเปอร์เซบายามาได้ 6 นัดติดต่อกัน ไม่เคยเสมอหรือแพ้มาก่อน โดยทั้งคู่พบกันที่สนามนี้เป็นครั้งแรกในปี 2006 เท่ากับว่า อาเรมา เอฟซี ผูกขาดชัยชนะมาตลอด 16 ปีหลัง

 

ความพ่ายแพ้ของอาเรมา

อย่างไรก็ตาม การเจอกันของทั้งคู่ในแมตช์ล่าสุดนี้ กลับกลายเป็นทีมเยือนเปอร์เซบายาที่บุกมาเอาชนะได้ด้วยสกอร์ 3-2 นับเป็นชัยชนะที่สนามคานจูรูฮันครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แม้เกมจะจบลง แต่อารมณ์ของแฟนบอลเจ้าบ้านกลับยังคงเดือดอยู่ เกิดการชุลมุนวิ่งลงมาในสนาม จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์

โดยทางตำรวจยืนยันว่า พวกเขาพยายามโน้มน้าวให้แฟนบอลกลับขึ้นไปบนสแตนด์ แต่ไม่เป็นผล การปะทะกันระหว่างแฟนบอลและเจ้าหน้าที่ ทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย หลังจากนั้นจึงต้องมีการนำแก๊สน้ำตามาใช้เพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งตามข้อบังคับด้านความปลอดภัยของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้มีการใช้อาวุธหรือแก๊สในการควบคุมฝูงชนในสนาม 

 

ผลจากการสลายชุมนุมที่ไม่ได้มาตรฐาน

พอหลังจากที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเกิดขึ้น สถานการณ์ได้เปลี่ยนจาก ‘ความวุ่นวาย’ ไปสู่ ‘หายนะ’ ทันที

หากใครเคยเข้าไปดูฟุตบอลคงเคยสัมผัสได้ว่า การออกจากสนามหลังเกมจบเป็นอะไรที่ค่อนข้างวุ่นวายมากแม้จะเป็นสถานการณ์ปกติ การที่คนจำนวนมากเดินออกพร้อมๆ กันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วนัก

ยิ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายในสนามส่วนที่ใช้แข่งขัน ที่ไม่ได้มีทางออกรองรับมากขนาดนั้น ทำให้ฝูงชนด้านในเกิดการแตกฮือ รีบมุ่งหน้าไปยังทางออกโดยเร็วที่สุด ผลก็คือคนจำนวนมากต้องไปอออยู่ตรงทางออกที่มีจำกัด ไม่สามารถหนีออกจากที่ตรงนั้นได้

ผลจากความวุ่นวายที่ยกระดับขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตภายในสนามทันที 34 ราย จากการเหยียบกันตายและขาดอากาศหายใจ หลายคนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อนที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะพุ่งขึ้นเป็น 129 รายในเวลาต่อมา

 

เหตุสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

ที่ผ่านมา การเสียชีวิตของคนจำนวนมากในสนามฟุตบอล ล้วนเกิดจากเหตุจลาจลหรือการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ในอดีตหลายสิบปีก่อนทั้งสิ้น

เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นเหตุโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์เมื่อปี 1989 ที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้ผู้ชมเข้าเกินความจุของสนาม ส่งผลให้แฟนบอลของลิเวอร์พูล 97 รายเสียชีวิตจากการถูกอัดเข้าไปกับรั้วสนาม จนทำให้มีการปรับเปลี่ยนระเบียบการเข้าชมฟุตบอลครั้งใหญ่ ไม่อนุญาตให้มีการยืนดูอีกต่อไป

ที่อังกฤษเอง หากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเกิดขึ้น จะต้องสั่งเลื่อนการแข่งขันทันที อย่างในกรณีการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่แม้จะพ้นช่วงไว้อาลัยไปแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากต้องไปดูแลรักษาความปลอดภัยในพระราชพิธีพระบรมศพ จนกำลังเจ้าหน้าที่เหลือไม่พอที่จะมาดูแลในเกมการแข่งขัน พวกเขาก็ต้องตัดสินใจเลื่อนเกมออกไป

 

สำหรับเหตุการณ์ที่อินโดนีเซีย แน่นอนว่าต้นเหตุของความสูญเสียครั้งนี้คือการที่แฟนบอลเจ้าถิ่นกรูกันลงไปในสนาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ต้องมีการตั้งคำถามในเวลาต่อมา คือเรื่องการควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล

ในรายละเอียดคงต้องมีการสอบสวนกันอีกครั้ง แต่สิ่งที่สูญเสียไปแล้วคงไม่อาจนำกลับมาได้อีก ทั้งชีวิตของคนนับร้อย รวมถึงชื่อเสียงของวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย ที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ในช่วงกลางปีหน้า

ขณะที่ทีมชาติไทยเองมีโปรแกรมเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ที่สนามเกโลราบุงการ์โน (ชื่อเดิมคือ เสนายัน) ในวันที่ 29 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน AFF Mitsubishi Electric Cup 2022 ก็คงจะต้องรอการตัดสินจากองค์การนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ว่าจะยังคงให้อินโดนีเซียจัดการแข่งขันตามที่วางไว้หรือไม่

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า