หน่วยงานอิสลามอินโดนีเซียรับรอง ‘ฮาลาล’ วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค หวังสร้างความมั่นใจก่อนเริ่มฉีดให้ประชาชนสัปดาห์หน้า
วันที่ 9 มกราคม 2564 เว็บไซต์ NIKKEI ASIA รายงานว่า สภาอุลามาแห่งอินโดนีเซีย (MUI) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอิสลามระดับสูงสุดของประเทศ ประกาศรับรองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีนว่าอยู่ภายใต้กฎหมายของอิสลาม พร้อมออกมาตรฐาน ‘ฮาลาล’ ให้กับวัคซีนชนิดนี้
การตัดสินใจรับรอง ‘ฮาลาล’ ให้กับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค เกิดขึ้นหลังสภาอุลามาประชุมร่วมกับคณะกรรมการฮาลาล อย่างไรก็ตามสภาอุลามาจะยังไม่ออกฟัตวา หรือคำวินิจฉัยตามศาสนาอิสลาม จนกว่าคณะกรรมการอาหารและยาอินโดนีเซียจะอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดนี้อย่างเป็นทางการ
การรับรองฮาลาลให้กับวัคซีนโควิด-19 เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในสัปดาห์หน้า
สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของอินโดนีเซีย จะเริ่มฉีดให้กับนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นคนแรก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ก่อนจะให้สิทธิ์บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และกระจายไปยังพลเมืองโดยเน้นวัยทำงานอายุ 18-59 ปี เพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนย้ายเดินทางมากกว่า อาจช่วยลดการแพร่ระบาดได้
ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียประสบปัญหาไม่มั่นใจวัคซีน เนื่องจากกังวลว่าอาจขัดต่อหลักอิสลาม โดยเคยมีกรณีเมื่อปี 2561 ที่หน่วยงานอิสลามท้องถิ่นในหมู่เกาะเรียว เรียกร้องให้หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นระงับโครงการฉีดวัคซีนโรคหัดเยอรมัน จนกว่าจะมีการรับรองฮาลาล
รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าไว้ว่า จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้ 181.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเดือนมีนาคม 2565 หรือในอีก 15 เดือนข้างหน้า โดยในตอนนี้อินโดนีเซียจองวัคซีนได้แล้ว 229 ล้านโดสจากบริษัทซิโนแวค, โนวาแวค (Novavax) และโครงการโคแวค (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ประเทศที่อาจมีกำลังไม่มากพอ รวมทั้งกำลังเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) อีกบริษัทละ 50 ล้านโดส